Rethink:: การทำงานกับเสียงวิจารณ์


ลมพัดผ่านแมกไม้แห่งใด ย่อมเกิดเสียงใบไม้ต้องลมแห่งนั้น ดังนั้น การทำงานใดๆ ไม่ว่าเล็กใหญ่ กว้างแคบ ตื้นลึกเพียงใด ย่อมเกิดเสียงวิจารณ์จากคนรอบข้าง

ตั้งแต่เกิดเราๆท่านๆย่อมต้องเคยได้รับการวิจารณ์จากคนรอบข้าง
จริงหรือไม่ก็ลองหลับตาแล้วนึกดู

วัยเด็ก (สมัยประถม)

พ่อแม่ : "ทำไมเกรดเฉลี่ยลูกไม่ดีเลย สู้ลูกเพื่อนแม่ก็ไม่ได้....Blah Blah..."

วัยรุ่น (สมัยมัธยม)

เพื่อน : "เราว่านายอ่ะลูกแหง่ว่ะ แน่จริงโดดเรียนกะเราไปดูดบุหรี่เด่ะ...."

วัยรุ่นตอนปลาย (สมัยมหาวิทยาลัย)

อาจารย์ที่ปรึกษา : "อะไร !!! เธอติด F กับ Dog เป็นหางว่าวแบบนี้เหรอ ยังจะมาบอกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว !!!  "

วัยทำงาน

เจ้านาย : "ผลการประเมินพบว่าคุณขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน..."

วัยมีคู่รัก

พ่อแม่แฟน : "น้ำหน้าอย่างนี้ จะมาดูแลลูกชั้นไหวเหรอ"

วัยมีครอบครัว

ภรรยา : "ถ้าฉันรู้ว่าต้องมากินเกลือกับคุณ ฉันแต่งกับเสี่ยหัวล้านนั่นดีกว่า"

วัยเกษียน

ตัวเอง : "นี่ถ้าย้อนเวลาไปได้ ฉันจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเลย"

วันสุดท้ายของชีวิต

หญิงใหญ่ : "ยังไงเจ้าคุณพ่อต้องยกสมบัติให้หญิงใหญ่ก่อนตายนะเจ้าคะ...."

ผมล้อเล่นนะครับ แต่จริงไม่จริงก็ลองนึกดู เรื่องพวกนี้อาจเกิดขึ้นกับเราเองหรือคนข้างๆด้วยกันทั้งนั้น

การวิจารณ์เป็นคำสุภาพที่ผมขอนำมาใช้ ที่รวมถึง

  • การนินทา
  • การเหน็บแนม
  • การบ่น
  • การด่า
  • การตีวัวกระทบคราด
  • หรืออื่นๆ ที่คุณฟังแล้วเหมือนถูกไฟฟ้ากระแสต่ำช้อตบริเวณหัวใจ

 

การวิจารณ์ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นทั้งคุณและโทษในตัวของมัน
คนเรามักชอบฟังคำสรรเสริญ และ เกลียดชังการถูกวิจารณ์

ท่านเองย่อมทราบดีแก่ใจว่า การสรรเสริญ และการวิจารณ์ เป็นเหมือนเหรียญที่อยู่กันคนละด้าน
หากท่านปรารถนา การยอมรับจากผู้คนรอบข้าง การสรรเสริญถึงความดี ความเก่ง ความมีหน้ามีตา ความมั่งมีของท่าน
นั่นก็ย่อมเปิดโอกาสให้ถูกวิจารณ์ด้วยเช่นกัน

 

คนเรามีความสามารถการยอมรับกับการวิจารณ์ได้แตกต่างกัน
คนที่มีความมั่นใจในตัวเองมาก Ego สูง หัวแข็ง เก่งหรือฉลาดเหนือคนทั่วไป 
ย่อมรับคำวิจารณ์ได้ยาก
ส่วนคนที่มีความยืดหยุ่นในตัวเอง มีวิถีอย่างเรียบง่าย อาจเรียนไม่เก่งนัก อาจเป็นคนธรรมดาทั่วๆไป ย่อมอาจรับการวิจารณ์ได้มากกว่า

 

แต่มันจะดีกว่าหรือไม่หากคุณเป็นทั้งคนที่มั่นใจในตัวเอง และกล้าหาญพอจะรับการวิจารณ์

 

เราท่านทั้งหลายนับวันก็ต้องโตขึ้น ใช่หรือไม่
ย่อมต้องแก่ขึ้น และควรจะเก่งขึ้นด้วย ผมขอใช้คำว่าเติบโตแทนความหมายเหล่านี้
เพราะไม่เพียงทางกายของเราที่เติบโต ทางใจของเราเองก็ต้องเติบโตไปด้วย

และเราไม่อาจเติบโตขึ้นได้เพราะการสรรเสริญเยินยอเพียงอย่างเดียว
การถูกวิจารณ์ก็เป็นทางหนึ่งที่เราเติบโตได้เช่นกัน

 

คำวิจารณ์อาจมาได้จากทั้งคนที่รักท่าน และเกลียดท่าน
แต่ไม่ว่าจะมาจากทางใด ย่อมนำมาแปลงให้ประโยชน์ได้โดยง่าย
เพียงท่านเปิดใจยอมรับ และพิจารณา ....

 

ทำไมเราไม่กล้ารับคำวิจารณ์กัน

การเลี้ยงดูจากครอบครัว

การเลี้ยงดูของผู้ปกครองรูปแบบหนึ่ง ย่อมเป็นนิสัยพื้นฐานของผู้ถูกเลี้ยงมา เช่น
อยู่ในบ้าน เป็นลูกที่พ่อแม่พี่น้องตำหนิอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่อาจมีความมั่นใจได้เมื่ออยู่กับครอบครัว (เลยต้องกร่างนอกบ้าน)

ละอาย

หากการวิจารณ์เป็นการฉีกหน้าอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ถูกวิจารณ์เสียเกียรติ ยิ่งต่อหน้าคนหมู่มาก ย่อมยอมรับไม่ได้ หรือ

อ่อนแอ

อ่อนแอเกินกว่าจะยอมรับความจริงได้ ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้ให้ท่านไปออกกำลังกายที่ไหนนะครับ
อ่อนแอทางจิตใจ นี่คือความอ่อนแอที่ยากจะทำให้แข็งแรงได้โดยให้คนอื่นช่วยได้

หากท่านไม่กล้ายอมรับการวิจารณ์ ย่อมพลาดโอกาสงามในการพัฒนาจิตใจ และกิจการงานของท่านอย่างน่าเสียดาย

เป็นกลไกทางประสาทในการปกป้องตัวเอง

หากพูดให้ง่ายคือสัญชาตญานนั่นเอง เราทุกคนก็เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งที่สมองใช้การได้ดีกว่าสัตว์อื่นๆ
ไม่แปลก ไม่ผิด ที่เราจะปกป้องตัวเรา ความคิดเรา งานของเรา คนรักของเรา...
เพียงแต่ท่านจะรู้สึกแย่แค่ไหน เมื่อการปกป้องตัวเองตามสัญชาติญานของท่าน
ทำร้ายคนที่หวังดีกับท่าน จึงเตือนสติท่านด้วยการวิจารณ์

 

หากท่านได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ ก็จงทำอย่างมนุษย์ที่ห่างจากสัญชาติญานแบบสัตว์ป่า

 

ดื้อรั้น มั่นใจในตัวเองสูง

เป็นนิสัย ส่วนตัวอย่างนึง พวกกิเลศชอบครับแบบนี้ โลภ โกรธ หลงมาคอยเป่าหู
พาท่านลงปากเหวไปโดยไม่รู้ตัว

เป็นคนเก่ง (ที่หลงตัวเอง)

คนเก่งที่เห็นกันโดยทั่วไป มักมีทิฐิ มองว่าคนอื่นด้อยปัญญากว่าตนเอง
จึงพาลคิดไปว่าการวิจารณ์จากคนที่ด้อยกว่า เป็นคำพูดหลักลอยที่เชื่อไม่ได้

ไม่เป็นดังคำเค้าว่า

การวิจารณ์โดยมากเป็นเรื่องบอกต่อๆกันมา
เกมที่ท่านแสดงท่าทางให้เพื่อน 5 คนดูแล้วให้คนสุดท้ายทายว่าท่าบ้าๆที่เพื่อนทำกันเป็นทอดๆนั้นคืออะไร ย่อมแสดงถึงความเพี้ยนในการสื่อสารกันต่อๆกันมา
หากท่านได้รับการวิจารณ์ ก็พึ่งแบ่งใจไว้บ้างว่ามันมีสิ่งที่จริงและไม่จริงผสมกันอยู่

ข้อดีของการรับฟังคำวิจารณ์

มีสติ มีความอดทน

เพราะคนที่ฟังคำวิจารณ์มักสติแตก ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องราวอย่างมีเหตมีผล

ฝึกตนให้เป็นคนใจกว้าง

คนกล้ารับฟังความคิดเห็น การวิจารณ์ย่อมมีใจเปิดรับคนอื่น สิ่งอื่นๆ นอกจากได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์แล้ว ยังได้เพื่อนที่ดี ที่กล้าบอกข้อเสียของท่านด้วย
คนเรารักกันจริง ก็ควรติเพื่อก่อ
แต่บางคนห่วงตัวเองมากกว่า ไม่อยากให้เพื่อนโกรธตัวเอง จึงปล่อยให้เพื่อนเดินทางผิดไปเรื่อยๆ

ท่านคิดว่าเพื่อนที่ดี เค้าทำกันอย่างไรก็คิดดู

มีเพื่อนฝูงมากขึ้น

ผมเขียนไว้ข้างบนน่ะ...

 

เติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไป

เชื่อว่าท่านต้องพบกับเพื่อนใหม่บ้าง ตามสถานที่ต่างๆ
งานใหม่ที่ท่านเข้าไปทำ หรือเรื่องใหม่ๆที่ได้พบทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
รวมถึงการเปลี่ยนเจ้านายใหม่ด้วย
ท่านจะสามารถปรับปรุงตัวเองใหม่ ให้เข้ากับสภาพสังคมรอบตัวท่าน

มองชีวิตรอบด้านขึ้น

เมื่อท่านเปิดรับสิ่งต่างๆในชีวิตมากขึ้น ท่านจะคลายความติดยึดในกะลา (สิ่งเดิมที่ผิดๆ)
ให้ออกสู่โลกภายนอกที่มีอะไรอีกมาก ให้เราเข้าไปเผชิญ ได้เรียนรู้ ได้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

การจัดการคำวิจารณ์

บทสุดท้ายแล้วครับ นั่งโม้มาตั้งนาน
ผมเชื่อว่าง่ายมาก เหมือนท่านขับรถนั่นแหละครับ
ก่อนจะชนเข้ากับอะไรสักอย่าง
เราต้องเหยีบเบรคก่อน แล้วคิดพิจารณาว่าเอาไงต่อ
แล้วเลี้ยวไปเส้นทางที่ปลอดภัยกว่า และไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ไม่ต้องอธิบาย หรือแก้ตัว

ภาษิตฝรั่งบทหนึ่งของใครไม่ทราบจำไม่ได้แล้ว บอกว่า

ท่านไม่ต้องอธิบายเหตุผลให้กับสหายของท่าน เพราะเขาเข้าใจในท่าน
และไม่ต้องอธิบายเหตุผลให้กับศัตรูของท่าน เพราะเขาอคติกับท่าน

สรุปคือ ไม่ถาม ก็ไม่ตอบ แต่หากถึงเวลาที่ควรตอบก็ต้องตอบนะคับ
ขอเพียงเปิดใจให้เรื่องวิจารณ์สักครึ่งหนึ่งก็ยังดีครับ
ดีกว่าปิดใจเสียหมด แล้วจะไม่ได้อะไรสักอย่างเลย

เล่นของบ้าง เพื่อความอุ่นใจ

ผมมีบทสวดอยู่บทหนึ่ง ใช้การได้ดีครับนั่นคือ

ดี จริง ตรง ควร

อธิบายให้ฟังนะครับ ประเดี๋ยวเอาไปสวดแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมาจะพาลมาว่าหลอกลวงท่านอีก

ดี หมายถึง

ให้พิจารณาไตร่ตรองว่า เรื่องนี้ประเด็นนี้ มันเป็นผลดีหรือไม่กับเรา
และสามารถนำประเด็นเหล่านี้มาสร้างเป็นสิ่งดีให้กับเราได้หรือไม่
หรือการวิจารณ์นี้เป็นผลดีหรือไม่ถ้าเราปฏิบัติตาม
หรือเราเอาไปประยุกตร์ใช้ในกิจของเราได้หรือไม่

 

จริง หมายถึง

ให้พิจารณาไตร่ตรองว่า เรื่องนี้ประเด็นนี้ มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่
หากเป็นเรื่องจริง เราย่อมต้องยอมรับก่อน แล้วให้อภัยตัวเอง และต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อพัฒนาจิตใจตัวเองตามไปด้วย

หากไม่จริง หรือจริงน้อยหน่อย ท่านก็นึกเสียเถิดว่าฟังนิยายน้ำเน่าจากปากคนก็แล้วกัน
เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่จริงย่อมไม่ต้องหนักหนักใจ ร้อนรนไปกับเรื่องโกหกนั้น

 

ตรง หมายถึง

ให้พิจารณาไตร่ตรองว่า เรื่องนี้ประเด็นนี้ ควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ซึ่งรวมถึงควรที่เราจะไปสืบสวนกับต้นเรื่องหรือไม่
การดำเนินการนี้ เหมือนพลิกสิ่งที่คว่ำให้หงาย ทำมืดมดให้สว่างชัดเจน
ทำให้ไม่รู้ เป็นรู้ชัดขึ้นไปอีก เช่นเรื่องบางเรื่องอาจร้ายแรงสำหรับท่าน
ท่านอาจจำเป็นต้องเข้าไปสอบถาม เพื่อปรับความเข้าใจกับอีกฝ่ายหนึ่ง
จึงจะไม่เกิดอาการคลุมเคลือ แยกไม่ออก บอกไม่ได้ว่าใครมิตร ใครศัตรู

 

ควร หมายถึง 

ให้พิจารณาไตร่ตรองว่า เรื่องนี้ประเด็นนี้ มันเป็นเรื่องควรหรือไม่ที่จะติดสาวราวเรื่องกันต่อไป เราจะได้อะไร เสียอะไร เพื่อนของเราจะได้ผลกระทบหรือไม่อย่างไร ที่ทำงานของเรา รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องต่าง จะได้เสียอะไรจากการสืบสาวเรื่องนี้
หากพิจารณาแล้วทราบว่าป่วยการจะเอาเรื่อง ก็ปล่อยมันไปเถิด

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการทำงานครับ

หมายเลขบันทึก: 378589เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2010 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท