สรรหามาเล่า ๒ "บริโภคนิยมในชนบท"


ความรู้คือแสงทองส่องปัญญา

เรามักติดในภาพชีวิตชนบทว่า เป็นชีวิตที่ยากแค้น ขาดแคลน แต่เรียบง่าย ดำรงชีวิตอยู่ใกล้กับธรรมชาติ ไกลจากแสงสีของวัฒนธรรมเมือง แต่นั่นเป็นชีวิตจริงของชนบทในปัจจุบันหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงภาพของอดีตที่ฝั่งใจเราอยู่เท่านั้นเอง! จริงๆ แล้วชนชั้นกลางได้ปรากฏขึ้นมาให้เห็นกันอย่างชัดเจนในภาคชนบทแล้ว คนเหล่านี้ก็มีค่านิยมเหมือนชนชั้นกลางทั่วไป คือถูกดูดซับให้หลงอยู่ในวังวนของลัทธิบริโภคนิยม!

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้มีข่าวเรื่องบริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอดเวอร์ไทซิง (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง 'ผู้บริโภคชาวไทยในชนบท 2003' โอกิลวี่ ซึ่งเป็นบริษัทสำคัญทางธุรกิจโฆษณา บอกว่า ที่จัดให้มีการสำรวจเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะต้องการรู้ว่า ได้มีความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนไทยในชนบท หลังจากผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้เป็นเวลา 5 ปีแล้วอย่างไรบ้าง?

เห็นผลการสำรวจของโอกิลวี่ครั้งนี้แล้ว ต้องสารภาพว่าตื่นตระหนกตกใจพอสมควรทีเดียว! ผลการสำรวจครั้งนี้ปรากฏว่า กลุ่มผู้บริโภคในชนบท ซึ่งอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้มากกว่าเดือนละ 10,000 บาท จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ได้หันมาจับจ่ายใช้สอยซื้อหาอุปกรณ์พื้นฐานแบบทันสมัยในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์เหล่านี้ก็คือเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ของชีวิตสมัยใหม่ เช่น โทรทัศน์ รถยนต์ปิกอัพ มอเตอร์ไซด์ ตู้เย็น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เตาแก๊ส และเครื่องซักผ้า รวมตลอดถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อความบันเทิง เช่น เครื่องเล่นวีดีโอ และวีซีดี และชุดร้องคาราโอเกะอีกด้วย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือประชาชนส่วนใหญ่ในชนบทยังไม่มีโทรศัพท์พื้นฐาน แต่คนในชนบทปัจจุบันจำนวนเกือบร้อยละ 50 มีโทรศัพท์มือถือ!

แสดงว่า คนระดับ 'รากหญ้า' ในชนบท ก็นิยมใช้โทรศัพท์มือถือเหมือนกัน! โทรศัพท์มือถือนอกจากเป็นอุปกรณ์ของการสื่อสารแล้ว ยังเป็นสัญญาณลักษณ์ของความทันสมัยอีกด้วย! เห็นรายงานการสำรวจของโอกิลวี่ครั้งนี้แล้ว จึงเกิดความเข้าใจเรื่องอื้ออึงเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับเสาสัญญาณของบริษัทมือถือบริษัทหนึ่งไปปลูกในที่ของ สปก. ในเขตพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคกลาง! เมื่อมีความต้องการสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น ก็ย่อมต้องมีการตอบสนองเป็นธรรมดา ใช่ไหม? เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ทำเป็นเอะอะโวยวายกันไปได้!

ผลการสำรวจเรื่องนี้ ก็เผยให้เห็นถึง อีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือ ชีวิตที่ทันสมัยของคนชนบทยุคนี้ นอกจากด้านหนึ่งของวิถีดำรงชีวิตเป็นไปตามทางของลัทธิบริโภคนิยมแล้ว ยังมีอีกด้านหนึ่งคือเรื่องหนี้สิน! ผลการสำรวจปรากฏว่า มากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวในชนบทในปัจจุบัน มีปัญหาหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา! แต่ละครัวเรือนในภาคชนบทปัจจุบันมีหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 77,862 บาท แต่การสำรวจของโอกิลวีครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ของหนี้สินเหล่านี้เกิดจากการกู้ยืมเพื่อนำเงินไปลงทุนเพื่อการประกอบอาชีพ

แสดงว่าคนชนบทสมัยนี้มีทรรศนะทันสมัยทีเดียว! เป็นทรรศนะเดียวกับของท่านนายกรัฐมนตรี (ทักษิณ ชินวัฒน์) ที่เคยบอกว่า คนที่ไม่มีหนี้สินคือคนที่ไม่รู้จักทำมาหากิน! เจ้าหนี้รายใหญ่ของคนชนบท คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ 47% ตามด้วยหนี้จากกองทุนหมู่บ้าน 35% และสหกรณ์หมู่บ้าน 23%

รายงานผลการสำรวจของโอกิลวี่ ไม่ปรากฏว่าผู้คนในชนบทเป็นหนี้สินนอกระบบ! ธุรกิจที่เฟื่องฟูในชนบททุกวันนี้ คือ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจขายตรง โครงการประกันชีวิตเอื้ออาทรของรัฐบาลมาช้าไปเสียแล้วกระมัง! เพราะธุรกิจประกันชีวิตของเอกชนได้เดินหน้าเจาะตลาดชนบทมาก่อนแล้ว แต่โครงการประกันชีวิตเอื้ออาทรของรัฐบาล ก็คงมีบทบาทเป็นตัวกระตุ้นธุรกิจประกันชีวิตใจชนบทให้เฟื่องฟูยิ่งขึ้นไปอีก! ส่วนธุรกิจขายตรงนั้นแอม์เวย์ได้รับความนิยมสูงสุด! มีข้อสังเกตว่า ธุรกิจขายตรงมักเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ชนชั้นกลาง ทั้งในเมือง และในชนบท เสพย์ติดและมัวเมาในลัทธิบริโภคนิยม! การสำรวจของโอกิลวี่ครั้งนี้ยังขยายครอบคลุมไปถึงเรื่องพฤติกรรมการบริโภคสื่อของชนชั้นกลางในชนบทอีกด้วย

สื่อโทรทัศน์ได้รับความนิยมสูงสุด มีประชาชนในชนบทเปิดชมทีวีทุกวัน สูงถึง 84% ส่วนใหญ่ขอบดูรายการละครทั้งก่อนภาคข่าวและหลังข่าวภาคค่ำ นี่แสดงว่า ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพียงใดก็ตาม ละครโทรทัศน์ประเภท 'น้ำเน่า' ยังได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มชาวบ้านทั้งในเมืองและในชนบท! การบริโภคสื่อวิทยุกระจายเสียงในชนบทได้เสื่อมถอยลง มีผู้คนซึ่งระบุว่าไม่เคยฟังวิทยุ หรือไม่ค่อยได้ฟัง มีสูงถึง 69% โดยให้เหตุผลว่าเพราะสื่อโทรทัศน์น่าสนใจมากกว่า 

นอกจากนี้การสำรวจครั้งนี้ยังบ่งชี้ความจริงที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่นิยมการอ่าน แต่นิยมการดูและการฟังมากกว่าการอ่าน! ผลการสำรวจปรากฏว่า คนชนบทส่วนใหญ่ไม่อ่านนิตยสารสูงถึง 85% และไม่อ่านหนังสือพิมพ์ถึง 66% ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ส่วนมากไม่ได้ซื้อเอง แต่จะอ่านจากที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน หรืออ่านในร้านกาแฟ! มีเงินซื้อเครื่องเล่นวิดีโอและวีซีดี หรือซื้อชุดร้องคาราโอเกะได้ แต่ไม่ยอมจ่ายสตางค์ซื้อหนังสือพิมพ์!

อุปนิสัยไม่ยอมซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน ไม่ใช่มีแต่คนในชนบทเท่านั้น แม้แต่คนในกรุงเทพฯ เองก็ไม่ชอบจ่ายเงินซื้อหนังสือพิมพ์เหมือนกัน ยืนอ่านตามแผงขายหนังสือพิมพ์ซึ่งเขามักแขวนหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ไว้หน้าร้าน ยืนอ่านพาดหัวแค่นั้นเป็นพอ อ้างว่าเห็นแต่พาดหัวก็รู้เรื่องหมดแล้ว จะไปเสียสตางค์ซื้อหนังสือพิมพ์ไปทำไม!

เพราะเราไม่ชอบอ่านหนังสือ ทั้งไม่ยอมเสียสละเงิน ซื้อหนังสือหรือหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ทำให้คนไทยทั่วไปมีโลกทัศน์จำกัดและล้าหลังในทางปัญญา นี่คือจุดอ่อนและจุดด้อยประการสำคัญของสังคมไทย!

กลับไปเรื่องการสำรวจของโอกิลวี่ เรื่องลักษณะผู้บริโภคในชนบท ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าชนชั้นกลางได้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในภาคชนบทของสังคมไทย ชนชั้นกลางในภาคชนบท ก็เหมือนกับชนชั้นกลางในเมือง คือถูกครอบงำด้วยพลังของทุนนิยม เฉพาะอย่างยิ่งพลังของเศรษฐกิจการตลาด นี่คงเป็นความสำเร็จของนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณและของพรรคไทยรักไทย ซึ่งลงทุนมากมายมหาศาลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในระดับ 'รากหญ้า' ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างทันตาเห็น แต่มีประเด็นน่าคิดตรงที่ว่า เศรษฐกิจการตลาดได้ครอบงำสังคมไทยทั้งภาคเมืองและภาคชนบทจนหมดสิ้นแล้ว ไม่เหลือพื้นที่บนผืนแผ่นดินไทยไว้เลย สำหรับเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเน้นในเรื่องความสันโดษในการบริโภค อย่างนั้นใช่ไหม?

หมายเหตุ ข้อมูลจาก เนชั่นสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์

ด้วยความปรารถนาดีจาก

ชมรมคลังปัญญา

ตู้ ปณ.12 ปณ.บางอ้อ กรุงเทพฯ 10700

คำสำคัญ (Tags): #สรรหามาเล่า
หมายเลขบันทึก: 382330เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2010 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่ให้คำแนะนำ อาจจะจริงอย่างที่แนะนำมาเพราะงานเยอะเวลาพักผ่อนน้อย จะพยายามลองนำไปใช้ดูว่าจะได้ผลหรือไม่ ที่คุณบอกว่าเคยมาอุดรธานีนั้น สกลนครก็อยู่ติดอุดรธานีมีอาณาเขตติดต่อกัน อาหารขึ้นชื่อของคนท่าแร่ สกลนครก็คงจะเป็นเนื้อสุนัข แต่ปัจจุบันคนท่าแร่ไม่ได้กินเนื้อสุนัขแล้วมีแต่ส่งออกขายต่างประเทศหรือต่างจังหวัดเท่านั้น เพราะเนื้อสุนัขราคาแพงกว่าเนื้อวัวอีก จะหากินได้ง่าย ๆ เหมือนก่อนไม่ได้แล้ว

ประเทศพัฒนา สังคมชนบทก็พัฒนาคะ ดิฉันก็เกิดในชนบท ที่ล้อมรอบด้วยต้นไม้ ไม่มีถนนหนทาง มีแต่ทางที่เป็นทางเดิน

ไม่มีไฟฟ้าใช้ ใช้ตะเกียง พอมีถนนเข้ามาก็เริ่มมีไฟฟ้า มีเครื่องใช้ไฟฟ้า มีรถ เกิดการใช้จ่ายฟุ่ยเฟือยก็เกิดหนี้สิน เพราะค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ค่าครองชีพน้อย ประเทศพัฒนา รายจ่ายมาก รายรับน้อยเมื่อเทียบกับรายจ่าย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท