เรื่องเล่าทางการแพทย์ (Narrative Medicine)


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์กรมหาชน) สรพ.ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการอบรมปฏิบัติการเวชปฎิบัติเรื่องเล่ากับการเรียนรู้ Narrative Medicine Workshop: Learning through Stories

เมื่อ 17-20 ส.ค.2553 พยาบาลPCU ได้ไปร่วมอบรมปฏิบัติการเวชปฎิบัติเรื่องเล่ากับการเรียนรู้  Narrative  Medicine  Workshop: Learning  through  Stories

โดยทีมงานอ.หมอโกมาตร ที่ สวนสามพราน จ.นครปฐม มาก็เลยอดเอามาเล่าให้ชาวPCUฟังไม่ได้  และ แอบกระซิบว่า สพช.ภาคใต้ ก็มีแผนจะจัดแบบนี้ที่ภาคใต้ด้วย หลังจากเสร็จภาระกิจ R2Rระยะ 2 เครือข่ายคอยติดตามข่าวนะคะ

อ.หมอโกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์ พระเอกของเรื่อง

อ.หมออนุวัฒน์  ศุภชุติกุล พระรองของเรื่อง เอ้ยไม่ไช่ เป็นผอ.สรพ.ผู้สนับสนุนโครงการต่างหาก

นี่คือวิทยากรประจำกลุ่ม อ.เปิ้ล สุมาลี  ตราชู แห่งน้ำพอง สัญลักษณ์ทัดดอกไม้ที่หูขวา นี่เป็นมุมกล้องซ้ายเลยอดเห็น

บรรยากาศอันขมักขเม้นของกลุ่ม6 ที่พยาบาลPCUสังกัด

      

บรรยากาศที่สวยงามของสถานที่ประชุมแต่ไม่ได้ออกมาบ่อยหรอกคะเพราะถูกอ.โกมาตร กับแม่ต้อย สรพ.ขังไว้ในห้องยัน 4 ทุ่ม ทุกคืน ด้วยกลัวเสียงบประมาณของชาติถ้าเราทำงานให้ไม่คุ้ม 

   แอบถ่ายกับนักเขียนตัวจริง ตอนออกมากินเบรค

ซ้ายมือคือคุณวีระศักดิ์  จันทร์ส่งแสงบรรณาธิการร่วมกับอ.โกมาตรในหนังสือ เรื่องเล่า"จินตนาการสุขภาพใหม่" เสื้อชมพู คือคุณเพ็ญลักขณา  ขำเลิศ(หยดน้ำ) เจ้าของงานเขียน"พยาบาลไร้หมวก" ใครยังไม่ได้อ่านรีบไปหาอ่านนะคะ ทั้ง2 เล่มพิมพ์ครั้งที่2และ3 แล้วคะ

อีก 1 กิจกรรมตอนเช้าสำหรับคนที่ตื่นทัน

 

ขอแอ็คชั่นกันก่อนกลับ

เพื่อนๆทุกคนอย่าลืมส่งการบ้านนะคะ  อ.โกมาตร กับแม่ต้อย ทั้งขู่ทั้งปลอบว่าจะฟ้องผอก.ถ้าเราไม่ส่งการบ้าน

ใครที่ลืมจดEmail ไว้เอาปากกามาลอกนะคะ

ส่งไปที่ [email protected]

                         ส่งงานเมื่อไหร่ประกาศนียบัตรจะตามไปเมื่อนั้น

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 388293เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แฟนคลับ "อาจารย์หมอโกมาตร" ครับ

ตามมาเฝ้าอาจารย์

*********

พี่โชดดีจังนะครับ...

ที่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์

*********

เป็นกำลังใจเขียนให้เสร็จ

แล้วเอาลงบล๊อกให้อ่านด้วยคน...นะครับ

ยินดีที่ได้รู้จักแอบตามไปดู รู้ด้วยละว่าเป็นนักเขียนหมออนามัย แต่ทำไมชื่อแปลกๆ "ทิมดาบ" ไม่ยักบอกว่าแปลว่าอะไร

บอกหน่อย! ฉันพลาดอะไรไป

ไม่มีแล้วภาพที่เราจะได้นั่งคุย ยิ้ม หัวเราะ ชี้ชวน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันหวนนึกถึงหญิงรูปร่างเล็ก ผอมบาง มองข้างหลังเหมือนเด็ก มากกว่าหญิงวัยใกล้เกษียณ เธอมักสวมหมวกไม้ไผ่สานปีกกว้างปอนๆ จูงรถจักยานลงจากสะพานมาตามถนนดินลูกรังผ่านหน้าบริเวณที่ฉันนั่งพักอยู่ในศาลามุงใบสาคู( หลา ) ด้านหน้าสวน พร้อมส่งเสียงถามฉันด้วยภาษาท้องถิ่นปักษ์ใต้

“มานานแล้วเหรอ”

“สักพักแล้ว” “พี่บางมาแต่ไหน” ฉันตอบด้วยภาษาพื้นเมืองแล้วถามต่อ

“มาแต่บ้านลูก เพิ่งหลบจากบ้านงาน”

“เขามีงานไหร ?”

“อ้อ ข้างบ้านเขาบวชลูก ไปช่วยปอกพร้าว”

พี่บางเป็นคนพื้นที่ ฉันรู้จักกับพี่บางตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน โดยการแนะนำของพี่เขย ซึ่งฝากฝังฉันกับครอบครัวพี่บางให้ช่วยดูแลสวนขนัดนี้ด้วย ครั้งเมื่อสวนยังถูกทิ้งร้าง เพราะฉันทำงานอยู่ต่างพื้นที่ นาน ๆ จึงจะได้แวะมา บางปีแทบไม่ได้มาสักครั้ง ก็มีพี่บางนี่แหละที่คอย ส่งข่าวคราวความเปลี่ยนแปลงต่างๆให้ทราบ มีธุระงานการต่าง ๆ ก็โทรไปบอก ซึ่งส่วนใหญ่ฉันมักต้องรบกวนให้พี่บางช่วยจัดการให้ก่อน เมื่อฉันได้เข้ามาที่สวนจึงค่อยมาเคลียร์ให้พี่บางภายหลัง จน 5 ปีหลังนี่แหละที่ฉันย้ายกลับมาทำหน้าที่พยาบาลชุมชน ของโรงพยาบาลศูนย์ที่บ้านเกิด

นอกจากที่คอยช่วยเหลือฉันแล้วพี่บางก็ยังช่วยเหลือเพื่อนบ้านละแวกเดียวกัน ไม่มีใครละแวกนั้นที่พี่บางไม่รู้จัก และไม่รู้จักพี่บาง งานไหนงานนั้นในหมู่บ้านพี่บางต้องเข้าไปช่วย ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ อัธยาศัยดี ครั้งหนึ่งที่ฉันจำได้มีชายต่างถิ่นมาเช่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านแล้วมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เจ้าของบ้านเช่าขอให้ย้ายออกด่วน ภรรยาก็แยกทางทิ้งลูกไว้ให้ดูแล 1 คน พี่บางและสามีก็ไปช่วยเหลือขนข้าวของ มาอาศัยอยู่ชั่วคราวที่ข้างบ้านพี่บาง แต่คงด้วยบุญกรรมที่ติดตัวมาชายคนนั้นเสียชีวิตอย่างคาดไม่ถึง ทั้ง ๆที่แลดูเป็นคนสุขภาพดี พี่บางเป็นธุระดูแลเด็กจนติดต่อญาติฝ่ายภรรยามารับไปดูแล และช่วยจัดการเรื่องศพให้เป็นไปตามประเพณี ช่วยเหลือตามประสาชาวบ้านทั้ง ๆ ที่เป็นแค่คนรู้จักกันช่วงสั้นไม่ใช่ญาติพี่น้อง

หลายวันผ่านไปจนถึงวันหยุดเวียนมา และฉันว่างมีเวลาได้ไปที่หลาอีก

“น้องนาไม่ไปนัดเฮอ” พี่บางส่งเสียงทักทายฉันเช่นเคย

“หม้ายที พี่บางไปแล้วเหรอ”

“นี่แหละพอมาจากนัด”

“ได้ไหรมามั่ง”

เป็นธรรมดาที่เมื่อมีสินค้า อาหารสดที่น่าสนใจก็จะบอกต่อกันเพื่อจะได้ไปซื้อหามาแบ่งปันกัน บ่อยครั้งที่มีผัก กล้วย สะตอ ที่ปลูกอยู่ข้างบ้าน พี่บางก็มักเอามาฝากฉัน หรือเก็บไว้แล้วโทรศัพท์บอกให้ฉันแวะเข้าไปเอาที่บ้านก่อนกลับเข้าไปในเมือง เพื่อจะได้ของสดปลอดสารพิษไปฝากที่บ้าน ส่วนฉันก็มักซื้อขนม นม หนังสือ ของเล่น ไปฝากหลานพี่บาง ในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมไหลผ่านละแวกนี้คราวละสี่ห้าวันเป็นประจำ ฉันจึงมักมาส่งเสบียงให้ตามโอกาส เพราะเวลาปกติของกินของใช้พี่บางก็มีพร้อมอยู่รอบ ๆ บ้าน และยังเหลือเผื่อแผ่มาช่วยปลูกในสวนฉันด้วย

อาทิตย์นี้ฉันไม่เห็นพี่บางผ่านมา หรือว่ามีงานที่บ้านไหนฉันคิดในใจ ระหว่างที่นั่งเล่นอยู่ก็มีญาติพี่บางผ่านมาฉันรีบตะโกนทักทายพร้อมกับถามว่า

“เขามีงานกันที่ไหนหม้าย? ไม่เห็นพี่บางเลยวันนี้”

“หม้าย มันไม่ค่อยบาย สานอนอยู่บ้าน”

ได้ยินคำตอบแล้วฉันรู้สึกไม่สบายใจ เอ๊ะ เป็นอะไร? หนักหนาหรือเปล่า? ออกจากหลาวันนั้นก่อนกลับเข้าเมืองฉันแวะเข้าไปที่บ้านพี่บาง ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ไม่ถึง 2 ปี เป็นบ้านที่ตั้งใจสร้างให้ลูกชาย บ้านหลังนี้แทบจะพูดได้ว่าเสร็จด้วยน้ำมือของสามคนพ่อแม่ลูก มีเพียงส่วนเล็กน้อยที่หนักเกินกำลังคน3 คน จึงต้องอาศัยจ้างวานเพื่อนบ้านมาช่วย นอกนั้นแล้วก็ทำเองล้วนๆ ก่อนสร้างบ้านหลังนี้พี่บางอาศัยอยู่บ้านไม้ยกพื้นหลังกะทัดรัด ซึ่งปลูกอยู่ข้างกัน หน้าบ้านขุดสระเล็ก ๆ ไว้เลี้ยงปลา และ กักเก็บน้ำไว้รดต้นไม้ เมื่อบ้านปูนหลังใหม่เสร็จก็ย้ายขึ้นบ้านใหม่ บ้านไม้หลังเดิมก็ให้คนเช่าอยู่อาศัยในราคาเยา เมื่อไปถึงฉับพบบ้านเงียบ แต่ประตูปิดไว้เฉย ๆ ไม่ได้ ลงกลอน ฉันผลักประตูบ้านพร้อมส่งเสียงเรียก พี่บางลุกออกมาคุยด้วยท่าทางเพิ่งลุกจากการนอน ภาพที่เห็นบ่งบอกถึงความร่วงโรย ดวงตาลึกโหล เหมือนคนขาดน้ำและอดนอน ฉันค่อนข้างตกใจกับสภาพที่เจอ และถามด้วยความเป็นห่วง

“เป็นพันพรือมั่ง ( เป็นอย่างไรบ้าง)”

“หม้าย สาเป็นไข้หวัด แต่ปวดเอวกัน” เสียงตอบแบบคนใต้ซึ่งมักติดสำนวนปฏิเสธไว้ก่อน(หม้าย=ไม่) หน้าประโยค

“ไปหาหมอแล้วหม้าย”

“ไปเอายาที่คลินิกหมอมากินได้ 2 เช้าไม่ค่อยพรือแล้ว”

“ถ้าแลท่าไม่ดีไปโรงบาลนะ โทรไปหานาได้”

“ไม่พรือแหละ นอนอีก 2-3 วันคงหาย”

“งั้นกลับก่อนนะ ค่อยมาหล่าว”

เมื่อได้ฟังว่าไปพบหมอและได้ยามากินเรียบร้อยแล้วฉันก็ค่อยเบาใจ ฉันกลับไปยุ่งอยู่กับงานประจำไม่ได้โทรมาถามไถ่เลย จวบจนบ่ายวันอาทิตย์ ก่อนไปที่หลาฉันแวะซื้อทุเรียนหมอนทองลูกใหญ่จากตลาดนัด พอไปถึงก็เจอพี่บางนั่งยิ้มอยู่ เผยให้เห็นฟันปลอมขาวเป็นระเบียบท่าทางสบายดี ฉันเห็นแล้วดีใจรีบบอกอย่างเอาใจว่า

“มาเปลี่ยนให้พี่บางไปจ่ายหลาดนัด”

“ไม่ต้องไปที ฝากน้องสาวซื้อแล้ว”

“งั้นเรากินเรียนกันดีหวา”

เรานั่งกินทุเรียนไป คุยกันไปถึงเรื่องราวต่างๆ พี่บางเล่าฉันถึงเรื่องของเธอในวัยเด็กซึ่งมีพี่น้องหลายคน เธอวิ่งเล่นอยู่แถวนี้มาตั้งแต่เด็ก ช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน โตขึ้นพี่ ๆ น้อง ๆ แต่งงานก็ปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน มีบ้างบางคนที่แต่งงานไปต่างหมู่บ้านและที่บ้านมีทุเรียนถึงฤดูก็เอามาฝากเป็นประจำ เราคุยกันอย่างออกรส ฉันเสียใจที่จำรายละเอียดเรื่องราวหลายอย่างวันนั้นไม่ได้ แต่ประเด็นที่ฉันรู้สึกสะดุดและได้สัมผัสบางอย่างคือเรื่องที่พูดถึงตัวเธอและลูก

“ปีนี้พี่บางอายุเท่าไหร่แล้ว”

“ 59 แค่ 60 ถ้าคนทำงานเขาก็ปลดเกษียณได้แล้ว นี่หม้ายยังต้องทำ หากินเองอยู่เหลย พี่ๆน้องๆ ลูกเขาส่งเบี้ยให้ใช้ไม่พักทำไหรแล้ว”

ฉันพูดปลอบใจว่า “เบ่อแม่ยังแลสาวอยู่เหลย ลูกเห็นแม่เแข็งแรงเลยลืมคิดไปว่าแม่แค่ 60 หยุดทำงานได้แล้ว”

“ ฮั้นแหละ”

“พี่บางนี่เก่งหนา คิดแลมีลูก 3 คนปลูกบ้านมีบริเวณให้ลูกอยู่ คนหลังครบทั้ง 3 คนมีดินสวนไม่รู้เท่าใดหล่าว”

ฉันมีความเชื่อว่าอาหารที่พี่บางรับประทานอยู่ประจำเป็นอาหารสุขภาพอย่างดี เพราะมักเป็นผักปลาในหมู่บ้านที่เก็บหาได้เอง แต่ละวันพี่บางก็ออกกำลังกายทำสวน ทำโน่นทำนี่ ตลอดเวลา พี่บางไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีไขมันส่วนเกิน กินอยู่อย่างระวัง ฉันยังชื่นชมอยู่บ่อยๆ เธอยิ้มรับสีหน้าภูมิใจในตัวเอง เย็นวันนั้นเราต่างแยกกันกลับบ้านอย่างเป็นสุข ทุเรียนหมอนทองหายเข้าไปในท้องเรา 2 คน เกือบหมดลูก

2-3 วัน ถัดมาฉันมีธุระแวะไปที่บ้านพี่บางและได้ขอดูผลการตรวจสุขภาพที่พี่บางเคยบอกว่าไปตรวจที่แลปเอกชนเมื่อรับมาดูวันที่ปรากฏบนใบแลปบอกว่าผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี ฉันดูแล้วผลโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีค่าเอ็นไซม์ที่บ่งบอกการทำงานของตับสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย แต่ความดันโลหิตซิ สูงกว่าปกติแม้จะไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรมองข้าม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อถามพี่บางก็บอกว่าหมอที่คลินิกบอกว่าแกปกติดีไม่ได้มีโรคความดันโลหิตสูง ยาที่กินอยู่ล่าสุดก็เป็นยาเรื่องปวดเอว ปวดขา พี่บางไว้ใจหมอที่คลินิกซึ่งรักษาประจำนี้มาก โดยเหตุผลที่เธอตอบปฏิเสธไม่ยอมไปตรวจที่โรงพยาบาลคือช้าเสียเวลามาก

เราไม่ได้เจอกันร่วมสัปดาห์จนฉันได้รับโทรศัพท์เป็นเบอร์พี่บางโชว์ขึ้นมา เสียงที่มาตามสายบอกฉันว่าไม่ใช่เสียงพี่บาง ไม่ใช่เสียงที่ฉันคุ้นเคย ซึ่งสร้างความแปลกใจกับฉัน คำพูดที่ตามมายิ่งทำให้ฉันแทบช็อค เมื่อปลายสายบอกว่า

“พี่นาเหรอ! แม่อยู่โรงยาบาลนิ หมอบอกว่าแม่ไม่มีหวังแล้ว”

พอสอบถามรู้ว่าตอนนี้พี่บางอยู่ที่ไหนฉันก็รีบเก็บงานตรงหน้า ในสมองว้าวุ่นสับสนมันเกิดอะไรขึ้น มันเป็นไปได้ยังไง พี่บางออกแข็งแรงไม่มีสัญญานของคนป่วยหนักที่จะคุกคามถึงชีวิต ฉันขออนุญาตหัวหน้ารีบไปตึกที่หมายทันที ภาพที่ฉันเห็นตรงหน้าพี่บางถูกพันธนาการด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เต็มยศ ทั้งท่อช่วยหายใจทางปากต่อกับเครื่องช่วยหายใจที่ส่งเสียงตีเป็นจังหวะ จอแสดงสัญณาณชีพเห็นตัวเลขกระพริบแสดงอัตราเต้นของหัวใจ สีของมันอ่อนจาง คงเหมือนหัวใจของพี่บางขณะนี้ กราฟเส้นสีเขียวยังคงแล่นอยู่ตลอดเวลาไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะแล่นไปอีกไกลเท่าไหร่ ความดันโลหิตยังพอมีอยู่ในระดับต่ำ หัวใจฉันสั่นกระเพื่อมตามหยดน้ำเกลือที่ค่อยๆหยดลงกระเปาะ ก่อนไหลไปตามสายเข้าสู่ร่างอันไร้สติของพี่บาง ลูกและญาติห้อมล้อมอยู่รอบๆ พี่สาวพี่บางมายืนข้างฉันและบอกความประสงค์ที่จะนำพี่บางกลับไปสิ้นใจที่บ้าน ขณะนั้นฉันเพิ่งได้ทราบข่าวร้ายแค่ไม่เกิน 15 นาทีมันสั้นเกินกว่าจะยอมรับได้ ขอเวลาสักหน่อย…..โดยที่ก็ไม่รู้ว่าขอให้ตัวเองหรือขอให้พี่บางกันแน่ ฉันควรไปปรึกษาอาจารย์หมอที่พี่บางรักษาประจำที่คลินิกดีไหม ฉันสับสนเฝ้าแต่ครุ่นคิด ฉันพลาดอะไรไป มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

พอเริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวได้ฉันก็ไปติดต่อพยาบาลเจ้าของไข้ พยาบาลโทรตามแพทย์เจ้าของไข้มาให้พบญาติ เมื่อมาถึงแพทย์สาวอายุงานน่าจะในราวไม่เกิน 5 ปี ฉันสอบถามสาเหตุอาการของคนไข้ หมอเปล่งประโยคแรก กับฉัน

” ก็ตามที่บอกไปแล้วไง คุณเป็นอะไรกับคนไข้”

เหมือนมีก้อนอะไรมาจากไหนก็ไม่ทราบหลังได้ยินประโยคแรกมันก็วิ่งขึ้นมาจุกคอฉันจนแทบพูดตอบไม่ออก ฉันได้ยินเสียงตัวเองที่พยายามเปล่งออกมาว่า

“เป็นน้องสาวคนไข้คะ”

พลางคิดว่านี่ถ้าหมอรู้ว่าฉันเป็นน้องนอกไส้หมอจะยอมเสียเวลาพูดกับฉันหรือไม่

“ญาติมีปัญหาสงสัยอะไร” เสียงหมอมาปลุกสติฉันอีกครั้ง

”ทราบว่าทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ผลเป็นอย่างไรบ้างคะ”

“ไม่ทราบหมอยังไม่เห็น แต่ยังไงการรักษาก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

พยาบาลซึ่งยืนอยู่ใกล้รีบส่งซองฟิล์มให้ สายตาฉันมองตามด้วยไม่กล้าคาดเดาว่า คุณหมอจะเปิดฟิล์มดูหรือไม่ เดชะบุญแพทย์ใช้ทุนค่อยๆดึงฟิล์มออกจากซองขึ้นส่อง ภาพก้านสมองที่ปรากฏบนฟิล์มถูกเบียดเบ้ไปอีกด้านหนึ่งให้ฉันเห็น ทำให้ฉันต้องยอมรับความจริงว่าเวลาของ พี่บางเหลือน้อยเต็มทน ฉันไม่มีเวลาให้โอ้เอ้ได้แม้แต่น้อย ฉันบอกหมอว่าขอพี่กลับไปคุยกับลูกคนไข้ ลูกสาวและลูกชายพี่บางรอฉันอยู่ที่เตียง ฉันได้แต่พยักหน้าพร้อมบอกว่าก็คงทำตามป้าพาแม่กลับบ้านน้องว่ายังไงทุกคนสบตา พยักหน้าไม่มีคำพูดใดสามารถเล็ดลอดออกมาได้ ฉันเดินกลับไปเพื่อแจ้งพยาบาลว่าเราตกลงใจจะกลับบ้าน

“ พี่จะกลับยังไง? ” เสียงพยาบาลเจ้าของไข้ถาม

“ ขอรถโรงพยาบาลไปส่งผู้ป่วยได้ไหมคะ”

“ตามระเบียบขอรถไม่ได้พี่ พี่ต้องเซ็นใบไม่สมัครใจอยู่”

ฉันฟังแล้วก็ยังงงๆอยู่ เอ๊ะ! อย่างไรกัน ก็หมอบอกเองว่าอยู่ก็ไม่มีหวังแล้ว ไม่สามารถให้การรักษาใดๆเพิ่มเติมแล้ว แม้ไม่พูดตรงๆว่าให้กลับบ้านก็เหมือนบอกให้กลับบ้านนั่นแหละ ยังไงก็ตายแน่ๆ ไม่ให้การรักษาใดๆเพิ่มแล้ว แต่ครั้นพอจะกลับก็เหมือนกล่าวหาว่าเราไม่ร่วมมือในการรักษาต้องให้ญาติเซ็นว่าไม่สมัครใจอยู่รับการักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งไปรอนสิทธิการขอรับบริการรถส่งต่อของผู้ป่วย ใครกันนี่ที่กำหนดกฎที่ช่างไม่สอดคล้องกับการดูแลด้วยความมีหัวใจเป็นมนุษย์ที่ป่าวประกาศอยู่ปาว ๆ ในวิสัยทัศน์พันธกิจของโรงพยาบาล สมองฉันทำงานหนักทันทีฉันจะพาพี่บางกลับบ้านพร้อมลมหายใจของพี่บางให้ตลอดรอดฝั่งถึงบ้านได้อย่างไร สำหรับพยาบาลชุมชนคนเล็กๆอย่างฉันโจทย์นี้ไม่ง่าย แต่ยังไงฉันต้องทำให้ได้เพราะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ฉันสามารถทำให้พี่บางได้ขณะพี่บางยังมีลมหายใจอยู่

ยังมีทางไหนอีกบ้างนะ ถ้าไม่ได้จริง ๆ ฉันจะขับรถฉันนี่แหละไปส่งพี่บางที่บ้าน ฉันคิดถึงรถพยาบาลหน่วยงานอื่น ติดต่อ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเขตที่บ้านพี่บางตั้งอยู่ ปรากฏว่าไม่มีรถรับส่งผู้ป่วย แต่เทศบาลข้างเคียงมี หัวหน้าฉันช่วยติดต่อประสานงานจนได้รถ แต่รถอยู่ระหว่างนำส่งผู้ป่วยรายอื่น ต้องรอให้ส่งรายเดิมเสร็จจึงจะมารับเป็นรายต่อไป แม้จะได้รถพยาบาล แล้วแต่ระหว่างทางหากถอดเครื่องช่วยหายใจแล้วใครจะรับประกันว่าพี่บางจะไม่จากพวกเราไปกลางทาง ประสบการณ์การทำงานในตึกอายุรกรรม บอกฉันว่า ฉันยังมีหวังถ้ายังคาท่อช่วยหายใจกลับไปบ้านด้วย ฉันเริ่มเจรจากับพยาบาลเจ้าของไข้ และส่งต่อฉันให้คุยกับพยาบาลหัวหน้าตึก ฉันต้องเซ็นเอกสารเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการที่ผู้ป่วยมีอุปกรณ์การแพทย์ติดตัวกลับไปที่บ้าน

วี่หว่อ.....วี่หว่อ.....วี่หว่อ..... เมื่อเห็นรถพยาบาลขับเข้ามาฉันรีบรุดออกไปแต่ไม่ไช่รถคันที่ฉันรอเป็นของอีกที่หนึ่ง เวลาช่วงนั้นในความรู้สึกมันนานแสนนาน............. พี่บาง ทำใจดี ๆ นะ พวกเรากำลังจะพาพี่กลับบ้าน

รถพยาบาลคันที่รอ มาถึงด้วยความสงบ น้องเจ้าหน้าที่ประจำรถรูปร่างสูงใหญ่นัยน์ตาเป็นมิตรเปิดประตูลงจากรถ มาช่วยรับผู้ป่วยย้ายเปลขึ้นรถ ฉันบีบถุงลมรูปกลมรี สีดำใหญ่ขนาด สองมือโอบ (Ambu bag) ช่วยยื้อลมหายใจ ขณะบีบแอมบูพลาง สังเกตสีริมฝีปาก พลางดูการเต้นของ ชีพจรข้างคอ ก็ได้ยินเสียง

“ให้ผมช่วยบีบแอมบูไหมครับ”

โอ้ช่างเป็นบุญของพี่บางแท้ๆ ฉันละมือจากแอมบูได้เป็นพักๆเพื่อมาตรวจวัด สัญญาณชีพ เส้นทางรถที่ฉันขับไปมาแล้วเป็นสิบเป็นร้อยเที่ยว วันนี้ทำไมมันช่างไกลเสียเหลือเกิน เงยหน้าขึ้นมองเท่าไหร่ก็ไม่ถึงสักที จนรถมาจอดหน้าบ้านพี่บาง มีเพื่อนบ้านญาติพี่น้องมารอรับอยู่เต็มฉันบอกพี่บางให้รู้ว่าถึงบ้านแล้ว หลับให้สบายนะคะ ฉันขออนุญาตเอาท่อที่ทำให้พี่พูดไม่ได้กลืนไม่สะดวกออกนะ พี่บางนอนหลับตาพริ้มเหมือนคนนอนหลับ ฉันนึกถึงปาฏิหาริย์ถ้ามีจริง ขอให้ พี่บางยังมีลมหายใจอยู่ต่อไปด้วยเถิด หลังจากที่เอาเครื่องพันธนาการทางการแพทย์ออกแล้ว

สิ้นเสียงสวดมาติกาบังสุกุล.....ญาติมิตรเอาดอกไม้จันทน์เพื่อเคารพศพพี่บางเป็นครั้งสุดท้าย ควันขาวลอยอ้อยอิ่งเหนือปล่องเมรุ บอกหน่อย! ฉันพลาดอะไรไป คนที่แลดูน่าจะอยู่ในโลกนี้ได้อีกเป็น 10 ปีต้องจบชีวิตลงอย่างไม่คาดฝัน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ฉันควรทำอย่างไร? เวลานี้ฉันทำได้เพียงภาวนาให้ดวงวิญญาณของพี่บางไปสู่ภพภูมิที่ดี มีความสุข สมกับคุณความดีที่ทำไว้ด้วยเทอญ....

อุตสาห์โฆษณาบอกเพื่อนๆ ของตัวเองกลับไม่ได้รับประกาศเสียเองโทรตามไปแล้ว 2 รอบยังไม่มีใครติดต่อกลับเลย เฮ้อ!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท