ความเป็นมาของตำนานนางเลือดขาว


ตำนานนางเลือดขาว  เป็นตำนานที่เล่ากันแพร่หลายในท้องถิ่น  ทั้งในจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา และตรัง  ที่เกิดของตำนานเรื่องนางเลือดขาวนี้คือ  บ้านพระเกิด  อำเภอปากพะยูน  จังหวัดพัทลุง  แล้วแพร่หลายไปยังจังหวัดใกล้เคียง  เนื้อเรื่องมีดังนี้

ในอดีตกาลพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว 273 ปี ณ ชมพูทวีป  ประเทศอินเดีย  เมื่อพระเจ้าพินธุสารเสด็จสวรรคต  โอรสของพระองค์ได้เกิดการแก่งแย่งชิงราชสมบัติ  มีการรบราฆ่าฟันกันในหมู่เชื้อพระวงศ์  จนในที่สุดอโศกกุมารก็มีชัยได้ราชสมบัติครอบครองเมืองปาฎลีบุตรแห่งแคว้นมคธ  เมื่อพระเจ้าอโศกราชเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว  ทรงได้ขยายแสนยานุภาพของอาณาจักรมคธออกไปอย่างกว้างขวาง  โดยการทำสงครามปราบปรามแคว้นต่างๆไว้ในอำนาจสงครามครั้งสำคัญ คือสงครามปราบแคว้นกลิงคราษฎร์  ในสงครามครั้งนี้ได้มีการทำสงครามกันจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากมาย  ทำให้ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลของสงคราม  พากันลงเรืออพยพออกนอกอาณาจักรผ่านทะเลอันดามัน  แล้วแยกย้ายกันขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของภาคใต้ในประเทศไทย  ซึ่งได้มีชาวอินเดียบางส่วนขึ้นฝั่งที่ท่าประตูทะเลหรือท่าประตูเล (อำเภอปะเลียน  จังหวัดตรัง)  แล้วเดินทางข้ามแดนช่องเขาบรรทัดผ่านเมืองตระแล้วแยกย้ายเป็น 2 สาย คือ

สายที่ 1 เดินทางแยกไปทางทิศใต้จนถึงเขาปัจจันตระ (เขาจันทร์)  แล้วร่องเรือลงตามลุ่มน้ำฝาละมี  มาขึ้นฝั่งพำนักอยู่ที่”ท่าเทิดครู”(บ้านท่าเทิดครู  ตำบลหารเทา  อำเภอปากพะยูน  จังหวัดพัทลุง)

สายที่ 2 เดินทางแยกไปทางทิศเหนือเลียบเชิงเขาจนถึงบ้านโหมด  เข้าพำนับอยู่ในถ้ำไม้ไผ่ตง และถ้ำไม้ไผ่เสรียงเรียกสถานที่นั้นว่า ที่โมชฬะ หรือ ที่ปราโมทย์  ต่อมาเพี้ยนเป็นตะโหมด (ตำบลตะโหมด จังหวัดพัทลุง)

ในครั้งนั้นยังมีตายายสองผัวเมียคู่หนึ่ง คือ  ตาสามโมกับยายเพชร  อยู่ที่ตำบลปละท่า  ทิศตะวันตกของทะเลสาบสงขลา คือ บ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี  อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุงตาสามโมเป็นหมอสดำหรือหมอช้างขวา  เป็นผู้มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกหัดสำหรับส่งไปให้เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี ปีละ 1 เชือก  เรียกสถานที่นั้นว่า ที่คช หรือ ที่ส่วยช้าง  มีอาณาเขตถึงบ้านท่ามะเดื่อ  ตำบลท่ามะเดื่อ  อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง 

ครั้งหนึ่งตายายทั้งสองได้เดินทางไปจับช่างป่าจนเลยไปถึงถิ่นปราโมทย์พบชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตงได้รู้จักสนิทสนมกันเป็นอย่างดี  ชาวอินเดียได้ยกบุตรีให้ตายายคนหนึ่ง  ตายายทั้งสองได้รับบุตรบุญธรรม  นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านพระเกิดให้ชื่อว่า นางเลือดขาว  เพราะเป็นผู้ที่มีผิวขาวกว่าชาวพื้นเมือง  อยู่ต่อมาไม่นานตายายทั้งสองได้คิดคำนึงว่าควรจะหาบุตรชายชาวอินเดียไว้สักคนหนึ่ง  เพื่อเป็นคู่ครองของนางเลือดขาวในเวลาต่อไป  ทั้งสองจึงได้เดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่อาศัยที่ถ้ำไม้ไฝ่เสรียงไว้เป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่า กุมารหรือเจ้าหน่อ

วันหนึ่งช้างพังตลับของตาสามโมได้หายไปจากบ้านถึง 15 วัน  ตาสามโมจึงออกเดินทางติดตามช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านพระเกิด  จนถึงคลองบางแก้วก็ไปพบช้างพังนอนทับขุมทรัพย์ไว้  ตาสามโมจึงนำทรัพย์สมบัติบางส่วนและช้างกลับบ้านพระเกิด  เมื่อได้ปรึกษากับยายเพชรเพื่อให้สะดวกต่อการรักษาทรัพย์สมบัติ  ทั้งสองเห็นควรที่จะย้ายไปอยู่บ้านแก้ว  แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการโยกย้ายในทันที  อยู่ต่อมาอีกหลายปีจนกระทั่งบุตรทั้งสองมีอายุได้ 19 ปี  ตายายทั้งสองจึงจัดพิธีให้นางเลือดขาวกับกุมารแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน  แล้วจึงโยกย้ายจากบ้านพระเกิดไปยังบางแก้วโดยนางเลือดขาวกับกุมารขี่ช้างพังตลับ  มีควาญช้างชื่อนายแก่นคง  ตาสามโมกับยายเพชรขี่ช้างพลายคชวิชัย มีควาญช้างชื่อหมอสีเทพ  ออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงบางแก้ว  จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆกับขุมทรัพย์  อยู่ต่อมาไม่นานตาสามโมกับยายเพชรก็ถึงแก่กรรม  กุมารกับนางเลือดขาวได้ทำการณาปนกิจศพเสร็จแล้ว  นำอิฐไปฝังไว้ในคูหาสวรรค์และได้สร้างรูปฤาษีตาไฟไว้เป็นอนุสรณ์รูปหนึ่ง  แล้วจึงเดินทางกลับบ้านบางแก้ว

หลังจากตายายทั้งสองถึงแก่กรรมแล้วกุมารกับนางเลือดขาวได้รับมรดกเป็นนายกองช้าง  เลี้ยงช้างส่งให้พระยากรุงทองต่อไป  ต่อมาทั้งสองได้ปรึกษาตกลงกันว่าควรนำทรัพย์สมบัติมาสร้างบุญกุศลขึ้นในพระพุทธศาสนา  เพื่ออุทิศให้ตายายทั้งสองที่ล่วงลับไปแล้ว  ทั้งสองจึงได้นำบริวารทำการถากถางป่าบริเวณริมคลองบางแก้ว  สร้างเป็นกุฏิ วิหาร อุโบสถ พระธรรมศาสนา พระพุทธรูป  เสร็จแล้วเจ้าพระยากรุงทองได้เดินทางมาร่วมกันสร้างพระมหาธาตุขึ้นที่วัดเขี้ยนบางแก้ว  ตั้งแต่นั้นมาได้มีการเรียกสถานที่นั้นว่า ที่วัด  มีอาณาเขตถึงบ้านดอนจิงจาย  อำเภอเขาชัยสน

ต่อมาเจ้าพระยากรุงทอง กุมารและนางเลือดขาวได้สร้างถนนจากบ้านบางแก้วถึงบ้านสทังและได้สร้างวัดสทังใหญ่ขึ้น 1 วัด  มีพระมหาธาตุ  อุโบสถ วิหารและพระพุทธรูป  เมื่อเสด็จแล้วได้สร้างวัดสทิงพระขึ้นนทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลามีพระพุทธไสยาสน์  พระมหาธาตุเจดีย์  ได้ทำการฉลองทั้ง 3 อาราม  ได้จารึกลงในแผ่นทองคำให้ชื่อว่า”เพลานางเลือดขาว”หรือ”เพลาวัดบางแก้ว”หรือ”เพลาเมืองสทิงพระ”ตรงกับวันพฤหัสดี  เดือน 8 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน เอสก พ.ศ.1482

จากนั้นมาที่บ้านบางแก้วก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ที่พ่อค้าวาณิชเดินทางมาค้าขาย  กุมารกับนางเลือดขาวจึงสร้างเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง  ทางทิศเหนือของวัดเขียนบางแก้วทั้งสองได้ปกครองเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง  คนทั่วไปจึงเรียกว่า”เจ้าพระยากุมาร”  ต่อมาราว พ.ศ.1493 เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวทราบมาว่า  เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะส่งทูตไปสืบค้นหาพระบรมสารีธาตุที่เกาะลังกา  ทูตจากเมืองนครศรีธรรมราชขี่ช้างไปทางห้วยยอดเมืองตรังแล้วลงเรือที่แม่น้ำยังท่าเรือกันตัง  เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวจึงขี่ช้างจากบางแก้วไปยังสถานที่แห่งหนึ่งพบเมืองร้องอยู่  จึงเรียกที่นั้นว่า “บ้านทะหมีร่ำ”(ทะ คือ พบ ,ร่ำ คือร้อง) คือ บ้านท่ามิหรำ อำเภอพัทลุงในปัจจุบัน  เมื่อถึงเมืองตรังเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง  ชื่อว่า”วัดพระงาม”  แล้วไปลงเรือทูตเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าเรือกันตัง  แล่นเรือไปเกาะลังกา 

ตอนขากลับจากเกาะลังกา  เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวและทูตเมืองนครศรีธรรมราช  ได้นำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพุทธสิหิงค์มาด้วย  ขึ้นฝั่งที่ปากน้ำเมืองตรัง  เดินทางไปพักแรมค้างคืน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง  เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดหนึ่งชื่อว่า”วัดพระพุทธสิหิงค์”  และยังได้จำลองรูปพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัด 1 องค์  ก่อนเดินทางกลับเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวยังได้สร้างพระนอนไว้ที่วัดถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง 1 องค์  แล้วจึงเดินทางกลับบางแก้ว  เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว  และยังได้สร้างวัดขึ้นที่ชายหาดปากบางแก้ว  ก่อพระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ อุโบสถ วิหาร  ให้ชื่อว่าวัดพระนอน หรือวัดพระพุทธไสยาสน์  ทำการฉลองพร้อมกับวัดพระพุทธสิหิงค์หรือวัดหิงค์ที่เมืองตรัง  เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 แรม 5 ค่ำ ปีกุนเอกศก พ.ศ.1496

ครั้งหนึ่งเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวเดินทางเที่ยวไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  ได้พักอยู่ที่บ้านหนองหงส์ อำเภอทุ่งสงเป็นเวลา 1 คืน แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช  ได้เข้าไปบูชาพระอัฐิธาตุของเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชองค์ก่อน  ได้สร้างสาธารณะประโยชน์ไว้หลายตำบล เช่น ขุดสระน้ำที่วัดเขาขุนพนม 1 แห่ง เป็นต้น 

เมื่อข่าวความงามของนางเลือดขาวร่ำลือเข้าไปถึงกรุงสุโขทัย  พระเจ้ากรุงสุโขทัยได้โปรดเกล้าให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์คุมขบวนเรือนางสนมออไปรับนางเลือดขาวถึงเมืองนครศรีธรรมราช  เพื่อจะทรงนำไปชุบเลี้ยงเป็นพระมเหสีส่วนเจ้าพระยากุมารก็เดินทางกลับมาอยู่บ้านพระเกิด

ครั้นนางเลือดขาวเข้าไปถึงกรุงสุโขทัยได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่พระองค์มิได้ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นพระมเหสีหรือนางสนม  ด้วยนางนั้นมีสามีและมีครรภ์ติดมาแต่สามีเดิมเพียงแต่โปรดฯให้อาศัยอยู่ในกรุงสุโขทัย  จนนางคลอดบุตรเป็นชายพระเจ้ากรุงสุโขทัยได้ทรงขอบุตรนั้นเลี้ยงไว้  ฝ่ายนางเลือดขาวทูลลากลับเมืองพัทลุง  ครั้นนั้นโปรดเกล้าฯให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์นำนางเลือดขาวไปส่งถึงเมืองพัทลุง  โดยขบวนเรือแล่นเข้าทางแม่น้ำปากพนัง  นางเลือดขาวได้พำนักอยู่บริเวณบ้านค็องหลายวัน  ได้สร้างวัดคลองค็อง เรียกชื่อว่า “วัดแม่อยู่หัวเลือดขาว”(ตำบลแม่อยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช)  แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองพัทลุง  หลังจากนางเลือดขาวกลับจากกรุงสุโขทัยแล้วคนทั่วไปมักเรียกนางว่า “เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว” หรือบางครั้งเรียกว่า นางพระยาเลือดขาว หรือ พระนางเลือดขาว  ด้วยเข้าใจผิดว่านางเป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน

ครั้นเวลาล่วงเลยมาหลายปีนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้เดินทางท่องเทียวไปยังเมืองสทิงพาราณสีโดยทางเรือ  ขึ้นฝั่งที่บ้านท่าทอง (ท่าคุระ) ได้สร้างวัดท่าคุระหรือวัดเจ้าแม่อยู่หัวหรือวัดวัดท่าทองขึ้นวัดหนึ่ง  และยังได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่วัด 1 องค์ด้วย  เรียกว่า รูปเจ้าแม่อยู่หัว  แล้วจึงเดินทางต่อไปสร้างวัดนามีชัย (วัดสนามชัย)  วัดเจ้าแม่ (วัดชะแม)  วัดเจดีย์งาม  วัดเถรการาม วัดเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสทิงพระและอำเภอระโหนด จังหวัดสงขลา  หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับเมืองพัทลุง

เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้ปกครองเมืองพัทลุงเรื่อยมาลงแก่ชรา  ประชาชนจึงร่วมกันจัดงานทำบุญรดน้ำแก่นางเลือดขาวโดยจัดขบวนแห่จากเมืองพัทลุงผ่านแหลมจองถนนไปตามเส้นทางเลียบฝั่งทะเลสาบจนถึงบ้านพระเกิด  ถนนสายนี้ชาวบ้านเรียกว่า ทางพระ หรือ ถนนพระ หรือ ถนนนางเลือดขาว  เส้นทางนี้สิ้นสุดที่บ้านหัวถนน  ตำบลฝาละมี  อำเภอปากพะยูน  ประชาชนได้ร่วมกันรดน้ำแก่นางเลือดขาว  สถานที่นั้นจึงเรียกว่า ทุ่งเบญจา

เมื่อเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวแก่ชราภาพมากแล้วทางฝ่ายกรุงสุโขทัยได้ส่งบุตรของนางออกเป็นคหบดีปกครองอยู่ที่บ้านพระเกิด  ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า เจ้าฟ้าคอลาย  ด้วยความเข้าใจว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน  และตามร่ายกายได้สักลวดลายเลขยันต์ตามคตินิยมของชาวเมืองเหนือจึงเรียกว่า เจ้าฟ้าคอลาย

เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวมีอายุได้ประมาณ 70 ปีเศษก็ถึงแก่กรรม  ฝ่ายเจ้าฟ้าคอลายผู้เป็นบุตรได้จัดการทำพิธีศพบิดามารดา  โดยจัดขบวนแห่ศพจากเมืองพัทลุงไปตามถนนนางเลือดขาว  นำศพมาพัก ณ สถานที่แห่งนี้  ต่อมาเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า ที่ศพนางเลือดขาว (อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน)  ในขณะที่พักศพอยู่ในนั้นก็ได้นำไม้คานหามปักลงในบริเวณใกล้ๆ  ต่อมาคามหามงอกงามขึ้นเป็นก่อไม้ไผ่ปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้  ประชาชนที่พากันมาในขบวนแห่ได้นำฆ้องใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่กิ่งมะม่วง  เพื่อตีบอกเวลาให้ประชาชนมารวมกันแล้วแห่ศพต่อไป  สถานที่นั้นเรียกว่า มะม่วงแขวนฆ้อง (ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของบ้านบางม่วงตำบลฝาละมี)  จนถึงบ้านพระเกิดได้ทำการฌาปนกิจศพภายในวัดพระเกิด

ฝ่ายเจ้าฟ้าคอลายเมื่อจัดการบิดามารดาเสด็จแล้วก็ได้นำอัฐไปไว้ที่บ้านบางแก้ว  พระเจ้ากรุงสุโขทัยก็ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้าคอลายเป็นเจ้าเมืองพัทลุง  ตั้งเมืองที่โคกเมืองบางแก้ว  ต่อมาเจ้าฟ้าคอลายได้สร้างพระพุทธรูป 2 องค์ไว้ที่ริมทะเลสาบทางทิศตะวันตกของเมืองให้ชื่อว่า พระพุทธรูปสองพี่น้อง  เพื่ออุทิศเป็นกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่บิดามารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว  และยังได้นำพวกแขกชีหรือพวกคุลให้มาสร้างพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ขึ้น 1 องค์  เรียกว่า พระคุลา  เจ้าฟ้าคอลายได้ปกครองเมืองพัทลุงมาจนถึงแก่อนิจกรรม

หมายเลขบันทึก: 390079เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2010 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เอามาต่อให้แล้วครับ สำหรับต้นกำเนิดของตำนานนางเลือดขาด ฉบับพัทลุง

โดยมากแล้วตำนานพื้นบ้านหรือเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องก็มักจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาให้เห็นอยู่ได้เสมอ ตำนานนางเลือดขาดเองก็ถือได้ว่าเป้นหนึ่งในตำนานเหล่านั้น และการเดินทางเชิดชุเเละอุปธรรมพระพุทธศาสนา โดยการสร้างปูชนียสถานขึ้นตามที่ต่างๆ ออกมามากมาย ก็ได้ทำตำนานนางเลือดเเยกย่อมและกระจายกันไปตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งผสมผสานความเป็นอัตลัดษณ์ของตนเองเอาไว้อีกด้วย

ขอโทษด้วยจริงๆ ครับที่ทิ้งไว้วะนานไม่ได้มาต่อเลย ช่วงนี้ผมไม่ค่อยวางเท่าไร แต่ยังไงก้สัญญาว่าจะเอามาลงให้ครบเเน่นอนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท