ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง


ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

          สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้ตรวจพิจารณาหลักการร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ประกอบกับได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการตรากฎหมาย รวมทั้งได้รับฟังคำชี้แจงของผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงบประมาณ และ สำนักงาน ก.พ.ร.) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และผู้แทนคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ แล้วเห็นว่า

  1. พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งฯ ได้ตราขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 2538 เพื่อรองรับการได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการแต่ละประเภท ต่อมาได้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ และองค์กรอื่นขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมถึงองค์กรตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ในการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวได้กำหนดให้เป็นหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระ สามารถกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรขององค์กรได้เอง โดยไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งฯ และการกำกับ ดูแลของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ ทำให้เกิดปัญหาในภาพรวมของระบบค่าตอบแทนของบุคลากรภาครัฐ เกิดความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้แล้วจะเห็นได้ว่า แม้จะได้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับในปัจจุบันข้าราชการแต่ละประเภทได้นำบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งไปกำหนดไว้ท้ายกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการนั้น ๆ เกือบทุกประเภทแล้ว ทำให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติในเรื่องนี้มีเพียงกำหนดกรอบอัตราขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าไม่ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติในปัจจุบันยังคงมีหน้าที่ในการเสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และประโยชน์เกื้อกูลอื่นแก่คณะรัฐมนตรีได้เช่นกัน จึงอาจไม่มีความจำเป็นเพียงพอที่จะแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินี้แต่อย่างใด และเห็นสมควรเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาความจำเป็น และทบทวนหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อีกครั้งหนึ่ง
  2. ปัจจุบันการกำหนดค่าตอบแทนของบุคลากรภาครัฐมีหลายระบบมีระบบที่กำหนดเองและระบบที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนด ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน สมควรที่จะต้องได้รับการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้การกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐทุกประเภทที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินได้รับค่าตอบแทนตามความเหมาะสม อย่างมีเอกภาพ ประสิทธิภาพตามแบบสากล และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ค่าตอบแทนของคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ปฏิบัติงานในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดตั้งตามกฎหมาย ซึ่งอาจต้องปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ หรืออาจต้องจัดให้มีองค์กรกลางให้ทำหน้าที่กำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐทุกประเภทที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของฝ่ายบริหารทำหน้าที่วิเคราะห์และกำหนดอัตราค่าตอบแทนทั้งระบบให้เหมาะสมกับการดำรงชีพ สถานภาพของตำแหน่ง อีกทั้งต้องคำนึงถึงเรื่องการสรรหา ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่ระบบและสามารถรักษาให้อยู่ในระบบต่อไปได้ โดยจัดทำรายงานผลการพิจารณาอัตราค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐทั้งระบบเสนอต่อรัฐสภาพิจารณา ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้ดำเนินการริเริ่มศึกษาแนวทางการกำหนดค่าตอบแทน บุคลากรภาครัฐของต่างประเทศไว้บ้างแล้ว จึงจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ และเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สมควรที่จะได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำร่างกฎหมายในเรื่องนี้ตามแนวทางที่ได้ศึกษาวิจัยไว้แล้ว เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้กับระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสมต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #บล็อค
หมายเลขบันทึก: 377725เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2010 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท