ระเบียบพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์


เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ในส่วนพระสงฆ์ก็มีระเบียบพิธีซึ่งพุทธศาสนิกชนควรเข้าใจด้วย  เริ่มต้นเมื่อพระสงฆ์รับนิมนต์ไปในงานทำบุญแล้ว ถึงวันกำหนด ถ้าเจ้าภาพกำหนดจะมารับ พึงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมก่อนถึงเวลา พอมีคนมารับ ก็ให้ไปได้ทันที ควรไปตามกำหนดให้ถึงที่งานก่อนเวลาพอสมควร อย่าให้ก่อนมากนัก เพราะเกี่ยวด้วยการ เตรียมการของเจ้าภาพอาจยังไม่พร้อมก็ได้ จะเป็นเหตุให้เจ้าภาพ อึดอัดในการที่ยังไม่พร้อม จะรับรอง และอย่าให้กระชั้นเวลาจนเกินไป เพราะจะทำให้เจ้าภาพกระวนกระวาย

 

การไปในงานต้องนุ่มห่มให้เรียบร้อยเป็นสมณสารูป ตามแบบนิยมของวัด ควรมีพัด ไปด้วยทุกรูป และควรใช้พัดงานมงคลไม่ใช่พัดงานศพ พัดงานศพที่ถือเป็นข้อห้ามอย่างจริงจัง นั้นคือ พัดที่มีอักษรปรากฏว่า ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ... ในงานฌาปนกิจศพ... เพราะพัดงานศพใช้สำหรับงานอวมงคลเท่านั้น ถ้าขัดข้อง เพราะเหตุจำเป็นจริง ๆ อย่างใด อย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะนำพัดไปได้ทุกรูป (สำหรับ พระสงฆ์วัดเดียวกันทั้งหมด) ก็ควรมีไปเฉพาะ หัวหน้ารูปเดียว เพราะพัดที่ต้องนำไปนี้ จำต้องใช้ในคราว

 

ก.      ให้ศีล เฉพาะหัวหน้า

ข.      ขัด สัคเค  (ชุมนุมเทวดา) และขัดตำนาน เฉพาะรูปที่นั่งอันดับที่ ๓

ค.      อนุโมทนาท้ายพิธี ต้องใช้ทุกรูป และ

ง.       ถ้ามีการบังสุกุลอัฐิประกอบด้วย ก็ต้องใช้ทุกรูปเช่นกัน

 

 เรื่องการนำพัดไปในงานทำบุญนี้ บางแห่งถือกันว่า ถ้าพระสงฆ์มีพัดไปในงาน ทุกรูป เป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพด้วย

 

 เมื่อไปถึงที่งานแล้ว ได้เวลาเจ้าภาพจะนิมนต์เข้าที่ ขณะขึ้นนั่งบนอาสนะที่เจ้าภาพจัด ปูไว้ ควรพิจารณาเสียก่อน ถ้าเป็นอาสนะผ้าขาวไม่ควรขึ้นเหยียบ หรือทำอาการใด ๆ ให้ฝ่าเท้า ถูกผ้าขาวสกปรกด้วย ควรคุกเข่าบนผ้าขาวเดินเข่าเข้าไปยังที่นั่ง ถ้าไม่ใช่อาสนะผ้าขาว ควรปฏิบัติโดยอาการที่เหมาะสมเรียบร้อยน่าดูเป็นเหมาะที่สุด ให้เข้านั่งกันตามลำดับไว้ ระยะให้พองาม นั่งแบบพับเพียบให้ได้แถวได้แนว ดูเข่าให้เสมอกันและนั่งอย่างผึ่งผาย ไม่ควรนั่งงอหลังหรือเท้าแขน เข้าที่แล้ววางพัดไว้ทางหลังด้านขวามือ

 

 เมื่อเจ้าภาพเริ่มอาราธนาศีล พระเถระผู้เป็นหัวหน้าพึงคลี่กลุ่ม สายสิญจน์แล้วส่งต่อกัน ไปจนถึงรูปสุดท้าย พออาราธนาศีลถึงวาระที่ ๓ ว่า ตติยมฺปิ... ผู้เป็นหัวหน้าพึงตั้งพัดเตรียมให้ศีล การจับพัดให้จับด้วยมือขวาที่ด้ามถัดคอพัดลงมา ๔ - ๕ นิ้ว หรือกะว่าจับตรงส่วนที่สามตอนบน ของด้ามพัด ใช้มือกำด้ามด้วยนิ้วทั้ง ๔ เว้นนิ้วแม่มือ เฉพาะนิ้วแม่มือยกขึ้นแตะด้ามให้ทาบ ตรงขึ้นไปตามด้ามพัดนั้น นำสายสิญจน์ขึ้นพาดไว้บนนิ้วชี้ ตั้งพัดให้ตรงหน้า ปลายด้ามอยู่กึ่งกลาง อย่าให้ห่างตัวหรือชิดตัวมากนัก และอย่าตั้งนอกสายสิญจน์ ดูหน้าพัดให้หันออกข้างนอก ให้พัดตั้ง ตรงได้ฉากเป็นงาม พอจบคำอาราธนาศีลก็ตั้ง นโม ให้ศีลทันที  ต่อด้วยให้ไตรสรณคมน์ (พุทธัง สรณัง  คัจฉามิ ....) จนจบ  เมื่อจบไตรสรณคมน์  โดยหลักศาสนพิธีแต่เดิมไม่ต้องว่า "ติสรณคมนํ นิฏฐิตํ"  เพราะคำนี้ใช้เฉพาะในพิธีสมาทานศีลจริงๆ เช่น  สมาทานอุโบสถศีล  ในการรับศีลเป็นพิธีอย่างในงานทำบุญนี้ไม่ต้องว่า  ให้ศีลต่อไตรสรณคมน์ไปเลยทีเดียว  พอให้ศีลจบก็วางพัด ถ้าไม่ได้นำพัดไปทุกรูป ให้ส่งพัดต่อให้รูปที่ ๓ เตรียมขัด  สคฺเค 

 

พอเจ้าภาพอาราธนาพระปริตรถึงครั้งที่สาม  รูปที่ต้องขัด สคฺเค  เตรียมตั้งพัด แบบเดียว กับที่กล่าวแล้ว พออาราธนาจบก็เริ่มขัดได้ พอขัดจบพระสงฆ์ทุกรูปยกสายสิญจน์ขึ้นประนมมือ พร้อมกัน ใช้ง่ามนิ้วแม่มือทั้งสองรับสายสิญจน์ไว้ในระหว่างประนมมือ แล้วหัวหน้านำว่า นโม และนำสวดมนต์บทต่าง ๆ ไปตามแบบนิยม

 

การเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคล มีกำหนดเป็นหลัก ดังนี้

 

เจ็ดตำนานใช้ในงานมงคลทั่วไป : สิบสองตำนาน ธรรมจักร มหาสมัยใช้ในงานมงคลบางอย่าง สุดแต่เจ้าภาพ ประสงค์ หรือสุดแต่พระสงฆ์เห็นเป็นการสมควร ที่ถือกันมาเป็นธรรมเนียม เช่น ในงานทำบุญอายุใหญ่ สวดธรรมจักรและเจ็ดตำนานย่อ งานมงคลสมรส สวดมหาสมัย และเจ็ดตำนานย่อ

 

ในการเจริญพระพุทธมนต์งานมงคลทุกแบบ มีตั้งภาชนะน้ำมนต์ไว้ด้วยก็เพื่อให้ พระสงฆ์ทำน้ำมนต์ในขณะสวด การทำน้ำมนต์นิยมว่าเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสงฆ์ เจ้าภาพจะจุด เทียนน้ำมนต์ตั้งแต่เริ่มสวดมงคลสูตร พอสวดรตนสูตร ถึงตอน ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ... หัวหน้าสงฆ์พึงใช้มือขวา ปลดเทียนน้ำมนต์ออกจากที่ปัก ถ้าที่น้ำมนต์เป็นครอบ พึงเปิดฝาครอบ แล้วจับเทียน ควบกับสายสิญจน์ เอียงให้หยดลงในน้ำทีละหยด ๆ พร้อมกับสวด พอสวดถึงคำว่า นิพฺ ในคำว่า นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป ก็ให้จุ่มเทียนลงดับในน้ำมนต์ทันที พอถึงคำว่า ปทีโป จึงยกขึ้น แล้ววางหรือติดเทียนไว้ตามเดิม (นี้กล่าวตามธรรมเนียม แต่ก่อน แต่ในปัจจุบัน พอสวดถึง เย สุปฺปยุตฺตา... เตรียมปลดเทียนน้ำมนต์ และเริ่มหยดเรื่อยไปดับตรงคำว่า นิพฺ เช่นเดียวกันก็มี) เป็นอันเสร็จพิธีทำน้ำมนต์ ต่อนั้นจึงสวดมนต์ต่อไปจนจบ

 

อนึ่ง ในงานมงคล เมื่อตั้งน้ำมนต์ในขณะเจริญพระพุทธมนต์แล้ว เสร็จพิธี หรือเสร็จ การเลี้ยงพระในวันฉัน มักมีประเพณีขอให้พระสงฆ์พรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้เจ้าภาพ และบริเวณ สถานที่บ้านเรือนเป็นต้นด้วย ถ้าเจ้าภาพประสงค์ให้มีการพรมน้ำพระพุทธมนต์ต่อท้าย เจ้าภาพ จะต้องเตรียมสิ่งสำหรับพรม คือ หญ้าคา หรือก้าน มะยมมัดเป็นกำไว้ให้พร้อม การใช้หญ้าคา เป็นประเพณีติดมาแต่คติพราหมณ์ ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ว่า เมื่อครั้ง อสูรกับเทวดาร่วมกันกวน เกษียรสมุทรให้เป็นน้ำอมฤตขึ้นสำเร็จ พวกเทวดาหาอุบายกีดกัน ไม่ให้พวกอสูรได้ดื่ม น้ำอำมฤตนั้น จึงเกิดวิวาทถึงรบราฆ่าฟันกันเป็นการใหญ่ ในการรบกันนั้น น้ำอมฤตได้ กระเซ็นตกมาบนหญ้าคา ๒ - ๓ หยด โดยเหตุนี้เองพวกพราหมณ์จึงถือว่าหญ้าคา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสิ่งที่กำจัดให้ตายได้ยาก เลยนำมาใช้ในพิธีการต่าง ๆ หลายอย่าง ติดมา จนทุกวันนี้

 

สำหรับชาวพุทธที่ติดประเพณีพราหมณ์ ก็ถือว่าหญ้าคาเป็นหญ้ามงคล เพราะปรากฏ เป็นพุทธบัลลังก์ที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ร่มโพธิพฤกษ์ในวันตรัสรู้ จึงนิยมใช้หญ้าคาสืบต่อมา

 

         ส่วนที่ใช้ก้านมะยมอีกอย่างหนึ่ง เห็นจะเป็นความนิยมเกิดขึ้นในภายหลัง และอาจจะ นิยมเฉพาะในประเทศไทย อย่างเดียวกับที่ชาวจีนนิยมใช้ก้านทับทิมพรมน้ำมนต์ เรื่องใช้ก้าน มะยมในหมู่ชาวไทยนี้ ได้ทราบอธิบายของเกจิอาจารย์มาว่า ท่านถือว่า "ไม้มะยม" มีชื่อพ้องกัน กับ "ยมทัณฑ์" คือ ไม้อาญาสิทธิ์ของพญายม ผู้เป็นเจ้าของภูตผีปีศาจ ไม้ยมทัณฑ์นั้น สามารถปราบหรือกำจัดภูตผีปีศาจได้ทุกทิศทุกทาง ชาวไทยเราถือเคล็ดที่ชื่อพ้องกันนี้นำมา ใช้สำหรับพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อขับไล่ เสนียดจัญไร และเพื่อให้มีความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ในการใช้ก้านมะยมนี้ นิยมเพิ่มเติมอีกว่า ต้องใช้ ๗ ก้านมัดรวมกัน โดยถือว่าได้จำนวน เท่ากันกับหัวข้อธรรม ในโพชฌงคสูตร ซึ่งเป็นธรรมโอสถวิเศษ และเท่าจำนวนพระปริตร ๗ ตำนาน ที่พระสงฆ์สวดในงานมงคลนั้นด้วย แต่จะอย่างไรก็ตาม เรื่องใช้ก้านมะยมพรมแทน หญ้าคาที่นิยมมาเดิม เห็นจะเป็นเพราะในถิ่นที่เจริญแล้ว เช่น ในเมือง เป็นต้น หาหญ้าคาได้ยาก เพราะไม่มีป่า แต่ต้นมะยมมีอยู่ตามบ้านในเมืองไทยนี้ทั่วไป จึงดัดแปลงมาเพื่อใช้สิ่งที่หาได้ง่าย เป็นประมาณนั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 379305เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท