วันนี้มี Explicit Knowledge เรื่องการบริหารมาฝากค่ะ เป็นบทเขียนแปลที่ตัดตอนมาจากหนังสือ "การบริหารราชการแนวใหม่ : บริบทและเทคนิควิธี" ที่มี ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นบรรณาธิการ อ่านแล้วเห็นว่าดี เลยเอามาลงใน Blog ให้อ่านกันค่ะ คิดเห็นหรือรู้สึกอย่างไรก็ Comment กันได้นะคะ
พลังของความคิดเล็กๆ
ผู้บริหารส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับความคิดที่ยิ่งใหญ่ ไม่ธรรมดา ซับซ้อนและเสิศหรูจนถึงเพ้อฝัน ยิ่งมากเท่าไรก็เหมือนจะได้รับการตอนรับจากฝ่ายบริหารมากเท่านั้น มีผู้บริหาร CEO จำนวนมากรู้สึกว่าความคิดจากพนักงานระดับปฏิบัติเป็นเพียงการทำงานประจำที่ไม่น่าจะช่วยให้บริษัทก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ พวกเขาไม่เข้าใจว่าที่จริงแล้ว ความคิดเล็กๆ ลงลึกในรายละเอียดเป็นพื้นฐานของการก้าวไปสู่ความคิดที่ยิ่งใหญ่ และนำบริษัทสู่ความเป็นเลิศในที่สุด อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าบริษัทจะไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ หากขาดความสามารถในการเอาใจใส่ต่อกระบวนการเล็กๆ และขาดความสามารถที่จะเก็บเกี่ยวความคิดเล็กๆ นับร้อยนับล้านในบริษัทมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ จงพิจารณาข้อคิดต่อไปนี้ที่แสดงให้เห็นพลังของความคิดเล็กๆ
1. ความคิดเล็กๆ สามารถช่วยลดรอบระยะเวลาการทำงานได้จริง จากการศึกษาพบว่า 95% ของการทำงานในแต่ละกระบวนงานคือการรอ ตัวอย่างหนึ่งในต่างประเทศเช่น Jennie Rogers เป็นผู้ช่วยด้านการเงินของบริษัทก่อสร้างขนาดกลางแห่งหนึ่ง พบว่า ทุกๆ เดือนแผนกบัญชีต้องใช้เวลามากในการตรวจสอบใบเสร็จเครดิตการ์ดซึ่งพนักงานได้จ่ายเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมจากปั๊มทุกแห่งทั่ว ปท.อังกฤษ ว่าเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการใดเพื่อจะได้เรียกเก็บเงินจากลูกค้า เพื่อให้งานเสร็จทันเวลา เธอต้องใช้เวลา 10-13 ชม./เดือน ช่วยเพื่อนทำงานในส่วนนี้ซึ่งไม่ใช่งานของเธอโดยตรง วันหนึ่งเธอพบโฆษณาเกี่ยวกับระบบซอฟแวร์ที่สามารถช่วยสรุปยอดการใช้จ่ายน้ำมันจากเครดิตการ์ดที่ใช้จ่ายผ่านปั๊มทั่วประเทศ หลังจากที่ผู้บริหารยอกรับความคิดของเธอและได้มีการนำซอฟแวร์มาใช้ สามารถลดเวลาการรวบรวมค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันจาก 20 ชม. คงเหลือน้อยกว่า 2 ชม.
2. ความคิดเล็กๆ สามารถช่วยบริหารจัดการความยุ่งยากซับซ้อนอย่างได้ผล ตัวอย่างเช่น Dana corporation เป็นบริษัทให้เช่าเครื่องถ่ายรูปทั่วประเทศ เมื่อปี 1990 ลูกค้าของบริษัทต่างประสบปัญหาในเรื่องความซับซ้อนของการจัดส่งใบแจ้งหนี้ไปให้ลูกค้า เนื่องจากเมื่อเครื่องขัดข้องลูกค้าที่เช่าเครื่องไม่สามารถจัดการในเรื่องจำนวนการใช้เครื่อง กระดาษและฟิล์มของแต่ละเดือน จึงขอให้ทางบริษัทช่วยเรื่องนี้ จากความคิดของพนักงานที่ช่วยกัน บริษัทได้ใช้การจดบันทึกการใช้เครื่องถ่ายทุกครั้งผ่านโทรศัพท์เข้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการรวบรวมค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทในใบแจ้งหนี้จึงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอีกต่อไป
3. ความคิดเล็กๆ สามารถผลักดันให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ การเรียนรู้เป็นกระบวนการสะสมความคิดเพิ่มเติมทีละเล็กละน้อย ไม่ว่าจะเป็นจากการถาม เก็บข้อมูล การทดลอง หรือแม้แต่การให้คำเสนอแนะ การส่งเสริมให้เกิดความคิดอย่างสม่ำเสมอ จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้
4. ความคิดเล็กๆ สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแบบยั่งยืนได้ การที่พนักงานได้เสนอความคิดเล็กๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำงาน มีหลายครั้งที่ความคิดนั้นกลายเป็นสินทรัพย์ทางปัญญาของบริษัท
5. ความคิดเล็กๆ สามารถช่วยประหยัดเงินหรือเวลาได้มหาศาล รอกกี้เฟลเลอร์ผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำมัน "Standard oil" มักจะเดินทางไปเยี่ยมโรงกลั่นน้ำมันอยู่เสมอ วันหนึ่งเขาถามคนงานซึ่งกำลังซีลถังบรรจุน้ำมันเพื่อส่งออกว่าต้องใช้ตะกั่วบัดดรีกี่หยดต่อการซีลถังหนึ่งใบ คำตอบคือ 40 หยด เขาถึงถามคนงานว่า จะสามารถใช้ 38 หยดได้หรือไม่ คนงานตอบว่าไม่ได้แต่สามารถใช้ 39 หยดได้ ตะกั่วที่ประหยัดไป 1 หยดนี้ สามารถประหยัดเงินได้ 2,500 ดอลลาร์ในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีต่อมา
เอาแบบย่อๆ เท่านี้ก่อนนะคะ เนื่องจากเขาแปลมาเลยไม่มีตัวอย่างไทย แต่เท่าที่ทำงานมาใน สคส. ก็พอจะยืนยันได้ว่า ความคิดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นหลากหลายมากมายใน สคส. เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จแบบเกินคาดจริงๆ ค่ะ ท่านใดมีประสบการณ์เรื่องเล่าตัวอย่างไทย ก็ช่วยเขียนด้วยนะคะ
ตอนหน้าเรามาดูวิธีการทำความคิดเล็กๆ ให้เป็นความคิดที่ยิ่งใหญ่ กันนะคะ
อ้อ_สคส. ค่ะ