Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา


แพรภัทร ยอดแก้ว. 2552. บทความวิจัยเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม" วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎตะวันตก ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม - ธันวาคม 2551

ที่มาและความสำคัญของปัญหาวิจัย

             ในสภาวะปัจจุบัน โลกอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันกันอย่างสูง ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรุนแรงนี้ ในสังคมก็เป็นที่ยอมรับเช่นกันว่า ผู้นำเป็นบุคคลที่มีความสำคัญหรือที่เรียกกันว่าเป็นกุญแจสำคัญของความมีประสิทธิภาพและความมีประสิทธิผลขององค์การ ไม่ว่าจะเป็นองค์การในภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นองค์การระดับชาติหรือเป็นองค์การระดับท้องถิ่น ซึ่งความสำคัญของผู้นำหรือภาวะผู้นำ (Leadership) มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยที่ยืนยันว่าผู้นำหรือภาวะผู้นำมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การ รวมถึงผลการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์การ ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันต่อองค์การ ความเป็นพลเมืองดีในองค์การ (Organizational Citizenship Behavior : OCB) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในองค์การ และตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย[1]

คุณธรรม เช่น ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ สุจริต ความยุติธรรมเป็นรากฐานของพฤติกรรมที่ดี และถูกต้อง ผู้บริหารไม่อาจมีความยุติธรรม ซื่อสัตย์สุจริต หรือสัจจะอย่างยั่งยืน หากผู้บริหารขาดคุณสมบัติข้อนี้ การสร้างระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นในองค์การก็ยากจะทำได้ ถึงแม้ว่าองค์การแห่งนั้นจะเขียนกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรละเอียดเพียงใดก็ตาม ระบบคุณธรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะตัวหนังสือ แม้ว่าการเขียนขึ้นมาเป็นตัวหนังสือนั้นมีความสำคัญและจำเป็น แต่การตีความกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตีความ ด้วยเหตุนี้ หากผู้ตีความขาดคุณสมบัติเรื่องคุณธรรม หรือมีคุณธรรมน้อย โอกาสที่จะตีความเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยความอคติ หรืออิงผลประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้ง่าย การที่ผู้บริหารจะสร้างจิตสำนึกในคุณธรรมขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนด้วยจิตใจที่มั่นคง ไม่วอกแวกต่อผลประโยชน์ ที่มีหรือรออยู่ข้างหน้า โดยการฝึกฝนจิตใจให้มีคุณธรรมนั้นต้องอาศัยหลักแห่งธรรมไม่ว่าจะเป็นของศาสนาใดก็ได้ หรือวิธีปฏิบัติธรรมด้วยการยกระดับจิตให้สูงขึ้นซึ่งการบริหารด้วยระบบคุณธรรมจะช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า และมั่นคงให้กับองค์การอย่างแท้จริง

ปัจจุบันอุดมศึกษาไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมของบัณฑิตไม่ดีเท่าที่ควร  โดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความซื่อสัตย์  ความเชื่อมั่นในตนเอง  เนื่องจากคุณภาพในการทำงานของบัณฑิตขึ้นอยู่กับคุณลักษณะดังกล่าว ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพนักศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมีจริยธรรม[2]

จากที่กล่าวมาผู้วิจัยเห็นถึงความสำคัญ  จึงสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม เพื่อจะได้ทราบถึงระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา และพฤติกรรมทางจริยธรรมนั้นก่อให้เกิดภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับใด  เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาจริยธรรมและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงนักศึกษา  นอกจากนั้นยังช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม  ให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีและคนเก่ง ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

            1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม

            2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม

            3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม

            4. เพื่อศึกษาปัญหา และอุปสรรคในการเรียนการสอน จริยธรรมทางธุรกิจกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

 1. เพื่อทราบระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม

2. เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ระดับพฤติกรรมทางจริยธรรม กับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม

3. เพื่อทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม

4. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนจริยธรรมทางธุรกิจกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม เพื่อจะนำไปสู่การมีจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงต่อไป

ขอบเขตการวิจัย

             การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม :  ศึกษากรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม  ที่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาจริยธรรมทางธุรกิจกับวิชาธุรกิจและสิ่งแวดล้อม  และได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในปี 2549 ภาคเรียนที่  2 จำนวน 328 คน

 

นิยามศัพท์

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยได้กำหนดความหมายของศัพท์ไว้เป็นการเฉพาะ  ดังต่อไปนี้

       1.  ลักษณะส่วนบุคคล   หมายถึง  คุณลักษณะเฉพาะของผู้ตอบแบบสอบถาม  ได้แก่

1.1  เพศ   หมายถึง  ลักษณะความแตกต่างของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม ได้แก่  เพศชาย และ เพศหญิง

1.2  อายุ  หมายถึง  จำนวนปีเกิดตามปฏิทินนับตั้งแต่วันที่เกิดจนถึงปี พ.ศ. 2549 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม ได้แก่  น้อยกว่าหรือเท่ากับ 22 ปี  และมากกว่า 22 ปีขึ้นไป

1.3  คณะ  หมายถึง  คณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยสยามสังกัดอยู่ ในปี พ.ศ. 2549  ได้แก่  บริหารธุรกิจ  และวิศวกรรมศาสตร์

1.4  หลักสูตร หมายถึง หลักสูตรวิชาที่นักศึกษามหาวิทยาลัยสยามเลือกเรียนในปี พ.ศ. 2549   ได้แก่  หลักสูตร  4  ปี  และหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี 

1.5  เกรดเฉลี่ย  หมายถึง  คะแนนเฉลี่ยสะสมของทุกรายวิชาของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม  ตั้งแต่ปีที่เริ่มศึกษาจนถึงปีการศึกษา 2549 ภาคเรียนที่ 2 ได้แก่  น้อยกว่า 2.50  และมากกว่าหรือเท่ากับ 2.50

1.6  รายได้ต่อเดือน  หมายถึง  เงินทุกประเภทที่นักศึกษามหาวิทยาลัยสยามได้รับเป็นประจำทุกเดือน  ได้แก่  น้อยกว่า 3500 บาท  และมากกว่าหรือเท่ากับ 3500 บาท

       2. นักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม  หมายถึง นักศึกษาที่ศึกษาในคณะบริหารธุรกิจและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2,3,4 ของมหาวิทยาลัยสยาม  ที่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาจริยธรรมทางธุรกิจกับวิชาธุรกิจและสิ่งแวดล้อม  และได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในปี 2549 ภาคเรียนที่  2 

       3. ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  หมายถึง  ระดับพฤติกรรมที่ผู้บังคับบัญชาแสดงให้เห็นในการบริหาร  โดยทำให้เกิดเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงความพยายามของผู้ใต้บังคับบัญชาให้สูงขึ้นกว่าความพยายามที่คาดหวัง  พัฒนาความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและศักยภาพมากขึ้น  ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภารกิจและวิสัยทัศน์ของทีมและขององค์การ  จูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชามองให้ไกลเกินกว่าความสนใจของพวกเขาไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มองค์การหรือสังคม  ซึ่งกระบวนการที่ผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ร่วมงานหรือผู้ตามนี้จะกระทำโดยผ่านองค์ประกอบพฤติกรรมเฉพาะ  4  ประการ  คือ

3.1  การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ (Idealized  Influence หรือ Charisma  Leadership : II  or  CL)  หมายถึง  การที่ผู้นำประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง  หรือเป็นโมเดลสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชา  ผู้นำจะเป็นที่ยกย่อง  เคารพนับถือ  ศรัทธา  ไว้วางใจ  และทำให้ผู้ตามเกิดความภาคภูมิใจเมื่อร่วมงานกัน  ผู้ใต้บังคับบัญชาจะพยายามประพฤติปฏิบัติเหมือนกับผู้นำและต้องการเลียนแบบผู้นำของเขา   ผู้นำจะเสริมความภาคภูมิใจ  ความจงรักภักดี  และความมั่นใจของผู้ใต้บังคับบัญชา  และทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา  มีความเป็นพวกเดียวกันกับผู้นำ  ผู้นำแสดงความมั่นใจช่วยสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน  เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ 

3.2  การสร้างแรงบันดาลใจ  (Inspiration  Motivation : IM)  หมายถึง  การที่ผู้นำจะประพฤติในทางที่จูงใจให้เกิดแรงบันดาลใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา  โดยการสร้างแรงจูงใจภายใน  การให้ความหมายและท้าทายในเรื่องงานของผู้ใต้บังคับบัญชา  ผู้นำจะกระตุ้นจิตวิญญาณของทีม (Team  spirit) ให้มีชีวิตชีวา  มีการแสดงออกซึ่งความกระตือรือร้น  ผู้นำจะสร้างและสื่อความหวังที่ผู้นำต้องการอย่างชัดเจน  ผู้นำจะช่วยให้ผู้ใต้บังคับบัญชา  พัฒนาความผูกพันของตนต่อเป้าหมายระยะยาว 

3.3  การกระตุ้นทางปัญญา  (Intellectual  Stimulation : IS)  หมายถึง  การที่ผู้นำมีการกระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชา  ให้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน  ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา  มีความต้องการหาแนวทางใหม่ๆมาแก้ปัญหาในหน่วยงาน  เพื่อหาข้อสรุปใหม่ที่ดีกว่าเดิม  เพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่และสร้างสรรค์  โดยผู้นำมีการคิดและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีการตั้งสมมุติฐาน  การเปลี่ยนกรอบ (Reforming)  การมองปัญหา  และการเผชิญกับสถานการณ์เก่าๆ ด้วยวิถีทางใหม่แบบใหม่ๆ  มีการจูงใจและสนับสนุนความคิดริเริ่มใหม่ๆในการพิจารณาปัญหาและการหาคำตอบของปัญหา  มีการให้กำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา  ให้พยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ 

3.4  การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล  (Individualized  Consideration : IC)  ผู้นำจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลในฐานะเป็นผู้นำให้การดูแลเอาใจใส่ผู้ตามเป็นรายบุคคลและทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา  รู้สึกมีคุณค่าและมีความสำคัญ  ผู้นำจะเป็นโค้ช (Coach)  และเป็นที่ปรึกษา (Advisor) ของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคน  ผู้นำจะเอาใจใส่เป็นพิเศษในความต้องการของปัจเจกบุคคล  เพื่อความสัมฤทธิ์ผลและเติบโตของแต่ละคน  ผู้นำจะพัฒนาศักยภาพของผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานให้สูงขึ้น 

 

          4. พฤติกรรมทางจริยธรรม หมายถึง  ระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม ใน 3 ด้าน  คือ

4.1 ความรับผิดชอบ หมายถึง ความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพัน ความพากเพียร และความละเอียดรอบคอบ ยอมรับผลการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามคาดหมาย ทั้งพยายามที่จะปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น

4.2 ความซื่อสัตย์ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมและตรงต่อความเป็นจริงประพฤติปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ทั้งกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น

4.3 ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การควบคุมความประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสมกับจรรยามารยาท ข้อบังคับ ข้อตกลง กฎหมาย และศีลธรรมที่สังคมยอมรับ

วิธีการวิจัย

            การศึกษาวิจัยครั้งนี้  เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)  จากนักศึกษา  ในมหาวิทยาลัยสยาม ประเภทการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey  Research)  เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล

 

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

            ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักศึกษาวิชาจริยธรรมทางธุรกิจกับวิชาธุรกิจและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสยาม  ซึ่งได้เรียนรู้และทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับจริยธรรมและคุณธรรมตลอดทั้งเทอมในภาคเรียนที่ 2 ปีพ.ศ. 2549   จำนวน  1,800 คน  และศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง โดยคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่น้อยที่สุดที่จะยอมรับได้ว่ามากพอที่จะใช้เป็นตัวแทนของประชากรได้ตามสูตรของ  Taro  Yamane[3] ดังนั้น  การวิจัยครั้งนี้  จำแนกตามระดับความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่าที่ระดับความเชื่อมั่นในการเลือกตัวอย่าง 95% โดยยอมให้เกิดความผิดพลาดได้ไม่เกิน 5% 

 

การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง

            การวิจัยครั้งนี้  ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น  (Stratified  Random  Sampling)  โดยแบ่งประชากรออกเป็นชั้นๆ ตามกลุ่มห้องเรียนในแต่ละวิชา  ที่กลุ่มประชากรสังกัดอยู่ 

            จากนั้นใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple  Random  Sampling)  สุ่มเลือกในแต่ละชั้นมาเป็นสัดส่วนกันจนได้จำนวนตามขนาดกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน 328 คน  ตามที่ต้องการ 

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

            การวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามชนิดปลายปิด (Close – ended  Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อคำถามครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษา  โดยสร้างข้อคำถามภายใต้กรอบแนวคิด  และครอบคลุมวัตถุประสงค์การวิจัย  โดยแบ่งข้อคำถามออกเป็น 4 ส่วน  ดังนี้

          ส่วนที่ 1   เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม  ประกอบด้วย  เพศ  อายุ  คณะ  หลักสูตร  เกรดเฉลี่ย รายได้ต่อเดือน  จำนวนทั้งหมด  6  ข้อ

 

         ส่วนที่ 2   เป็นข้อคำถามวัดระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม มีลักษณะเป็นสถานการณ์จำลองเหตุการณ์ต่างๆ  โดยมีคำตอบที่แสดงพฤติกรรมทางจริยธรรมให้เลือก 6 ตัวเลือก แล้วเลือกเพียงคำตอบเดียว จำนวน 24 ข้อ  ซึ่งกำหนดเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความรับผิดชอบ ด้านความซื่อสัตย์และด้านความมีระเบียบวินัย  โดยอาศัยแนวคิดจากทฤษฎีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)  มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ  เท่ากับ  .7851 ซึ่งกำหนดเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความรับผิดชอบ ด้านความซื่อสัตย์และด้านความมีระเบียบวินัย  โดยอาศัยแนวคิดจากทฤษฎีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg)  ซึ่งได้แบ่งพัฒนาการของเหตุผลออกเป็น 3 ระดับ แต่ละระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้น รวมทั้งหมด 6 ขั้น ดังนี้

            ขั้นที่ 1           หลักการลงโทษและเคารพเชื่อฟัง คือ การเคารพเชื่อฟังผู้อื่นเพื่อหลบหลีกการถูกลงโทษ  ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อหลบหลีกการถูกลงโทษ เพราะกลัวความเจ็บปวด  ยอมทำตามผู้ใหญ่เพราะมีอำนาจทางกายเหนือตน

            ขั้นที่ 2 หลักประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ เป็นขั้นแสวงหาผลประโยชน์สิ่งตอบแทนสินค้า รางวัล และสิ่งแลกเปลี่ยน  ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน

            ขั้นที่ 3           หลักการยอมรับของกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กัน  ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการเป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ การช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อทำให้เขาพอใจ  และยกย่องชมเชย ทำให้บุคคลไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง  ชอบคล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น  โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน

            ขั้นที่ 4           หลักระเบียบของสังคม  ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหน้าที่ของสังคม  โดยบุคคลรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของเขาในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น  จึงมีหน้าที่ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สังคมกำหนดให้ หรือคาดหมายไว้

            ขั้นที่ 5           หลักสัญญาสังคม  ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามมาตรฐานของสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยบุคคลเห็นความสำคัญของคนหมู่มากจึงไม่ทำตนให้ขัดต่อสิทธิอันพึงมีได้ของผู้อื่น  สามารถควบคุมบังคับใจตนเองได้  พฤติกรรมที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปตามค่านิยมส่วนตัว  ผสมผสานกับมาตรฐานซึ่งได้รับการตรวจสอบและยอมรับจากสังคม 

            ขั้นที่ 6 หลักการคุณธรรมสากล ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหลักการคุณธรรมสากล โดยคำนึงความถูกต้องยุติธรรมยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ขั้นนี้ถือว่าจริยธรรมที่แต่ละบุคคลยึดถือความถูกต้องและเป็นหลักสากล  นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคม มีความยืดหยุ่นทางจริยธรรมเพื่อจุดมุ่งหมายในบั้นปลาย  อันเป็นอุดมคติเป็นหลักสากลเกี่ยวกับความยุติธรรม  ความเท่าเทียมกันของสิทธิมนุษยชน  การเคารพในคุณค่าของมนุษย์แต่ละคน

 

            แบบสอบถามการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม จำแนกตามคุณลักษณะจริยธรรม 3 ด้าน คือ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และความมีระเบียบวินัย  ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะจริยธรรม  3  ด้าน ดังนี้

คุณลักษณะธรรมด้านความรับผิดชอบ คือ  สถานการณ์ในข้อที่ 1 – 8

  1. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมือง
  2. ความรับผิดชอบต่องานกลุ่ม
  3. ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของส่วนรวม
  4. ความรับผิดชอบต่อการกระทำของกลุ่ม
  5. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
  6. ความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในหน้าที่
  7. ความรับผิดชอบต่องานหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
  8. ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนที่มีต่อผู้อื่น

คุณลักษณะทางจริยธรรม ด้านความซื่อสัตย์ คือ  สถานการณ์ในข้อ 9 – 16

9.   ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

10.  ความซื่อสัตย์รู้จักเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

11.  ความซื่อสัตย์ต่อข้อตกลง

12.  ความซื่อสัตย์ต่อจิตสำนึกของตนเองไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

13.  ความซื่อตรงต่อการปฏิบัติตามคำสั่งของครู

14.  ความซื่อสัตย์ต่องานในหน้าที่

15.  ความซื่อสัตย์ต่อความไว้วางใจที่ผู้อื่นมอบให้

16.  ความซื่อสัตย์และเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองและผู้อื่น

คุณลักษณะทางจริยธรรมด้านความมีระเบียบวินัย คือ  สถานการณ์ในข้อ 17 – 24

17.  การรักษาระเบียบวินัยในห้องประชุม

18.  การเคารพกฎกติกาการแข่งขัน

19.  การมีนิวัยในตนเองรักษามารยาทในห้องเรียน

20.  การปฏิบัติตนเป็นผู้มีระเบียบวินัยในห้องประชุม

21.  การรักษาวินัยในตนเอง ปฏิบัติตามกฎระเบียบความสะอาดของบ้านเมือง

22.  การรักษาระเบียบวินัยในการแต่งกาย

23.  การปฏิบัติตามกฎหรือคำเตือนในที่สาธารณะ

24.  การปฏิบัติเป็นผู้รักษาวินัยในตนเองอย่างเคร่งครัด

 

            ส่วนที่ 3   เป็นข้อคำถามวัดระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยนำมาจากปริญญานิพนธ์เรื่อง ผลการฝึกอบรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้นำนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของผศ.ดร.รัตติกรณ์  จงวิศาล[4] โดยยึดแนวคิดและองค์ประกอบของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบ 4 องค์ประกอบ[5] มาตั้งเป็นข้อคำถาม  ซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1 - 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว  จำนวน  47  ข้อ  มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ  .9240   ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  4  ด้าน

1.  การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ (Idealized  Influence : II) 

2.  การสร้างแรงบันดาลใจ  (Inspiration  Motivation : IM) 

3.  การกระตุ้นทางปัญญา  (Intellectual  Stimulation : IS)

4.  การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล  (Individualized  Consideration : IC)

 

การเก็บรวบรวมข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้

1.  ส่งแบบสอบถามเพื่อการวิจัยให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม  จำนวน  328  ชุด

2. นำแบบสอบถามที่ได้รับกลับคืนมา จำนวน  328  ชุด ทำการตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติต่อไป

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

            ในการวิจัยครั้งนี้  ได้นำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากกลุ่มตัวอย่าง  มาทำการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล แล้วคัดเลือกแบบสอบถามที่สมบูรณ์นำมาเข้ารหัส (Coding)  และบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์  จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

 

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

            1.  ค่าร้อยละ (Percentage) ใช้ในการเปรียบเทียบ เพื่อดูการกระจายของข้อมูลและเพื่อนำเสนอข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรในแต่ละหมวดหมู่ของตัวแปร

            2. ค่าเฉลี่ย (Mean) ใช้ในการวัดค่าแนวโน้มเข้าสู่ศูนย์กลางของข้อมูล เพื่อทราบข้อมูลที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม  ใช้แปลความหมายของระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม   

            3. ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  (Standard  Deviation)  ใช้คู่กับค่าเฉลี่ย  เพื่อแสดงการกระจายของข้อมูล

            4. ค่า T – test  ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่ม

            5. ค่า F – test  ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากร 3 กลุ่มขึ้นไป  โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – way ANOVA) และเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีการของ Scheff’e

            6. ค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์แบบเพียรสัน (Pearson’s Product  Moment  Correlation  Coefficient) ใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวที่เป็นอิสระต่อกัน เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม 

สำหรับค่านัยสำคัญทางสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้  กำหนดไว้ที่ระดับ  .05

 


            [1]รัตติกรณ์ จงวิศาล. "ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership)". วารสารสังคมศาสตร์. (กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2544),  หน้า 31. 

 

                [2] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. รายงานการวิจัยเรื่องภาวะการมีงานทำ และคุณภาพในการทำงานของผู้จบอุดมศึกษา  (กรุงเทพมหานคร: สำนักนายกรัฐมนตรี. 2537), หน้า 3.

 

                [3] Yamane, t.  Statistic; An Introductory Analysis. 3 rd ed., Time Printers Sdn. Bnd. Singapore. 1973. 1130 p.

                [4]รัตติกรณ์  จงวิศาล. ผลการฝึกอบรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้นำนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ปริญญานิพนธ์ (วิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร. 2543. หน้า  ภาคผนวก (แบบสอบถาม)

               [5] Bass, Bernard M.  “Does the Transactional-Transformational Leadership paradigm  Transcend Organizational and National Boundaries.”  American Psychologist.  1997, February.  52 (2) : 130-139.

 

อ่านบทคัดย่องานวิจัยได้ที่นี่ค่ะ

http://researchers.in.th/blog/praepatresearch/1493

 

หมายเลขบันทึก: 385901เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับงานวิจัยดีๆเช่นนี้ค่ะ เพราะปัจจุบันมีแต่คนพูด และเขียนคำว่า จริยธรรม โดยนำไปโยงกับทุกเรื่องที่สื่อไปถึงผู้รับ แต่จริยธรรม ที่ทำ กันจริงๆในสังคมโดยเฉพาะนักการเมือง แทบไม่เห็นเป็นรูปธรรม อาจจะเพราะกำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ กระมัง หากไม่พูด ไม่เขียนก็ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐซิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท