บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ (14) ฟังเรื่องเล่า ถอดบทเรียนจังหวัดตราด


 

พี่อัง ของน้องๆ ชาวตราด หรือคุณอังคณา สังข์เงิน ทันตาภิบาลที่แหลมงอบฯ มาเล่าให้ฟัง ในเรื่องของการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก กับผู้สูงอายุ

จังหวัดตราด เริ่มดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุมาตั้งแต่ ปี 2552 อำเภอแหลมงอบเป็นอำเภอนำร่อง

จุดเริ่มต้นของเราอยู่ที่ตรงไหน

จังหวัดตราดมีข้อดีที่ ท้องถิ่น คือ อบจ.ตราด สนับสนุนสถานที่ในเรื่องกิจกรรมผู้สูงอายุ ให้สถานที่ดำเนินกิจกรรม ที่เรียกว่า สถานที่เอื้ออาทรผู้สูงอายุ ให้งบประมาณสร้างอาคาร ให้ทุกอำเภอ สถานที่เอื้ออาทรผู้สูงอายุที่แหลมงอบ ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลแหลมงอบ ที่เป็นจุดเริ่มต้นว่า ทำไมเราจึงได้ดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุได้

จุดเริ่มต้น ... จากประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมอนามัย โดย ศูนย์อนามัยที่ 3 (โดย คุณหมอลิ้ม - ทพ.ดำรง) ได้รับมอบหมาย จากสำนักทันตสาธารณสุข ให้ทำกิจกรรมในเรื่อง ยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ จึงได้มีการดำเนินงานในเรื่อง SRM สร้างกระแส จุดประกายให้ชมรมผู้สูงอายุของจังหวัดตราด พัฒนาองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย

คุณหมอลิ้มประสานผ่าน สสจ.ตราด เล็งมาที่แหลมงอบ เพราะว่าแหลมงอบมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากกลุ่มเด็ก กับงานอนามัยแม่และเด็กอยู่แล้ว เหมาะสมที่จะทำงานกลุ่มผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่ง และประสานโดยตรงมาที่อำเภอแหลมงอบ

อำเภอแหลมงอบจึงได้ประสานภาคีเครือข่าย มีการปรับระบบบริการเพิ่มขึ้น มีการสร้างกระแสเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ และสนับสนุนทรัพยากร

  • ในเรื่องของปรับระบบบริการ เราลดภาระของการรักษา และการฟื้นฟูสภาพในช่องปาก บูรณาการกับงานอื่นๆ
  • ในเรื่องของ PCU จะมีน้องทันตาภิบาลอยู่ประจำ เราจะมีการจัดบริการ ประสานกับพื้นที่ผู้สูงอายุ และมีการขับเคลื่อนในชมรมผู้สูงอายุด้วย
  • ในส่วนของท้องถิ่น มีความสำคัญ เพราะท้องถิ่นจะสนับสนุนงบประมาณ คน สิ่งของ ประสานนโยบาย และประสานกับผู้บริหาร
  • รวมทั้งมีเรื่อง สื่อสาธารณะด้วย

จังหวัดตราดมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ 2 อำเภอ คือ อำเภอแหลมงอบ และ อำเภอบ่อไร (เริ่มทำ ปี 2553)

การทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ของอำเภอแหลมงอบ เพราะว่า เราต้องการให้ผู้สูงอายุมีฟันที่ยืนยาวชั่วชีวิต โดยมีเป้าหมายว่า อันดับแรก ต้องการให้ผู้สูงอายุมีการดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างเหมาะสม ข้อที่สอง เพื่อให้เกิดระบบการดูแลสุขภาพช่องปากให้ผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน

ปัจจัยที่ทำให้แหลมงอบประสบความสำเร็จ

  • เรื่องของปัจจัยนำเข้า โดย
    - ศูนย์ฯ เขต มีนโยบาย แปลงสู่กิจกรรมในแต่ละพื้นที่
    - พื้นที่ต้นแบบของจังหวัดตราด คือ รพ.แหลมงอบ เป็นผู้จัดระบบบริการ
    - พื้นที่ของแหลมงอบ มีผู้นำองค์กร ภาครัฐ และภาคท้องถิ่นให้การสนับสนุน รวมทั้ง ชุมชน คือ ผู้สูงอายุ และ อสม.
  • กลไกของผู้สูงอายุ
    - มีชมรม และมีเครือข่ายที่เป็น ผส.
    - องค์กรส่วนท้องถิ่น สนับสนุนงบประมาณ และการเผยแพร่สื่อสาร
    - ทุนทางปัญญา ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทันตบุคลากร และผู้สูงอายุ
  • เรื่องของระบบ ช่วยกันวางระบบว่า เราจะมีการดำเนินงานกิจกรรมในเรี่องของผู้สูงอายุอย่างไร โดยคุณหมอลิ้มมาจุดประกายให้อำเภอแหลมงอบ ว่า เราจะเริ่มต้นจากตรงไหน

การเริ่มกระบวนการการดำเนินงานครั้งแรก

มีการเสริมสร้างศักยภาพแกนนำ โดยการอบรม และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้กิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ ที่มีการประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว มีกิจกรรมของส่งเสริมสุขภาพช่องปากสอดแทรกเข้าไปในชมรมผู้สูงอายุทุกเดือน

กิจกรรมหนึ่งที่กำหนดเป็นกิจกรรมร่วมกันว่า ... แต่ละชมรมจะต้องมีกิจกรรมแปรงฟัน ไม่ว่าจะเป็นแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน หรือแปรงฟันก่อนดำเนินกิจกรรม หรือแปรงฟันหลังรับประทานอาหารว่าง ก็แล้วแต่บริบท แต่ให้มีกิจกรรมร่วมกัน โดยมีข้อเสนอว่า เราสนับสนุนแปรงสีฟัน ยาสีฟัน แจกให้ครั้งเดียว และให้ผู้สูงอายุพกมาด้วยทุกครั้งที่มาชมรม เขาก็จะพกมา ใส่กระเป๋าหมาก หรืออะไรก็แล้วแต่ผู้สูงอายุ

อีกกิจกรรมหนึ่ง คือ เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุในโครงการเพิ่มเยี่ยมเพื่อน ... ไม่ได้เยี่ยมเฉพาะดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเดียว แต่ดูองค์รวมในเรื่องของสุขภาพทั่วไปด้วย โดยผู้สูงอายุจะกระจายกันออกไปเยี่ยมผู้สูงอายุในแต่ละตำบล ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ได้ ได้พบเพื่อนผู้สูงอายุที่หลากหลาย

ผลลัพธ์จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา

ชมรมของอำเภอแหลมงอบ ครั้งแรกตั้งเป้าหมายว่า จะทำ 1 ชมรม แต่เกินคาด หลังจากที่มีการอบรมแกนนำผู้สูงอายุแล้ว พบว่าผู้สูงอายุเข้ามาร่วมกิจกรรมเป็น 5 ชมรม ทั้งๆ ที่อำเภอแหลมงอบมี 4 ตำบล

มีนวัตกรรมเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ ได้แก่

  • รำไทยฟันดี
  • การนำภูมิปัญญาพื้นบ้าน คือ ละครชาตรี ไปสอดแทรกเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องทันตสุขภาพ ครั้งแรก แสดงเรื่อง ตายายฟันดี ตอนนี้เป็นภาคสอง เรื่อง ลูกเทวดากลับใจ ซึ่งละครชาตรี นอกจากจะมาแสดงในผู้สูงอายุด้วยกันดูแล้ว ยังได้เผยแพร่ไปแสดงในศูนย์เด็กเล็ก ในโรงเรียนประถมศึกษาด้วย
  • การออกกำลังกาย เรื่อง ฮูลาฮุปแปรงฟัน แสดงโดยผู้สูงอายุ แสดงท่าแปรงฟัน
  • ชมรมผู้สูงอายุ มีงอบเป็นสัญลักษณ์จังหวัดตราด ก็แสดง เซิ้งงอบ โดยเอาแปรงสีฟัน-ยาสีฟัน ประดับไว้ที่งอบ และรำแสดง เป็นการสร้างกระแสในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก
  • ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพสูง เช่น คุณป้าเซี่ยะ ซึ่งบ้านอยู่ติดกับโรงพยาบาล และมีศูนย์เด็กเล็กด้วย ... ป้าเซี่ยะจะไปเล่านิทานในศูนย์เด็กเล็ก ในเรื่อง บ๊าย บาย ขวดนม ตอนแรกป้าเซี่ยะบอกว่า ไปเล่าให้หลานที่บ้านฟังก่อน หลานก็ทิ้งขวดนมเลย ก็เลยบอกว่า ป้าเซี่ยะไปเล่าให้ศูนย์เด็กเล็กดูบ้าง ก็ได้ผล นอกจากนั้น ป้าเซี่ยะยังไปโรงเรียนประถมศึกษา ไปแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก ด้วย เพราะป้าเซี่ยะบอกว่า "ป้าน่ะ ฟันไม่มีแล้ว ตอนนี้ใส่ฟันเทียมเหลือฟันแท้อยู่ 5 ซี่ ก็เลยอยากจะให้หลานมีฟันดี" ประกอบกับ ป้าเซี่ยะจะผลิตสื่อเกี่ยวกับเรื่องของการแปรงฟัน เอาไปสอนเด็กด้วย

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือจุดแข็งของพื้นที่จังหวัดตราด

  • ทีมอำเภอแหลมงอบค่อนข้างเข้มแข็ง ทั้งเจ้าหน้าที่ ท้องถิ่น และชมรมผู้สูงอายุ
  • มีการติดต่อประสานงานที่ดี
  • มีแนวคิด ในเรื่องของเชิงรุก และการส่งเสริมป้องกัน
  • มีกิจกรรมที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
  • มีความตั้งใจจริงของการทำงานของเจ้าหน้าที่ คือ เราทำงานด้วยใจ
  • สัมพันธภาพที่ดีของเจ้าหน้าที่ ผู้สูงอายุ และชาวบ้าน
  • กิจกรรมมีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
  • ท้องถิ่นให้ความสำคัญ สนับสนุนงบประมาณ ท้องถิ่นมีความตื่นตัว ในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
  • ผู้สูงอายุมีจิตอาสา มีส่วนร่วม มีความตระหนัก เห็นประโยชน์ของโครงการว่า ทำเแล้วได้ประโยชน์
  • มีการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้สูงอายุ
  • มีกิจกรรมบูรณาการสุขภาพกับด้านอื่นๆ และสาธารณสุข
  • มีกลยุทธ์เชิงรุก คือ ไปเยี่ยมบ้าน โดยเพื่อนเยี่ยมเพื่อน
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ที่น่าสนใจ และประยุกต์กิจกรรมสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่
  • นำภูมิปัญญาของแต่ละพื้นที่มาสร้างกิจกรรมให้มีชีวิตขึ้น

จุดอ่อนของพื้นที่จงหวัดตราด

  • โครงการไม่ได้อยู่ในแผนปกติของท้องถิ่น
  • อปท. ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยงาน
  • เป็นเรื่องของทางพื้นที่ที่จะคอยขับเคลื่อนการทำงานตรงนี้
  • ทันตาภิบาลมีหน้าที่รับผิดชอบหลายด้าน ทั้งในด้านทันตสาธารณสุข และไม่ได้บรรจุอยู่ในมาตรฐานของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ
  • ขาดการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาเรียนรู้ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุเป็นคนเดิมๆ

บทเรียนที่ได้รับของศูนย์อนามัย

  • ถ้ามีการเชื่อมระบบจากสถานบริการ และชุมชน จะสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างราบรื่น ... ข้อเสนอคือ ควรมีบทบาทหน้าที่ให้แต่ละส่วนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทันตบุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ท้องถิ่น หรือ อสม. และจัดให้มีเวทีชุมชนของผู้สูงอายุ
  • ถ้ามีการกำหนดบทบาท กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชมรมฯ ได้ชัดเจน ก็จะสามารถทำกิจกรรมได้บรรลุเป้าหมาย ... ข้อเสนอแนะ คือ จัดทำคู่มือ แนวทางการส่งเสริมสุขภาพ ให้ชมรมผู้สูงอายุ และมีการประเมินผล
  • ถ้ามีการกำหนดตัวชี้วัดให้เป็นข้อมูลเดียวกันทั่วทั้งประเทศ จะส่งผลให้การดำเนินงานไปทิศทางเดียวกัน ... ข้อเสนอแนะคือ มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ในเรื่องของการบริการ พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก ความเข้มแข็งของชมรม และคุณภาพชีวิต
  • ถ้ามีการบูรณาการงานผู้สูงอายุกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ ก็จะทำให้การดำเนินการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุมีความยั่งยืนได้ ... ข้อเสนอแนะคือ ให้กำหนดเรื่องการบูรณาการในเรื่องทันตสุขภาพ เรื่องชมรมผู้สูงอายุ และเรื่องกองทุนตำบล

บทเรียนที่ได้รับของอำเภอแหลมงอบ

  • ถ้ามีการเตรียมการวางแผนกิจกรรมไว้ล่วงหน้า ก็จะสามารถทำงานตามท้องถิ่นได้ ... ข้อเสนอแนะคือ ชมรมผู้สูงอายุมีการประสานงานกับท้องถิ่น เพื่อเสนอของบประมาณการดำเนินกิจกรรม ก่อนวาระการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่น ก็คือ ช่วง เมย. และ พค. ทุกปี
  • ถ้าผู้สูงอายุมีความเข้าใจบทบาท และมีแรงจูงใจ ก็จะสามารถขยายเครือข่ายชมรมได้เพิ่มมากขึ้น ... ข้อเสนอแนะคือ มีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ นำผู้สูงอายุให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชมรมผู้สูงอายุ และชมรมอื่นๆ จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับที่อื่น และสิ่งสุดท้ายที่ให้ความสำคัญ ก็คือ ต้องมีใบประกาศเกียรติคุณให้ ผส. ที่ร่วมกับขับเคลื่อน เป็นแรงจูงใจอีกอย่างหนึ่ง
  • ปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่แกนนำผู้สูงอายุเป็นคนเดิม ไม่ค่อยมีคนใหม่เข้ามา ... ถ้าหากมีคนใหม่เข้ามา ก็จะมีแกนนำเพิ่มมากขึ้น ช่วยกันขับเคลื่อนในชมรมผู้สูงอายได้เพิ่มขึ้น
  • ถ้าทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมก็จะสามารถทำให้งานบรรลุเป้าหมายได้ เป็นภาพของภาคีเครือข่าย ... ข้อเสนอแนะ ก็คือ เรื่องของการประสานขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วม และมีบทบาทในกิจกรรมโครงการ
  • หากมีการบูรณาการภาพทั้ง 4 ด้าน ทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู แล้ว ก็จะสามารถลดการเกิดโรคในช่องปากผู้สูงอายุได้ และผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพช่องปากตัวเองได้ ... ข้อเสนอคือ มีการวางระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน เพื่อส่งผลให้ผู้สูงอายุจะได้มีสุขภาพกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณที่ดี

สุดท้าย ของฝากจากอำเภอแหลมงอบ ค่ะ

... ลิเก จาก ลุงราชัญ ...
ผมเอายาสีฟัน แปรงฟันมาให้
หันหน้ามาซิคุณยาย ผมจะเป็นคนสอน
แปรงฟันให้ถูกให้ถูกวิธี ต้องแปรงให้ดีหลังอาหารและก่อนนอน

... กลอนจากป้าเซี่ยะ ...
ฟันดีเป็นศรีแก่ชาติ ฟันสะอาดเหงือกสมบูรณ์
ฟันสวย ยิ้มใส ยิ้มละไม ยิ้มอยากภาคภูมิ
เหงือกจะไม่บวมอูม เพราะเราขยันแปรงฟัน
ถึงฟันจะเหลืออยู่น้อย เราจะหมั่นคอยดูแลรักษา
ให้ฟันอยู่คู่กายา จนกว่า ชีวามลาย

รวมเรื่อง บทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

   

หมายเลขบันทึก: 388406เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามอ่านทุกบันทึกครับ...

รอจนกว่าจะถึงคิวสตูล (จังหวัดสุดท้าย) ครับผม...

ขอบคุณมากครับ...

  • P
  • อิอ รอหน่อยนะคะ
  • สตูลเขาเป็นพระเอก ให้จังหวัดอื่นๆ นำเสนอไปก่อนเลย
  • เวลาถอดเรื่องเล่านี่ ก็สนุกดีนะคะ เห็นภาพกิจกรรมที่เขาทำกันมากขึ้นทีเดียวละค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท