สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก (ตอนที่ 1)


 

สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก (ตอนที่ 1)
                                                                         ผศ.ดร.เมธา สุพงษ์[1]

               

               สัญญาย่อมก่อให้เกิดผลโดยตรงต่อตัวคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปตั้งแต่สมัยโรมันว่า “สัญญาเกิดจากเจตนาของคู่สัญญา และบุคคลมีอิสระที่จะผูกพันตนตามเนื้อความที่เจตนากำหนดและเจตนามีความสำคัญที่จะทำให้สัญญามีผลบังคับได้ระหว่างคู่สัญญา ถ้าสัญญานั้นไม่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมาย สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกันย่อมไม่สามารถก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียหายแก่บุคคลอื่นและไม่มีทางที่นิติสัมพันธ์ทางหนี้จะสามารถผูกพันบุคคลภายนอกได้ บุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่สามารถที่จะก่อสิทธิและหนี้ที่ให้กับบุคคลอื่นโดยที่บุคคลนั้นมิได้ตกลงยินยอมด้วย”

                แต่เนื่องจากสภาพสังคมได้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น จึงมีนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่สัญญา แต่มีผลทำให้บุคคลภายนอกได้รับสิทธิจากสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้น เช่น สัญญาประกันวินาศภัย สัญญาประกันชีวิต หรือสัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งชำระหนี้บุคคลภายนอก เหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาควบคุมและออกกฎหมายรับรองหลักสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกให้เป็นข้อยกเว้นของหลักสัญญาทั่วไป เช่น คู่สัญญายกทรัพย์ให้บุคคลภายนอกซึ่งแม้ทรัพย์ที่ยกให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่จำต้องจดทะเบียน สัญญายกให้ก็มีผลสมบูรณ์แล้ว หรือกรณีสัญญาประกันภัยที่ระบุชื่อผู้อื่นเป็นผู้รับประโยชน์

1. ความหมายของสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก

               จากการศึกษาพบว่าได้มีการให้คำนิยามความหมายของคำว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” ไว้โดยนักกฎหมายต่างประเทศและในประเทศซึ่งได้ให้คำนิยามความหมายไว้ต่างๆ กันมากมาย ดังที่ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ คือ

                Barry Nicholas อธิบายว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” หมายถึงสัญญาที่คู่สัญญาตกลงกันยกเว้นหลักทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องของความสัมพันธ์เฉพาะตัวของคู่สัญญาที่ให้สัญญาก่อผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาโดยให้คู่สัญญายกเว้นให้สัญญามีผลผูกพันบุคคลภายนอกได้[2]

                Konrad Zweigert and Hein Kotz อธิบายว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” สัญญาที่คูสัญญาตกลงให้บุคคลภายนอกมีสิทธิได้รับการชำระหนี้ตามสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นและบุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องได้ในนามของตนเอง[3]

                ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อธิบายว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” หมายถึง สัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้รับสัญญาได้ตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งว่า ผู้เอาสัญญาจะชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอก เรียกว่าบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ สัญญาดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นจากหลักสัญญาที่ว่าสัญญาก่อข้อผูกพันแก่คู่สัญญาเท่านั้น[4]

                รองศาสตราจารย์ ดร.ศนันท์กรณ์ (จำปี) โสตถิพันธ์ อธิบายว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” หมายถึง สัญญาที่กำหนดให้ผลของสัญญาตกอยู่กับบุคคลภายนอกโดยตรง[5]

                รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ (วีระ) โชคเหมาะ อธิบายว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” หมายถึง สัญญาซึ่งคู่สัญญาทำขึ้นเพื่อให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญา[6]      

                อัครวิทย์ สุมาวงศ์ อธิบายว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งว่าจะชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอก โดยบุคคลภายนอกไม่ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วยในสัญญาที่คู่สัญญาได้ทำกันแต่เมื่อมีข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาเช่นนั้นแล้ว บุคคลภายนอกนั้นก็มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ของสัญญานั้นโดยตรงได้[7] 

                ศาสตราจารย์ศักดิ์ สนองชาติ อธิบายว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” หมายถึง สัญญาใดที่คู่สัญญาทำขึ้นเพื่อให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญา สัญญานั้นย่อมเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกทั้งสิ้น อาจเป็นเอกเทศสัญญาในบรรพ 3 ก็ได้ [8]

                จากความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้เขียนได้บูรณาการความหมายโดยทั่วไปของคำว่า “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก” หมายความว่า สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้ยกเว้นหลักทั่วไปซึ่งจำกัดให้สัญญามีผลเฉพาะต่อคู่สัญญาเท่านั้นโดยให้สัญญามีผลผูกพันบุคคลภายนอกได้แม้บุคคลภายนอกจะไม่ได้ เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วยในสัญญาที่คู่สัญญาได้ทำกัน

                2. หลักทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก

                ตามกฎหมายโรมัน ในระยะเริ่มแรกกฎหมายโรมันยึดถือหลักกฎหมายที่ว่า บุคคลภายนอกไม่มีสิทธิตามสัญญา (alteri stipulari nemo potest) อย่างเคร่งครัดไม่ยอมรับหลักกฎหมายเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก

                แต่ต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึง ที่ 3 กฎหมายโรมันยอมรับข้อยกเว้นในบางกรณีต่อหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลภายนอกสัญญามีสิทธิตามสัญญาได้โดยสามารถฟ้องร้องบังคับให้คู่สัญญาชำระหนี้ตามสัญญาแก่เขาโดยตรงได้ จนถึงสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) ข้อยกเว้นดังกล่าวเท่าที่ปรากฏหลักฐานคงมีอยู่ 2 กรณีต่อไปนี้

(1)    ในกรณีที่ผู้ให้ให้ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้รับโดยมีค่าภาระติดพันว่า ผู้รับจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่บุคคลภายนอก หากผู้รับไม่ปฏิบัติตามสัญญา บุคคลภายนอกนั้นสามารถฟ้องร้องบังคับให้ผู้รับกระทำการดังกล่าวได้โดยใช้แบบคำฟ้องพิเศษที่เรียกว่า actio utilis

(2)    ในกรณีที่บุคคลหนึ่งยกทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นกรรมสิทธิ์ของอีกบุคคลหนึ่ง (trustee) โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลหลังจะต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวแก่บุคคลภายนอกซึ่งตามปกติได้แก่ทายาทซึ่งยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงของบุคคลแรก เมื่อบุคคลแรกถึงแก่ความตาย และบุคคลหลังผิดสัญญา บุคคลภายนอกนั้นสามารถฟ้องบังคับให้บุคคลหลังโอนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ตนได้

              ตามกฎหมายฝรั่งเศส ช่วงก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1804 ไม่เป็นที่ยุติว่ากฎหมายฝรั่งเศสยอมรับหลักกฎหมายสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกในฐานะเป็นหลักทั่วไปหรือไม่ แต่เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสแล้วมีการยอมรับหลักกฎหมายสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกในฐานะเป็นหลักทั่วไปและโดยเป็นหลักที่เป็นข้อยกเว้นของหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิตามสัญญา โดยบัญญัติรับรองไว้ใน The French civil Code มาตรา 1121 และมาตรา 1165 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า

              มาตรา 1165  สัญญามีผลระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น สัญญาไม่ก่อให้เกิดความรับผิดแก่บุคคลภายนอกแต่อาจให้เกิดประโยชน์แก่เขาเหล่านั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1121 และ

               มาตรา 1121 ว่า บุคคลอาจทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกได้ หากการทำสัญญาดังกล่าวบุคคลนั้นทำไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อให้ประโยชน์โดยเสน่หาแก่อีกบุคคลหนึ่ง บุคคลผู้ทำสัญญาจะระงับสิทธิของบุคคลภายนอกภายหลังจากที่บุคคลภายนอกแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วไม่ได้[9]

                ตามกฎหมายเยอรมัน กฎหมายเยอรมันเดิมก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน กฎหมายเยอรมันเดิมยอมรับสัญญาที่การปฏิบัติการชำระหนี้สามารถกระทำต่อบุคคลอีกคนหนึ่งต่างหากจากคู่สัญญาได้ เมื่อมีการสนองรับคำเสนอจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้ว ก็ถือว่าสัญญาได้เกิดขึ้นแล้วไม่ว่าลูกหนี้จะให้สัญญาเพียงว่าจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือให้บุคคลภายนอกด้วย ในสัญญาดังกล่าวนี้ถือว่าลูกหนี้ได้สัญญาว่าจะชำระหนี้โดยตรงให้แก่บุคคลภายนอก หรือจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ถ้าการปฏิบัติการชำระหนี้จะต้องกระทำต่อบุคคลภายนอกเท่านั้นโดยบุคคลภายนอกมิใช้ตัวแทนของเจ้าหนี้แล้ว สัญญานั้นก็เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก

                แต่เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันมีการรับเอาหลักกฎหมายโรมันเข้ามาแทนที่กฎหมายที่มีมาแต่เดิม โดยไม่ยอมรับให้มีสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ต่อมาเกิดแนวความคิดเป็นที่แพร่หลายว่า การยินยอมให้บุคคลภายนอกสามารถมีสิทธิตามสัญญาได้โดยตรงเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากกว่า และมีอิทธิพลในประมวลกฎหมายหลายฉบับ เช่นใน The Bavarian Territorial กำหนดให้บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ได้สิทธิตามสัญญาเมื่อบุคคลภายนอกนั้นให้สัตยาบันหรือสนองรับสัญญา หรือในประมวลกฎหมายทั่วไปแห่งปรัสเซีย กำหนดให้บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ได้สิทธิตามสัญญาเมื่อบุคคลภายนอกนั้นเข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วยความยินยอมของลูกหนี้กับเจ้าหนี้แล้ว หรือใน Sexon Code กำหนดให้บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ได้สิทธิตามสัญญาเมื่อบุคคลภายนอกยอมรับการชำระหนี้

                ในเวลาต่อมาหลักกฎหมายที่ให้สิทธิของบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์เกิดมีขึ้นต่อเมื่อบุคคลภายนอกสนองรับแล้ว เริ่มมีข้อยกเว้นมากขึ้นเป็นลำดับ กรณีใดที่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์จะได้รับสิทธิตามสัญญาไปแม้เขาจะไม่ได้แสดงเจตนาสนองรับ เช่น

                ตามประมวลกฎหมายพาณิชย์ทั่วไป (The General Commercial Code) มาตรา 405 ซึ่งใช้บังคับแก่สัญญารับขนของ เมื่อส่งของไปถึงปลายทาง ผู้รับใบตราส่งมีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ขนส่งในนามของเขาเองให้ส่งมอบใบตราส่งและของแก่ผู้รับใบตราส่งได้

                ตามกฎหมายประเพณีทั่วไป (The general customary law) เมื่อมีการโอนกิจการค้าเกิดขึ้น บรรดาเจ้าหนี้ของเจ้าของกิจการค้าเดิมย่อมได้ไปซึ่งสิทธิที่จะเรียกให้เจ้าของกิจการค้าคนใหม่ชำระหนี้ที่เจ้าของกิจการค้าคนเดิมมีอยู่แก่ตน

                ตามสัญญาประกันชีวิตเมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย ผู้รับประโยชน์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิที่จะเรียกให้ผู้รับประกันชีวิตชำระเงินจำนวนหนึ่งตามกรมธรรม์ให้แก่ตน

                ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา ศาลในมลรัฐต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาต่างยอมรับหลักกฎหมายเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกมานานแล้ว บางมลรัฐได้บัญญัติเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรรับรองใช้โดยชัดแจ้ง  เป็นต้นว่ามาตรา 1559 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย “สัญญาซึ่งระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกอาจบังคับให้เป็นไปตามที่ระบุไว้โดยบุคคลภายนอกนั้นได้ ไม่ว่าในเวลาใดก่อนที่คู่สัญญาจะระงับสิทธิ[10]

                การยอมรับหลักกฎหมายเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1853 โดยศาลอุทธรณ์ของนิวยอร์ค (Court of Appeals of New York)  ในคดี Lawrence v. Fox [1859] 20 N.Y. 268 (6-2 decision) ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมีอยู่ว่า Holly เป็นหนี้ Lawrence อยู่ 300 เหรียญสหรัฐและFox เป็นหนี้ Holly อยู่ 300 เหรียญสหรัฐเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการชำระหนี้ Fox ตกลงกับ Holly ว่า เขาจะชำระหนี้ให้แก่ Lawrence แทน แต่เขาไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ Lawrence จึงฟ้งร้องบังคับให้ Fox ชำระหนี้ ศาลอุทธรณ์ของนิวยอร์ค ตัดสินว่า Lawrence มีอำนาจที่จะฟ้องร้อง Fox ได้ แม้ว่า Fox จะมิได้ตกลงกับ Lawrence ไว้เช่นนั้นก็ตาม[11]

                ต่อมาในปี ค.ศ. 1918 ศาลอุทธรณ์ของนิวยอร์คได้ขยายหลักสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกออกไปถึงกรณีที่เจ้าหนี้ทำสัญญาเพื่อให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์โดยเสน่หาด้วย มิได้จำกัดเฉพาะกรณีที่ทำขึ้นเพื่อชำระหนี้ดังที่เป็นอยู่เดิมเท่านั้น เช่นในคดี Seaver v. Ronsom [1918] 224 N.Y. 233, N.E. 639. ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า นาง Beman ต้องการยกทรัพย์สินที่ตนมีอยู่จำนวนหนึ่งให้แก่ Seaver ซึ่งเป็นหลานสาวภายหลังนางถึงแก่ความตาย จึงขอให้นาย Beman ร่างพินัยกรรมให้แต่นาย Beman กลับร่างพินัยกรรมยกทรัพย์สินดังกล่าวให้กับตนเอง เมื่อนาง Beman ทราบจึงไม่ยอมลงชื่อในพินัยกรรม นาย Beman จึงขอให้ลงชื่อไปก่อนโดยสัญญาว่าเขาจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของเขาให้แก่ Seaver แทน ในที่สุดนาง Beman จึงยอมลงชื่อในพินัยกรรมให้ ต่อมาเมื่อนาย Beman ถึงแก่ความตาย ปรากฏว่าเขามิได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้แก่นาง Beman  Seaver  จึงฟ้องร้องบังคับให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการตามที่นาย Beman ให้สัญญาไว้ ศาลอุทธรณ์นิวยอร์คตัดสินว่า Seaver มีอำนาจที่จะฟ้องผู้จัดการมรดกของนาย Beman ได้ จึงเรียกบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์กรณีเช่นนี้ว่า “บุคคลภายนอกผู้รับการ” (A donee beneficiary)[12]

                ตามกฎหมายไทย หลักกฎหมายสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักทั่วไปที่ว่า สัญญาก่อผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติรับรองไว้ให้สัญญาที่ข้อตกลงมีผลให้บุคคลภายนอกได้รับชำระหนี้จากสัญญาได้นั้นมีผลตามกฎหมายอยู่บทบัญญัติมาตรา 374 ถึงมาตรา 376 แม้ในบทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้ใช้ถ้อยคำว่าสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก แต่ในคำอธิบายกฎหมายนักกฎหมายเรียกว่าสัญญาที่ตกลงให้มีการชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกดังกล่าวนี้ว่าเป็น “สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก”

                3. ลักษณะทั่วไปของสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก

                ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติถึงลักษณะทั่วไปของสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกไว้ในมาตรา 374[13] โดยแบ่งแยกองค์ประกอบซึ่งเป็นสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้

                1. เป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงจะชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอก เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกมีอยู่ด้วยกัน 3 ฝ่าย คือ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และบุคลภายนอก ตามบทบัญญัติ มาตรา 374 ใช้ถ้อยคำว่า “….คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญา....” สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกแม้จะเป็นข้อยกเว้นของหลักทั่วไปของสัญญาที่ให้สัญญาผูกพันเฉพาะคู่สัญญา แต่สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานของหลักทั่วไปในการก่อให้เกิดสัญญา กล่าวคือสัญญาจะต้องเกิดจากความตกลง และการแสดงเจตนาของคู่สัญญา รวมทั้งคู่สัญญาจะต้องมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมสัญญาได้ ดังนั้นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเกิดจากเจตนาของคู่สัญญา ส่วนบุคคลภายนอกมิได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วย เพราะบุคคลภายนอกเป็นคนนอกสัญญาที่ได้รับประโยชน์ตามสัญญาเท่านั้น

                        1.1 เจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องมีเจตนาตกลงยกประโยชน์ตามสัญญาให้แก่บุคคลภายนอก แม้สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกจะเกิดจากเจตนาของคู่สัญญาก็ตาม แต่การพิจารณาถึงเจตนาในการให้ประโยชน์แก่บุคคลภายนอกนั้นอาจแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี คือ

                        1) เมื่อเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งจากลูกหนี้ได้  ตกลงยกประโยชน์จากการชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกและโดยสภาพของสิทธิเรียกร้องเจ้าหนี้ไม่ต้องรับชำระหนี้ด้วยตนเอง

                        2) เมื่อการทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเกิดจากการที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ร่วมกันตกลงให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งหากมิใช่บุคคลดังกล่าวลูกหนี้จะไม่ยินยอมตกลงด้วย เนื่องจากลูกหนี้คำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ

                        1.2 ความชัดเจนในการแสดงเจตนาให้ประโยชน์ การแสดงเจตนาอาจกระทำได้ทั้ง 3 วิธี คือ การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง โดยปริยาย และโดยการนิ่งเช่นเดียวกับการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมโดยทั่วไป การแสดงเจตนายกประโยชน์ให้แก่บุคคลภายนอกโดยชัดแจ้งไม่มีปัญหาในการวินิจฉัย แต่การวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวจะถือว่าคู่สัญญาเจตนาที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคลภายนอกโดยปริยายหรือไม่เป็นการยากที่จะวินิฉัย ศาลฎีกาหรือนักกฎหมายก็ยังไม่มีแนวทางการวินิจฉัยไว้ แต่ในเรื่องนี้ศาลสูงของประเทศฝรั่งเศสได้มีการวางแนวทางการวินิจฉัยไว้ว่า นอกจากคู่สัญญาจะแสดงเจตนาให้ประโยชน์แก่บุคคลภายนอกโดยระบุไว้โดยชัดแจ้งในสัญญาแล้ว การแสดงเจตนาให้ประโยชน์แก่บุคคลภายนอกอาจถือว่าเกิดขึ้นโดยปริยายได้ด้วย

                        1.3 การทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ไม่ต้องทำตามแบบเพราะไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องแบบไว้

      1.4 บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรง ซึ่งกฎหมายบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 374 วรรคแรกว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้” หมายความว่า บุคคลภายนอกกลายเป็นเจ้าหนี้และมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตนโดยตรง แม้บุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่สัญญามาแต่เดิมก็ตาม

                        1.4 กรณีลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ บุคคลภายนอกมีอำนาจฟ้องลูกหนี้ได้ในนามของตนเอง แต่บอกเลิกสัญญาฐานลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ไม่ได้

                2. ลักษณะของบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์

                จากการศึกษาพบว่าลักษณะของบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์นั้นอาจแยกลักษณะสำคัญออกได้เป็น 3 ประการ คือ

                        2.1 บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ต้องมิใช่คู่สัญญา ผู้รับโอนหรือผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญา สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจะมีบุคคลเกี่ยวข้อในสัญญา 3 ฝ่าย คือ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และบุคคลภายนอก แต่มีปัญหาว่าบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาจะต้องเป็นบุคคลประเภทใด ศาสตราจารย์จิตติ ติงศัทิย์ เห็นว่าบุคคลภายนอก หมายถึง บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สัญญา ส่วนตัวการในสัญญาที่ทำโดยตัวแทนหรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือทายาทของคู่สัญญา บุคคลเหล่านี้เป็นคู่สัญญาหรืออาศัยสิทธิในฐานะที่สืบมาจากคู่สัญญาเองอยู่แล้วมิใช่บุคคลภายนอก

                        2.2 บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลที่กำหนดได้แน่นอน การที่คู่สัญญาทำสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ตามสัญญา แต่การที่บุคคลภายนอกจะเข้ามารับประโยชน์ตามสัญญาได้ บุคคลภายนอกนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่คู่สัญญากำหนดตัวไว้แน่นอนหรือไม่ แต่ถ้าไม่เป็นบุคคลที่ระบุตัวได้แน่นอน เช่น ให้จ่ายเงินแก่คนอนาถา ดังนี้ไม่มีตัวบุคคลภายนอกแน่นอนพอที่จะเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาได้ บุคคลภายนอกที่ระบุตัวได้แน่นอนนั้น ตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่จำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกว่าเป็นใครแน่นอน แต่ต้องกำหนดลักษณะวิธีการเพื่อทราบตัวแน่นอน หรือคุณสมบัติของบุคคลภายนอกไว้ในสัญญาได้ เช่น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาตกลงให้จำเลยที่ 1 กับพวกปลูกตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 2 แล้วให้ตึกแถวตกเป็นของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกมีสิทธิเรียกเก็บเงินช่วยค่าก่อสร้างจากคนมาขอเช่าตึกแถวและหาคนเช่าได้ และจำเลยที่ 2 จะทำสัญญาเช่าให้มีกำหนด 15 ปี โจทก์ทำสัญญาจองตึกแถว 1 ห้องจากจำเลยที่ 1 เพื่อเช่า และเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 ดังนี้ สัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองนั้นเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 2 ตกลงจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคต้น โจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นตามวรรคสอง จำเลยทั้งสองหาอาจที่จะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ได้ไม่ ตามมาตรา 375 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดส่งมอบห้องเช่าและจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ ถ้าหากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2530/2517) [14] 

                        3.3 บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์อาจมีสภาพเป็นบุคคล หรือยังไม่มีสภาพเป็นบุคคลในขณะทำสัญญาก็ได้ คู่สัญญาจะตกลงให้บุคคลภายนอกที่ยังไม่มีสภาพบุคคลเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้หรือไม่ นักกฎหมายไทยมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

                ความเห็นฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าในขณะที่สัญญาคู่สัญญาทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกไม่จำเป็นต้องมีสภาพบุคคลในขณะทำสัญญาก็ได้  แต่อาจมีสภาพบุคคลในอนาคตก็ได้ เช่น บริษัทที่จะก่อตั้งขึ้น[15] ทั้งนี้เพราะในขณะทำสัญญาบุคคลภายนอกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสัญญาแต่ประการใด เพียงแต่ตอนชำระหนี้ตามสัญญา บุคคลภายนอกต้องมีสภาพบุคคลหรืออย่างน้อยมีสามารถในการมีสิทธิ เช่นทารกที่อยู่ในครรค์มารดาตามมาตรา 15[16] ความเห็นฝ่ายที่สอง เห็นว่าในขณะทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกจะต้องมีสภาพบุคคลหรืออย่างน้อยมีความสามารถในการมีสิทธิ[17] แต่จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2895/2523 วินิจฉัยว่า “โจทก์มีที่ดินและต้องการจะก่อสร้างศูนย์การค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์และอาคารพาณิชย์ โจทก์กับผู้มีชื่อจึงทำสัญญาร่วมลงทุนกันให้ก่อตั้งบริษัทจำเลยขึ้นประกอบกิจการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว สัญญาข้อ 4 กำหนดว่า โจทก์ต้องอนุญาตให้จำเลยใช้ถนนทั้งสองข้างของโรงแรมจำเลย และจะต้องสงวนไว้ให้แก่จำเลยซึ่งสิทธิจอดรถที่ขอบถนน ข้อ 5(8) ว่าจำเลยต้องชำระเงินครึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้างถนนให้แก่โจทก์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บริษัทจำเลยที่จะตั้งขึ้นบริษัทจำเลยชอบที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นภายหลังได้” แสดงให้เห็นว่าแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้ยอมรับให้บุคคลภายนอกที่มีสภาพบุคคลในอนาคตเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกได้ ซึ่งไม่ตรงกับแนวความคิดของฝ่ายที่สองที่เห็นว่าในขณะทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกจะต้องมีสภาพบุคคล

                3. ลักษณะของประโยชน์ที่บุคคลภายนอกได้รับตามสัญญา ประโยชน์ที่บุคคลภายนอกได้รับคือการที่ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาให้กับบุคคลภายนอก ซึ่งวัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกอาจเป็นการกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ อันจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลภายนอก

                4. สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา ตามมาตรา 374 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” มีความสำคัญในการที่จะทำให้เกิดสิทธิแก่บุคคลภายนอกอันจะมีผลทำให้บุคคลภายนอกมีฐานะเป็นเจ้าหนี้เรียกลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ โดยแยกประเด็นถึงการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาได้ดังต่อไปนี้ คือ

                4.1 ความชัดเจนในการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญา การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอกจากสัญญาเป็นนิติกรรมไม่มีแบบ ดังนั้นการแสดงเจตนาจะกระทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้

                4.2 บุคคลผู้รับการแสดงเจตนาจากบุคคลภายนอก เนื่องจากตามมาตรา 374 วรรคสอง บัญญัติว่า“....แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้บุคคลภายนอกแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ต่อลูกหนี้เช่น จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากการดำเนินกิจการโรงเรียนจำเลยที่ 2 รับโอนกิจการโรงเรียนดังกล่าวไปดำเนินการพร้อมทั้งหนี้สินของโรงเรียนและประกาศให้เจ้าหนี้ของกิจการไปขอรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ถือเป็นการตกลงที่จำเลยที่ 2 ยอมรับชำระหนี้ อันเนื่องมาจากกิจการที่รับโอน มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้อันเป็นบุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เป็นการแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตามสัญญาในอันที่จะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 2593/2534) แต่ก็มีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าแม้บุคคลภายนอกจะมิได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ต่อลูกหนี้โดยตรง ก็ถือว่ามีการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว[18]       

                4.3 ระยะเวลาในการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญา เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายมีได้บัญญัติถึงระยะเวลาในการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญา ผู้รับประโยชน์ย่อมแสดงเจตนารับประโยชน์จากสัญญาได้ทันที หรือรู้เมื่อใดก็แสดงเจตนารับเอาประโยชน์เมื่อนั้น เว้นแต่สัญญาจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น

หมายเลขบันทึก: 388578เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ ผศ.ดร. เมธา สุพงษ์

บางครั้งเข้ามาชมโดยไม่มีคห.แต่แอบชื่นชมบันทึกในใจค่ะ

cheer...

สวัสดีค่ะท่านอ.ดร.ทนายเมธา

ห่างหายไปนานๆ มากๆ สบายดีนะคะ มาทายทักด้วยความระลึกถึง

สัญญาทางกฎหมายมิค่อยสันทัดค่ะ คุ้นเคยเฉพาะสัญญาใจค่ะ ;)  

หากมีโอกาสได้ทำสัญญา ไว้จะมาเรียนปรึกษาอีกครั้ง ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณpoo

ปรึกษาสัญญาทางกฎหมายพอจะได้อยู่ แต่ถ้าสัญญาใจคงต้องออกตัวว่าไม่เก่งจริงๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท