นปส.55 (33): เพื่อนพ้องน้องพี่


คนเอเชียมักบ่นว่าฝรั่งไม่ค่อยยอมรับคนเอเชียเท่าไหร่ ผมคิดว่า คนเอเชียเองก็ไม่ค่อยให้เครดิตคนเอเชียด้วยกัน คนเอเชียต้องให้เกียรติกันเองก่อน ไทยเรามีสายสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านมานาน แต่ในความเป็นจริงปัจจุบัน เราเข้าใจเพื่อนบ้านมากน้อยแค่ไหน เราให้ความสำคัญกับมิตรภาพของเพื่อนบ้านเรือนเคียงอย่างเสมอภาคโดยไม่ยกตนข่มเขาหรือเปล่า

(33): เพื่อนพ้องน้องพี่

พื้นที่ชายแดนไทย-พม่าในส่วนของแม่สายมีการเปิดด่านถาวรค่อนข้างราบรื่น ทำให้การค้าต่อเนื่อง ตลาดขยายตัวได้ดี ต่างจากพื้นที่อำเภอแม่สอด-เมียวดี ที่การเปิดด่านถาวรจะมีปัญหาต้องปิดด่านบ่อย เนื่องจากพื้นที่ของท่าขี้เหล็กเป็นรัฐไทยใหญ่ที่ไม่ค่อยมีปัญหาสู้รบแยกดินแดนกับพม่ามากนัก ส่วนของแม่สอดเป็นรัฐกะเหรี่ยงที่ยังคงสู้รบพยายามแบ่งแยกดินแดนอยู่ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนจึงทำได้ยาก มีปัญหาปิดด่านบ่อย การเจรจาความเมืองชายแดนพม่า บทบาทของนายทหารจะมีความสำคัญกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2553 ตื่นนอนแต่เช้าตรู่เพื่อทานอาหารเช้าตอนตีห้าครึ่งที่โรงแรม และ 6 โมงเช้าเดินทางด้วยรถตู้ต่อไปเยี่ยมชมด่านศึกษาวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตอำเภอเชียงของ เส้นทางถนนลาดยางที่คดเคี้ยวไปตามแนวเขาและที่ราบสลับกันไปตัดกับความเขียวชอุ่มของต้นไม้ใบหญ้า ทำให้ชุ่มชื่นแต่การนอนดึกตื่นเช้าก็ทำให้ง่วงไม่สามารถเบิกตามชมความงามของทิวทัศน์ที่รถวิ่งพาพวกเราผ่านไปได้ ผมนั่งเบาะหลัวสุดติดกับพี่พิรุณและภรรยา การไปดูงานต่างประเทศครั้งนี้ใช้เงินส่วนตัวจึงอนุญาตให้พาผู้ติดตามไปได้ แต่ภรรยาผมเคยสิบสองปันนาแล้วจึงไม่ได้ไปด้วย

พี่ต่ายหรือพิรุณ เสลานนท์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนนทบุรี จบหลักสูตรนักเรียนนายอำเภอรุ่นที่ 49 แล้วโอนมาที่ กกต. เป็นคนคุยสนุก แซวได้ อำได้ มีประสบการณ์หลากหลาย เข้ากับเพื่อนๆในกลุ่มได้ดี เป็นคนมีน้ำใจ ไม่เก๊กท่า เป็นมิตร พูดคุยด้วยแล้วสบายใจ อยู่กลุ่ม กป.4 ด้วยกัน

อำเภอเชียงของ ภูมิประเทศพื้นที่ราบสลับกับเทือกเขา มีพื้นที่ด้านทิศตะวันออกบางส่วนติดกับแม่น้ำโขง ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือ เมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายเชื้อชาติ เช่น ไตลื้อ ขมุ มูเซอ แม้ว เย้า โดยกลุ่มไทลื้อโดยมากจะอาศัยอยู่ที่ บ้านห้วยเม็ง และบ้านศรีดอนชัย อพยพมาจากทาง สิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เชื้อชาติขมุตั้งอยู่ที่บ้านห้วยกอกเป็นหมู่บ้านเล็กๆที่มีประชากรไม่มากนัก ประชากรในอำเภอเชียงของโดยส่วนมากทำอาชีพเกษตรกรรม เช่นทำนา ไร่ข้าวโพด สวนส้ม สวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ และพืชผักต่างๆเป็นต้น

พื้นที่ติดน้ำโขงบริเวณตัวอำเภอเชียงของมีการสร้างถนนเรียบน้ำโขงเริ่มตั้งแต่บ้านหาดไคร้ไปถึงบ้านหัวเวียงนักท่องเที่ยวสามารถแวะชมบรรยากาศริมโขงได้ ทุกวันที่ 17-19 เมษายน บริเวณท่าจับปลาบึก (ลานหน้าวัดหาดไคร้) จะมีการบวงสรวงและจับปลาบึกซึ่งหาดูได้ที่เดียวในโลก ปัจจุบันการล่าปลาบึกจะล่าได้ปีละครั้งในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเพื่อเป็นการอนุรักษ์ปลาบึก การล่าจึงทำเพื่อเป็นการสืบทอดการล่าปลาบึกให้คงอยู่ตามประเพณีของชาวบ้านหาดไคร้ สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 6 ก็ได้มาฝึกงานที่โรงพยาบาลสมเด้จพระยุพราชเชียงของ 3 สัปดาห์

ชั่วโมงกว่าๆก็เดินทางถึงท่าเรืออำเภอเชียงของ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี มุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการนำเข้า- ส่งออกสินค้าและส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่าง 4 ประเทศ ตามข้อตกลง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย จีน พม่า ลาว ไทย ท่าเรือเชียงของตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงท่าเทียบเรือมีขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 180 เมตร ด้านหน้าติดแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้านหลังติดถนนซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอเชียงแสนและเชียงของ

เราจัดการสัมภาระส่วนตัวไปไว้รวมกันที่ด่านผ่านเข้าเมืองเพื่อรอทีมงานของทัวร์โฟโต้เวิลด์ทัวร์แอนด์ทรานสปอร์ตมาขนย้าย เข้าห้องน้ำ เพื่อนๆถ่ายภาพวิวสวยๆริมน้ำโขง ผมแวะซื้อกาแฟกระป๋องติดไปด้วยเผื่อเป็นไมเกรนระหว่างทางเนื่องจากนอนดึก หลังจากนั้นก็นั่งเรือหางยาวลำใหญ่ข้ามแม่น้ำโขงอันเชี่ยวกรากไปสู่ท่าเรือเมืองห้วยซาย แล้วขึ้นรถบัส 3 คัน ที่จัดรายชื่อไว้แล้ว เดินทางต่อไปตามเส้นทางลาดยาง (R3a) อันคดเคี้ยวผ่านทุ่งนา ป่าเขาในดินแดนลาว มีไกด์หนุ่มชาวลาวหน้าตาดีคล้ายคนไทยมาต้อนรับพร้อมอธิบายเกี่ยวกับประเทศลาวไปด้วย แต่สังเกตว่า ลูกทัวร์ที่ตื่นมาฟังน้อยมากเพราะนอนดึกและตื่นเช้ากันมาจึงหลับเป็นส่วนใหญ่

รถบัสวิ่งผ่านพื้นที่ป่าเขาลำเนาไพรทางตอนเหนือของของลาวในเขตแขวงบ่อแก้ว ชมชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าชาวลาวเหนือ เดินทางไปถึงระหว่างทางราว 9 โมงเช้า ก็แวะพักให้เข้าห้องน้ำที่ร้านอาหารเล็กๆที่บ้านน้ำฟ้า เสียค่าบริการคนละ 5 บาท มีเด็กหญิงชาวลาวหน้าตาน่ารักน่าชังวัยราว 4 ขวบมายืนคอยเก็บเงิน ห้องน้ำมีแค่สามห้อง ผู้ชายส่วนใหญ่จึงหลบไปชายป่าซึ่งเร็วกว่า ไม่ต้องรอคิวนาน ระยะทางจากแขวงบ่อแก้วถึงแขวงหลวงน้ำทา 180 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 4 ชั่วโมง ผมจำได้ว่าคราวก่อนมาแวะทานกลางวันที่บ้านน้ำฟ้านี้

ลาว หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People's Democratic Republic) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดจีนและพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก

การปกครอง แบ่งเป็น 16 แขวง ในหนึ่งแขวงจะมีหลาย เมือง ซึ่งจะมีหนึ่งเมืองเป็นเมืองหลวงเรียกว่า เมืองเอก และ 1 เขตปกครองพิเศษเรียกว่า นครหลวง (ในวงเล็บคือเมืองหลวงหรือเมืองเอกของแขวง) ประกอบด้วยแขวงอัดตะปือ (เมืองสามักคีไซ) แขวงบ่อแก้ว (เมืองห้วยซาย) แขวงบอลิคำไซ (เมืองปากซัน) แขวงจำปาสัก (เมืองปากเซ) แขวงหัวพัน (เมืองซำเหนือ) แขวงคำม่วน (เมืองท่าแขก) แขวงหลวงน้ำทา (เมืองหลวงน้ำทา) แขวงหลวงพระบาง (เมืองหลวงพระบาง) แขวงอุดมไซ (เมืองไซ) แขวงพงสาลี (เมืองพงสาลี) แขวงสาละวัน (เมืองสาละวัน) แขวงสะหวันนะเขด (เมืองไกสอน พมวิหาน) นครหลวงเวียงจันทน์ (นครหลวงเวียงจันทน์ ประกอบด้วยเมืองจันทะบูลี, เมืองสีสัดตะนาก,เมืองไซเสดถา เมืองสีโคดตะบอง เมืองหาดซายฟอง และ ตอนใต้ของเมืองไซทานี) แขวงเวียงจันทน์ (เมืองโพนโฮง) แขวงไซยะบูลี (เมืองไซยะบูลี) แขวงเซกอง (เมืองละมาม) และแขวงเชียงขวาง (เมืองโพนสะหวัน)

ประชากร ลาวมีประชากรรวม 6,068,117 คน ประกอบด้วยชนชาติต่างๆ หลากหลายเชื้อชาติ เรียกรวมกันว่า "ประชาชนบรรดาเผ่า" จำแนกได้เป็น 68 ชนเผ่า แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามถิ่นที่อยู่อาศัย

- ลาวลุ่ม หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบ ส่วนใหญ่ได้แก่คนเชื้อชาติลาว ภูไท ไทดำ ไทลื้อ ฯลฯ ใช้ภาษาลาวหรือภาษาตระกูลภาษาไทเป็นภาษาหลัก มีอยู่ร้อยละ 68 ของจำนวนประชากรทั้งหมดและอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นกลุ่มชาวลาวที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ

- ลาวเทิง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูง เช่น ชาวบรู มะกอง งวน ตะโอย ตาเลียง ละเม็ด ละเวน กะตัง ฯลฯ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ เช่น แขวงจำปาสัก แขวงเซกอง แขวงอัตตะปือ คิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

- ลาวสูง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง เช่น ชาวม้ง เย้า มูเซอ ผู้น้อย และชาวเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของลาว เช่น แขวงหลวงพระบาง แขวงเชียงขวาง และตามแนวตะเข็บชายแดนภาคเหนือ ชาวลาวกลุ่มนี้คิดเป็นจำนวนร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ภาษา ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาทางการทั้งในส่วนของภาษาพูดและระบบการเขียน ส่วนในกลุ่มชาวลาวเทิงและชาวลาวสูงยังคงมีการใช้ภาษาประจำเผ่าของตนควบคู่กับภาษาลาว ภาษาต่างประเทศอื่นได้แก่ภาษาฝรั่งเศสซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ปัจจุบันยังคงใช้ในวงราชการและการติดต่อค้าขายบ้าง ภาษาอังกฤษใช้ในการติดต่อกับต่างประเทศและการค้าซึ่งมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ศาสนา ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60 ของชาวลาวทั้งหมด) ควบคู่ไปกับลัทธินับถือผีบรรพบุรุษของชนชาติส่วนน้อยในแถบภูเขาสูง ส่วนชาวลาวที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยมาก

แขวงบ่อแก้ว (Bokeo) ตั้งอยู่ทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของลาว มีชื่อเสียงทางด้านอัญมณี และยังอยู่ในเขตสามเหลี่ยมทองคำอีกด้วย ปี พ.ศ. 2547 มีประชากร150,100 คน ทิศเหนือ ติดกับแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว  ทิศตะวันออก ติดกับแขวงอุดมไซ ประเทศลาว ทิศตะวันตก ติดกับรัฐฉาน ประเทศพม่า  ทิศใต้ ติดกับจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย

แขวงบ่อแก้วได้แยกมาจากแขวงหัวของ (แขวงหัวของได้ถูกยุบลงและแบ่งเป็น 2 แขวง) คือพื้นที่แขวงหลวงน้ำทาและบ่อแก้วในปัจจุบัน มาตั้งเป็นแขวงใหม่ แล้วตั้งเมืองห้วยซาย ซึ่งเป็นเมืองเอกของแขวงหัวของเดิมเป็นเมืองเอกของแขวงบ่อแก้ว ต่อมาในปี 2534 ได้มีการโอน เมืองปากทา และเมืองผาอุดม จากแขวงอุดมไซ มาขึ้นกับแขวงบ่อแก้ว แบ่งเขตการปกครองเป็น 5 เมืองคือ ห้วยซาย เมิง ปากทา ผาอุดม และต้นเผิ้ง

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดจอมเขามณีรัตน์  วัดพระธาตุตากผ้าทอง หมู่บ้านน้ำว้าง หมู่บ้านข้าวปุ้น หมู่บ้านยองหิน หมู่บ้านต้มเหล้า ตลาดเมืองบ่อแก้ว สนามบินบ่อแก้วและอนุสรณ์สถานของท่านไกรสร พรหมวิหาร

เราถึงแขวงหลวงน้ำทาในเวลาเที่ยงพอดี รถบัสพาเราวิ่งวนรอบตัวเมืองเพื่อชมทัศนียภาพแล้วพาไปทานกลางวันที่ร้านอาหารเฮือนลาว (ร้านคนไทยที่มาได้สัมปทาน) การพูดคุยกับพนักงานไม่ยากลำบากเพราะเราคุยไทยเขาเว้าลาวก็เข้าใจกันได้ไม่ยาก อาหารก็อร่อยถูกปากโดยเฉพาะไข่เจียว ร้านอาหารเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง หลังรับประทานอาหารเสร็จก็ออกเดินทางต่ออีก 60 กิโลเมตรก็จะถึงบ่อเตน ด่านชายแดนลาว

ตอนที่ผ่านสี่แยกไฟแดง ไกด์หนุ่มก็บอกว่า ไฟเขียวลาวเรียกว่า ไฟอิสระ ไฟแดง เรียกไฟอำนาจ ส่วนไฟเหลืองเรียก ไฟลังเล ถ้าไปโรงพยาบาลห้องฉุกเฉินเรียกห้องมรสุม ห้องคลอดเรียกห้องประสูติ ห้องตรวจภายในเรียกห้องจกเบิ่ง ห้องผ่าตัดเรียกห้องปาด

แขวงหลวงน้ำทา (Luoang Namtha) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศ ทิศเหนือติดกับประเทศจีน ทิศใต้ติดกับแขวงบ่อแก้ว ทิศตะวันออกติดกับแขวงอุดมไซ และทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า แขวงนี้แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ แขวงหัวของ เป็นพื้นที่ของแขวงหลวงน้ำทาและบ่อแก้วในปัจจุบันรวมกัน ต่อมาจึงได้ยุบแขวงหัวของลงและแยกออกเป็น 2 แขวง ที่ตั้งแขวงหัวของเดิมได้ถูกยุบลงและตั้งเป็นแขวงใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงบ่อแก้ว และแยกเมืองทางเหนือของแขวงหัวของเดิมไปตั้งแขวงใหม่ คือแขวงหลวงน้ำทา พื้นที่ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน จึงเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ ม้ง ขมุ ไทเหนือ ไทดำ ไทแดง ไทขาว ไทยวน ไทลื้อ ละวิด ละเมด สีดา อีก้อ มูเซอ กะลอม ไทยใหญ่

การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งเป็น 5 เมืองคือ ลอง (Long) นาแล (Nale)น้ำทา (Namtha)สิง (Sing)และเวียงพูคา (Viangphoukha) 

หลวงน้ำทามีทั้งการให้ชมวิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆ ร่องรอยจากสงครามกองทัพขบวนการประเทศลาวกับกองโจรม้ง กอปรกับเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในช่วงสงครามอเมริกา พ.ศ. 2498-2518 พื้นที่แถบนี้เคยเป็นสมรภูมิรบ ระหว่างขบวนการประเทศลาวและกลุ่มกองโจรของพวกชาวเขา ส่วนใหญ่เป็นม้ง ที่ได้รับการหนุนหลังจากหน่วยงานซีไอเอของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตัวเมืองถูกทำลายโดยไม่สามารถซ่อมแซมได้ ต้องย้ายไปสร้างเมืองใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำทา ห่างจากที่ตั้งเดิมมาทางเหนือ 7 กิโลเมตร ใกล้กับทางหลวงที่ใช้ไปยังเมืองสิงห์ อุดมไชย และบ่อเต็น เป็นที่อาศัยของคนหลายชนเผ่า

แหล่งท่องเที่ยว เช่นวัดหลวงบ้านเชียงใจ  วัดพระธาตุเชียงตึง วัดพระธาตุเมืองสิง เรือนพญาเซกอง ตลาดใหญ่ พระธาตุพระธาตุหลวงน้ำทา ตลาดมืด การเดินทาง มายังหลวงน้ำทา มีรถประจำทางไว้บริการจากหลวงพระบางและห้วยซายทุกวัน และจากหลวงน้ำทาก็มีรถประจำทางมายังเมืองสิงเช่นกัน ระยะทางประมาณ 59 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

ราวบ่ายสามโมง รถบัสพาคณะเราเดินทางถึงชายแดนลาว-จีน ที่ด่านบ่อเตน (ลาว) ซึ่งสภาพทรุดโทรมแต่ถัดกันไปลาวกำลังสร้างด่านใหม่ใหม่ใหญ่โตขึ้น เราต้องลงจากรถบัสแล้วเดินผ่านด่านแต่ไม่ต้องถือพาสปอร์ตให้ประทับตรา เพราะทางทัวร์จัดการไปแล้ว การลงเดินนัยว่าเป็นการให้เกียรติด่าน ขึ้นรถบัสเดินทางต่อในระยะ 5 กิโลเมตรจากชายแดนจีน รัฐบาลจีนได้ขอเช่าสัมปทานจัดทำเป็นตลาด ศูนย์การค้า บ่อนกาสิโนและตลาดค้าขายรวมทั้งปลูกยางพาราบนภูเขาโดยจีนขอเช่าลาว 30 ปี ต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง รวมเป็น 90 ปี คณะเราเดินทางสู่ด่านบ่อหาน (จีน) ด่านจีนแห่งใหม่สร้างเสร็จแล้ว ใหญ่โตโอ่โถง ดูมีสง่าราศีมาก ผิดกับด่านไทย (เชียงของ) และลาว (บ่อแก้ว บ่อเตน) ที่ชำรุดทรุดโทรมเหมือนขาดการดูแล

เราต้องลงจากรถบัสแล้วถือพาสปอร์ตผ่านด่านกันเอง คราวก่อนที่ผมมายังผ่านด่านเก่า คราวนี้ด่านใหม่สะอาดสะอ้าน ห้องน้ำดีขึ้น เจ้าหน้าที่ด่านมีรอยยิ้มมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากใช้เวลาราว 45 นาที ก็ผ่านกันจนครบและขึ้นรถบัสเดินทางต่อเพื่อมุ่งสู่สิบสองปันนาโดยใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์คุนหมิง-กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) ซึ่งจีนทุ่มทุนมหาศาลในการก่อสร้างเส้นทางสายนี้ เพื่อเปิดเป็นเศรษฐกิจสู่เอเชียตะวันออกเฉียงให้ ถนนวิ่งไปตามภูเขาสูสลับซับซ้อนของทิวเขาแดนจีนตอนใต้ แต่ถนนสายนี้ไม่เลาะเรียบไปตามแนวเขา กลับก่อสร้างโดยการเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา หรือสะพานข้ามเหวไปเลย ทำให้ระยะทางสั้นลงไปไม่คดเคี้ยวมากนัก จากชายแดนจีน-ลาว มีกว่า 50 อุโมงค์ ไกด์สาวชาวจีนก็มาปฏิบัติหน้าที่แทนไกด์หนุ่มชาวลาวทันทีที่ข้ามแดนมา ระยะทางจากบ่อหาน-สิบสองปันนา ราว 170 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมง

ไกด์จีนบรรยายความเป็นไปต่างๆของจีนและสิบสองปันนาและสถานที่ที่ผ่านได้ละเอียดดีกว่าไกด์ลาวมาก น่าจะผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี เส้นทางที่ผ่านบนภูเขาเต็มไปด้วยป่ายางพาราที่กำลังเติบโตรอวันเวลากรีดน้ำยางไปใช้ สิบสองปันนาเป็นจังหวัดในมณฑลยูนนานที่มีชนเผ่า 26 ชนเผ่า (จู๋) เฉพาะที่สิบสองปันนามี 13 จู๋ ถ้าคิดทั้งประเทศจีนแล้วมีคนถึง 566 เผ่า (จู๋) ไกด์เล่าว่า เดิมสิบสองปันนามีป่าไม้เยอะมาก มียาสมุนไพรขึ้นชื่อ ต่อมาชนเผ่าฮั่นเข้ามาแล้วตัดต้นไม้ไปเยอะ (ตอนนี้ทางการจีนต้องมารณรงค์ให้ปลูกยางพาราแทน) โดยเฉพาะช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม คนจีนคิดว่ามาสิบสองปันนาก็เหมือนกับมาต่างประเทศเพราะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

รถบัสพาผ่านไปตามเส้นทางผ่านเมืองหล้า ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำเภอของเขตปกครองตนเอง (เทียบเท่าจังหวัด) ผ่านเส้นทางอพยพของพี่น้องชาวไตลื้อ เมื่อครั้งต้นรัตนโกสินทร์สู่ไทยไปที่จังหวัดน่านและพะเยา ผู้ร่วมคณะก็หลับๆตื่นๆกันไปตลอดทางจนเข้าเขตสิบสองปันนา หรือเมืองเชียงรุ้ง มณฑลยูนาน ประเทศจีน รถบัสวิ่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำล้านช้างพาเราศึกษาวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนในเมืองสิบสองปันนาแล้วเข้าที่พัก  Huofa Hotel  พร้อมรับประทานอาหารเย็นที่โรงแรม หลังจากนั้นก็พักผ่อนตามอัธยาศัย

พวกเราหลายคนก็ไปเดินซื้อของที่ตลาดคนเดินกัน แล้วก็กลับมาพักผ่อนที่โรงแรมเป็นการสิ้นสุดการเดินทางอันทรหดสำหรับวันนี้และวันที่สองของเส้นทางไทย-พม่า-ลาว-จีน ซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่เราควรสนใจ ใส่ใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน มีรากทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงกันมาทางประวัติศาสตร์ ผมเคยล่องเรือจากเชียงรายไปที่หลวงพระบางและนั่งรถบัสต่อไปที่โพนโฮงจนถึงนครหลวงเวียงจันทร์และกลับทางหนองคายมาแล้ว คราวนี้ได้ขึ้นไปทางลาวตอนเหนือบ้าง

หมายเลขบันทึก: 388886เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2010 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท