นปส.55 (34): หลังม่านไม้ไผ่


สังเกตได้ว่า ยุทธศาสตร์การจัดการการท่องเที่ยวของจีน เป็นการเสริมสร้างแหล่งท่องเที่ยวและจัดระบบการท่องเที่ยวแบบครบวงจร สร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นเพื่อดึงดูดใจและเสริมหรือพัฒนาของเก่าให้ยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือใกล้ของเดิมให้มากที่สุด

(34): หลังม่านไม้ไผ่

โรงแรมหัวฟา เป็นโรงแรมที่สะอาดดูดีและอยู่ไม่ไกลจากถนนคนเดินมากนัก ผมพักห้องเดียวกับพี่เล็ก (ธีรชัย) เจ้าหน้าที่เขาจัดให้พักตามที่พักอยู่ที่วิทยาลัยมหาดไทย คราวที่แล้วจำไม่ได้ว่าพักโรงแรมอะไร แต่ดูแล้วคงไม่ห่างกันมากนัก ถนนคนเดินของสิบสองปันนาก็มีสินค้าทั้งเก่าและใหม่ให้เลือกซื้อเป็นของที่ระลึก ราคาไม่แพง มีนักท่องเที่ยวมาเดินกันมาก แต่สังเกตแล้วไม่มีคนจีนท้องถิ่นเลย เป็นนักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด

พี่เล็กหรือธีรชัย ลิ้มประสิทธิศักดิ์ นายอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา เป็นรูมเมทของผม พี่เล็กมีประสบการณ์ทำงานทั้งในจังหวัดทางภาคอีสานและภาคตะวันออก เป็นคนใจดี อัธยาศัยใจคอดี เป็นคนน่ารัก ไม่เรื่องมาก ง่ายๆสบายๆ มีน้ำใจ เป็นคนช่างคิดวิเคราะห์ มีความสามารถในการสรุปประเด็นได้ดี เวลาพี่เล็กเขียนบันทึกการเรียนรู้จะสรุปประเด็นสั้นๆแต่ได้ใจความหลักดีมาก ผมกับพี่เล็กเป็นภูมิแพ้อากาศเหมือนกัน จึงไม่ชอบเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นๆ เวลาอยู่ห้องพักพร้อมกัน พี่เล็กก็จะเล่าประสบการณ์ให้ฟัง พูดคุยแนวคิดต่างๆในการทำงานที่เป็นประโยน์มาก

ผมมาเที่ยวจีนหลายครั้งเปลี่ยนเมืองไปเกือบทุกครั้ง ไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กุ้ยหลิน เคยไปคุนหมิงสองครั้งห่างกัน 8 ปี คุนหมิงพัฒนาไปรวดเร็วมาก แต่สิบสองปันนาห่างกันเกือบสามปีดูเปลี่ยนแปลงยังไม่มากนัก เมืองกำลังเติบโต มีการก่อสร้างขยับขยายมาก เหมือนกับการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่เลย สังเกตว่า จีนจะเน้นการพัฒนาเป็นเมืองๆไป แล้วก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน ทำให้งบประมาณไม่กระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนไทยที่แต่ละปีก็กระจายๆเฉลี่ยๆกันไปทุกจังหวัด ทำให้แต่ละจังหวัดไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างหรือเรื่องใหญ่ๆได้ จึงเป็นแค่โครงการเล็กๆโครงการระยะสั้นเท่านั้น

ประเทศจีน (People's Republic of China) เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและมีประชากรมากที่สุดในโลกที่จำนวนกว่า 1.3 พันล้านคน หรือประมาณหนึ่งในห้าของประชากรโลก โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮั่น และมีขนาดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและแคนาดา ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย มีเศรษฐกิจและกำลังทางทหารใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

พรมแดนจีนติดกับ 15 ประเทศ (นับเวียนตามเข็มนาฬิกา) คือ เวียดนาม ลาว พม่า อินเดีย ภูฏาน เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย มองโกเลียและเกาหลีเหนือ

ประชาชนจีนมีทั้งสิ้น 56ชนเผ่า ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา โดยนับถือนิกายมหายานและวัชระญาณโดยนับถือปนไปกับลัทธิขงจื้อและเต๋า 300กว่าล้านนอกนั้นนับถือนิกายเถรวาท มีนับถือศาสนาอิสลาม11กว่าล้าน นับถือศาสนาคริสต์9ล้าน

เขตการปกครองของจีน แบ่งเป็น มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และ หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย 22 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง 4 เทศบาลนคร และ 2 เขตบริหารพิเศษ

เขตปกครองตนเองเป็นเขตการปกครองระดับมณฑล ซึ่งปกครองด้วยชนกลุ่มน้อย ในปัจจุบันมีทั้งหมดอยู่ 5 เขตปกครองตนเอง

เทศบาลนครของจีนคือเมืองที่มีขนาดใหญ่ และมีการปกครองเทียบเท่ามณฑล ในปัจจุบันมีด้วยกันทั้งหมด 4 เมือง

มณฑลยูนนาน (หยุนหนาน) ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีเมืองหลวงชื่อ คุนหมิง มีเนื้อที่ 394,100 ก.ม. มีประชากรประมาณ 44,150,000 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น มณฑลยูนนาน มีภูเขาหิมะอยู่ 2 ลูก แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 เมืองหรือจังหวัด  9 เทศมณฑลระดับเมือง  79 เทศมณฑล  12 เขต  และ 29 เขตปกครองตนเอง

ระดับจังหวัด ประกอบด้วย คุนหมิง ฉู่จิ้ง ยู่ซี เป่าซาน เจาทง ลี่เจียง ปู้เอ่อ (ซือเหมา) หลินซาง

เขตปกครองตนเอง ประกอบด้วย เต๋อหง นู่เจียง ตี๋ชิ่ง ต้าหลี่ ฉู่ฉง หงเหอ เหวินซาน

เขตปกครองตนเองระดับจังหวัด คือ สิบสองปันนา เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา (Xishuangbanna Autonomous Region of Tai Ethnic Groups) ตั้งอยู่ทางใต้สุดของจีน สิบสองปันนา มีความหมายว่า "นาสิบสองพัน" หรือ "นา 12,000 ผืน" อีกนัยหนึ่งคือ 12 เมือง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) เป็นเมืองของชาวไทลื้อ

แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เมืองคือ เมืองเชียงรุ่ง (ประชากรราว 360,000 คน)  เมืองเมงฮาย หรือ เมืองฮาย (อยู่ทางตะวันตก มีประชากรราว 300,000 คน) และเมืองเมงล่า หรือ เมืองล่า (อยู่ทางตะวันออก มีประชากรราว180,000 คน)

เขตปกครองตนเองพิเศษสิบสองปันนามีเนื้อที่ประมาณ 19,700 ตาราง กม. มีอาณาเขตติดกับ แขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลี ของประเทศลาวและ รัฐฉาน ของ พม่า โดยมีชายแดนยาวถึง 966 กิโลเมตร และมีแม่น้ำโขงไหลผ่านตอนกลาง

ประวัติเมืองสิบสองปันนา ได้เป็นราชอาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง เมื่อประมาณ 830 ปีก่อน โดยพญาเจืองหรือสมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่ 1อาณาจักรสิบสองปันนาเริ่มเป็นปึกแผ่นและแผ่ขยายอาณาเขตมากที่สุดในยุคท้าวอินเมือง สามารถขยายอาณาเขตเข้าไปยึดถึงเชียงตุง เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) เชียงแสน ล้านช้าง จึงเป็นเหตุให้การอพยพชาวไทลื้อจากเชียงรุ่งและอีกหลายหัวเมืองเข้าไปสู่ดินแดนดังกล่าว เพื่อเข้าไปตั้งชุมชนปกครองหัวเมืองประเทศราช

สิบสองปันนาดำรงความมั่นคมเฟื่องฟูอยู่ 100 กว่าปี ก็ถูกรุกรานโดยชาวมองโกลและตกอยู่ในการปกครองของจีนในปี พ.ศ.1833 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจากชื่อภาษาไทลื้อมาเป็นภาษาจีนและเจ้าผู้ครองนครชาวไทลื้อถูกเรียกว่าเจ้าแสนหวีฟ้า หลังจากที่พม่าได้ก่อตั้งอาณาจักรตองอูและขยายอาณาเขตของตนไปทางตะวันออก พม่าได้ยึดเมืองสิบสองปันนา จากนั้นจึงได้แบ่งเมืองสิบสองปันนาออกเป็น 12 หัวเมือง ได้แก่ เมืองฮาย เมืองม้าง เมืองหุน เมืองแจ้ เมืองฮิง เมืองลวง เมืองอิงู เมืองลา เมืองพง เมืองอู่ เมืองอ่อง และ เมืองเชียงรุ่ง จึงเรียกเมืองเหล่านนี้รวมกันว่า สิบสองปันนา และในช่วงสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมพม่าและพระพุทธศาสนาได้เข้าแผ่ขยายเข้าไปในเขตสิบสองปันนา

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงส่งทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และ อาณาจักรล้านนา จากพม่าแล้วได้โปรดให้พระเจ้ากาวิละเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเชียงรุ่งและกวาดต้อนพลเมืองชาวไทลื้อในสิบสองปันนา ไทลื้อเมืองพน เมืองหย่วน เมืองล่า ชาวไทขึนและชาวไทใหญ่จากเมืองเชียงตุง มาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และน่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียกกันว่ายุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" อันเป็นวิธีฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา เพราะช่วงก่อนนั้นพม่าได้กวาดต้อนชาวล้านนาไปอยู่ที่พุกามและมัณฑะเลย์ ไปจำนวนมาก

การล่าอาณานิคมในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส เข้ามาขีดเขตอำนาจของตนให้พม่าไปอยู่กับอังกฤษ สิบสองปันนาขึ้นอยู่กับจีน เชียงตุงขึ้นกับพม่า และฝรั่งเศสยึดครองลาว กัมพูชาและเวียดนาม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองเชียงรุ่งถูกยุบจากเมืองหลวงเป็นแค่หัวเมืองและเจ้าปกครองนครทั้งหลายก็ถูกปลด ในปัจจุบันคนที่มีแซ่เต๋าก็คือเชื้อเจ้าในสิบสองปันนาที่เคยครองเมืองทั้งหลายเหล่านี้

สิบสองปันนา เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ด้วยตั้งอยู่ตรงกลางที่ลุ่มหุบเขาริมแม่น้ำโขง ซึ่งชาวไทลื้อเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง ชาวจีน เรียกว่า แม่น้ำหลันช้าง หรือ หลันชาง หรือ หลันชางเจียง สิบสองปันนา มีสภาพภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน มีฝนตกชุก ไม่มีหิมะตก อากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ผืนดินจึงอุดมไปด้วยป่าไม้เขตร้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความเขียวขจีตลอดทั้งปี ในผืนป่าก็อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าอย่างช้างและนกยูง ที่เป็นเสมือนสัตว์สัญลักษณ์ของสิบสองปันนา ซึ่งดินแดนอื่นในประเทศจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีสภาพความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้

สิบสองปันนาเป็นแหล่งปลูกข้าว อ้อย ยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ส่งขายไปยังเมืองอื่นๆ ในประเทศจีน สิบสองปันนาได้รับสมญานามว่าเป็นอาณาจักรแห่งต้นไม้ เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของมณฑลยูนหนาน และเป็นดินแดนหนึ่งที่รัฐบาลจีนภาคภูมิใจเพราะทำให้จีนได้ชื่อว่ามีผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล มีสภาพภูมิประเทศและผืนป่าครบ ตั้งแต่ดินแดนน้ำแข็งแบบขั้วโลกจนถึงป่าเขตร้อนเหมือนเช่นแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างผืนป่าสิบสองปันนา

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2553 ตื่นตีห้าครึ่ง (เวลาจีนเร็วกกว่าไทย 1 ชั่วโมง) ทานอาหารเช้าตอนหกโมงครึ่ง แล้วเดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนหมู่บ้านไทลื้อบ้านกานหลันป้าหรือเมืองฮำ ใช้เวลาเดินทางราว 40 นาที ถนนลาดยาเล็กๆแคบๆพอรถยนต์สวนทางกันได้ รถวิ่งลัดเลาะไปตามภูเขา บางช่วงเส้นทางขนานไปกับแม่น้ำโขง (ล้านช้าง) ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ผ่านประตูทางเข้าหมู่บ้าน ต้องจ่ายเงินค่าตั๋วเข้าชมหมู่บ้าน และเข้าไปถึงปากทางหมู่บ้าน ลงจากรถเดินชมสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยลื้อ

หมู่บ้านกานหลันป้า (เมืองฮำ) เป็นหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์วัฒนธรรมดีเด่นได้รับรางวัล AAA จากรัฐบาลกลาง เดินชมสภาพบ้านไม้ใต้ถุนสูง ปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ใกล้บ้าน ร่มรื่น ทักทายพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งขายของอยู่ใต้ถุนบ้าน แทบไม่มีหนุ่มๆสาวๆเลย มีแต่เด็กและคนแก่ เดินตามซอยในหมู่บ้านไปเรื่อยๆจนถึงวัดสวนหม่อนหรือวัดมหาสุทธาวาสราชฐาน วัดเก่าแก่ของชุมชนไทลื้อ เข้าไปกราบไว้พระในวัด และขึ้นไปชมบ้านยายอุ่น (อีอุ่น) ทักทายพูดคุยกันตามอัธยาศัย แล้วเดินทางกลับจากหมู่บ้านเข้าไปในตัวเมือง รับประทานอาหารกลางวันที่ร้านใบลาน (เป้ยเยี่ยฟงฉิน)

กาหลันป้าเป็นชุมชนไทลื้อที่อยู่ห่างจากเชียงรุ่ง 27 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมไทลื้อ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวไทลื้อโดยเฉพาะ ยังคงรักษารูปแบบของหมู่บ้านดังเดิมไว้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปเที่ยวชมในหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะปลูกเรือนใต้ถุนสูงหลังคากระเบื้องดินตามแบบฉบับของชาวไทลื้อ ภายในบ้านมีบริเวณรอบเรือนไว้ปลูกผัก เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ชะอม ไว้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน และปลูกผลไม้พื้นบ้านอย่างขนุน มะม่วง ไว้เป็นร่มเงาและกินผล ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือการเกษตรและนั่งทำงาน เช่น จักตอก ทอผ้า บางหลังมีแผงขายของที่ระลึกไว้ให้เลือกซื้อ

บ้านบางหลังเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมบนบ้าน หลังเชิญขึ้นเรือนแล้ว ก็รินน้ำชาต้อนรับ พร้อมทั้งชวนให้ดูภายในเรือนที่มีลักษณะเปิดโล่ง แบ่งส่วนหนึ่งของเรือนที่ต่อกับนอกชานเป็นครัวโถงโล่งมีพื้นที่เอนกประสงค์ไว้รับแขก กินข้าว นั่งเล่น นั่งคุยกัน มีการกั้นห้องนอน เป็นห้องนอนรวมของสมาชิกทุกคนในบ้าน แต่จะมีพื้นที่กางมุ้งกันคนละมุม โดยสีของมุ้งจะต่างกัน ผู้สูงอายุนอนมุ้งสีดำ คนที่แต่งงานแล้วนอนมุ้งสีแดง ส่วนสาวๆ ที่ยังไม่แต่งงานจะนอนมุ้งสีขาว

วัฒนธรรมของไทลื้อ ผู้หญิงจะเป็นใหญ่ในครอบครัว ผู้ชายที่แต่งงานกับสาวไทลื้อจะต้องเป็นเขยของบ้านหญิงสาว และหากชายหนุ่มคนใดติดอกติดใจลูกสาวบ้านใด ก็จะต้องไปกินไปนอนไปอยู่ช่วยทำงานที่บ้านสาวผู้นั้นเป็นเวลา 3 ปี เพื่อดูว่าสู้งานและขยันขันแข็งเพียงใดก่อนที่จะได้แต่งงาน และยังต้องถูกกันให้กางมุ้งนอนคนเดียวอยู่กลางห้องโถง ไม่ได้มีสิทธิ์เข้าไปนอนในห้องเหมือนสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ สำหรับหนุ่มที่สวมแว่นสายตามีสิทธิพิเศษกว่าคนอื่นตรงที่ลดเหลือการไปช่วยงานบ้านหญิงสาวแแค่ปีครึ่ง เพราะคนที่สวมแว่นตาคนไทลื้อคิดว่าเป็นคนที่มีความรู้

วัดสวนม่อนหรือวัดมหาราชฐานสุทธาวาส ตั้งอยู่ด้านหลังหมู่บ้านกาหลั่นป้า หมายถึงสวนดอกไม้ วัดมีอายุกว่า 1,400 ปี ซ่อมแซมครั้งใหญ่ถึง 6 ครั้ง เป็นวัดที่มีศิลปะสถาปัตยกรรมไทลื้อที่สวยงามมาก ตอนปฏิวัติวัฒนธรรมสมัยเหมา เจ๋อ ตุง ที่มีการเผาทำลายวัดวาอารามครั้งใหญ่โดยกองทัพแดง ชาวไทลื้อในหมู่บ้านที่มีความผูกพันและหวงแหนวัดแห่งนี้เป็นอย่างยิ่งได้ชวนกันนำพระคัมภีร์ของวัดไปซ่อนไว้ แล้วทำให้เป็นวัดร้าง โดยแกล้งนำวัวควายมาผูกเลี้ยงไว้ในวัดและอุโบสถ เหมือนไม่ได้เคารพศรัทธา วัดแห่งนี้จึงรอดพ้นจากการถูกเผาทำลายมาได้จนปัจจุบัน

หลังอาหารกลางวัน ไกด์พาไปชมโรงงานหยกที่แกะสลักงานฝีมือโดยคนพิการ ต่อจากนั้นพาไปชมศูนย์วิจัยยาสมุนไพรสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งประเทศจีน ที่รัฐบาลจีนสร้างขึ้นเพื่อวิจัยยาสมุนไพรแพทย์แผนโบราณจีนและยาสมุนไพรของชนกลุ่มน้อยต่างๆโดยเฉพาะ ปี ค.ศ. 1983 องค์การอนามัยโลกได้ให้เป็นศูนย์กลางร่วมมือวิจัยยาสมุนไพรแพทย์แผนโบราณ ได้มีแพทย์แผนจีนมาโชว์การรักษาด้วยพลังงานไฟฟ้าและมีการบริการตรวจสุขภาพให้นักท่องเที่ยวและสั่งจ่ายยา มีคณะเราซื้อยาไปหลายคน สมเด็จพระเทพรัตน์ฯเคยเสด็จสองครั้งและทรงปลูกต้นเลือดมังกรไว้ต้นหนึ่งซึ่งเป็นยาที่มีชื่อว่า “ยาศักดิ์สิทธิ์บำรุงเลือด” ต้นยานี้เป็นพยานมิตรภาพระหว่างประเทศไทยและจีน ต้นเลือดมังกรคนจีนเรียก “หลงเฉี่ยเจี๋ย” ส่วนคนไทยเรียก “จันทร์แดง”

เดินทางต่อไปเยี่ยมชมสวนม่านทิง หรือบ้านถิ่น สวนสาธารณะสำหรับกษัตริย์ไทยลื้อใช้เดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสวนที่โจวเอินไหลแต่งชุดไทยลื้อ มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์กับชาวไทยลื้อ ทางรัฐบาลสิบสองปันนาจึงได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้ในสวนนี้ เดินชมสวนข้ามสะพานขนาดเล็กไปชมเจดียืขาวแปดเหลี่ยมเดินลัดไปจนถึงวัดป่าเชต์แล้วก็ขึ้นรถบัสเดินทางต่อ

ไกด์พาไปดูงานหมู่บ้านทำมีดสิบสองปันนา ผู้บรรยายสรรพคุณมีดได้อย่างน่าสนใจมาก ก่อนกลับพวกเราจึงซื้อมีดกันหลายคน โปรแกรมดูหยก ดูยา ดูมีด เป็นโปรแกรมบังคับที่รัฐบาลจีนกำหนดให้ไกด์ต้องพานักท่องเที่ยวไปดูและไกด์จะได้ส่วนแบ่งจากการขายด้วย ผมไมได้สนใจนักหลบมุมมานั่งคุยกับพนักงานอีกด้านหนึ่งเพราะเคยมาครั้งหนึ่งแล้วและเคยซื้อมีดปอกผลไม้กลับไปด้วย

ราวบ่ายสามโมงกว่าๆ  เดินทางต่อไปเยี่ยมชมวัดหลวงไทลื้อ เป็นวัดพุทธนิกายหินยานที่สร้างขึ้นใหม่โดยบริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวหยวนห้าวจำกัด นักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ทุ่มงบลงทุน 350 ล้านหยวน เป็นวัดสร้างใหม่เพิ่งสร้างเสร็จ ตอนที่ผมมา 2 ปีก่อน ยังไม่ได้เข้าชมเพราะสร้างไม่เสร็จ สามารถเดินขึ้นชมได้ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่ด้านบน อุโบสถสวยงาม หรือจะขึ้นรถเล็กไปก็ได้ สภาพอากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใสทำให้ถ่ายรูปได้สวยงามมาก

ห้าโมงครึ่งไกด์พาเราไปรับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารอาหารพื้นเมืองไทยลื้อ (ไตลื้อ) เป็นแบบขันโตกแต่นั่งเก้าอี้ มีการแสดงพื้นเมืองให้ชม และให้เราขึ้นไปร่วมรำวงด้วย มีสาวๆนักแสดงลงมาเชื้อเชิญ หลังอาหารเย็น ทางคณะได้จัดให้มีการเข้าชมการแสดงวัฒนธรรมโชว์พาราณสีเพิ่มเติมแต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 160 หยวน ผมเคยดูแล้วก็เลยไม่ดู และกลับมาพักผ่อนที่โรงแรม สักพักก็เดินไปหาซื้อสินค้าที่ถนนคนเดินและเดินไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าซึ่งมีคนจีนท้องถิ่นไปจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคับคั่ง ต่างจากถนนคนเดินที่มีแต่นักท่องเที่ยว

หมายเลขบันทึก: 389088เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2010 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท