เด็กเลือกทานแต่นม...ไม่ชอบทานอาหารอื่น


ขอบคุณคุณแม่ของกรณีศึกษาเด็กชายวัย 5 ขวบ ที่ค้นเจอ Blog กิจกรรมบำบัดชีวิตและนัดหมายให้ผมตรวจประเมินทักษะการกินอาหารในเย็นวันนี้

ผมได้เรียนรู้เด็กชายช่างเจรจาและเฉลียวฉลาดวัย 5 ขวบ ถึงปัญหาการเลือกกินอาหารโดยดูดขวดนมพิเศษ (นมผงพิเศษแทนอาการแพ้นมวัว) และปฏิเสธที่จะกินอาหารประเภทอื่นๆ เช่น ไม่ยอมกินข้าวหรือกับข้าวใดๆ ไม่ยอมทานน้ำซุปที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์หรือผัก เป็นต้น

กรณีศึกษานี้น่าสนใจ ผมจึงช่วยให้คำปรึกษาและสาธิตการประเมินกับการจัดกิจกรรมบำบัดให้นักกิจกรรมบำบัดท่านหนึ่งสังเกตดังนี้

ดร.ป๊อป: น้อง X ครับ ไหนลองอ้าปากให้ดูซิ น้าป๊อปจะดูลิ้นหน่อยได้ไหมครับ

น้อง X [อ้าปากแลบลิ้น]: ครับ แต่อย่าเอามือเข้าไปข้างในนะ

ดร.ป๊อป [ผมต้องคิดหนักเพราะตรวจประเมินแบบหัตถการไม่ได้ จึงต้องสังเกตขณะเด็กทานอาหาร]: น้าป๊อปจะพาผมไปซื้อขนมเอาไหมครับ

น้อง X: ไม่กินขนม ไม่อร่อย

ดร.ป๊อป [พาน้องไปเลือกอาหารที่ชอบ]: ผมจะเลือกทานอะไรดีครับ

น้อง X: จะทานโอวัลตินใส่น้ำแข็งอย่างเดียว

ดร.ป๊อป: ขอน้าป๊อปลองป้อนเจลลี่ได้ไหม [น้อง X ร้องไม่ยอม ส่ายหน้า] ผมจึงหยิบมาเพื่อทดลองดู ปรากฎว่า ยากที่จะให้น้อง X ทานจริงๆ (น้องบอกว่า ไม่อร่อย ไม่ชอบ แต่ไม่เคยได้ลองทานเลย) 

คุณแม่น้อง X: น้องจะทานนมอย่างเดียว พยายามให้ทานอย่างอื่นๆ ก็จะคายทิ้ง ที่บ้านก็ตามใจ เมื่อน้องไม่ทาน ก็ปล่อยให้ทานจากนมจากขวดมาตั้งแต่หกเดือนแล้ว ดีที่เจอ Blog อ.ป๊อป เลยรู้สึกว่าน่าจะมีทางออกให้คุณแม่ได้ช่วยเหลือน้อง X

ดร.ป๊อป: เอาหละคุณแม่และนักกิจกรรมบำบัดคงต้องทำงานเป็นทีม เพราะงานนี้ไม่ง่ายนัก เป้าหมานระยะสั้นคือ การปรับนิสัยและเพิ่มแรงบันดาลใจในการทานอาหารที่ทำจากนมและมีผิวสัมผัสที่หลากหลายในลักษณะการดูด การดื่ม และการทานด้วยช้อน เมื่อใส่เครื่องดื่ม/อาหารที่ผสมน้ำแข็งเกล็ดหรือมีความหนืดเมื่อผสม/ปั้นกับอาหารอื่นๆ เช่น ไอศครีม โยเกิร์ต นมผงธัญพืช ซีเรียส เยลลี่ เป็นต้น (ให้โอกาสรับสัมผัสอาหาร แต่ถ้าไม่ทาน ก็ไม่ต้องบังคับ เพียงให้บ้วนออก แต่หลอกล่อให้ทานได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งแก้ว สลับกับการทานขวดนมครึ่งขวด) โดยติดตามผลใน 3 อาทิตย์ แล้วค่อยปรับกิจกรรมบำบัด

ผมลองสาธิตให้คุณแม่น้อง X และนักกิจกรรมบำบัดรุ่นน้องดูและศึกษาในการจัดกิจกรรมบำบัดอาทิตย์หน้า

1. ผมลองให้น้อง X ดูดโอวัลตินจากหลอด ทานน้ำแข็งตักจากในแก้ว และดื่มจากแก้วเอง น้อง X ทำได้แต่ไม่คล่องแคล่วนัก คุณแม่น้อง X เสริมว่า ไม่เคยให้ทานนมแบบนี้ น้อง X มักนอนแหงนคอดื่มนมจากขวด ผมจึงย้ำว่า คุณแม่และผู้เลี้ยงดูต้องลดการให้นมจากขวด มิฉะนั้นจะไม่รับรู้สัมผัสบริเวณกว้างของการพัฒนาทักษะการกินกลืนอาหารมากกว่าการทานจากขวด และลดความเสี่ยงในการสำลัก เพราะแหงนคอ

2. ผมลองให้น้อง X ดื่มจากแก้ว ก็พบว่า มีอาการสำลัก แต่น้อง X สามารถไอแบบไม่แรงนัก และมีแรงมากเหลือเกินในการที่จะเล่นกิจกรรมที่ออกแรงทางร่างกาย เช่น การหยิบบอลเปลี่ยนตะกร้าตามที่ผมนับ 1-20 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงการปีนไปเก็บห่วงยางหลังจากชูมือรับห่วงยางที่ผมโยนให้ แต่ละกิจกรรมผมจะให้น้อง X หยุดพัก หายใจเข้าและออกด้วยการเป่าของเล่นใบพัด 5 ครั้ง ตามด้วยการดูดโอวัลตินและการกินน้ำแข็งจากช้อนรวม 10 ครั้ง อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งใช้เวลาหลอกล่ออยู่ถึง 1 ชม. โดยน้อง X ชอบและสนุก และผมต้องใจเย็น

3. บางครั้งผมลองใส่เจลลี่ชิ้นเล็กคล้ายน้ำแข็งเกล็ด แต่น้อง X มีความไวของการสัมผัสและเรียนรู้ด้วยสายตาที่เร็วมาก จึงบ้วนทิ้งทุกครั้ง ยกเว้นบางกรณีที่อยากดื่มอย่างเร็วโดยไม่ทันสังเกตหรือเล่นปิดตาคลำของเล่น

4. ผมแนะนำให้คุณแม่น้อง X เตรียมอาหารจำพวกนมอื่นๆ ลองปรับแปรผิวสัมผัสและฝึกที่บ้านเท่าที่จะทำได้ โดยผมจะปรึกษานักโภชนากรอีกครั้งด้วย ส่วนนักกิจกรรมบำบัดที่คลินิกก็ต้องช่วยออกแบบกิจกรรมการเล่นและกินอย่างสนุกสนาน อาจต้องใช้เวลาในการปรับความคิดและความคุ้นเคยให้มีการเรียนรู้อาหารในกรณีศึกษานี้       

กรณีศึกษานี้ได้รับการตรวจจากคุณหมอ แต่ไม่ได้รับการส่งปรึกษานักกิจกรรมบำบัด และนักกิจกรรมบำบัดเองก็ไม่มั่นใจที่จะให้บริการกรณีศึกษาแบบนี้

ซึ่งในความคิดของผมยังไม่ถือว่ามีปัญหาทางจิตสังคมมากนัก เด็กน่าที่จะมีทักษะการเรียนรู้ได้ด้วยความสุข หากแต่ต้องใช้เวลา ความอดทน และความคิดสร้างสรรค์ในการดึงความสามารถของน้อง X โดยสังเกตง่ายๆ เมื่อเด็กทานแต่นม ก็จะใช้พลังงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีการย่อยนานนัก และคงต้องมีการปรับอาหารให้เป็นเงื่อนไขของการเล่นอย่างมีแรงบันดาลใจครับ

หมายเลขบันทึก: 374456เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สำหรับกรณีศึกษาท่านนี้ ผมขอบคุณ อ.ดร. ชนิดา สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ที่ให้คำปรึกษาถึงส่วนผสมเมนูอาหารที่น่าจะทดลอง ได้แก่ มันบดปั่นพร้อมนมแล้วใส่กล่องแช่เย็นคล้ายไอศครีม (หากดีขึ้นก็ปั่นพร้อมดอกบล๊อกคอลี่ อย่าเพิ่งใส่หมูบดเพราะมีกลิ่นคาว) นมข้นผสมน้ำแช่แข็ง หรือเจลาตินใสผสมกับน้ำแข็งในโอวัลติน

ผมเลยได้โทรบอกคุณแม่ของน้องรายนี้เพื่อทดลองทั้งที่บ้าน โรงเรียน คลินิกกิจกรรมบำบัด แล้วติดตามความก้าวหน้าใน 1 เดือน

สนใจพัฒนาการและผลการฝึกคะ จะเข้ามาติดตามอีกคะ เพราะมีเด็กอ่อนที่กินนมพิเศษเพราะแพ้นมวัวแล้วพ่อแม่เลยไม่ค่อยกล้าให้ลองอาหารใดที่ไม่แน่ใจว่าผสมนมหรือเปล่า เมื่อทราบว่าเด็กกลุ่มนี้โตขึ้นอาจมีพฤติกรรมแบบนี้จะได้หาทางให้ความรู้แม่เพื่อป้องกันคะ

ขอบคุณมากครับคุณนงนาท สนธิสุวรรณ

เคยเจอเด็กลักษณะนี้เช่นกันค่ะ ครูก็พยายามช่วยเหลือให้เด็กลองรับประทานอาหารหรือผักผลไม้ดูบ้างแต่เด็กก็ไม่ยอมและอาเจียรออกมาทุกครั้ง เลยจ้องทำใจและใช้เทคนิคในการปรับพฤติกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ....สุนทรี/อุตรดิตถ์

เห็นด้วยกับคุณสุนทรีครับ เด็กเหล่านี้น่าสงสารเพราะเรียนรู้รูปแบบการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมโดยบรรยากาศของหลายๆบุคคลตั้งแต่เกิด บางครั้งหากไม่สามารถปรับพฤติกรรมได้ ก็คงต้องทำใจวางเฉยเช่นกันครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ

ขอบคุณสำหรับวิธีค่ะ จะลองนำไปใช้ดู ถ้าได้ผลอย่างไรแล้วจะลองบอกนะคะ

ยินดีครับคุณ nootsara ขอให้นำไปใช้ได้ผลดีนะครับ

มีเพื่อนที่ไม่ทานข้าวจ้าวแต่ทานขนมปังได้เพราะเป็นข้าวสาลี เวลาเรียนก็ทานบะหมี่ ขนมปัง ไม่แน่ใจว่าแพ้หรือเป็นปัญหาที่การฝึกค่ะ

เล่าเพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ให้ผู้อ่านค่ะ

ขอบคุณคุณหมออัจฉรา เชาวะวณิช ครับ

กรณีศึกษาที่ทานอาหารเฉพาะแป้งสาลีและแพ้อาหารจำพวกแป้งข้าวจ้าวก็เป็นไปได้ครับ แต่อาจต้องตรวจประเมินองค์ประกอบในความสามารถของการกินอาหารตามหลักการกิจกรรมบำบัดเพิ่มเติมเพื่อจะได้ยืนยันว่า ไม่มีสภาวะบกพร่องอื่นๆ ในการกินกลืนอาหารอีก

นายโชคทวี สายประดิษฐ์

เว็บไซต์ Gotoknow เป็นเว็บไซต์ที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับทุกคน ขอชื่นชมอย่างสูงสุด

ขอบคุณครับคุณโชคทวี สายประดิษฐ์ และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยชน์สูงสุดของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัลยาณมิตรใน G2K ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท