ศิลปะ : สิ่งที่เด็ก ครู ผู้ปกครองขาดไม่ได้ (5)


ประโยชน์จากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้จากการทำงานศิลปะในชีวิต (ต่อ)

3 สร้างสุขภาพที่ดี อันเป็นผลมาจาก

3.1 อารมณ์ดี จากการที่ได้วาดเล่นอย่างอิสระ ทำงานกลุ่ม ได้รับคำชมเชย ย่อมส่งผลให้สุขภาพจิตดี

3.2 การตัดสินใจที่ดี การฝึกการคิดในแบบต่างๆช่วยให้มีความสามารถในการหาทางเลือกของการแก้ปัญหา สามารถพิจารณาเลือกทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาได้ จึงรักษาสุขภาพจิตที่ดีไว้ได้

เพราะหากปัญหาถูกปล่อยทิ้งไว้รบกวนจิตใจ อาการทางใจ บางครั้งก็แสดงออกทางกายได้ เช่น เมื่อเครียด จะปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ทานอาหารไม่ลง เป็นต้น

 

4 เป็นใบเบิกทางสำหรับการศึกษาต่อ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ ไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาสำหรับบางสถานศึกษา มากกว่าเด็กที่ไม่มีความสามารถพิเศษในด้านใด หรือในด้านที่สถาบันศึกษานั้นๆต้องการ

การประกวดศิลปะเด็ก

โดยปกติแล้ว การตัดสินว่าเด็กมีความสามารถทางด้านศิลปะหรือไม่ เด็กมีความสามารถทางด้านนี้เพิ่มขึ้นไหม มักจะเปรียบเทียบกับผลงานในอดีตของเด็กเอง ไม่เปรียบเทียบกันเองในกลุ่มเด็ก เพื่อสร้างกำลังใจ ความพึงพอใจในเอกลักษณ์ของตนเอง

 แต่อย่างไรก็ดี เมื่อลูกเริ่มวาดจนมีประสบการณ์ได้สักระยะ พ่อแม่ หรือครู คงอดที่จะนำผลงานของลูกเข้าสู่การแข่งขันไม่ได้ การส่งงานเข้าประกวด มีทั้งผลดี และผลเสียต่อเด็กค่ะ

เด็กที่วาดเก่งมากๆ ความสามารถเกินตัว การเป็นผู้ชนะอยู่ตลอดเวลา อาจสร้างนิสัยแพ้ไม่เป็น ยอมรับการพ่ายแพ้ การสูญเสียไม่ได้ ซึ่งเป็นผลเสียกับเด็ก เช่น ทำให้เด็กกลายเป็นคนงก ไม่ยอมถ่ายทอดเทคนิคแก่เพื่อน ร่วมยินดีกับเพื่อนที่ชนะตนไม่ได้ เกิดความทะนงตน ซึ่งความทะนงนี้ ย่อมเกิดคู่ไปกับการประเมินความสามารถของผู้อื่นต่ำลง

 

หรือเกิดความเครียดที่ต้องรักษาความคาดหวังของพ่อแม่ เครียดกับการที่ต้องรักษา “หมายเลขหนึ่ง” ไว้ตลอดเวลา

ส่วนเด็กที่ส่งงานเข้าประกวด ส่งแล้วส่งเล่า ก็ยังไม่เคยสัมผัสรางวัลสักที ก็อาจท้อใจ เลิกพัฒนาศักยภาพของสมองด้วยการวาด และเกิดความคิดที่ว่าตนทำอะไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ รวมไปถึงอาจเกิดความอิจฉาเพื่อนที่ได้รับรางวัลได้

ดังนั้นก่อนที่เราจะส่งงานลูกเข้าประกวด ควรแน่ใจว่าเราได้ เตรียมลูกพร้อมแล้ว ทางด้านทักษะทางศิลปะ ลูกได้รับการฝึกฝนมาแล้วระดับหนึ่ง ส่วนทางด้านทัศนคติต่อการประกวดก็เป็นไปอย่างกลางๆ นั่นคือ การประกวดผลงาน เป็นเพียงการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เห็นพัฒนาการของผู้อื่น ได้ภูมิใจที่สามารถเอาชนะใจตนเองจนเกิดมุทิตาจิตได้ ซึ่งการชนะใจตนเอง เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทั้งของตน และของพ่อแม่

หากลูกได้รางวัล รางวัลที่ได้ เป็นเพียงผลพลอยได้ของการ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ โลกใหม่ เท่านั้น

เพราะทุกคนมีเอกลักษณ์ มีความสามารถที่ดีที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถวัดได้ด้วยมาตรฐาน หรือเกณฑ์การตัดสินเดียว ผู้ที่ได้รางวัล อาจเป็นผู้ที่เตรียมตัวมาดี จนพร้อมที่สุดในการแข่งขันก็ได้ การพลาดรางวัล ไม่ได้หมายความว่าเด็กเก่งน้อยกว่าเด็กอื่น

มีเวทีที่ประกวดผลงานศิลปะเด็กมากมายค่ะ เวทีใหญ่ที่อยากแนะนำคือ การประกวดศิลปะเด็กนาๆชาติ ที่จัดทั้งประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี เพราะสองเวทีนี้ ตัดสินการให้รางวัลด้วยมาตรฐานของเด็กแต่ละวัย เหรียญรางวัล จึงไม่ได้มีเพียงเหรียญเดียว เด็กทุกคนจึงมีโอกาสได้เหรียญไม่แตกต่างกันเนื่องจากเป็นการแข่งขันกับตัวเอง เด็กไม่ได้แข่งขันกับใครแต่แข่งกับมาตรวัดตามเกณฑ์ปกติ ซึ่งถ้าหากทำได้ตามเกณฑ์นั้น ก็ได้รับการยอมรับด้วยรางวัลในระดับต่างๆ

 

เวทีใหญ่ในประเทศก็เช่น การประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีโดยบริษัทโตชิบา หรือการประกวดที่จัดโดย ป.ต.ท. เป็นต้น แม้เวทีดังกล่าวจะตัดสินงานโดยกรรมการผู้มีความรู้และเข้าใจงานศิลปะเด็ก แต่ความที่จำนวนรางวัลในแต่ละระดับไม่มาก บางระดับมีเพียงหนึ่งรางวัล ผลงานเด็กจึงหนีไม่พ้นต้องที่จะต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกัน

การเตรียมลูก จึงนับว่าสำคัญมากค่ะ เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ละเลยไม่ได้เลย แม้ว่าลูกจะเป็นผู้ต้องการจะร่วมเข้าการแข่งขันเองโดยที่พ่อแม่ หรือครูผู้สอนไม่ได้กระตุ้นก็ตาม

เพราะจิตใจลูกไม่ใช่เรื่องที่เราจะนำมาล้อเล่น หรือไม่เห็นความสำคัญนี่คะ

............................................................................................

บรรณานุกรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม ธรรมสภา 1 / 4-5 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170  พ.ศ.

จรัล คำภารัตน์ เทคนิคการสอนศิลปะเด็กอนุบาล สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช 599 ถนนไมตรีจิต เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร 10100 พ.ศ. 2539

วีรเธียร เขียนมีสุข เหนืออัจฉริยะ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ (CQ) บริษัท บิสซี่เดย์ จำกัด 5/132 บ้านกลางเมืองมอนติ-คาร์โล รัชวิภา ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 พ.ศ.2553

รองศาสตราจารย์ ดร.ลักขณา สริวัฒน์ การคิด สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 860-862 วังบูรพา กรุงเทพมหานคร 10200 พ.ศ.2549

ผ.ศ.สงวน รอดบุญ ศิลปะกับมนุษย์ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 860-862 วังบูรพา กรุงเทพมหานคร 10200 พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2533

เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ พัฒนาการมนุษย์ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550

ผกา สัตยธรรม สุขภาพจิตเด็ก สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2552

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 375252เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2010 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณมากครับ ที่ให้ความรู้

มาชม

ได้มุมคิดและ

เห็นภาพสวยสดใสวัยเด็กสร้างทำนะครับผม

  • มาทักทายค่ะ คุณณัฐรดา สบายดีนะค่ะ
  • อากาศช่วงนี้เปลี่ยนแปลงบ่อยรักษาสุขภาพด้วยค่ะ ห่วงใยเสมอค่ะ
  •                   

สวัสดียามเช้าค่ะพี่ณัฐรดา

เห็นด้วยค่ะ เตรียมจิตใจเด็กด้วย มีน้ำใจนักกีฬา การแข่งขันมีแพ้ชนะ สิ่งที่ได้คือสิ่งดีๆหลายๆอย่างเป็นประสบการณ์ชีวิต

ชอบงานศิลปะค่ะ การวาดรูปเป็นสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์ พาผู้ป่วยวาดในชั่วโมงกลุ่มกิจกรรมบำบัดเสมอค่ะ วาดแล้วพวกเขาบอกว่าผ่อนคลายค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆได้เรียนรู้งานศิลป์และแนวคิดดีๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท