การเลือกซื้ออุปกรณ์เครือข่าย


Broadband เลือกซื้ออุปกรณ์เครือข่าย
คงมีหลายๆ ท่านที่คิดจะติดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อใช้งานภายในบ้านหรือในสำนักงานของตัวเอง เพราะต้องการแชร์ ทรัพยากรที่มีอยู่เช่นเครื่องพิมพ์ ข้อมูล เครื่องสแกนและอื่นๆ ให้เครื่องคอมฯหลายๆเครื่องใช้ร่วมกัน อีกทั้งต้องการความสะดวกในการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรทางอีเมล์ ซึ่งท่านก็ลองคิดดูว่าถ้าท่านทำงานอยู่ชั้นสี่แล้วเครื่องพิมพ์อยู่ชั้นสามถ้าไม่มีระบบเครือข่ายจะทำยังไงถ้าต้องพิมพ์งาน ก็คงต้อง Save งานใส่แผ่นแล้วก็เดินลงไปพิมพ์ที่ชั้นสาม เป็นยังงัยครับ แค่คิดก็เหนื่อยใช่มั้ยครับ แล้วถ้าอยากมีระบบเครือข่ายจะทำยังงัย ? มีสองทางเลือกครับ ทางเลือกแรก คือ “จ้างเขาทำ” ง่ายครับขอแต่มีเงินเป็นพอก็ทำได้ และอีกทางคือ “ทำเอง” ซึ่งก็ต้องลงแรง ศึกษาหาข้อมูลทำการบ้านกันเหนื่อยหน่อยละครับ แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็คือความรู้ ได้พัฒนาความสามารถ และยังได้ความภูมิใจ แต่ก็อย่าลืมเงื่อนไขเรื่องเวลานะครับ เพราะถ้าต้องการใช้งานอย่างเร่งด่วน ก็ควรว่าจ้างผู้รับเหมาวางระบบ มาจัดการให้ดีกว่า แต่เรื่องการศึกษาหาความรู้ก็ไม่ควรทิ้ง เพราะระบบเมื่อติดตั้งเสร็จใช่ว่าจะจบเลย ยังต้องการ การดูแลรักษาเพื่อให้สามารถทำงานรับใช้ท่าน โดยไม่มีปัญหา และสมมุตินะครับสมมุติ ถ้าท่านจะทำเองแล้วจะทำยังไง? ไม่ต้องกังวลครับ ทุกปัญหามีคำตอบ เมื่อท่านคิดจะทำเอง ก็ต้องหาข้อมูลกันก่อน เรื่องแรกที่จะพูดถึงเรามาพูดถึงอุปกรณ์เครือข่ายกัน สำหรับอุปกรณ์เครือข่ายนั้นก็จะมีอยู่หลายๆ แบบไม่ว่าจะเป็น Lan Card, Hub, Switch, Firewalls & Filters, Internet Gateway Routers & LAN Modems, Network Management, Print Server หรืออุปกรณ์ Wireless การเลือกใช้อุปกรณ์ในระบบเครือข่ายพวกนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีหลายคนบ่นกันมากว่าอยากติดตั้งระบบเครือข่ายไว้ใช้แต่ติดที่ตรงเลือกอุปกรณ์ในการใช้งานไม่ถูก ไม่ยากครับขั้นแรกท่านผู้อ่านจะต้องทราบถึงคุณสมบัติของอุปกรณ์แต่ละชนิดก่อน
 
 
 

การ์ดแลน

            เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการรับส่งข้อมูลจากเครื่องคอมฯเครื่องหนึ่งไปสู่อีกเครื่องโดยผ่านสายแลน การ์ดแลนเป็นอุปกรณ์ที่สามารถต่อพ่วงกับพอร์ตแทบทุกชนิดของเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น ISA, PCI, USB, Parallel, PCMCIA และ Compact Flash ซึ่งที่เห็นใช้กันมากที่สุดก็จะเป็นแบบ PCI เพราะถ้าเทียบราคากับประสิทธิภาพแล้วถือว่าค่อนข้างถูก มีหลายราคา ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาทจนถึงหลักพัน ส่วนแบบ USB, Parallel, PCMCIA ส่วนใหญ่จะเห็นใช้กันมากกับเครื่องโน๊ตบุ๊ค เพราะก็อย่างที่ทราบกันอยู่ว่าการติดอุปกรณ์ลงในพอร์ตภายใน ของเครื่องโน๊ตบุ๊คเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงจึงต้องอาศัยพอร์ตภายนอกดังที่กล่าวมา

 ฮับ           

           เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสมือนกับชุมทางข้อมูล มีหน้าที่เป็นตัวกลาง คอยส่งข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ซึ่งลักษณะการทำงาน ให้ลองนึกถึงภาพการออกอากาศโทรทัศน์ ที่เมื่อมีเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งกำลังส่งข้อมูล เครื่องที่อยู่บนเครือข่ายทุกเครื่องจะได้รับข้อมูลเหมือนๆ กันทุกเครื่อง ซึ่งเมื่อแต่ละเครื่องได้รับข้อมูลก็จะดูว่า เป็นข้อมูลของตัวเองไหม ถ้าใช่ก็จะรับเข้ามาประมวลผล ถ้าไม่ใช่ก็ไม่รับเข้ามา ซึ่งจากากรทำงานในลักษณะนี้ ในเครือข่ายที่ใช้ฮับเป็นตัวกระจ่ายสัญญาณ จะสามารถส่งข้อมูลสู่เครือข่ายได้ทีละเครื่อง ถ้ามีคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งกำลังส่งข้อมูล เครื่องอื่นๆ ก็ต้องรอให้การส่งข้อมูลเสร็จสิ้นเสียก่อน เมื่อช่องสัญญาณว่าง จึงจะสามารถส่งข้อมูลได้

สวิตซ์

           สวิตซ์จะทำหน้าที่คล้ายฮับ แต่จะเก่งกว่าตรงที่เมื่อมีการร้องขอโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเพื่อส่งข้อมูล สวิตซ์ก็จะสร้างวงจรเสมือนขึ้นมาให้เครื่องสองเครื่องนี้ส่งข้อมูลถึงกัน ซึ่งช่องสัญญาณกลางก็จะว่างไว้รองรับการร้องขอส่งข้อมูลจากเครื่องอื่นๆ ต่อไป ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงการทำงานของสายโทรศัพท์ ที่หลายๆ คู่สายสามารถพูดคุยพร้อมๆ กันได้ จากคุณลักษณะนี้ทำให้สามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่าฮับ เพราะแทบจะไม่มีการรอใช้ช่องสัญญาณเกิดขึ้นในเครือข่ายที่ใช้สวิตซ์เป็นตัวกระจายสัญญาณ และแน่นอนราคาของสวิตซ์ย่อมแพงกว่าฮับ

โมเด็ม

           เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณให้สามารถส่งผ่านทางสายโทรศัพท์ สายเช่า และสายไฟเบอร์ออฟติก แล้วแต่ประเภทของโมเด็ม ทำให้สามารถส่งสัญญาณไปได้ไกล ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณใช้โมเด็มหมุนโทรศัพท์หาไอเอสพีที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร เพื่อจะเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต

เราเตอร์

           เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เลือกเส้นทางในการส่งผ่านข้อมูล ทำหน้าที่ในการหาเส้นทางที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการล้มเหลวในการส่งข้อมูล และเราเตอร์ยังสามารถช่วยเชื่อมเครือข่ายสองเครือข่าย หรือมากกว่าเข้าด้วยกัน เพราะเราเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำงานบนเครือข่ายอย่างน้อยสองเครือข่ายขึ้นไป ถ้าจะพูดถึงราคา พูดแบบน่ารักๆ ก็ต้องพูดว่า โห...แพงจังเลย

สายแลน

           เมื่อมีวงแลนก็ต้องมีสายแลน สายแลนมีหลายแบบไม่ว่าจะเป็นสายโคแอคเชียน ยูทีพี เอสทีพี และ ไฟเบอร์ออปติก หรือแม้กระทั่งแบบที่ไม่ใช้สาย (Wireless LAN ) และแบบที่เห็นได้บ่อยที่สุดในปัจจุบันที่นิยมใช้กัน ก็ได้แก่สายแบบ ยูทีพี ที่ใช้กับหัวต่อแบบ RJ 45 ซึ่งจะคล้ายๆกับหัวต่อของสายโทรศัพท์ ( ของโทรศัพท์เป็นแบบ RJ11 ) ซึ่งสายประเภทนี้จะไม่มีการ ชีลด์ ป้องกันสัญญาณรบกวน แต่จะใช้วิธีตีเกลียวสายเป็นคู่ๆ 4 คู่ ป้องกันสัญญาณรบกวน อีกแบบก็คือการใช้วิธีส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงบางแบบก็ใช้อินฟราเรด จุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือเมื่อไม่ต้องเดินสายทำให้สามารถติดตั้งได้ง่าย ย้ายก็สะดวก แต่ข้อด้อยก็คือปัญหาจากการถูกรบกวน และสัญญาณถูกบัง แถมความเร็วในการส่งข้อมูลยังด้อยกว่าระบบแลนแบบใช้สายอยู่ ราคาก็สูงกว่า และที่กำลังมาแรงในขณะนี้คือเทคโนโลยีแบบ Ethernet over VDSL น่าสนใจกันขึ้นมาบ้างแล้วไหมครับ ถ้าสนใจเราก็ไปลุยกันต่อเลยครับ ในการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายที่ใช้ๆกันก็มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบระยะใกล้ และแบบระยะไกล เอาเป็นว่าเรามาเริ่มต้นการเลือกใช้อุปกรณ์ระบบเครือข่ายแบบระยะใกล้กันก่อนครับ

           ถ้าท่านคิดจะติดตั้งระบบเครือข่าย ซึ่งเป็นเครือข่ายระยะใกล้ อย่างแรกนอกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ท่านจะต้องมีก็คือ การ์ดแลน และสายแลน บางท่านอาจจะสงสัย ว่า แล้ว ฮับ และ สวิตช์ มันหายไปไหน ก็ขอบอกว่าไม่ต้องใช้ก็ได้ครับ แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีคอมพิวเตอร์ในระบบไม่เกิน “สองเครื่อง” เพราะถ้ามีแค่สองเครื่องท่านก็สามารถเชื่อมต่อให้เป็นวงแลนได้โดยใช้สายไขว้เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่องเข้าหากันโดยตรงได้

           แต่ถ้ามากกว่าสองเครื่อง ก็ต้องถามหา สวิตช์ หรือไม่ก็ ฮับ กันละ เอ... แล้วจะใช้ ฮับ หรือสวิตช์ดี ล่ะ อันนี้ก็ต้องมาดูเหตุและปัจจัยกันก่อน ถ้าในกรณีที่เครือข่ายของท่านมีขนาดไม่ใหญ่ ( หมายถึงจำนวนเครื่องและข้อมูล ในระบบเครือข่าย ) ตัวเลือกแรกที่ น่าสนใจก็คือ ฮับ เพราะถ้าในระบบเครือข่ายของท่านมีข้อมูลวิ่งไปมาไม่มากการลงทุนซื้อ สวิตช์ มาใช้ก็ดูจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไป เพราะราคามันแพงกว่า แต่ถ้าเครือข่ายของท่านมีข้อมูลวิ่งมามากๆ ตัวเลือกอย่างสวิตช์ก็น่ารับไว้พิจารณา

           และถ้าจะตัดสินใจซื้อ ฮับ หรือ สวิตช์ มาใช้งานก็ต้องคำนึงถึงเรื่องขยายระบบในอนาคตด้วย การเผื่ออนาคตก็มีตัวเลือกอีก ตัวเลือกแรกคือ เลือกสวิตช์ หรือ ฮับ ที่สามารถรองรับจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เท่ากับจำนวนที่ท่านคาดว่าจะมีในอนาคต แต่มันก็อาจจะมีปัญหาคือ เมื่อถึงเวลานั้นแล้วความจำเป็นในการขยายระบบอาจไม่มีก็ได้ แล้วจะทำยังงัยดี จะตัดส่วนที่เกินส่งคืนก็ไม่ได้ ไม่เป็นไรยังมีอีกตัวเลือกให้ตัดสินใจ ตัวเลือกนี้เพียงแต่ท่านเลือกสวิตช์หรือ ฮับที่พอร์ต จำพวก Up Links หรืออะไรก็แล้วแต่ทำหน้าที่เป็น Back Bone ความเร็วสูง เอาไว้พ่วงกับสวิตช์ หรือ ฮับ อีกตัว เวลาจะขยายระบบก็เพียงแต่ซื้อ สวิตช์หรือ ฮับ เพิ่มอีกตัวมาพ่วงเข้าไป

           ในกรณีที่ท่านมีเครือข่ายแลนอยู่สองเครือข่ายอยู่ดีไม่ว่าดีเกิดอยากจะเชื่อมเครือข่ายทั้งสองเข้าด้วยกันเอาละท่านจะทำยังไง? ไม่ยาก ท่านก็พ่วงฮับของทั้งสองวงแลนเข้าด้วยกันสิ อ๊ะ ทำไมง่ายยังงี้? แต่ในกรณีนี้ถ้าวงแลนทั้งสองมีข้อมูลไม่ชุกชุมมากนักมันก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเกิดมันชุกชุมขึ้นมาละ มันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับกรุงเทพฯ ในวันที่จราจรเป็นจราจล เพราะจะมีข้อมูลวิ่งกันวุ่นทั้งสองเครือข่าย เพราะอุปกรณ์อย่าง ฮับ แม้เราจะแยกวงแลนทั้งสองเป็นคนละ Sub Net แต่ข้อมูลภายในของแต่ละ Sub Net ก็ยังวิ่งข้ามวงแลนอยู่ทั้งสองวงแลน จากลักษณะการทำงานของฮับอยู่ดี แล้วจะทำยังงัย? เอาละ ถึงเวลาของพระเอกตัวจริงออกโรง พระเอกที่ว่าก็คือ เราเตอร์ ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเราเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานบนสองเครือข่ายขึ้นไป เราก็เลยเอาความสามารถนี้มาเชื่อมต่อเครือข่ายสองเครือข่ายเข้าด้วยกัน แล้วก็จะลดปัญหาความชุกชุมของข้อมูลลงได้ เพราะข้อมูลที่จะวิ่งข้ามวงแลนจะมีเฉพาะข้อมูลที่จะส่งข้ามวงแลนเท่านั้น แต่จ้าวเราเตอร์นี่มันก็แพงเอาการ หากไม่มีงบประมาณ ในการจัดหามาใช้งาน ไม่เป็นไร เรายังสามารถนำเอาเครื่อง PC มาประยุกต์ใช้แทนเราเตอร์ ได้ดีพอสมควรทีเดียว แต่ถ้าท่านต้องการความสามารถของเราเตอร์เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ให้พิจารณาเลือกเราเตอร์ตัวจริงเสียงจริงมาใช้ดีกว่า ลงทุนนิดแต่คุ้มค่าครับ

           ทราบถึงการเลือกอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเครือข่ายระยะใกล้มากันพอหอมปากหอมคอแล้ว ต่อไปมา ดูอุปกรณ์ที่ใช้การเชื่อมระบบเครือข่ายระยะทางไกลกันบ้าง

           ในการเชื่อมระบบเครือข่ายที่มีระยะทางไกล เช่น ถ้าท่านต้องการเล่นเกมส์ออนไลน์กับเพื่อนๆหรืออยากให้คอมพิวเตอร์ของสำนักงานสองแห่งติดต่อกันได้ แต่ติดที่ระยะทางมันไกล เราจะทำยังงัย? จากข้อจำกัดของสายแลนที่ไม่สามารถเดินสายให้มีความยาวมากกว่าร้อยเมตรได้ ทำให้เราต้องหาทางใหม่กัน ทางเลือกสำหรับระบบเครือข่ายที่มีระยะทางไกลๆ ก็มีใช้ท่านๆได้เลือกใช้กันอยู่ 6 แบบด้วยกันครับ

           เรามาดูแบบแรกกันก่อนครับสำหรับแบบแรกก็คือท่านจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่เรียกว่า รีพรีตเตอร์ ไว้ทุกๆ ระยะ 100 เมตร เพราะเนื่องจากข้อจำกัดที่ไม่สามารถติดตั้ง ฮับ หรือ สวิตซ์ โดย ผ่านสาย ยูทีพี ที่มีระยะห่างเกิน 100 เมตร 


            
แบบที่สองคือใช้โมเด็ม หมุนโทรศัพท์เข้าหากัน เมื่อต้องการเชื่อมต่อ เมื่อเสร็จสิ้นธุรกิจแล้วก็ยกเลิกการเชื่อมต่อ แต่ความเร็วที่ได้ก็แค่ความสามารถของสายโทรศัพท์คือ 33.6Kbps ในกรณีที่มีการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากระหว่างเครือข่าย แน่นอน อย่างช้าครับท่าน ซึ่งถ้าท่านมีข้อมูลวิ่งระหว่างเครือข่ายค่อนข้างมาก ก็น่าจะเลือกใช้การเช่าสาย ของบริษัทผู้ให้บริการ ซึ่งจะได้ความเร็วที่มากกว่า 


            
แบบที่สามนี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน เมื่อมันดีที่สุดก็ย่อมแพงที่สุดด้วยครับ ซึ่งคงจะเป็นใครไปเสียมิได้ นอกจากจ้าวสายไฟเบอร์ออปติก นั้นเอง ซึ่งสายชนิดนี้สามารถฉีกข้อจำกัดของการใช้สายสัญญาณแบบ Twist pare ที่มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือสาย ยูทีพี และสาย เอสทีพี ที่บ้านเรานิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในเรื่องของระยะทาง และความเร็วในการส่งข้อมูลที่สามารถกระทำได้เหนือกว่า และรวมไปถึงความปลอดภัยของข้อมูลด้วย เวลาที่ท่านจะติดตั้งระบบเครือข่ายโดยใช้สายไฟเบอร์ออปติก ท่านจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Media Converter ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้จะทำหน้าที่ในการแปลงสัญญาณจากสายทองแดง (Copper) ไปเป็นสัญญาณไฟเบอร์ออปติก โดยลักษณะนี้จะเป็นการแปลงจากระบบมาตรฐาน 10/100Base-TX ไปเป็น 100Base-FX ซึ่งสายประเภทนี้มักจะนิยมใช้ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญของข้อมูลมาก เช่น กองทัพ หรือ ธนาคารต่างๆ ใครที่คิดว่าจะนำมาใช้ในระบบแลนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่เครื่องแล้วละก็ ผมบอกได้คำเดียวว่าเสียดายกะตังค์แทน 


            
 แบบที่สี่ Wireless Lan หรือการสื่อสารไร้สาย เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ข้อดีของการนำระบบ Wireless Lan มาใช้เป็นเพราะในปัจจุบันการใช้สาย CAT5 ที่นิยมใช้ในปัจจุบันซึ่งมักมีปัญหาในเรื่องของความยุ่งยากต่างๆ เช่น ถ้าสายสัญญาณขาด หรือเสียการตรวจสอบจะทำได้ยากเพราะเราต้องมานั่งหาสายที่เกิดปัญหา ยิ่งถ้าระบบมีขนาดใหญ่มากๆก็จะทำให้เสียเวลาในจุดนี้มากขึ้น อุปกรณ์ Wireless จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาลดปัญหาตรงจุดนี้ แต่ Wireless LAN น่าจะเหมาะสมสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ที่มีขนาดจำกัด มากกว่าการนำมาติดตั้งเพื่อใช้ระหว่างอาคาร อุปกรณ์แบบ Wireless ก็มีอยู่หลายแบบด้วยกันครับ อย่างเช่น Wireless Access Point , Wireless PCI Adapter , Wireless PCMCIA , Wireless Bridge , Wireless USB Adapter , Wireless PCL Card การเลือกซื้ออุปกรณ์ระบบเครือข่ายแบบไร้สายมาใช้งานมีข้อควรระวังไว้หน่อย คือ โดยปกติแล้วการทำงานแบบไร้สายจะทำงานบนมาตรฐาน 802.11b ที่มีความเร็วในการส่งสัญญาณข้อมูลสูงสุดถึง 11Mbps แต่อุปกรณ์แบบ Wireless รุ่นใหม่สามารถในการส่งสัญญาณข้อมูลได้ถึง 54Mbps ซึ่งมากกว่า Wireless แบบเก่ามาก แต่ปัญหาก็คือ อุปกรณ์ทั้งสองจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ 


  
           แบบที่ห้าคือเทคโนโลยี G.SHDSL ซึ่งเป็นหนึ่งเทคโนโลยีตระกูล DSL โดยเทคโนโลยี DSL นี้ก็ย่อมาจาก Digital Subscriber Line เป็นเทคโนโลยีโมเด็มที่ทำให้คู่สายทองแดงธรรมดาให้กลายเป็นสื่อสัญญาณดิจิตอล ความเร็วสูง โดยใช้เทคนิคการ เข้ารหัสสัญญาณข้อมูล (Modulation) ในย่านความถี่ที่สูงกว่า การใช้งานโทรศัพท์โดยทั่วไปทำให้สามารถส่งข้อมูลในขณะเดียวกับการใช้งานโทรศัพท์ได้ ซึ่งความสามารถพิเศษของเทคโนโลยี G.SHDSL นี้คือ สามารถช่วยให้คุณขยายวงกว้างของระบบเครือข่าย เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลได้ไกลสุดถึง 6 กิโลเมตร โดยผ่านสายโทรศัพท์ธรรมดาด้วยความเร็วในการส่งข้อมูลถึง 2.3Mbps 


                                                                                                                         

            แบบสุดท้ายที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้เป็นเทคโนโลยีระบบเครือข่ายล่าสุด ซึ่งท่านสามารถที่จะติดตั้งใช้งานได้เอง จึงทำให้ต้นทุนในการนำเทคโนโลยีระบบเครือข่ายแบบนี้ต่ำ เทคโนโลยีที่ว่านั้นคือเทคโนโลยีแบบ Ethernet over VDSL ซึ่งจะนำมาใช้ในการเชื่อมต่อในระบบเครือข่าย โดยเทคโนโลยีนี้สามารถที่จะเชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์ทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างเครือข่ายแลนผ่านสายโทรศัพท์ธรรมดาให้มีระยะทางไกลได้ถึง 1.5 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 10Mbps และยังสามารถรับส่งข้อมูลพร้อมกับใช้งานโทรศัพท์ในเวลาเดียวกันได้อีกด้วย 


                                                      

  

           การที่ท่านจะเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีแบบ Ethernet over VDSLนั้นท่านจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ประเภท VDSL ด้วยวิธีการเชื่อมต่อสามารถทำได้สองแบบคือ การเชื่อมต่อแบบ พอยนต์ ทู พอยนต์ และการเชื่อมต่อแบบ พอยนต์ ทู มัลติพอยนต์ การเชื่อมต่อแบบ พอยนต์ ทู พอยนต์ นั้นท่านจำเป็นจะต้องมี VDSL Converter ที่เป็นตัว (Master) และ VDSL Converter ที่เป็นตัว (Slave) ซึ่ง VDSL Converter (Master) จะมีหน้าที่ในการแปลงสัญญาณแบบ Ethernet ที่ใช้กับสาย ยูทีพี และ เอสทีพี ให้เป็นสัญญาณแบบ VDSL เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลบนสายโทรศัพท์ได้ และ VDSL Converter (Slave) จะทำการแปลงสัญญาณ VDSL ที่ส่งมากับสายโทรศัพท์มาเป็นสัญญาณแบบอีเธอร์เน็ตกลับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านสามารถนำเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เครือข่ายอื่นๆ มาเชื่อมต่อกับ VDSL Converter ได้ทันที และนอกจากนั้นบนสายโทรศัพท์เส้นเดียวกันยังจะสามารถโทรศัพท์ได้พร้อมกันอีกด้วย

           ส่วนการเชื่อมต่อแบบ พอยนต์ ทู มัลติพอยนต์ ซึ่งจะใช้สำหรับในกรณีที่มีการเชื่อมต่อระยะทางไกลๆ ท่านจะต้องนำอุปกรณ์ VDSL Switch มาใช้ได้ โดยอุปกรณ์ VDSL Switch นั้นจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ VDSL Converter (Slave) ส่วนอุปกรณ์ VDSL Switch นั้นก็จะมีให้เลือก 8 พอร์ต กับ 12 พอร์ตครับ
สรุปการเลือกซื้อ
หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับอุปกรณ์และวิธีเลือกใช้ อุปกรณ์ระบบเครือข่ายแต่ละแบบไปเป็นที่เรียบร้อย ต่อไปก็มาถึงขั้นตอนของการเลือกซื้อกันบ้าง ง่ายๆครับเพียงท่านมีกะตังค์ในกระเป๋าที่มากพอ ก็สามารถหาอุปกรณ์คุณภาพดีๆประสิทธิภาพเจ๋งๆได้แล้ว มันก็แน่อยู่แล้วผมจะพูดทำไมเนี๊ย? อุปกรณ์คุณภาพดีก็ย่อมมีราคาสูงเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะรู้กันดีอยู่แล้ว แต่วันนี้ผมจะมีหลักการเลือกซื้ออุปกรณ์ในระบบเครือข่ายแบบสั้นๆ แต่มีประสิทธิภาพมาฝากแฟนๆ บายคอมส์ครับ อุปกรณ์ระบบเครือข่ายที่ดีอย่างแรกก็คือต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีความเสถียรเพราะอุปกรณ์ประเภทนี้จะต้องทำงานตลอดเวลาถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาอาจจะทำให้ระบบต่างๆหยุดชงักตามไปด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วตามบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์พวกนี้ก็เน้นเรื่องความเสถียรของอุปกรณ์ของตนอยู่แล้วจึงไม่น่ามีปัญหาในการเลือกเท่าไร อย่างที่สองต้องเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรองรับการทำงานต่างๆได้อย่างดี เช่น ถ้าในระบบเน็ตเวิร์คของท่านมีเครื่องลูกข่ายจำนวนมากดังนั้น ฮับ หรือ สวิตช์ ก็จะต้องมีพอร์ตในการเชื่อมต่อที่เพียงพอด้วย อย่างที่สามคือราคาต้องสมเหตุสมผลส่วนในเรื่องของยี่ห้อนั้นผมก็ไม่อาจจะบอกได้ว่ายี่ห้อไหนประสิทธิภาพการทำงานแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนเพราะทางทีมงานเองก็ไม่ได้รับอุปกรณ์มาทดสอบทุกยี่ห้อ เอาเป็นว่าเวลาท่านจะซื้อก็ลองเลือกดูหลายๆ ยี่ห้อแล้วก็ลองถามถึงประสิทธิของอุปกรณ์กับผู้ขายดู ในเรื่องของการรับประกันก็สำคัญ โดยปกติแล้วอุปกรณ์ในระบบเครือข่ายมักจะมีระยะการรับประกันจากบริษัทผู้ผลิตประมาณ 3 ปี ถ้าอุปกรณ์ที่ท่านได้ซื้อมาเกิดมีปัญหาในการใช้งาน การส่งอุปกรณ์ไปเคมกับบริษัทผู้ผลิตหรือร้านค้าที่ขายอุปกรณ์ให้ท่านก็คงเป็นสิ่งทีหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดั้งนั้นบริษัทผู้ผลิตหรือร้านค้าเหล่านั้นจะต้องมีการบริการหลังการขายที่ดีด้วย ท่านลองคิดดูว่าถ้าเกิดท่านซื้อ ฮับ หรือ สวิตช์ มาใช้งานแล้วเกิดเสีย ท่านส่งอุปกรณ์ไปเคมกับทางบริษัท แต่ทางบริษัทกลับเคมอุปกรณ์ให้ท่านล่าช้า ทั้งที่เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญต่อระบบ ส่งผลทำให้ระบบงานของท่านล่าช้าหรือยุ่งยากเพิ่มขึ้น หรือท่านจะซื้อเครื่องใหม่ราคาของมันก็ไม่ใช่ย่อยๆ หลายหมื่นทีเดียว เอาเป็นว่าเวลาท่านจะซื้อก็ลองสอบถามผู้ที่เคยใช้หรือพวกเซียนเน็ตเวิร์ตดูว่าร้านไหนบริษัทไหนมีการบริการหลังการขายที่ดีๆบ้าง
คำสำคัญ (Tags): #31
หมายเลขบันทึก: 388216เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท