นปส.55 (30): เติมไฟใส่ฟืน


แม้คนจะสำคัญแต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนสำคัญกว่า แม้ความรู้จะสำคัญแต่การแบ่งปันความรู้สำคัญกว่า

เมื่อวานในชั่วโมงอาจารย์ประพนธ์ได้เรียนรู้ประสบการณ์ดีๆจากเรื่องเล่าของเพื่อนๆหลายคน เป็นสิ่งที่ดีมาก เช่นพี่สุทิน พี่สมภพ พี่กอบชัย พี่พิชัย ที่เล่าได้น่าฟังมาก

พี่กอบชัย บุญอรนะ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี เป็นคนเงียบๆแต่ยิ้มง่าย ยิ้มเก่ง เป็นกันเอง พูดคุยแบบนิ่มๆ แต่ก็เป็นคนมีหลักการที่ดี มีความเป็นนักวิชาการ

พี่สมภพ รุ่งโรจน์ นายอำเภอบ่อทอง ชลบุรี เป็นคนตรง พูดตรงไปตรงมา ออกจะโผงผางแต่เป็นคนจริงใจ ยิ้มง่าย ขี้เล่น อยู่ในกลุ่ม กป.4 ด้วยกัน เป็นคนแต่งตัวเนี๊ยบมาก

พี่สุทิน มณีพรหม พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพี่ใหญ่อาวุโสที่สุดในรุ่น ตอนเลือกประธานรุ่น พี่ทินก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานในการเลือก เป็นคนน่ารักมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ถือตัว เป็นที่รักเคารพของน้องๆในรุ่น พี่ทินชอบเดินช้อปปิ้งมาก

พี่โย่งหรือพิชัย อุทัยเชฎฐ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา หนุ่มร่างสูงมาดแมนจากแดนสงขลา เป็นคนเงียบๆเรียบง่าย สบายๆ ชอบอ่านนิยายกำลังภายใน ตื่นแต่เช้ามานั่งอ่านนิยายหรือเวลาว่างก็เช่นกัน พี่โย่งเป็นคนน่ารัก อัธยาศัยดี ยังไงก็ได้ ไม่เรื่องมาก

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2553 เรียนรายวิชา การบริหารความรู้เพื่อสร้างภาวะผู้นำ โดยอาจารย์อุดม ไพรเกษตร เนื้อหาก็ยังคงเป็นKMอยู่ แต่อาจจะต่างสำนักกันกับเมื่อวานเพราะKMมีทฤษฎีและตัวแบบหลายอันด้วยกันและผมเองก็มีตัวแบบที่สร้างขึ้นเองสมัยอยู่บ้านตากด้วยเหมือนกัน อ่านได้ที่ http://pubnet.moph.go.th/techjrn/hto/16_6_LKASA-Phichet.pdf อาจารย์พูดถึงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคิดอัตราเป็น 85-90% หลังปี ค.ศ. 2000

ปัจจัยที่ทำให้Intangible assets ขององค์การมีมูลค่าสูงขึ้นคือภาวะผู้นำ ความสัมพันธ์ ความรู้และภาพลักษณ์ตราสินค้า องค์ประกอบของการจัดการความรู้คือคน เทคโนโลยีและกระบวนการความรู้ โดยมีเป้าหมายและจุดวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการความรู้คือพัฒนาองค์การ พัฒนากระบวนการทำงานและพัฒนาคน

ความรู้ (พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ) คือสิ่งที่สั่งสมมาจาการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้าหรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ ความเข้าใจหรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิดหรือการปฏิบัติองค์วิชาในแต่ละสาขา

ความรู้จำแนกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) หรือความรู้ในวัตถุ กับความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) หรือความรู้ในคน ที่มีทั้งส่วนที่อธิบายได้แต่ยังไม่ถูกนำไปบันทึก อธิบายได้แต่ไม่อยากอธิบาย และส่วนที่อธิบายไม่ได้ มีการจำแนกระดับความรู้ออกเป็น 4 ระดับ คือ รู้ว่าคืออะไร (Know-what) รู้วิธีการ (Know-how) รู้เหตุผล (Know-why) และใส่ใจกับเหตุผล (Care-why)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ให้นิยามการจัดการความรู้ ไว้ว่า “การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในส่วนราชการซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบเพื่อให้ทุกคนในองค์การสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์การมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด

นิยามการจัดการความรู้ที่ดี ควรประกอบด้วย 3 ส่วนคือ กระบวนการจัดการความรู้ เป้าหมายของการจัดการความรู้ และการประเมินผล การจัดการความรู้ เป็น “กระบวนการ” ที่ทำให้องค์การสามารถก้าวสู่ “สถานะ” ที่เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้

อาจารย์อุดมนำเสนอตัวแบบการจัดการความรู้เพื่อสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ของ รศ. ดร. จิรประภา อัครบวร ที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

- การสร้างและถ่ายเทความรู้ ใช้แนวคิด SECI Model ของโนนากะและทาคิวชิ

- หลักการตลาดในการจัดการความรู้ (KM marketing) โดยใช้ 4P (Price, Place, Product, Promotion) หรือปัจจุบันนิยมใช้ 4C (Customer, Convenience, Cost, Communication)

- การสร้างแรงจูงใจในการจัดการความรู้ (KM motives) ในด้าน Share, Access, Learn, Apply

- การจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ (KM as a unit) ดูทั้งโครงสร้าง วัฒนธรรม ระบบสารสนเทศ และภาวะผู้นำ

วิธีการประเมินองค์การตนเองเรื่องการจัดการความรู้ สามารถประยุกต์ใช้ KMAT (The Knowledge Management Assessment Tool) โดยมีการประเมินองค์การใน 5 หมวด คือ กระบวนการจัดการความรู้ ภาวะผู้นำ วัฒนธรรมในเรื่องการจัดการความรู้ เทคโนโลยีการจัดการความรู้ และการวัดผลการจัดการความรู้

หลังเลิกเรียน มีการชี้แจงเกี่ยวกับการศึกษาดูงานภาคเหนือและการไปดูงานสิบสองปันนาโดยปรานและฝ่ายศึกษาดูงานโดยพี่แบน พี่หรัดและมีพี่ป๋องมาช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย การศึกษาดูงานนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากไปศึกษาดูงานภาคกลางมาแล้ว พี่แบนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของรุ่นในการผลักดันและจัดทำโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศร่วมกับประธานเฉลิมพลและรองประธานอีกคนหนึ่งคือพี่หนู

การบริหารจัดการในการศึกษาดูงานครั้งนี้ดูซับซ้อนเพราะในเรื่องการประสานงานติดต่อภายในประเทศเป็นเรื่องของวิทยาลัยมหาดไทย เรื่องการดูงานทางวิชาการเป็นของสถาบันส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี การดูงานต่างประเทศเป็นเรื่องของรุ่นที่ต้องประสานกับบริษัททัวร์เอง โดยรุ่นต้องทำโครงการขออนุมัติปลัดกระทรวงมหาดไทยนำเสนอรัฐมนตรีอนุมัติโดยต้องระบุว่าเป็นการศึกษาดูงานโดยใช้เงินส่วนตัวไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ

พวกเราเลือกบริษัทโฟโต้เวิลด์ทัวร์ แอนด์ ทรานสปอร์ต (www.thephototours.com ) เป็นการทัศนศึกษาเส้นทางเศรษฐกิจ R3A ผ่านจากอำเภอเชียงของเข้าสู่สิบสองปันนาโดยทางรถยนต์และกลับทางรถยนต์ ผมเคยไปสิบสองปันนามาครั้งหนึ่งคราวนั้นได้เดินทางไปทางรถยนต์และได้กลับทางเรือตามลำน้ำโขง

พี่แบนหรือเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ตอนนี้ถูกยืมตัวไปอยู่หน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนุ่มร่างสูงใหญ่ท้วม ท่าทางอารมณ์ดีตลอดเวลา ยิ้มง่ายเป็นกันเอง รอยยิ้มน่าประทับใจมาก ชอบบริการผู้อื่น อัธยาศัยใจคอดีมาก ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายศึกษาดูงานที่ผมคิดว่าเป็นฝ่ายที่ทำงานหนักที่สุด พี่แบนมีประสบการณ์หลากหลายมาก ร้องเพลงเก่งโดยเฉพาะเพลงคาราบาวหรือแนวเพื่อชีวิต

พี่หรัดหรือจรัส ใยเยื่อ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครนายก เป็นเหรัญญิกรุ่น พี่หรัดเป็นคนหน้าตาดี พูดเก่ง ยิ้มง่าย ไม่ถือตัว พูดเล่นพูดแซวกันได้ ร้องเพลงเก่ง ชอบเพลงของโลโซมาก เหรัญญิกของรุ่นเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำงานหนักและมีงานเกือบตลอดเวลา

ตอนที่อาจารย์ประพนธ์ให้แต่ละคนตอบคำถามว่า KM คืออะไร ก็มีนิยามที่แต่ละคนเข้าใจไปหลากหลาย ในส่วนของผม ผมเขียนนิยามไว้ว่า “การจัดการความรู้คือการนำความรู้มาจัดการ (เรียนรู้-สร้าง-ใช้-แลกเปลี่ยน-ต่อยอด) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากร พัฒนางาน พัฒนาองค์การและกระบวนการทำงานเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานและประเทศชาติ

การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือและกระบวนการไม่ใช่เป้าหมาย จากเมื่อวานและวันนี้จะพอมองเห็นความแตกต่างกันได้บ้างว่า การจัดการความรู้มี 2 แนวทางใหญ่ๆคือเน้นคนหรือเน้นเครื่อง ถ้าเน้นคนจะให้ความสำคัญกับความรู้ฝังลึกมากกว่า จึงเน้นไปที่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรียกว่า เข้าคน (Personalized approach) ซึ่งจะใช้ 2Pคือ People & Process ในขณะที่แนวทางเน้นเครื่องหรือเข้ารหัส (Codification approach) จะหนักไปทางการเอาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ซึ่งจะใช้ 2T คือ Tools & Technology

จากประสบการณ์ของผมและจากคำสอนของบรมครูหลายท่านบอกไว้ว่า “ความรู้กว่า 70% ที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริงมาจากความรู้ฝังลึกหรือความรู้ในตัวคน" หากเราอยากจัดการเอาความรู้ไปใช้งานเพราะKMเน้นต้องปฏิบัติ จึงต้องใส่ใจมากในความรู้ฝังลึกแต่ไม่ทิ้งความสำคัญของความรู้ชัดแจ้ง เพราะเมื่อถอดความรู้ฝังลึกออกมาแล้วก็มาทำให้เป็นความรู้ชัดแจ้งเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาเรียนรู้และต่อยอด

ผมเคยกล่าวในวีซีดีKMโรงพยาบาลบ้านตากว่า “แม้คนจะสำคัญแต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนสำคัญกว่า แม้ความรู้จะสำคัญแต่การแบ่งปันความรู้สำคัญกว่า” หรือ  “Human resource is important, but Human relationship is more important. Knowledge is important, but Knowledge sharing is more important.”

การจัดการความรู้ ช่วยสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ และส่งผลให้เกิดองค์การที่มีสมรรถนะสูงได้ เพราะทำให้คนดีขึ้น งานดีขึ้น วิธีการทำงานดีขึ้น และสร้างสัมพันธ์ที่ดีในองค์การได้ แนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้ของปีเตอร์ เซ็งเก้ ที่พูดถึงวินัยที่ 5 (The Fifth Disciplines) ไม่ใช่วินัยทั้ง 5 (The five Disciplines) นะครับ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เพราะเซ็งเก้ให้ความสำคัญมากที่สุด เป็นตัวเปลี่ยนสำคัญหรือเป็นคานดีดคานงัดสำคัญในการปรับสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ นั่นคือ System thinking

เมื่อมีการคิดเชิงระบบ จะทำให้อีก 4 คุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้เกิดได้ง่ายคือ Team learning, Mental Model, Shared vision และ Personal mastery

การจัดการความรู้สู่องค์การแห่งการเรียนรู้ ต้องเป็นการจัดการความรู้แบบบูรณาการ ผมได้เขียนเป็นตัวแบบที่เรียกว่าโมเดลไข่ (LKASA Egg Model) ที่มีกระบวนการที่ส่งผลเชื่อมโยงสู่กันและกัน 5 กระบวนการ ที่ไม่ได้เรียงกันเป็นแบบขั้นบันได ดูรายละเอียดได้ที่ http://pubnet.moph.go.th/techjrn/hto/16_6_LKASA-Phichet.pdf  ประกอบด้วย การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ การจัดการให้เกิดองค์ความรู้ การจัดการให้เกิดการใช้องค์ความรู้ การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการให้เกิดคลังความรู้

1. การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ เป็นบทบาทสำคัญของคุณเอื้อหรือผู้บริหารจัดการความรู้ (CKO) ที่ต้องส่งเสริมให้คนในองค์การเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะกับจริตของเขา (ทำให้ง่าย สร้างวิสัยทัศน์ร่วม ปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อ) ทั้งการอ่าน การฝึกอบรม การศึกษาดูงานและเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทั้งนี้ทุกการเรียนรู้ต้องมีทั้งเรียนรู้ด้วยตนเอง (โยนิโสมนสิการ) และเรียนรู้จากกันและกัน (ปรโตโฆษะ) เมื่อเรียนรู้จากคนอื่นแล้วต้องปรับให้เข้ากับบริบทขององค์กรต้องC&D (Copy & Development) ไม่ใช่ C&P (Cut & Paste)

2. การจัดการให้เกิดองค์ความรู้ เป็นบทบาทของวิศวกรความรู้ (คุณประกอบ) หรือ Knowledge engineering โดยเน้นกระบวนการสำคัญ 3 ประการคือ การระบุความรู้ (Knowledge Identification) การค้นหาความรู้ (Knowledge acquisition) และการสังเคราะห์องค์ความรู้ (Knowledge combination) ขั้นตอนนี้จะได้ทั้งความรู้ที่เป็นลักษณะปลีกย่อยและองค์ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติงานในรูปแนวทางการทำงานหรือ มาตรฐานการทำงานหรือนวัตกรรมในการทำงาน

3. การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ กระตุ้นส่งเสริมให้นำองค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปปรับใช้จริงในงานประจำ โดยต้องทำเหมือนที่อาจารย์อนุวัฒน์กล่าวไว้ “ทำงานประจำให้ดี มีอะไรให้คุยกัน ขยันทบทวน” (Do your best, Talk together, Review regularly) ผู้มีบทบาทสำคัญคือคุณกิจหรือผู้ปฏิบัติจัดการความรู้

4. การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นหัวใจสำคัญเปรียบเหมือนดังไข่แดง (ดูโมเดลได้จาก http://pubnet.moph.go.th/techjrn/hto/16_6_LKASA-Phichet.pdf) ผู้มีบทบาทสำคัญคือคุณอำนวย ช่วยทำให้คนเกิดความรู้สึก “ใช้ดีจึงบอกเพื่อน” การทำในขั้นนี้ต้องเน้นเปรียบเทียบผลงานและมาตรฐานการปฏิบัติแล้วนำสิ่งที่ดีกว่ามาแลกเปลี่ยนกันด้วยเครื่องมือต่างๆตามความเหมาะสมของแต่ละคน แต่ที่สำคัญต้องเป็นความรู้ปฏิบัติ “การที่ใครคนหนึ่งไปฟังการบรรยาย ฝึกอบรมหรืออ่านหนังสือได้ความรู้มาแล้วนำไปจัดเวทีเผยแพร่บอกเล่าต่อโดยยังไม่ได้ผ่านการนำไปปฏิบัติจริงมาก่อนหรือการนำเอาความรู้ในเอกสารตำรางานวิจัยไปเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆนั้น ไม่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) ในกระบวนการจัดการความรู้ เป็นเพียงเวทีส่งผ่านหรือส่งมอบความรู้เท่านั้น (Knowledge transferring)”

ถ้าเราไม่เข้าใจไปส่งเสริมแบบนี้มากๆ จะกลายเป็นการส่งเสริมพวกนักวิชาการหรือพวกใช้ฝีปาก มากกว่าส่งเสริมผู้ปฏิบัติหรือพวกฝีมือ จะทำให้การทำKM ไม่บรรลุผลจริงและไม่ยั่งยืนเพราะคนทำงานจริงจะหงอยและหงอ

5. การจัดการให้เกิดคลังความรู้ ผู้มีบทบาทสำคัญคือคุณเก็บหรือบรรณารักษ์ความรู้ จัดเก็บขุมความรู้ให้เป็นหมวดหมู่ เก็บง่าย ดูง่าย ต่อยอดง่าย ปรับและเปลี่ยนได้ง่าย โดยแบ่งออกเป็นหมวดความรู้ประเภทกระบวนการหรือคู่มือการทำงาน นวัตกรรมและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ  

หมายเลขบันทึก: 388862เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2010 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท