รายการสายใย กศน. 30 ส.ค., 6, 13, 20, 27 ก.ย., 4 ต.ค. 53


30 ส.ค.53 เรื่อง "ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว", 6 ก.ย.53 เรื่อง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ปี 2553”, 13 ก.ย.53 เรื่อง “การขับเคลื่อนองค์กรสู่เวทีการศึกษาระดับสากลอย่างมืออาชีพ”, 20 ก.ย.53 เรื่อง “โครงการทุนการศึกษาแก่เด็กสภาวะยากลำบากในเขตพื้นที่ชายแดนและชาวเขา”, 27 ก.ย.53 เรื่อง “ประสบการณ์และความประทับใจงาน กศน.”, 4 ต.ค.53 เรื่อง “การใช้โปรแกรมออกรหัสรายวิชาเลือก”

รายการสายใย กศน. วันที่  4  ตุลาคม  2553

 

         เรื่อง “การใช้โปรแกรมออกรหัสรายวิชาเลือก”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - ดร.รุ่งอรุณ  ไสยโสภณ  นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน สนง.กศน.
         - นายกิตติพงศ์  จันทวงศ์  นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน สนง.กศน.


         การใช้โปรแกรมออกรหัสรายวิชาเลือก เพื่อไม่ให้ทั่วประเทศออกรหัสซ้ำซ้อนกัน  ได้ส่งคู่มือการใช้โปรแกรมไปให้สถานศึกษาทั่วประเทศแล้ว  เริ่มใช้เดือน ก.ย.53  แต่ละสถานศึกษามีรหัสผู้ใช้ ( User ID ) และรหัสผ่าน ( Password ) เฉพาะตัว ถ้าลืมให้ถาม สนง.ส่งเสริม กศน.จังหวัด   สำหรับประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าไปศึกษาและคัดลอกข้อมูลได้ แต่จะจองรหัสเพิ่มรายวิชาเลือกไม่ได้
         ตอนนี้ส่วนกลาง คีย์รายวิชาเลือก ที่ส่วนกลางและสถานศึกษานำร่องพัฒนาขึ้น เข้าไปในระบบโปรแกรม 700 กว่ารายวิชาแล้ว
         ก่อนที่สถานศึกษาจะพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเลือกขึ้นมาใหม่ ให้เข้าไปดูรายละเอียดในโปรแกรมก่อน ถ้ามีรายวิชาเดิมที่เนื้อหาสอดคล้องกัน 60 % ไม่ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ ให้ใช้หลักสูตรที่มีอยู่แล้วได้เลย โดยสามารถปรับรายละเอียดเนื้อหาได้   ถ้าพัฒนาใหม่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาและการอนุมัติของผู้บริหารก่อน จึงจะนำขึ้นโปรแกรมออนไลน์นี้ได้
       รหัสรายวิชามี 7 หลัก โดย 2 หลักแรกเป็นตัวอักษรรหัสสาระการเรียนรู้ หลักที่ 3 เป็นตัวเลขระดับการศึกษา ( 0 = ใช้ได้ทุกระดับ, 1 = ระดับประถม, 2 = ระดับ ม.ต้น, 3 = ระดับ ม.ปลาย  รายวิชาที่ใช้ได้ทุกระดับ ให้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้ใหญ่ แทนมาตรฐานแต่ละระดับ )  หลักที่ 4 เป็นตัวเลขรหัสผู้พัฒนารายวิชาเลือก ( ส่วนกลางหรือสถานศึกษา )   หลักที่ 5-7 เป็นตัวเลขลำดับที่ของรายวิชาในกลุ่มนั้น ๆ

 

         เข้าไปใช้โปรแกรมที่เว็บ www.nfe.go.th/0405/ โดยเข้าที่เมนู “การออกรหัสหลักสูตรรายวิชาเลือก” กรอกรหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน แล้วล็อกอิน เข้าไป จะพบชื่อสกุลของเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษา และจะมีเมนูต่าง ๆ ให้เลือกใช้งาน คือเมนู ระบบค้นหาข้อมูลหลักสูตร  ระบบการจองรหัสหลักสูตร  ระบบรายงาน  เปลี่ยนรหัสผ่าน

         - ระบบค้นหาข้อมูลหลักสูตร  สามารถเลือกค้นหาโดย ชื่อหลักสูตรรายวิชา, สาระการเรียนรู้, ประเภทรายวิชา ( ส่วนกลาง, สถานศึกษา ), ภาคเรียน ( ที่เริ่มใช้ ), ระดับการศึกษา, หรือ ชื่อสถานศึกษา,   เลือกแล้วกดปุ่มค้นหา  ถ้าจะดูข้อมูลย่อคลิกที่ปุ่ม View  แล้วถ้าจะดูรายละเอียดต่ออีก คลิกที่ปุ่มเปิดไฟล์
         - ระบบการจองรหัสหลักสูตร  คลิกที่ปุ่มเพิ่มข้อมูล  แล้วเติมข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน  ( เอกสารแนบจะต้องตั้งชื่อไฟล์เป็นภาษาอังกฤษ )  จำนวนหน่วยกิตไม่ควรเกิน 5 หน่วยกิต ( หน่วยกิตละ 40 ชม. ) ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้เช่นภาคปฏิบัติต้องใช้จำนวนชั่วโมงมาก   จากนั้นกดปุ่มบันทึก จะได้รหัสรายวิชาอัตโนมัติ
         - ระบบรายงาน  สามารถเลือกดูรายงานหลักสูตรรายวิชาเลือก ตาม ภาคเรียน, จังหวัด, หรือ ประเภทสาระการเรียนรู้
         - การเปลี่ยนรหัสผ่าน  ควรเปลี่ยนบ่อย ๆ เพื่อความปลอดภัย

         ถ้าจะแก้ไข อัพเดตข้อมูล ต้องแจ้งให้ส่วนกลาง ( Admin ) ดำเนินการให้ ( ดูวิธีติดต่อ Admin ในคู่มือ )

 



รายการสายใย กศน. วันที่  27  กันยายน  2553

 

         เรื่อง “ประสบการณ์และความประทับใจงาน กศน.”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายปรเมศวร์  สุขมาก  ผอ.สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
         - นายประถม  สมัครพงศ์  ผอ.สถาบัน กศน.ภาคตะวันออก
         - วรรณี  ตีวกุล  ครูเชี่ยวชาญ สถาบัน กศน.ภาคกลาง


         ประสบการณ์และความประทับใจงาน กศน. ของผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ


         1. ผอ.ปรเมศวร์  สุขมาก  จบหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเข้าใจปรัชญา กศน. มาก่อน  รู้ว่าคนต้องได้รับการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาอยู่เสมอ ซึ่ง กศน. เป็นกรมแรกที่จัดการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีทรัพยกรน้อย อาศัยศาลาวัดในการจัดอบรมประชาชน   ท่านโกวิทย์  วรพิพัฒน์ บอกว่า อย่าไปหาความพร้อม ให้ทำงานภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร โดยแสวงหาการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย   มีการวางแผนระดับจุลภาคเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่น  เป็นหน่วยงานแรกที่นำการวิจัยเชิงคุณภาพมาใช้ในงาน   จัดการพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติ  จัด กศน.ปวช. (ใช้ประสบการณ์การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร )  จัด กศ. สำหรับเด็กเร่ร่อน คนพิการ ฯลฯ
            ประทับใจที่สามารถพัฒนางาน กศน. ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม   ประทับใจ ดร.โกวิทย์  วรพิพัฒนา และ ดร.กษมา  วรวรรณ ณ อยุธยา
            “ต้องมีความเข้าใจและมั่นคงในแก่นแท้ของ กศน.”   พัฒนาบุคลากรใหม่ ๆ ที่เข้ามาในระบบ กศน.


         2. ผอ.ประถม  สมัครพงศ์  จบหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เช่นกัน เป็นรุ่นน้อง ผอ.ปรเมศวร์
            กศน.เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในสมัยท่านโกวิทย์  วรพิพัฒน์ บิดาแห่งการ “คิดเป็น”   ผอ.ประถมเป็นผู้เสนอให้แบ่งเนื้องาน กศน.เป็น 3 วง ( กศ.พื้นฐาน + ข่าวสารข้อมูล + กศ.อาชีพ ) รวมเป็นการศึกษาตลอดชีวิต  มีการส่งเสริมการเรียนรู้ชาวเขา  ส่งเสริมการรู้หนังสือ  ครูที่จะสอนต้องผ่านการอบรมได้รับวุฒิบัตรจาก กศน.ภาค แต่ละภาคแบ่งเป็นกลุ่มศูนย์ฯ มีวิทยากรประจำกลุ่มศูนย์ฯ  ครูต้องเข้าใจจิตวิทยาผู้ใหญ่   มีการจัดตั้ง ศฝช.สระแก้ว ( ปราจีนบุรี ) เป็นศูนย์ฯแรก แต่มีโครงสร้างบุคลากรน้อย ทำให้ลดขนาดลง   โครงการที่ไม่สำเร็จคือโครงการมหาวิทยาลัยชนบท
         ปี 2540 กรมการศึกษานอกโรงเรียนหายไปจาก พรบ. จึงมีคณะบุคคลทำงานใต้ดินต่อสู้ลับ ๆ ไม่ให้ยุบ กศน. เช่น ท่านผู้ตรวจวิมล  จำนงบุตร  ท่านทวีศักดิ์  วิศิษย์ฎางกูล ผอ.ประถม สมัครวงศ์ รวม 5 คน  จัดตั้งและต่อสู้ในนามสมาคมส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตไทย
             ประทับใจที่ กศน.มีความสุขกับการทำงานกับประชาชนในชนบท   ต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษา มีมาตรฐาน เพื่อให้สังคมยอมรับ   อนาคต กศน.ตำบลจะมีความสำคัญ แก้ปัญหาสังคมได้


         3. อ.วรรณี  ตีวกุล  ได้ทำงานวิจัยหลายชิ้น เช่น ปี 2527 ติดตามผลการดำเนินงานที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ไปเก็บข้อมูลด้วยรถแลนด์โรเวอร์ ( ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน )   ปี 2540-2541 วิจัยเรื่องชุมชนเข้มแข็ง พบว่าองค์ประกอบที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ( แก้ปัญหากันเองในชุมชน ) ได้ คือ 1) คนในชุมชนมีปัญหาร่วมกัน  2) ผู้นำเข้มแข็งจริงใจทำงานต่อเนื่อง  3) มีเวทีให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก้ปัญหาร่วมกัน  ( ทำให้เกิดการเน้นวิทยากรกระบวนการ )
            ประทับใจที่งาน กศน. มีการพัฒนาตลอดเวลา จาก กศ.ทาง ว.ปณ. เป็น การพบกลุ่มตามแผน ก. ข. ค. เป็น ดอกบัวสี่กลีบ  ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ  ทำงานไว  เกิดประโยชน์กับประชาชน เช่นโรงเรียนชาวนา

 



รายการสายใย กศน. วันที่  20  กันยายน  2553

 

         เรื่อง “โครงการทุนการศึกษาแก่เด็กสภาวะยากลำบากในเขตพื้นที่ชายแดนและชาวเขา”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายสมศักดิ์  วชิรพันธุ์  หัวหน้าส่วนพัฒนาการศึกษาบนพื้นที่สูง สถาบัน กศน.  ภาคเหนือ
         - นายนริศศักดิ์  รอดเรืองคุณ  รอง ผอ.สนง.กศน.จ.น่าน
         - สุทธินี  จับใจนาย  ผอ.กศน.อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ( แทน ผอ.สนง.กศน.จ.เชียงใหม่ )
         - นายวิโรจน์  ใจบุญ  ผอ.กศน.อ.แม่จริม  จ.น่าน
         - นายณรงค์วิทย์  แซ่โซ้ง  นศ.กศน.ม.ปลาย ต.น้ำอ่าง  ผู้ได้รับทุน

         ผู้ร่วมรายการในห้องส่งฯ คือ
         - นายพจนารถ  นุกูลคาม  ผอ.กศน.อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
         - อ.นันชการต์  กิจการ  ครู ศศช. อ.ท่าสองยาง
         - นายปราการ  ยศไทย  หน.กศน.ต.น้ำทาง อ.แม่จริม
         - นายกมลดิษญ์  รักภักดี  ครู ศศช. บ้านป่าไหล อ.แม่อาย
         - ด.ญ.สุดา  หีบทรัพย์สาร  นศ.กศน.ระดับประถม  ผู้ได้รับทุน
         - นางแป๊ะมู  มรกตธาดา  ผู้ปกครอง ด.ญ.สุดา
         - ด.ญ.นาจา  จะแกะ  นศ.หลักสูตร ศศช. ป.4  ผู้ได้รับทุน
         - จะสอ  แสงดะจือ  ผู้ปกครอง ( พี่ชาย ) ด.ญ.นาจา


         กศน. พัฒนาการศึกษาบนพื้นที่สูงมาโดยตลอด จาก ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) จนถึงปี 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ( ชื่อย่อยังเป็น ศศช. )  ปัจจุบันมี 780 ศูนย์  มีนักศึกษารวม 4-5 หมื่นคน
         เนื่องจาก ชาวไทยภูเขาและคนชายแดนมีภาวะยากไร้ ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่ปัญหาสังคมและความมั่นคงของชาติ  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินินารถ จึงให้จัดโครงการทุนการศึกษาแก่เด็กสภาวะยากลำบากในเขตพื้นที่ชายแดนและชาวเขา   โดยให้ทุนส่วนหนึ่งแก่ สพฐ. อีกส่วนให้ กศน. โดย กศน.ได้รับ 6,385 ทุนต่อปี ( 2552-2554 ) ทุนละ 5,000 บาท   กศน.นำมาจัดสรรให้ 8 จังหวัด ตามสัดส่วนจำนวนนักศึกษา ( เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พะเยา )

         กศน. ให้ทุนการศึกษากับชาวเขา เน้นนักศึกษา ศศช. เป็นอันดับแรก ( ผู้ที่ได้รับทุน ถ้าปีต่อไปไม่ได้เป็น นศ.กศน. แล้ว ก็จะไม่ได้รับทุนอีก )   การคัดเลือกผู้รับทุนจะทำในรูปคณะกรรมการ โดยให้ผู้เข้าเกณฑ์ ( เป็นชาวไทยภูเขา  มีสัญญาชาติไทย  อายุ 6-25 ปี  เป็น นศ.กศน.ขั้นพื้นฐาน  ความประพฤติดี  ฐานะยากจน ) กรอกใบสมัคร พร้อมหลักฐาน ( ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวหรือสูจิบัตรของผู้ขอรับทุน บัตรประจำตัวบิดามารดา ) และมีผู้รับรอง  ส่งให้คณะกรรมการคัดเลือก ( บางจังหวัดใช้การเรียนดีมาร่วมเป็นเกณฑ์ด้วย )

         บางจังหวัดมอบทุนการศึกษาให้แก่ผู้รับเป็นเงินสด ที่อำเภอ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมพิธี เช่น จ.เชียงใหม่   บางจังหวัดใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร เช่น จ.น่าน

         หลังจากมอบทุนแล้ว มีการนิเทศติดตามผล ให้รายงานว่านำเงินทุนไปใช้ทำอะไร   บางจังหวัดเช่น จ.น่าน จ.ตาก ให้มีหลักฐานการใช้จ่ายเงิน มีการทำบัญชีบันทึกรายจ่าย และให้ผู้รับทุนสอนผู้ปกครองและผู้อื่นให้รู้หนังสืออีก 5 คน จึงจะได้รับทุนต่อเนื่องในปีต่อไป

         ผู้รับทุนส่วนใหญ่ จะนำเงินไปใช้เป็นค่า พาหนะ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าอาหาร เสื้อผ้า และทำทุนประกอบอาชีพ เช่น ซื้อหมูซื้อไก่มาเลี้ยง ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ข้าวโพด

         โครงการนี้มีประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสเป็นอย่างสูง จึงทำโครงการของบประมาณในปีต่อ ๆ ไปอีก

 



รายการสายใย กศน. วันที่  13  กันยายน  2553

 

         เรื่อง “การขับเคลื่อนองค์กรสู่เวทีการศึกษาระดับสากลอย่างมืออาชีพ”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - ดร.วิเชียรโชติ  โสอุบล  ผอ.สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร
         - อ.วารุณี  เผือกจันทึก  ครูสถาบันฯสิรินธร
         - พชระ  สุขสนอง  ที่ปรึกษากลุ่มพัฒนาสตรีชนบทบ้านซับยาง อ.ปากช่อง


         สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งมาตั้งแต่ปี 2535 กำลังจะครบ 20 ปี ตั้งอยู่บนเนินเขา อากาศดี ถึงจะอยู่ไกลอำเภอก็มีผู้มาใช้บริการมากทั้งห้องสมุดฯและใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย มีสภาพภูมิทัศน์เป็นต้นทุน   ผอ.สถาบันฯได้นำโครงการหมู่บ้านตนตอ กศน.ต้นแบบ ที่เคยทำตอนเป็น ผอ.กศน.อ.ที่ จ.อุดรธานี เชื่อมโยงมาดำเนินการในสถาบันฯสิรินธร    สถาบันฯสิรินธรมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาและการฝึกอบรมบุคลากร กศน.ทั่วประเทศ รวมทั้งภาคประชาชนและต่างประเทศ   เป็นต้นแบบในการผลิตหลักสูตรเพื่อพัฒนาคนในวงการศึกษา และประชาชน  มีการทำหลักสูตรร่วมกับหน่วยงานอื่น   เป็นสื่อกลางนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาเผยแพร่ ( KM )

         ในการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นสากล ในโอกาสที่ปีนี้สมเด็จพระเทพฯทรงมีพระชนมายุ 55 พรรษา  เริ่มจากการปรับปรุงเว็บไซต์ของสถาบันให้มีภาคภาษาอังกฤษ  ปรับปรุงหลักสูตรหลายหลักสูตรเป็นภาคภาษาอังกฤษ  เตรียมบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความพร้อมทางภาษาในการเข้าสู่เวทีอาเซียน

 

         กลุ่มพัฒนาสตรีชนบทบ้านซับยาง ได้รับการส่งเสริมจาก กศน. ให้เรียนต่อ ป.6 ม.3 ม.6  อบรมการตัดเย็บเสื้อผ้าช่วงเย็น  สร้างอาชีพ  ขอทุนจากซิป ( ธนาคารออมสิน ) มาตั้งกลุ่ม  สร้างตลาด  กลุ่มหาทุนโดยตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ส่งเสริมการออม ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นพันคนมีการปันผล  มีผู้มาดูงานทั้งจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ

 

         การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย มีการจัดค่ายย่อย ๆ ช่วงปิดเทอม เช่นค่ายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ค่ายศิลปวัฒนธรรม  แบ่งเบาภาระที่ผู้ปกครองไม่สามารถอยู่ดูแลเด็กที่บ้านช่วงปิดเทอม   ห้องสมุดเคยได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ
         มีโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ภูมิทัศน์ ให้เป็นโลโก้ ( อัตลักษณ์ ) ของสถาบันฯ โดยสร้างสวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ เช่น โครงการอุโมงค์สวนลูกฯ ( ใช้ต้นบวบและต้นโกเมนทำอุโมงค์ )   โครงการสวนไม้มงคล 9 ดี ( ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ดัด ไม้ดม ไม้ดื่ม ไม้ดอง ไม้ดง ไม้ดิน ไม้วรรณคดี )

 


รายการสายใย กศน. วันที่  6  กันยายน  2553

 

         เรื่อง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ปี 2553”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายประเสริฐ  บุญเรือง  รองเลขาธิการ กศน.
         - นายสุรนันท์  ศุภวรรณกิจ  ผอ. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต


         ยูเนสโก กำหนดให้วันที่ 8 ก.ย. เป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ  ประเทศไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองมาตั้งแต่ปี 2510  เพื่อให้ความสำคัญกับการดูแลคนในสังคมให้รู้หนังสือ โดยในปี 2530 ประเทศไทยได้รับรางวัลโนมาร์ การส่งเสริมการรู้หนังสือ จากยูเนสโก  ปีที่แล้วคนไทยรู้หนังสือเพิ่มขึ้น 8 แสนกว่าคน  ปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้กำหนดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้วันที่ 2 เม.ย. เป็นวันรักการอ่าน   ให้ทุก กศน.ตำบล 7,409 แห่ง มีมุมการอ่าน  และรัฐบาลจัดสรรเงินให้สร้าง กศน.ตำบล ปีนี้ 700 แห่ง ปีหน้า 1,500 แห่ง ๆ ละ 1.1 ล้านบาท ( เป็นค่าก่อสร้าง 8 แสนบาท, ค่าครุภัณฑ์โต๊ะเก้าอี้ 1 แสนบาท, ค่าสื่อคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิค 2 แสนบาท )   คงจะมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงครบทุกตำบลภายใน 5 ปี   ถ้า พรบ.การศึกษาตลอดชีวิตออกมา ก็จะมีอาสาสมัคร กศน.ทุกหมู่บ้าน
         เมื่อวันที่ 31 ส.ค.53 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ครู ศรช. 8,672 อัตรา เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานราชการ (ท่านรองฯได้เสนอท่านเลขาฯ ให้เร่งดำเนินการให้สามารถแต่งตั้งครู ศรช. เป็นพนักงานราชการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.53  โดยอาจจะแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินกิจกรรมการดำเนินงานของครู ศรช. แต่ละคน    แต่อัตรา 8,672 คน ที่ได้รับอนุมัตินั้น เป็นจำนวนทั้งหมดของครู ศรช. ที่สำรวจเมื่อ 17 ส.ค.53 ซึ่งมีรายชื่ออยู่ทั้งหมดแล้ว คงจะได้เปลี่ยนเป็นพนักงานราชการทุกคน    แต่ในปีงบประมาณ 2554 ยังไม่ได้รับงบบุคลากรเป็นค่าตอบแทนพนักงานราชการ ต้องเบิกจากเงินอุดหนุนรายหัวไปก่อน ส่วน ส่วนต่างของค่าตอบแทนรายเดือน ทั่วประเทศตลอดปี งปม. 2554 รวม 342 ล้านบาท ท่าน รมว.ศธ. จะให้ใช้เงินงบกลาง    ( สำหรับครู ปวช.กศน. จะไม่ได้เปลี่ยนเป็นพนักงานราชการ เพราะ คพร.คุมอัตรา ไม่ให้เพิ่ม แต่ที่ครู ศรช.ได้เปลี่ยนเพราะ รัฐมนตรีทุกคน ส.ส., ส.ว. ทุกคน ที่ได้ไปเปิด กศน.ตำบล เข้าใจและเห็นความสำคัญของครู ศรช. )

         วันที่ 25 ก.ย. หรือ 7 ต.ค.53 ( ยังไม่แน่ ) จะใหครู ศรช. ไปประชุมใหญ่ที่เมืองทองธานี


         8 ก.ย.53 จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือที่ ศว.รังสิต  ชื่องาน “กศน.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อปฏิรูปประเทศไทย”  มีนิทรรศการ 8 บูทใหญ่  มีการเปิดตัวกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน/ส่งเสริมอาชีพในรถไฟ ( มีตู้หนังสือในรถไฟขบวนละ 3 ตู้ )     และเปิดตัวรถโมบายส่งเสริมการอ่าน/ห้องสมุดเคลื่อนที่ 24 จังหวัด 24 คัน ( ได้ทุกจังหวัด ราคาคันละ 3 ล้านบาท ใช้งบประมาณ SP2 แต่ซื้อได้แล้ว 24 คัน ) เพื่อเคลื่อนที่ไปตามหมูบ้าน    มีการลงนาม MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ คือ กระทรวง ICT จะนำคอมพิวเตอร์ไปไว้ที่ กศน.ตำบล, สคบ.ให้ กศน.ตำบลรับร้องเรียนโดยมีอาสาสมัคร สคบ., การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ อปท.สนับสนุน กศน.ตำบล  ( ทำ MOU กับ สสวท. และ สอศ. ไปแล้ว  ให้ วอศ. ทำกิจกรรมกับ กศน.ตำบล )    มีการให้นโยบาย ผอ.สนง.กศน.จ.ทั่วประเทศ ให้ไปขับเคลื่อนนโยบาย กศน.ตำบล : แหล่งเรียนรู้ชุมชน ( เปลี่ยนชื่อจาก แหล่งเรียนรู้ราคาถูก )

 



รายการสายใย กศน.  วันที่  30  สิงหาคม  2553

 

         เรื่อง “ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว”
         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - นายปัญญา  วารปรีดี  ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว

         - นางอาภรณ์  เลิศกิจคุณานนท์  ครู คศ.2 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว
         - นายภัฑรกิจ  ไชยถา  ครู คศ.1 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว

         ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ตั้งมา 2 ปี อยู่ในเนื้อที่ 30 กว่าไร่ ที่ 597/49 ถ.สุวรรณศร ต.ท่าเกษม อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว 27000 Tel. 0-3742-5427 Fax. 0-3742-5384  http://sakscience.blogspot.com/    เนื่องจากภาคตะวันออกมี ศว.สระแก้วแห่งเดียว ปกติจึงต้องดูแลพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัดในภาคตะวันออก แต่แบ่ง จ.นครนายก และสมุทรปราการ ให้ ศว.อื่นดูแล

         ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ ศว.สระแก้วจึงเลือกเน้นเรื่องธรรมชาติวิทยา เป็นหลัก ( ตามสภาพพื้นที่ ) และเน้นกลุ่มเป้าหมาย กศน. เพราะเป็นผู้พลาดและด้อยโอกาส   โดยจัดค่ายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เน้นด้านวิชาการ ทักษะทางวิทยาศาสตร์ ( สังเกต ทดลอง ปฏิบัติจริง บันทึก ) จัดทำหนังสือคู่มือ “บทปฏิบัติการ” ให้ผู้เข้าค่าย วิเคราะห์-สรุป-บันทึก ระหว่างการเข้าค่าย 3 วัน 2 คืน หรือ 2 วัน 1 คืน   และตั้งใจจัดค่ายให้ดีที่สุด ให้ผู้เข้าค่ายประทับใจ มีการประเมิน ( After action review ) ทุกคืน  นำแหล่งเรียนรู้ทั้งภายนอกภายในมาบูรณาการ ( รับเข้าค่ายชุดละไม่เกิน 120 คน )


      วันที่ 1  เรียนรู้ภายใน ศว. 5 ฐาน ( ปกติมีเกือบ 20 ฐาน )   แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ใช้เวลาเรียนรู้ฐานละ 1 ชั่วโมง คือ
                   1. ฐานดิน  ( เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศึกษาชั้นดิน ทดสอบความเป็นกรด-เบส )
                   2. ฐานสมุนไพร ( ปลุกไว้มากหลายชนิด เช่น บัวบก ว่านหางจระเข้ หมากเม่า ฯลฯ  ศึกษาสรรพคุณแต่ละชนิด  ร่วมมือกับโรงพยาบาลวังน้ำเย็น )
                   3. ฐาน LAB  ( ทดสอบสารอาหารในชีวิตประจำวัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน )
                   4. ฐานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน  ( อุปกรณ์ไฟฟ้า, การเกิดฟ้าผ่า, จานสะท้อนเสียงสองด้าน, แสงและเงา )
                   5. ฐานธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม  ( ระบบนิเวศน์ )
                   กลางคืนเรียนรู้เรื่องการเขียน My Mapping ( วิเคราะห์สังเคราะห์ความคิดให้เป็น Concept ) ถึงประมาณ 21:00 น.


         วันที่ 2  ออกไปศึกษาที่แหล่งเรียนรู้ภายนอก ตั้งแต่ 07:00 น.  โดยมีให้เลือก คือ
                   1. อุทยานแห่งชาติตาพระยา, ละลุ
                   2. อุทยานแห่งชาติปางสีดา
                   3. ปราสาทสต๊กก็อกธม, ประสาทเขาน้อยสีชมพู
                   4. โรงเรียนกาสรกสิวิทย์  ( ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือน  เรียนรู้วิถีชีวิตในอดีต อุปกรณ์การทำนา การเลี้ยงควาย การสอนควายไถนา การเกี่ยวข้าว การเกษตร แก๊สจากมูลสัตว์ น้ำหมักชีวภาพ บ้านดิน หมูหลุม เศรษฐกิจพอเพียง )
                   กลางคืนเรียนรู้ทฤษฎีการกำเนิดโลก ภาวะโลกร้อน แนวทางแก้ไข โดยจัดทำเป็นสื่อมัลติมีเดีย  และให้สรุปเป็น My Mapping


         วันที่ 3  เวลา 05:00 น. ดูนกในบริเวณ ศว.  ปัจจุบันมีนกประมาณ 29 ชนิด จากเดิมที่มีเพียงประมาณ 15 ชนิด  โดยมีนายกำพล  บุญชูสว่าง กรรมการสถานศึกษา ศว. ที่ชอบดูนก เป็นผู้พาดูนก 
                   จากนั้นให้สรุปการเรียนรู้ทั้ง 3 วัน และการจะนำความรู้ไปพัฒนาชุมชน เป็น My Mapping  แล้วนำเสนอ

 

หมายเลขบันทึก: 388579เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หายไปนานเลยไม่ได้เข้ามาเรียนรู้ ขอบคุณข้อมูลค่ะ

อยากเรียน ถามครู ผักไห่

ครูผู้ช่วย ที่อยู่ในช่วงพัฒนาเข้มจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเรียนจบ ป.โท ก่อนผ่านการพัฒนาอย่างเข้ม จึงจะปรับเงินเดือน ถ้าจบหลังจากผ่านการพัฒนาอย่างเข้ม ไปแล้ว 1 ปี จะปรับให้หรือไม่ การเรียน ป.โท ต้องขออนุญาตจากต้นสังกัดหรือไม่

ถ้าจบปริญญาโทหลังจากผ่านการพัฒนาอย่างเข้มไปแล้ว ก็ปรับเงินเดือนได้ ( เว้นแต่วันที่จบปริญญาโทนั้น เงินเดือนเราเกินวุฒิปริญญาโทไปแล้ว ก็ไม่ต้องปรับแล้ว )
การเรียนปริญญาโทต้องขออนุญาตจากต้นสังกัดครับ

ขอบพระคุณ ครูเอกชัย ที่ให้ความกระจ่าง ดิฉันเป็นครูผู้ช่วยมาอยู่ต่างถิ่นยังไม่กล้าที่จะปรึกษาใคร ได้ยินท่าน ผอ.สำนักงาน กศน.ร้อยเอ็ด (ผอ.จรูญ มะลาดวง) กล่าวชมท่านบ่อยๆ ว่าครูเอกชัยท่านเก่งวิชาการ และเก่งด้านเทคโนโลยี ถ้าอยากทันเหตุการณ์ ต้องเข้ามาเยี่ยมบ่อยๆ

ดีใจมากครับที่ทราบว่าท่าน ผอ.จรูญ  มะลาดวง กล่าวชมลับหลัง ( ผมชอบการชมลับหลัง แสดงถึงความจริงใจ การชมต่อหน้าทำให้เขิน )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท