ชีวิตที่พอเพียง : 62 พบสมบัติเดิม


          เมื่อวันที่ ๒๒ มิย. ๔๙ ผมดีใจมากที่พบสมบัติเดิมของตัวเองที่สูญหายไป      กลับมาพบว่ามีผู้เก็บไว้และ สมศ. เอามาใช้เป็นเอกสารประกอบการประชุมปฏิบัติการ ผู้ประเมินภายนอกระดับอุดมศึกษา      สิ่งนั้นคือบทความชุด "มหาวิทยาลัยกับการวิจัย : การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา"    
           เป็นการพบที่ผมดีใจมาก เพราะได้เห็นในสภาพของต้นฉบับพิมพ์ของเดิมจริงๆ     ตัวพิมพ์  คำที่พิมพ์ผิด ยืนยันต้นฉบับจริง     ผมพยายามทบทวนความจำว่าเขียนไว้ตอนไหน ก็นึกไม่ออก     เดาว่าน่าจะเกินสิบปี      ไม่แน่ใจว่าเขียนตอนอยู่ มอ. หรือ สกว.
          แต่พอไปค้นใน Gotoknow ด้วยคำค้น "การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา" ก็ได้คำตอบ     ว่าเขียนในปี ๒๕๓๙ ครบสิบปีพอดี     ที่ได้คำตอบเพราะ ดร. วิบูลย์ เขียนไว้ อ่านได้ที่นี่ http://gotoknow.org/blog/nurqakm/6769     และจากบันทึกนี้ ก็จะตามไปอ่านบทความชุดนี้ใน Gotoknow ได้ทั้งหมด     เห็นพลังของ Gotoknow ไหมครับ   
          ที่เล่ามานี้ เพื่อจะบอกว่าผมเป็นคนที่ความจำเลวมาก และดีมากในเวลาเดียวกัน    เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๔๙ คุยกับลูกสาวที่อเมริกา      ว่าผมไปอเมริกาคร้งสุดท้ายเมื่อ ๙ ปีที่แล้ว ตอนไปงานรับปริญญาพี่สาวเขาที่ฮาร์วาร์ดเหมือนกัน     เขาว่าไม่ใช่หรอก  เมื่อตอนที่เขาทำงานอยู่ที่แคลิฟอร์เนียผมไปเยี่ยมเขาถึงสองครั้ง     และครั้งหลังสุดผมเป็นผู้ขอให้เขาพาไปเที่ยว Lake Tahoe     โดยที่ผมไปประชุมอะไรสักอย่าง      ผมนึกเท่าไรก็นึกไม่ออก จนเดี๋ยวนี้ก็นึกไม่ออก     แต่คนที่ทำงานกับผมเขาจะชมว่าผมจำแม่น     ภรรยาบอกว่าผมเป็นคนที่จำแต่เรื่องงาน    เรื่องอื่นๆ ไม่จำ     เขาน้อยใจจนเลิกน้อยใจ ที่ผมจำเรื่องอะไรๆ เกี่ยวกับเขาไม่ได้      ผมสงสัยว่าผมอาจได้รับพรสวรรค์ในการเลือกจำมาจากไหนสักแห่ง     เป็นพรสวรรค์ที่ดีสำหรับงานแต่ไม่ดีสำหรับส่วนตัว     เพราะผมจำคนและเรื่องราวของคนไม่ค่อยได้     ทำให้สังคมไม่ดี  
        เมื่อวันก่อน คุณแกบบอกว่า บทความชุด "ชีวิตที่พอเพียง" นี้สะดวกมากเวลาจะพิมพ์หนังสืองานศพ      ผมตอบว่า ก็ตั้งใจไว้อย่างนั้นแหละ     ต่อมาอีกสองวัน ศ. ดร. ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ อีเมล์มาบอกว่า ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ ได้เข้ามาอ่านใน Gotoknow และเรียกว่าเป็นอัตชีวประวัติฉบับชีวิตรันทด  และ บวท. อยากเอาไปพิมพ์ขายเพื่อหาเงิน     ผมยังไม่ได้ให้คำตอบเพราะยังเป็นห่วงอยู่ ว่าอัตชีวประวัตินั้น คนเขียนย่อม "ยกหาง" ตนเองในระดับหนึ่งเป็นธรรมดา      ผมเกรงว่าผู้อ่านที่เป็นเด็กจะได้ภาพผิดๆ ไปมากเกินไป  

วิจารณ์ พานิช
๒๓ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 38398เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
   ขอบพระคุณและดีใจด้วยครับ !
" คนเขียนย่อม "ยกหาง" ตนเองในระดับหนึ่งเป็นธรรมดา " ข้อนี้ผมว่าไม่แปลก แต่เท่าที่อ่านมาท่าน ยกแต่พอดีครับ และมี ข้อมูลประกอบควรค่าแก่การยก ถ้ามัวเกรงใจ ถ่อมตัวมากไป ความจริงซีกบวกก็จะถูกซ่อนเร้น  ผมชอบที่ใครจะบอกว่าตัวเองมีดี หรือเก่งอะไร แต่ขอให้บอกได้ด้วยว่า แล้วที่อ่อนด้อยหรือไม่ค่อยดีนั้นมีอะไรบ้าง.
เป็นคนหนึ่งที่จะขอเก็บไว้ให้ลูกหลานอ่านค่ะ อาจารย์อนุญาตให้เขาเอาไปพิมพ์เถิดค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท