ขนุนทอดกรอบอบเนยแนวคิดแปรรูปดีที่น่าสนใจ


การแสวงหาสิ่งดีเพื่อนำเสนอ

           หลังจากผ่านพ้นความแห้งแล้งมานานหลายเดือน  เกษตรกรเฝ้ารอฝนว่าเมื่อใดจะมีน้ำได้ทำนาเพื่อสร้างอาหารสร้างรายได้ให้กับประเทศ  รอจนเนิ่นนานเข้ากลางเดือนกรกฎาคม 2553 ก็ยังไม่มีวี่แววของฝนที่มีมากพอที่จะสร้างปริมาณน้ำให้เพียงพอสำหรับทำนา และน้ำที่กักเก็บเหนือเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล  ผู้เขียนจึงขับรถจักรยานยนต์คู่ใจเลาะริมแม่น้ำน้อยที่มีน้ำไหลริน ริมฝั่งหลากหลายไปด้วยไม้ผลรับรู้ถึงวิถีชีวิตชนบทไทย แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับผู้เขียนคือ ขนุนที่กำลังเจริญเติบโตมีมากผิดสังเกต เพราะปกติต้นขนุนส่วนใหญ่ที่พบจะมีขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลดั้งเดิมมรดกตกทอดเท่านั้น  จึงแวะเวียนเข้าสอบถามเพื่อทราบวัตถุประสงค์ของการปลูกขนุนรุ่นใหม่อีกหลายต้น  คำตอบที่ได้รับเป็นที่มาขององค์ความรู้การแปรรูปขนุน เพราะเกษตรกรปลูกขนุนเพื่อผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าสู่ธุรกิจครัวเรือน  “ขนุนทอดกรอบอบเนย”

นักวิจัยและหาตลาดแนวลูกทุ่งไทย

              นางบุญรวม เปรมปริก  เกษตรกรผู้ยึดกิจกรรมแปรรูปขนุนเป็นรายได้เสริมวัย 50 ปี บ้านเลขที่ 3 บ้านเที่ยงธรรม หมู่ 9 ต.ชัยนาท อ.เมืองชัยนาท  จ.ชัยนาท  กล่าวว่า เดิมมีขนุนต้นใหญ่ในสวนหลังบ้านเพียง 2 ต้น  ผลผลิตออกมานำไปรับประทานไม่หมด แต่ถ้านำไปจำหน่ายได้ราคาที่ต่ำ กอปรกับมีความถนัดในการทำขนมไทย จึงนำขนุนที่ได้มาแปรรูปเป็นขนุนทอดกรอบ ลองผิดลองถูกหมดขนุนไปหลายลูกจนกระทั้งเล็กเล็กที่ถูกจับมาให้เป็นนักชิมต่างหลบลี้หนีห่างเพราะถูกบังคับให้กินให้หมดด้วยเหตุผลเดิมๆ “เสียดายของกินให้” ผลที่ได้ออกมาบางครั้งเหนียวไม่กรอบ บางคราวติดกันรูปร่างที่ออกมาไม่สวยตามที่ต้องการ แต่ไม่ท้อและไม่ถอย ทดลองทำควบคู่กับการแจกจ่ายให้เพื่อนๆ ลองรับประทานและสอบถามความพึงพอใจ จนได้ขนุนทอดกรอบอบเนยที่ผู้บริโภคถูกลิ้นถูกใจในรสชาติ  ในส่วนของการตลาดเริ่มแรกต้องหาตลาดด้วยการนำไปจำหน่ายตามหน่วยงานทางราชการ และนำไปเป็นของฝากให้กับผู้รู้จัก  ให้รสชาติที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคได้ประชาสัมพันธ์ตัวเองจนเป็นที่รู้จักและสร้างตลาดขนุนทอดกรอบ ปัจจุบันไม่ต้องออกเร่ขาย เพียงแต่ผลิตตามยอดสั่งซื้อจากลูกค้าที่โทรศัพท์แจ้งความจำนง ส่งผลให้ไม่กังวลในเรื่องของตลาดแต่กังวลในเรื่องของวัตถุดิบ เพราะขนุนทอดกรอบ 1 กิโลกรัมต้องใช้ขนุนสด 10 กิโลกรัม รวมทั้งปัจจุบันมีเพื่อนบ้านยึดอาชีพเสริมทอดขนุนจำหน่ายจำนวน 20 ราย จำเป็นต้องใช้ขนุนประมาณ 3,000 กก./วัน  ขนุนในพื้นที่มีไม่เพียงพอจึงปลูกขนุนเพิ่มเพื่อรองรับการแปรรูปอย่างเพียงพอในอนาคต

การรักษาตลาด

           นางบุญรวม กล่าวด้วยดวงตามที่บงบอกถึงความยึดมั่นในอุดมคติที่ดีต่อลูกค้าว่า ได้ซาบซึ้งถึงไมตรีจิตของลูกค้าที่ได้ตกลงซื้อสินค้าโดยมิได้เห็นของก่อน จึงต้องควบคุมและเคร่งครัดในการรักษาคุณภาพ ตั้งแต่การเลือกซื้อขนุนพันธุ์ดีที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป โดยคัดเลือกขนุนที่มีเนื้อหนา โดยเฉพาะพันธุ์ทองประเสริฐ แต่สถานการณ์ผิดปกติในสภาวะฝนแล้งขนุนหายากมากจึงต้องทำความเข้าใจและข้อตกลงกับลูกค้า ด้านขนาดของชิ้นขนุนที่เล็กกว่าเดิมมากแต่ยังคงรักษาคุณภาพที่ดี  การหั่นให้เป็นชิ้นบางๆ เพื่อความกรอบอร่อย จนถึงการบรรจุที่ดีไม่ให้กระทบความชื้นน้ำตาลเยิ้มเหนียวติดมือ

ขั้นตอนการทำ “ขนุนทอดกรอบอบเนย”

          เมื่อคัดเลือกขนุนที่มีอายุเหมาะสม นำมาปอกเปลือกนอกก่อนแกะยวงออก ผ่าเอาเมล็ดออก  จะได้ชิ้นของขนุนพร้อมที่จะนำมาสไลด์เป็นแผ่นบาง  เมื่อได้ขนุนแล้วนำไปชั่งน้ำหนักเพื่อเตรียมน้ำเชื่อมให้พอดีกับขนุน เตรียมน้ำเชื่อมด้วยการคำนวณจากส่วนประกอบทั้งหมด ขนุน 95% น้ำตาล 3%  เนย  1.5% เกลืออนามัย 0.5%  เติมน้ำนำไปต้มจนละลายหมดจึงยกลงจากเตาเพื่อรอรับการตักเติมลงไปเคลือบกับชิ้นขนุนสร้างรสชาติหวานมันและกลิ่นหอมจากน้ำตาลพร้อมเนย   ตั้งน้ำมันในกระทะด้วยไฟค่อนข้างแรงจนน้ำมันเดือดลดไฟลงให้พอดีเหมาะสมกับการทอด นำขนุนที่เตรียมไว้ทยอยลงไปประมาณ   1 กก.   ตักน้ำเชื่อมราดลงในกระทะประมาณ 1 กระบวย  ทอดจนเหลืองสวยพอดี สังเกตฟองน้ำจะหมดใช้เวลาประมาณ 7 นาที  ตักขึ้นมาเขย่าเบาๆ ให้น้ำมันหยดลงในกระทะก่อนเทลงไปในตะกร้าเพื่อให้น้ำมันหยดลงมากที่สุด เทลงบนถาดที่รองด้วยกระดาซับน้ำมัน ใช้ไม้คนเพื่อให้แต่ละชิ้นแยกออกจากกัน เมื่อเย็นแล้วรีบบรรจุถุงทันที เพื่อป้องกันความชื้น ตามปริมาณที่ลูกค้าสั่งรอรับการนำไปสู่ผู้บริโภค จะสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 45 วันถ้าเก็บปิดฝาสนิท  ทุกขั้นตอนเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะตัวที่ได้สั่งสมประสบการณ์ ดังนั้นผู้คิดจะทำต้องหมั่นทดลองและสังเกต

นำมาฝากถึงผู้อ่าน  

          คติความเชื่อ   ขนุนนับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งของคนไทย กำหนดปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี) ตามคำโบราณเชื่อว่า การปลูกต้นขนุนในบริเวณบ้านจะหนุนเนื่องบุญบารมี เงินทอง จะมีคนเกื้อหนุน และอุดหนุนจุนเจือ นอกจากนี้ชาวเหนือใช้ใบขนุนร่วมกับใบพุทรา ใบพิกุล (แก้ว) นำมาซ้อนกันแล้วนำไปไว้ในยุ้งข้าวตอนเอาข้าวขึ้นยุ้งใหม่ๆ เชื่อกันว่าจะทำให้หนุนนำและส่งผลให้มีข้าวกินตลอดปี และตลอดไป

คำสำคัญ (Tags): #ขนุน
หมายเลขบันทึก: 390854เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2010 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ที่สำคัญคือขนุนทอดกรอบนั้นอร่อยมากคะ ^^

ขอเบอร์ติดต่อได้ไหม

ขายส่งโลละเท่าไหร่คะ จะเอาประจำเลยค่ะเพราะจะเอามาปรุงรสแล้วส่งออก ที่อยู่ ระยอง ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท