ปลาเลี้ยงกล้วยหรือว่ากล้วยเลี้ยงปลา


         

        ปลากดหลวง เป็นปลาหนังน้ำจืดที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว  อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อดีมาก รวมทั้งเนื้อปลามีรสชาติดี  มีลักษณะคล้ายปลากดแก้วหรือปลากดคังแต่หัวปลากดหลวงจะเล็กกว่าปลากดไทย  เนื้อปลามีสีขาวใส รสหวาน  สามารถนำมาปรุงอาหารไทยได้ดีทุกชนิด  การเลี้ยงปลากดหลวง  น้ำที่จะนำมาใช้ต้องมีคุณภาพดี เหมาะสมในการเจริญเติบโตของปลา ด้านการเจริญเติบโตปลาเพศผู้จะโตเร็วกว่าปลาเพศเมีย  ปลาเพศผู้จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น  5.63  กรัมต่อวัน   ปลาเพศเมียจะมีน้ำหนักเพิ่ม  4.83  กรัมต่อวัน  โดยมีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อเฉลี่ยตลอดการเลี้ยง  1.5  หมายความว่าเมื่อให้อาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน  30 %  (อาหารปลาดุกเล็ก)  จำนวน  1.5 กิโลกรัม จะสามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อปลาได้ประมาณ  1  กิโลกรัม   (คุณหญิงโกมุท   อุ่นศรีส่ง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่)

          กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่นิยมปลูกทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา หรือสวนหลังบ้าน แต่ถ้าดูแลรักษาไม่ดีคงจะให้ผลผลิตน้อย อีกทั้งเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จะส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำไม่คุ้มค่ากับการดูแลรักษา แต่ถ้าจะให้ราคาดีนั้นคงต้องผลิตเพื่อการส่งออก แต่สำหรับเกษตรกรผู้มีกิจกรรมอื่นที่ทำอยู่ แรงงานไม่เพียงพอ คงต้องมองหาการแปรรูปหรือการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีค่าและราคาที่ดีขึ้น เช่นเกษตรกรที่จังหวัดชัยนาท ได้นำกล้วยน้ำว้าที่สุกงอมมาเป็นอาหารเลี้ยง “ปลากดหลวง” ลดต้นทุนและเพิ่มรายได้อย่างน่าสนใจ

          นางประมวล  รุ่งทอง หรือที่เพื่อนเกษตรกรเรียกว่า “น้าจุก” วัย 57 ปี บ้านเลขที่ 70 หมู่ 4 ต.ท่าชัย อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 28 กระชัง ในส่วนของการเลี้ยงปลาในกระชังนั้นมองดูเพียงผิวเผินจะคล้ายๆ กับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สร้างกระชังปลาผูกติดกับแพลูกบวบปล่อยให้ลอยเด่นบนผิวน้ำมองดูงามตา แต่เบื้องหลังของการเลี้ยงปลาของ“น้าจุก”  สามารถลดรายจ่ายจากค่าอาหารปลาได้ถึงร้อยละ 30   โดยใช้กล้วยสุกนำมาบดให้ปลาได้กิน ซึ่งจากเดิมร้อยละ 70 ของต้นทุนทั้งหมดคือค่าอาหาร

แนวคิด

            “น้าจุก” กล่าวว่า มีพื้นที่เป็นสวนเก่าขาดแรงงานดูแล จึงปลูกกล้วยน้ำว้าจำนวน 5 ไร่ ผสมผสานปะปนด้วยไม้ผลอื่นๆ เช่นมะปราง   มะนาว และพืชผักสวนครัว  แต่พบปัญหาดินเหนียวขาดความอุดมสมบูรณ์  จึงได้ปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอกและวัชพืชราดรดด้วยน้ำหมักจากเศษปลา  เพราะการเลี้ยงปลาในกระชังจะพบปลาบางส่วนตาย จึงนำไปหมักโดยผสมกับกากน้ำตาลอัตราส่วน 1 : 1  ในถังพลาสติก  หลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้น้ำหมักปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส  นอกจากนี้น้ำหมักปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา   เมื่อเกิดการย่อยสลายหมดแล้วตวงใส่ขวดก่อนที่จะนำไปผสมกับน้ำ อัตราส่วนน้ำหมักปลา 1 ลิตร ต่อน้ำ 50 ลิตรนำไปราดรดบริเวณทรงพุ่มอย่างน้อยปีละ 3–4 ครั้งหรือ 30–40 วัน/ครั้ง  ผลที่ได้รับกล้วยเจริญเติมโตดี ดินเริ่มร่วนซุย แต่เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วราคาตกต่ำมาก  จึงคิดว่าเด็กเล็ก  สามารถกินกล้วยและเจริญเติบโตดี  จึงทดลองนำกล้วยไปเป็นอาหารปลาให้ปลาได้กินกล้วยผสมกับอาหารเม็ด จนประสบผลสำเร็จ จึงยึดกิจกรรมปลูกกล้วยเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงปลาในกระชัง  “ปลูกกล้วยเลี้ยงปลาซากปลาเลี้ยงกล้วย”

การเลี้ยงปลาด้วยกล้วยสุก

           จะต้องฝึกปลาเล็กๆ ให้กินกล้วย หลังจากได้รับลูกปลากดหลวงขนาด 1 นิ้วจากสำนักงานประมงจังหวัดชัยนาท  จำนวน 1,000 ตัว โดยนำกล้วยสุกงอมผสมอาหารปลาเล็ก อัตราส่วนโดยน้ำหนัก กล้วย 1 ส่วน อาหารปลาเล็ก 2 ส่วน   นำมาปอกและหั่นให้ชิ้นเล็กก่อนนำไปบดด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียด เทลงบนอาหารปลาเล็กผสมให้เข้ากัน  ไม่ให้เหลวจนเกินไป  นำไปให้ลูกปลากิน วันละ 2 มื้อ เลี้ยงจนอายุ 5 เดือนจึงให้กล้วยสุกหั่นโดยไม่ต้องผสมอาหารสำเร็จรูปโยนให้กิน สลับกับการให้อาหารเม็ดจากบริษัทมื้อเช้ากับมื้อเย็น  จนกว่าปลาจะสามารถจับจำหน่ายได้

ผลที่ได้รับ

          จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กล้วยน้ำว้า 5 ไร่ ไม่ต้องส่งจำหน่ายในราคาถูก แต่ได้นำมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการแปรรูปเป็นเนื้อปลากดหลวง  ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพราะปลามีเนื้อที่แน่น หวาน อร่อย  น้ำหนักดี  โดยปลาที่เลี้ยงมีน้ำหนักตัวละประมาณ  3-5 กิโลกรัม จำหน่ายได้ประมาณ กิโลกรัมละ  80 – 100 บาท มีต้นทุนการผลิตที่น้อยกว่าผู้เลี้ยงด้วยอาหารจากบริษัท

           “น้าจุก” กล่าวฝากถึงผู้อ่านว่า   เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจะต้องเสียค่าต้นทุนมาก แต่เราสามารถลดต้นทุน ด้วยการใช้ปัจจัยที่มีหลากหลายในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเมื่อราคาปลาที่ตกต่ำหรือเสียหายจากสถานการณ์ต่างที่ยากแก่การควบคุมเช่นน้ำเสีย หรือภัยธรรมชาติ   ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฟาร์ม    ยินดีต้อนรับและให้ความรู้เพิ่มเติม

คำสำคัญ (Tags): #ปลากด
หมายเลขบันทึก: 390861เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2010 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท