เรื่องกล้วยๆ แต่กวนด้วยมะขามไม่ลองไม่รู้


           

           กล้วยน้ำว้าเป็นพืชอาหารที่มีความใกล้ชิดกับคนไทยมาเนินนานแล้ว  สมัยเก่าเด็กเกิดขึ้นมาก็จะใช้กล้วยน้ำว้าสุกงอมบดป้อนให้เด็กได้ทาน  ซึ่งจะพบได้ตามชนบททั่วไปในปัจจุบัน  แต่ตามหลักการแพทย์นั้นอาจทำให้เด็กท้องอืดเป็นอันตรายได้ถ้าเป็นเด็กแรกเกิด จึงควรใช้กับเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป  กล้วยน้ำว้าในเขตของจังหวัดชัยนาทว่า เกษตรกรนิยมปลูกกันมากบริเวณหลังบ้านพักและหัวไร่ปลายนา อีกทั้งปลูกในสวนไม้ผลที่ปลูกใหม่เพื่อเป็นร่มเงาให้กับไม้ผลที่ยังไม่แข็งแรงและเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งก่อนที่จะได้ผลผลิตหลัก ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ   8,200  ไร่ แต่การดูแลรักษานั้นมีไม่มากนักส่วนใหญ่จะปล่อยทิ้งดังนั้นจึงขอให้ดูแลบ้าง  เพียงหมั่นแยกหน่อทิ้งบ้าง ในกอหนึ่งๆ ควรมีกล้วยประมาณ 2 - 4 ต้น จะได้ไม่แย่งอาหารกัน เมื่อกล้วยออกดอก (ปลี) และติดผลเต็มที่แล้ว ควรตัดปลีที่เหลือทิ้ง ผลกล้วยจะโตได้รวดเร็ว และให้ผลขนาดใหญ่  ปัญหาที่พบคือผลผลิตที่มีออกมากในฤดูการจะมีมากทำให้ราคาตกต่ำ  จึงส่งเสริมให้เกษตรกรนำมาแปรรูป เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ดังนั้นในช่วงนี้กล้วยน้ำว้าออกสู่ตลาดมาก จึงขอนำผู้อ่านรับทราบการแปรรูปกล้วยหลากหลายชนิดซึ่งเป็นจุดสาธิตการเกษตรของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลธรรมมามูล โดยการนำพาดูงานจากนายชลอ  เอี่ยมรอด  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ประจำตำบลธรรมมามูล  อำนวยความสะดวกและประสานงานจึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

            นางอัมพร   เผ่าพงศ์ศักดิ์    วิทยากรจุดสาธิตการเกษตรและประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรฯ  วัย  52  ปี บ้านเลขที่ 241 หมู่ที่ 7  ต.ธรรมามูล  อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท กล่าวว่า กลุ่มได้แปรรูปอาหารหลากหลายชนิดเพื่อการเพิ่มผลผลิตการเกษตร เช่น กล้วยกวน มะละกอแก้ว  มะละกอแช่อิ่มอบแห้ง  กล้วยอบกระเทียม  มะพร้าวแก้วใส่สีธรรมชาติ  และมะม่วงกวน ซึ่งได้รับ  อย. แล้วหลายชนิดเช่น กล้วยกวน และมะละกอแก้ว  วัสดุส่วนใหญ่รับซื้อจากสมาชิกทั้งสิ้น ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตการเกษตรและการเข้าร่วมจัดทำผลผลิต จากความหลากหลายและความโดดเด่นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ จึงมีเกษตรกรและกลุ่มงานสถาบันเกษตรกรเข้าศึกษาดูงานเป็นระยะ

        นางอัมพร   เผ่าพงศ์ศักดิ์  กล่าวถึงการทำกล้วยกวนซึ่งเป็นสินค้าที่ทำรายได้ดีว่า  การทำนั้นไม่ยากนักแต่เป็นขนมที่ต้องใช้เวลาทำที่ยาวนานมาก โดยเริ่มจากการคัดเลือกกล้วยที่สุกงอมและไม่เน่าเสีย  10  กิโลกรัม ปอกเปลือกหันเป็นชิ้นเล็ก มะขามเปียก 1 กก. บดปนกับกล้วยให้เข้ากันด้วยเครื่องบดอาหารจนละเอียดจึงเทใส่กะทะจนหมด  ใช้ไฟกลางหมั่นคนเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันได้ดีและให้ความร้อนกระจายทั่วสมำเสมอ  ใช้เวลาประมาณ  1  ชั่วโมง แล้วจึงเติมแบะแซ  1  กิโลกรัม หมั่นคนใช้เวลาอีกประมาณ  2 ชั่วโมง จะเหนียวข้น  ตักใสถาดหนาพอประมาณ 1 เซนติเมตร เกลี่ยให้สม่ำเสมอ ทิ้งไว้จนเย็นจะเป็นก้อนแข็ง  นำมาหั่นให้เป็นก้อนพอคำก่อนคลุกน้ำตาลทราย 2  กิโลกรัม  พริกป่น 200 กรัม เกลือปนผสมไอโอดีน 200 กรัม  ก่อนที่จะสอดไปในหลอดกล้วยที่จัดทำควบคู่กันไป  การผลิตกล้วยหลอดโดยคัดเลือกกล้วยน้ำว้าที่แก่จัดแต่ไม่สุกและลูกใหญ่พอประมาณปอกเลือกแช่น้ำธรรมดา  ฝานบาง ๆ ตามความยาวแล้วม้วนกลมใส่ถาดผึงลมทิ้งไว้พอหมาด ๆ นำมาทอดในน้ำมันให้สุกเลืองพองาม เมื่อนำกล้วยกวนที่หันไว้สอดจนครบทุกหลอด  ใส่ถาดนำเข้าตู้อบประมาณ  20  นาที  เพื่อให้กรอบไม่เหม็นหืนเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นรสกระเจี๊ยบจะใส่น้ำกระเจี๊ยบแดงจากการต้มกระเจียบแห้ง 400 กรัมแทนมะขามเปียก  การจำหน่ายบรรจุถุงละ  250 กรัม และ บรรจุถุงละ  400 กรัม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ทำการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หรือที่เบอร์โทร. 056- 414830

        จังหวัดชัยนาทมีความอุดมสมบูรณ์  มีความหลากหลายทางด้านพืชพันธุ์ธัญญาหาร  อีกทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมากมายเหมาะที่จะได้มีการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต   ซึ่งผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ของจังหวัดชัยนาทนั้นมีมากมายหลายอย่างท้าทายการลองลิ้มรสชาติหรือนำไปใช้ของผู้บริโภคซึ่งจะไม่ได้รับเพียงสินค้าที่ทรงคุณภาพเท่านั้นที่ได้รับแต่ยังมีส่วนสร้างงานสร้างรายได้      สร้างกำลังใจเกิดความคิดสร้างสรร ก่อเกิดความเข้มแข็งของชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #กล้วย
หมายเลขบันทึก: 390856เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2010 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท