ความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับรูปแบบภาวะผู้นำกับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชน


ความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับรูปแบบภาวะผู้นำกับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชน

ความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับรูปแบบภาวะผู้นำกับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชน

 ศรีไพร  ชื่นชม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สาขาสังคมสงเคราะห์ทางการศึกษา

กรณีศึกษา: ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดนครราชสีมา

สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้       

                การศึกษาเรื่อง ความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน เกี่ยวกับรูปแบบภาวะผู้นำกับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชน กรณีศึกษา : ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์คือ 1. เพื่อศึกษาถึงรูปแบบภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา 2. เพื่อศึกษาถึงความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาเกี่ยวกับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชน กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 302 คน กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ได้มาจาก ตารางกลุ่มตัวอย่างของ R.V.Krejcie & D.W. Morgan เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS/PC(+) ในการคำนวณและวิเคราะห์ค่าสถิติได้แก่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปร โดยใช้ค่าไคสแควร์ (Chi-Square) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance - ANOVA) ผลการศึกษาพบว่า1. รูปแบบภาวะผู้นำที่ใช้ในการบริหารงานในโรงเรียน ส่วนใหญ่มีรูปแบบภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม คิดเป็นร้อยละ 45.3 รองลงมามีรูปแบบภาวะผู้นำแบบปรึกษาหารือคิดเป็นร้อยละ 38.3 รูปแบบภาวะผู้นำแบบเผด็จการอย่างมีศิลป์ คิดเป็นร้อยละ 14.0 และน้อยที่สุดคือ รูปแบบภาวะผู้นำแบบเผด็จการคิดเป็นร้อยละ 1.02. ผลการศึกษาความคิดเห็นผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชน โดยแบ่งออกเป็นกิจกรรม 5  ด้าน  พบว่า กิจกรรมด้านสาธารณสุขมีค่าเฉลี่ยในระดับมากเพียงกิจกรรมเดียว  ส่วนกิจกรรมอื่น 4 ด้าน มีระดับความคิดเห็นปานกลาง เรียงลำดับดังนี้คือ 1. กิจกรรมด้านการเมืองและการปกครอง 2. กิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรม 3. กิจกรรมด้านการศึกษาและอาชีพ 4. กิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อนำตัวแปร 2 ตัว มาวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ โดยใช้ค่าไคสแควร์ (Chi-Square) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ที่ .05 ผลการศึกษาปรากฎว่า รูปแบบภาวะผู้นำไม่มีความสัมพันธ์ กับกิจกรรม 5 กิจกรรม และเมื่อนำรูปแบบภาวะผู้นำมาหาค่าความสัมพันธ์กับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนในภาพรวม ก็ไม่ปรากฎผลว่ามีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ศึกษาได้นำ สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม มาหาค่าความสัมพันธ์กับการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากในภาพรวม ตัวแปรทั้ง 2 ตัว ไม่มีความ สัมพันธ์กัน แต่เมื่อผู้ศึกษาได้ทำการวิจัยรายข้อย่อยในแต่ละกิจกรรม โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance - ANOVA) และได้นำสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามได้แก่อายุการดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งและรูปแบบภาวะผู้นำมาเป็นตัวแปร อิสระ ทั้งนี้ได้นำมาจัดกลุ่มแบ่งช่วงให้เล็กลงและทำการศึกษารายข้อย่อย ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนที่มีภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วมจะมีระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนในกิจกรรมรายข้อย่อยบางกิจกรรม สูงกว่ารูปแบบภาวะผู้นำแบบเผด็จการอย่างมีศิลป์และแบบปรึกษาหารือ โดยสรุปจะเห็นว่า ผู้บริหารโรงเรียนที่มีรูปแบบภาวะผู้นำที่แตกต่างกันจะมีความคิดเห็นในการใช้โรงเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนไม่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนไม่ว่าจะมีรูปแบบภาวะผู้นำอย่างไรก็ตาม สามารถทำให้โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมพัฒนาชุมชนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้มีผลในการพัฒนาชุมชนได้ทั้งสิ้น การที่จะทำให้โรงเรียนสามารถเข้าร่วมในการพัฒนาชุมชนให้บังเกิดผลดีนั้น จะต้องใช้กระบวนการของงานสังคมสงเคราะห์คือ การศึกษา ปัญหาและการวิเคราะห์ปัญหา โดยสำรวจสภาพปัจจุบัน ปัญหา ทรัพยากร ความต้องการและความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาชุมชนในเขตบริการของโรงเรียน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการและแบ่งงานให้รับผิดชอบ การตรวจสอบทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน รวบรวมข้อมูล จัดระบบ วิเคราะห์ข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การวางแผน การดำเนินการโดยใช้กิจกรรมที่สามารถสนองวัตถุประสงค์ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาชุมชน ดำเนินการตามแผนและโครงการที่วางไว้ โดยนำทรัพยากรต่าง ๆ ผสมผสาน กับวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิธีการซึ่งกันและกัน และให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานและมีการประเมินผล โดยปฏิบัติอย่างมีระบบ หลักการ และมีวิธีการที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกขั้นตอนดำเนินงาน นอกจากนี้ผู้บริหารโรงเรียนจำเป็นต้องมีบทบาทในเชิงสังคมสงเคราะห์การศึกษา ไม่เพียงแต่ในสถานศึกษาเพื่อบริการการศึกษาแก่บุตรหลานของประชาชนในชุมชนเท่านั้น แต่ต้องมีบทบาทเป็นตัวแทนและแลกเปลี่ยนความสามารถกับชุมชนในการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงสังคมด้วยเช่นกัน

 

หมายเลขบันทึก: 376132เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท