ว่าด้วยเรื่องของทฤษฎี (Theory.....) (ครั้งที่ 5)


Theory.......Theory.......Theory.......

ในวันนี้เรามารู้จักทฤษฎีในด้านต่าง ๆ ดังนี้นะครับ คือ
       1. ความหมายของทฤษฎี 
       2. องค์ประกอบของทฤษฎี
       3. การสร้างทฤษฎี

ความหมายของทฤษฎี

       ทฤษฎี คือ สมมติฐานที่ผ่านการตรวจสอบ กระทั่งสามารถนำมาอธิบายข้อเท็จจริง นิยาม ทฤษฎีบท และสัจพจน์ สามารถนำไปคาดคะเนเหตุการณ์และปรากฏการณ์ทั่ว ๆ ไปได้อย่างถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่ว ๆ ไป

องค์ประกอบของทฤษฎี

       ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีใด ๆ ก็ตาม (ผู้เขียนขอใช้คำนี้) จะมีองค์ประกอบเรียงลำดับจากสูงไปต่ำหรือจากต่ำไปสูงก็ได้ ดังภาพ

       จากภาพ ถ้าอธิบายจากล่างขึ้นบนจะเห็นว่า จุดเริ่มต้นของทฤษฎีก็คือ ข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์ที่ผ่านการสัมผัสรับรู้หรือสังเกตเห็นซึ่งรวบรวมได้ หลังจากนั้นข้อเท็จจริงเหล่านี้จะถูกสร้างหรือกำหนดเป็นมโนทัศน์หรือนิยามขึ้นแทน ซึ่งมโนทัศน์ที่กำหนดขึ้นนี้จะมีลักษณะเป็นนามธรรมกว่าข้อเท็จจริงและมีความหมายเป็นตัวแทนที่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมดนั้น มโนทัศน์หลาย ๆ มโนทัศน์จะได้รับการนำมาเชื่อมโยงกันโดยอาศัยตรรกะ (Logic) ที่สมเหตุสมผลเป็นข้อเสนอหรือทฤษฎีบท และท้ายที่สุดข้อเสนอหรือทฤษีบทนั้นจะได้รับการสรุปเข้าด้วยกันเรียกว่า สัจพจน์ ถ้าอธิบายจากบนลงล่าง ก็หมายความว่า ในทฤษฎีหนึ่ง ๆ จะมีสัจพจน์ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อความที่เป็นจริง หลังจากนั้นก็จะสามารถทำการนิรนัยจากสัจพจน์ออกมาเป็นข้อเสนอหรือทฤษฎีบทเป็นจำนวนมาก และในแต่ละข้อเสนอหรือทฤษฎีบทก็จะประกอบด้วยมโนทัศน์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มทัศน์แต่ละมโนทัศน์จะแทนข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์บางอย่างที่สามารถสังเกตได้โดยตรง

การสร้างทฤษฎี

            การสร้างทฤษฎีมีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกันตามประเภทของทฤษฎีดังนี้ คือ ทฤษฎีเชิงวิตรรก (Rational theory) และทฤษฎีเชิงประจักษ์ (Empirical theory) ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้

            1. ทฤษฎีเชิงวิตรรก (Rational theory) คือ ทฤษฎีที่สร้างขึ้นโดยกำหนดข้อความที่เป็นสัจพจน์ขึ้นมาก่อน ซึ่งถือเป็นข้อความที่เป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ หลังจากนั้นก็ทำการนิรนัยข้อความออกมาจากสัจพจน์ดังกล่าวหลาย ๆ ข้อความ (ก็คือข้อเสนอนั่นเอง) แล้วสร้างข้อสรุปก็จะทำให้ได้เป็นความรู้ความจริง ทั้งนี้จะได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความสมเหตุสมผลในการสร้างข้อสรุปว่าสอดคล้องเป็นไปตามข้อเสนอและสัจพจน์มากน้อยเพียงไร ดังนั้น ทฤษฎีเชิงวิตรรกจะทำการพิสูจน์ความถูกต้องของสัจพจน์โดยอาศัยเหตุผลเป็นหลัก ตัวอย่างของทฤษฎีเชิงวิตรรก ได้แก่ ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์และเรขาคณิต

            2. ทฤษฎีเชิงประจักษ์ (Empirical theory) คือ ทฤษฎีที่สร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นพื้นฐานในการสร้าง ขั้นตอนการสร้างทฤษฎีเชิงประจักษ์จะเป็นดังนี้
            ขั้นที่ 1 กำหนดเรื่องที่จะสร้างทฤษฎี กล่าวคือ การระบุหรือกำหนดเรื่องที่จะสร้างทฤษฎีเพื่อทำการอธิบายและทำนายว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
            ขั้นที่ 2 กำหนดขอบเขตหรือปรากฏการณ์ของเรื่องที่จะสร้างทฤษฎีว่าครอบคลุมในแง่มุมใดบ้าง
            ขั้นที่ 3 กำหนด จำแนก ให้คำนิยาม มโนทัศน์และตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้แทนปรากฏการณ์หรือประเด็นที่ได้จากการสังเกต
            ขั้นที่ 4 จัดระบบและลำดับความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์และตัวแปรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
            ขั้นที่ 5 ใช้เหตุผลเชิงตรรกะสรุปข้อเสนอแนะต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นสัจพจน์ตามเรื่องที่กำหนด
            จะเห็นว่าขั้นตอนการสร้างทฤษฎีเชิงประจักษ์จะเป็นไปตามลำดับโดยการเริ่มต้นจากการสังเกตุปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมไปสู่การสร้างมโนทัศน์ ข้อเสนอ และสัจพจน์ที่มีความเป็นนามธรรมขึ้นเรื่อย ๆ

            เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ไม่ยากอย่างที่คิดใช่มั้ยครับ ในเรื่องของทฤษฎี ในเรื่องต่อไปจะติดตามกันในเรื่อง สมมติฐาน (Hypothesis) ครับ เชื่อว่าไม่น่าจะยากอย่างที่ผู้อ่านเข้าใจกัน

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551) ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ในห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์
ความคิดเห็นของเพื่อนในห้องเรียนที่ช่วยกันอภิปราย

หมายเลขบันทึก: 379431เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2010 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ...เพิ่งจะเข้าใจแจ่มแจ้ง วันนี้นี่เอง

ขอบคุณที่แสวงหาความรู้ดีๆมาฝาก

ขอเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไปนะ..

ถ้ามีอะไรสงสัย สอบถามใน blog ได้เลยนะครับ ยินดีค้นคว้ามาตอบครับ

ใส่ตัวอย่างให้เพื่อน อ๋อ........ด้วยจะได้กุศลนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท