การสานต่อเจตนารมณ์ของท่าน ดร.อัมเบดการ์


(ven.Sangharakhita)

            การประกาศยกเลิกการนับถือศาสนาฮินดูและเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ของชาวอินเดียจำนวนประมาณ ๕ แสนคน  โดยการนำของ ดร. อัมเบดการ์  ในวันที่ ๑๔ เดือนตุลาคม ปี ๒๔๙๙ ณ เมืองนาคปูร์  รัฐมหาราษฏร์  ถือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียโดยชาวอินเดียเอง  ที่สำคัญอย่างยิ่งและมีผลต่อสังคมอินเดียอย่างกว้างขวางที่สุด  แต่ชาวพุทธใหม่กลุ่มนี้โดยส่วนมาก  ยังขาดความรู้ความเข้าใจหลักพุทธธรรม  เพราะไม่ได้ศึกษาพุทธธรรมอย่างถูกต้องเพียงพอก่อนการประกาศเปลี่ยนศาสนา  และ  เมื่อประกาศเปลี่ยนศาสนาได้เพียง ๕๓ วัน  ดร. อัมเบดการ์  ได้ถึงแก่กรรมลง  ในวันที่ ๖ เดือนธันวาคม  ปี ๒๔๙๙  จึงทำให้ชาวพุทธใหม่กลุ่มนี้ขาดผู้นำและทิศทางในการศึกษาพุทธธรรมอย่างถูกต้องเพียงพอ

            อาจารย์ธรรมจารี ชาวอังกฤษ ชื่อ สังฆรักษิต ผู้ได้บวชศึกษาและเผยแผ่พุทธธรรมอยู่ในอินเดียตั้งแต่ปี ๒๔๙๒  และได้ร่วมในพิธีประกาศเปลี่ยนศาสนาครั้งนั้นด้วย  ได้เห็นสภาพปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงได้ช่วยเหลือชาวพุทธใหม่กลุ่มนี้โดยการแนะนำแก่นพุทธธรรมให้ทราบ และเป็นผู้นำในการประยุกต์หลักพุทธธรรมมาใช้ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างปี ๒๔๙๙ – ๒๕๐๗   ต่อมาในปี ๒๕๑๐ ธรรมจารีสังฆรักษิต  ได้ตั้งองค์กร Friends of the Western Buddhist Order (FWBO) ขึ้น   เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นการปฏิบัติตามหลักธรรมมากกว่าการประกอบพิธีกรรม  หลังจากนั้น ธรรมจารีสังฆรักษิต ได้ส่งธรรมจารี  ชาวอังกฤษ  ชื่อ  โลกมิตรา  มายังประเทศอินเดีย  เพื่อดำเนินการให้การแนะนำพุทธธรรมและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาร่วมกับชาวพุทธใหม่กลุ่มนี้    และ  เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ   ธรรมจารีโลกมิตรา  จึงได้ตั้งองค์กร  Trailokya Bauddha Mahasangha Sahayaka Gana (TBMSG) ขึ้น ในรัฐมหาราษฏร์ เมื่อปี ๒๕๓๑

            ภายใต้ TBMSG มีคณะทำงานหลายกลุ่ม หนึ่งในกลุ่มเหล่านั้นคือ กลุ่มธรรมกรานติ (Dhammakranti หรือ Dhamma Revolution) ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๔๔ โดยมีวัตถุประสงค์ ๔ ประการ คือ   

       ๑.เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขาคือ  ศีล  สมาธิ และปัญญา  ในชีวิตประจำวัน  

      ๒.เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งวางแผนในการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอภายในสมาชิกของกลุ่ม  

      ๓.เพื่อเผยแผ่พุทธธรรม โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม และ แนะนำหลักพุทธธรรมให้แก่ผู้อื่น   และ    

    ๔.เพื่อเจริญกรุณาพรหมวิหาร โดยให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบทุกข์ภัย และ เด็กยากไร้ให้มีโอกาสได้รับการศึกษา เป็นต้น  

     การดำเนินงานของกลุ่มธรรมกรานติ มีลักษณะเป็นแบบเครือข่ายเชื่อมโยงกับชาวพุทธนานาชาติทั่วโลกผ่านทาง FWBO โดยคำขวัญในการทำงานของกลุ่มคือ เปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม โดยการศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่พุทธธรรม   ปัจจุบันกลุ่มธรรมกรานติ  มีสมาชิกในอินเดียจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งเงื่อนไขในการเข้ากลุ่มคือ การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มข้างต้น   พร้อมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษที่กลุ่มจัดขึ้น เช่น การเข้าค่ายปฏิบัติธรรม   การธรรมรณรงค์   และ ธรรมยาตรา   เป็นต้น

             

หลักการและเหตุผล

            มนุษย์มีอิสรภาพในการเลือกดำเนินชีวิต และไม่ว่าจะเลือกการดำเนินชีวิตอย่างไรก็ตาม  มนุษย์ดำรงอยู่ในฐานะ ๒ ประการ คือ

ในฐานะสิ่งมีชีวิตอันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและในฐานะบุคคลผู้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคม  ในฐานะสิ่งมีชีวิตนุษย์ประกอบด้วยกายและใจที่จะต้องดูแลและสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ปัจเจกบุคคลกำหนดและเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือความพ้นทุกข์ได้ และ ในฐานะบุคคล  มนุษย์เป็นผู้ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมและเป็นผู้มีส่วนกำหนดลักษณะตลอดจนเป็นผู้รับผลที่เกิดจากลักษณะของสังคมนั้น และยังสามารถพัฒนาให้สังคมมีสันติภาพที่ประกอบด้วยความเสมอภาค เสรีภาพ และ ภราดรภาพ เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาชีวิตของมนุษย์แต่ละคนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสังคมได้อย่างสันติสุข

            มนุษย์กับธรรมชาติและสังคม จึงเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องและมีผลต่อกันและกัน มนุษย์ดีย่อมสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา ในขณะเดียวกันสังคมที่ดีย่อมเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้ดีได้เช่นกัน รากฐานของสันติภาพของสังคมจึงได้แก่คุณภาพของมนุษย์เอง  ซึ่งคุณภาพที่จะนำไปสู่สันติภาพของสังคมมีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ ปัญญาและเมตตา โดยปัญญาจะทำให้มนุษย์รู้และเข้าใจธรรมชาติและสังคมตามเป็นจริงและสามารถอธิบายให้ผู้อื่นมีความรู้และเข้าใจ  พร้อมทั้งนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงได้   ในขณะที่เมตตาจะทำให้มนุษย์มีความปรารถนาดีต่อกันและใช้ความรู้ความเข้าใจที่มีนั้นสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อกัน ซึ่งความดีที่มีองค์ประกอบสองประการนี้  จะเป็นเครื่องประสานคนที่มีระดับความรู้ ความสามารถ โอกาส และทรัพย์ที่ต่างกัน ให้มีความรู้สึกและปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคมคือความสุขและสันติภาพได้เช่นเดียวกัน

            หลักในการพัฒนามนุษย์นี้พระพุทธเจ้า ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ได้ทรงค้นพบและสั่งสอนไว้เป็นเวลาผ่านมามากกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว แต่ยังคงใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นตลอดประวัติศาสตร์แห่งการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา พุทธธรรมจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชีวิตและสังคมของมนุษย์ โดยมนุษย์ และ เพื่อมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงได้ด้วยปัญญาของมนุษย์เอง ในกระบวนการพัฒนานั้นสิ่งแรกที่มนุษย์ต้องการคือกัลยาณมิตรที่สามารถแนะด้วยคำพูดและนำด้วยการกระทำตามหลักพุทธธรรมได้  ดังนั้นชาวพุทธที่ปรารถนาสันติสุขแก่มนุษยชาติ จึงควรพัฒนาปัญญาของตนให้เข้าถึงพุทธธรรมและพึงมีเมตตาแนะนำผู้อื่นให้มีโอกาสรับรู้ด้วย ส่วนผู้ฟังจะรับไปปฏิบัติหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของเขาเอง

            โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศอินเดียซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนานั้น ประชาชนโดยส่วนมากไม่รู้หลักพุทธธรรมด้วยสาเหตุหลายประการ  หนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นคือ การขาดแคลนผู้มีความรู้พุทธธรรมและความสามารถในการแนะนำ ในขณะที่ผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนหนึ่งที่ต้องการทำการแนะนำพุทธธรรมแบบเต็มเวลานั้น ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการดำรงชีพและในการดำเนินงาน จึงทำให้การเผยแผ่พุทธธรรมไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  ชาวพุทธนานาชาติได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้และได้ให้การสนับสนุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์ แต่ยังไม่เพียงพอ ต่อการเผยแผ่พุทธธรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นต้องอาศัยความเสียสละจากผู้มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ต่อไป และ เพราะเหตุที่ประเทศไทยได้รับพระพุทธศาสนามาจากประเทศอินเดียและยังมีการรักษาคำสอนแบบดั้งเดิมไว้ได้  จึงควรที่ชาวพุทธไทยจะได้ตอบแทนคุณในฐานะกัลยาณมิตรต่อประเทศอินเดียโดยการสนับสนุนและเสริมสร้างให้มีการเผยแผ่พุทธธรรมบริสุทธิ์ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบและพิธีกรรม  กลับคืนสู่มาตุภูมิแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อให้ชาวอินเดียได้มีโอกาสทราบและเลือกศึกษาปฏิบัติ

 

 

หมายเลขบันทึก: 377363เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2010 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณบรรพตครับ ผมเคยอ่านประวัติ ดร.อัมเบคก้ามานานกว่า 10 ปีแล้ว น่าสนใจคือท่านเป็นวรรณะต่ำสุด แต่ต่อสู้จนก้าวสู่ตำแหน่งถึงประธานรัฐสภาอินเดียได้ น่านับถือ ขอยืนยันและชักชวนท่านที่สนใจศึกษาประวัติชีวิตท่านให้มาก

ขอบพระคุณมากครับ ท่านอาจารย์ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น

ในความคิดของผม สังคมไทยเราตอนนี้ขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือการเรียนรู้จากบุคคลตัวอย่าง หรือบุคคลต้นแบบ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสังคมอย่างแท้จริง เยาวชนไทยก็ได้แต่เลียนแบบดารานักร้องและคนมีชื่อเสียง ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ขาดอุดมการณ์

ท่าน ดร.อัมเบดการ์ เป็นรัตนบุรุษของอินเดีย ท่านก้าวจากจุดที่ต่ำสุดสู่จุดที่สูงสุด จากเด็กวรรณะจัณฑาล เรียนจบปริญญาเอกจากทั้งอเมริกาและอังกฤษ เป็นผู้มีส่วนในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ เป็นรัฐมนตรียุติธรรมผู้ร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย และที่สำคัญที่สุดเป็นผู้นำในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย จากความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงของท่าน ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์จะประเสริฐได้ด้วยการพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่โดยชาติกำเนิดหรือวงศ์ตระกูล นี้เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

มีเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับชาวพุทธในอินเดีย คือ เวลาพวกเขาสวดบทไตรสรณคมณ์ เขาจะสวดว่า พุทธัม สรณัม คัจฉามิ, ธัมมัม สรณัม คัจฉามิ, สังฆัม สรณัม คัจฉามิ แล้วต่อด้วย ภิมพัม สรณัม คัจฉามิ คำว่า "ภิม" เป็นชื่อเดิมของท่าน ดร.อัมเบดการ์ ท่านเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง

ครับ บล๊อกนี้มีคุณค่ามากๆ อยากให้ทุกคนเจอบล๊อกแบบนี้ง่ายๆเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่อยากก้าวหน้าด้วยการศึกษาแต่กำลังท้อแท้กับอุปสัคต่างๆ

กราบขอบพระคุณ พระอาจารย์ที่ให้กำลังใจ ผมจะพยายามเขียนและรวบรวมเรียบเรียงบทความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อพระพุทธสาสนาและสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นจิตสำนึกของชาวพุทธและเยาวชนไทย เท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งผมถือว่าเป็นหน้าที่และเป็นการทดแทนพระคุณของพระพุทธศาสนา

และผมขอมอบความดีจากบทความนี้ให้กับเพื่อนของผมท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ช่วยจุดประกายความคิดในการทำงานเพื่อสังคมให้แก่ผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท