แบบประกันสุขภาพใหม่ ที่ให้ผู้เอาประกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนแรกส่วนแรก : New Deductible Health Insurance


ผลกระทบของแบบประกันตัวใหม่ของไทยประกันชีวิตต่อการจัดการสินไหมทดแทนของบริษัทอื่นๆ

 

 

 

"ไทยประกันชีวิต" ผุดไอเดีย ดันประกันสุขภาพแบบใหม่ คุ้มครองต่อจากสวัสดิการเดิม ช่วยกดเบี้ยถูกลง 50% เจาะตลาดข้าราชการ-พนักงานบริษัท ปูพรมไตรมาส 4

นายอภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทกำลังพัฒนาแบบสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพที่ให้ผู้เอาประกันยอมรับค่าใช้จ่ายส่วนแรกเอง เช่น 10,000 บาทแรก หรือ 20,000 บาทแรก เพื่อจับตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีสวัสดิการบางส่วนอยู่แล้ว หรือต้องการยอมรับ ค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นเอง คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวมาทำตลาดได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

"การออกแบบประกันสุขภาพแบบนี้จะทำให้เบี้ยลดลงไปครึ่งหนึ่งจากแบบเดิมที่เริ่มคุ้มครองตั้งแต่บาทแรก ซึ่งเป็นหลักของการประกันภัยจริง ๆ ที่จะต้องเข้ามาช่วยบรรเทาในส่วนที่เกินความสามารถของเรา หรือเป็นสิ่งที่เรารับภาระไม่ไหว ขณะที่ส่วนเบื้องต้นที่เราคิดว่าสามารถรับภาระเองได้ก็บริหารความเสี่ยงเอง ซึ่งทำให้เราไม่ต้องจ่ายเบี้ยแพงเกินจำเป็นอีกด้วย"

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของแบบประกันนี้ นายอภิรักษ์กล่าวว่า จะเน้นจับตลาดข้าราชการ, พนักงานบริษัท ที่มีสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว สามารถซื้อประกันสุขภาพส่วนนี้มาคุ้มครองต่อยอดจากความคุ้มครองที่มีอยู่เดิมได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทประกันชีวิตในไทยออกแบบประกันลักษณะนี้มาก่อน ทำให้หลักการคำนวณเบี้ยที่เหมาะสมทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งบริษัทจะอาศัยข้อมูลสถิติที่บริษัทได้ทำตลาดประกันสุขภาพมากว่า 10 ปี เป็นข้อมูลในการคำนวณอัตราเบี้ย ขณะเดียวกันก็ต้องมีแผนการจัดการไว้รองรับกรณีที่เบี้ยไม่เพียงพอกับความเสี่ยง ว่าจะต้องลดระดับความเสี่ยงอย่างไร หรือต้องปรับเบี้ยเพียงใด

นายอภิรักษ์กล่าวว่า แนวโน้มตลาดประกันสุขภาพในปีนี้น่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะถือเป็นโปรดักต์ที่ผู้เอาประกันให้ความสนใจมากกว่าการซื้อประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ทำให้สัดส่วนการซื้อประกันสุขภาพแนบท้ายเข้าไปด้วยมากถึง 80-90% ของจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด

สำหรับแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทุกปีสะท้อนให้ต้นทุนค่าสินไหมของบริษัทประกันปรับเพิ่มขึ้นนั้น นายอภิรักษ์กล่าวว่า บริษัทจะต้องประเมินต้นทุนค่าสินไหมส่วนนี้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะไทยประกันชีวิตจะเน้นนโยบายราคาที่สามารถอยู่ได้ ทำแล้วไม่ขาดทุน หรือถ้าพบว่าอยู่ในระดับที่กำลังจะขาดทุนก็จะหยุดขาย เพื่อปรับโปรดักต์ใหม่ที่คุ้มทุนออกมาแทน พร้อมกับเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบลูกค้า ส่วนลูกค้าที่ซื้อโปรดักต์แบบเดิมอยู่ ก็จะได้รับความคุ้มครองเช่นเดิม และสามารถต่ออายุได้โดยใช้อัตราเบี้ยเดิม

 

ผู้บริหารไทยประกันกล่าวว่าแบบประกันสุขภาพตัวใหม่นี้เพื่อจับตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีสวัสดิการบางส่วนอยู่แล้ว ได้แก่ ข้าราชการที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และพนักงานบริษัทที่มีประกันสุขภาพกลุ่มที่เป็นสวัสดิการของบริษัท เพราะสวัสดิการดังกล่าวยังมีข้อจำกัด ตรงที่ไม่ได้ให้ความคุ้มครองครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นสวัสดิการที่เคยได้รับอาจไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลในอนาคต จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ตัวนี้มาเจาะกลุ่มดังกล่าว โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วน Deductible นั้นลูกค้าสามารถใช้สวัสดิการของข้าราชการหรือสวิสดิการของที่ทำงานได้ ส่วนที่เกินจากนั้นลูกค้าจึงนำมาเคลมกับไทยประกันชีวิต1

 

เมื่อได้อ่านข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ของไทยประกันชีวิตแล้ว ผมว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายอยู่ไม่น้อย จุดเด่นของกรมธรรม์คือ

1.ลูกค้าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนแรกเอง (Deductible)* ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 1-2 หมื่นบาท (แล้วแต่แบบที่ซื้อ)

2.เบี้ยประกันจะถูกกว่าแบบประกันสุขภาพทั่วไปประมาณ 50 %

*Deductible หมายถึง ความรับผิดส่วนแรก  ซึ่งในที่นี้คือจำนวนเงินขั้นต้นที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบจ่ายเองก่อนที่บริษัทประกันจะจ่ายส่วนที่เกินให้ต่อไป

 

ข่าวดังกล่าวไม่ได้น่าสนใจเพียงแค่เป็นผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพตัวใหม่ แต่ยังมีประเด็นอื่นๆที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดการสินไหมของบริษัทอื่นๆในอนาคต

ผมคิดว่าประกันสุขภาพตัวใหม่ของไทยประกันไม่ได้ออกมาเพียงเพื่อจับกลุ่มข้าราชการ หรือ พนักงานบริษัทเท่านั้น

ต้องไม่ลืมว่าบริษัทประกันชีวิตแทบทุกบริษัทต่างก็มีประกันสุขภาพผู้ป่วยในเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า ซึ่งเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไม่มาก เมื่อเบี้ยแตกต่างกันไม่มาก เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทคือ บริการสินไหมที่รวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม

อีกทั้งปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นลูกค้าของบริษัทประกันที่ซื้อประกันสุขภาพไว้เมื่อก่อน อาจไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน ดังนั้นใครที่ไม่อยากต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินเอง (Out of Pocket Expense)  ก็จำเป็นต้องซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม บางคนที่คิดจะซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมก็ไม่อยากจ่ายเบี้ยแพงเพราะมีความคุ้มครองบางส่วนอยู่แล้ว หากซื้อเพิ่มอีก เบี้ยที่ต้องจ่ายก็แทบจะพอๆกับที่เคยซื้อไว้เมื่อก่อน

แต่เมื่อมีผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพตัวใหม่ของไทยประกันชีวิตออกมา ซึ่งเบี้ยจะถูกกว่าถึง 50 % ลูกค้าที่มองหาความคุ้มครองเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แทบไม่ต้องคิดมาก

เพราะตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการจริงๆคือได้ความคุ้มครองเพิ่มโดยจ่ายเบี้ยถูกกว่า

ทีนี้บริษัทอื่นๆ จะได้รับผลกระทบยังไง ลองมาวิเคราะห์กัน

 

ข้อแรก  ลูกค้าที่ต้องการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ มีแน้วโน้มจะซื้อแบบประกันสุขภาพตัวใหม่ของไทยประกันชีวิตมากกว่า

เพราะลูกค้าที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วกับบริษัทประกันแห่งหนึ่ง แต่ความคุ้มครองไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปัจุบัน

ทำให้จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ลูกค้าดังกล่าวจะหันไปซื้อประกันสุขภาพตัวใหม่กับไทยประกันชีวิตมากกว่า เนื่องจากได้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นแต่เบี้ยจะถูกกว่าซื้อกับบริษัทอื่น

ยกตัวอย่างเช่น นายเอ มีประกันสุขภาพกับบริษัทบี โดยซื้อค่าห้องไว้ 2,500 บาทต่อวัน ซึ่งแบบดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองค่ารักษาวงเงินไม่เกิน 40,000 บาทต่อครั้ง ปกติหากนายเอเจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดา ค่าใช้จ่ายต่อการรักษาแต่ละครั้งจะตกประมาณครั้งละ 15,000 -20,000 บาท วงเงินค่ารักษาที่นายเอมีอยู่จะคลอบคลุมค่ารักษาแทบทั้งหมด

แต่เนื่องจากโรงพยาบาลที่นายเอใช้บริการเป็นประจำค่าห้องจะอยู่ที่ 3,000 บาทต่อวัน ซึ่งค่าห้องที่นายเอซื้อไว้ในปัจจุบันไม่เพียงพอ เวลาเข้ารักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว นายเอจึงต้องจ่ายค่าห้องส่วนเกินทุกครั้ง นายเอจึงต้องการซื้อค่าห้องเพิ่มเติม อีก 500 บาทต่อวัน หากนายเอซื้อกับบริษัทเดิมหรือที่อื่น ค่าห้อง 500 บาทต่อวันเบี้ยจะอยู่ที่ 4,000 บาท แต่หากซื้อกับไทยประกันชีวิต เบี้ยจะตกอยู่ที่ประมาณ 2000 บาทเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่านายเอต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลส่วนแรกไม่เกิน 10,000 บาทเอง ส่วนที่เกินจากนั้นทางไทยประกันชีวิตจะจ่ายให้ตามจริงแต่ไม่เกินความคุ้มครองที่ซื้อไว้ ดังนั้นนายเอจึงตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมกับไทยประกันชีวิตแทนเพื่อเอาไว้เบิกค่าห้องเพิ่มเติม

 

 

ข้อสอง บริษัทอื่นๆจะถูกลูกค้าเลือกเคลมเป็นที่แรก แล้วค่อยเคลมกับไทยประกันชีวิต

เมื่อก่อน การที่ลูกค้ามีประกันสุขภาพกับบริษัทประกันสองแห่ง ลูกค้าจะตัดสินใจเองว่าจะเคลมจากที่ไหนก่อน แล้วค่อยเอาค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือไปเคลมกับที่อื่นต่อไป ซึ่งปกติบริษัทที่ถูกเคลมเป็นที่แรกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากกว่าบริษัทประกันที่ถูกเคลมเป็นบริษัทที่สอง ซึ่งบริษัทประกันเองหากเลือกได้ก็ไม่อยากถูกเคลมเป็นที่แรก เพราะหากลูกค้าเลือกเคลมกับบริษัทเป็นที่แรก โอกาสที่จะทำให้อัตราการสูญเสีย (Loss Ratio) สูง ดังนั้นหากลูกค้าคนใดที่มีประกันสุขภาพสองแห่ง บริษัทประกันก็อยากให้ลูกค้าเลือกเคลมกับบริษัทเป็นที่ที่สอง เพื่อที่จะได้จ่ายสินไหมน้อยกว่า แต่เมื่อลูกค้าไปที่มีประกันอยู่กับบริษัทเดิม ไปซื้อประกันสุขภาพตัวใหม่กับไทยประกันชีวิต จะทำให้ลูกค้าเลือกเคลมกับบริษัทอื่นก่อนทุกครั้ง หากมีส่วนที่เหลือที่เกินความคุ้มครองจากบริษัทแรก ค่อยนำมาเคลมกับไทยประกันชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น นางสาวดี ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต 2 แห่งคือ บริษัทเอกับบริษัทโอ โดยซื้อค่าห้องไว้บริษัทละ 1700 บาท ซึ่งเมื่อก่อนนางสาวดีจะเคลมบริษัทเอเป็นที่แรกสลับกับบริษัทโอบ้าง ต่อมานางสาวดีเห็นว่าบริษัทไทยประกันชีวิตออกประกันสุขภาพตัวใหม่ออกมา จึงยกเลิกประกันสุขภาพกับบริษัทโอแล้วมาทำประกันสุขภาพเพิ่มกับบริษัทไทยประกันชีวิตแทน เพราะเบี้ยถูกกว่า แต่ด้วยเงื่อนไขของแบบประกันของไทยประกันชีวิตที่นางสาวดีซื้อไว้ นางสาวเอจึงต้องเคลมกับบริษัทเอก่อนทุกครั้ง แล้วค่อยนำส่วนเกินมาเคลมกับไทยประกัน

ดังนั้นบริษัทเอจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไปเต็มๆ ไทยประกันได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่เวลาจ่ายสินไหม มีโอกาสจ่ายน้อยกว่าบริษัทอื่นๆ

 

ข้อที่สาม ลูกค้าที่มีประกันสุขภาพ 2 แห่งจะยกเลิกประกันสุขภาพกับอีกที่หนึ่งมากขึ้น

ลูกค้าที่เคยทำประกันสุขภาพไว้กับบริษัทประกันสองแห่ง

มีแนวโน้มจะยกเลิกกรมธรรม์กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพื่อไปทำประกันสุขภาพกับไทยประกันชีวิตเป็นแห่งที่สองแทน

เพราะส่วนเกินจากบริษัทแรกสามารถนำมาเคลมกับบริษัทไทยประกันได้ โดยจ่ายเบี้ยถูกว่าเดิม

ยกตัวอย่างเช่น นายวี ทำประกันกับบริษัทบีและบริษัทดี โดยซื้อค่าห้องของบริษัทบี 1500 บาทค่าเบี้ยประกัน 7500 บาทและบริษัทดี 500 บาทค่าเบี้ยประกัน 2500 บาท

เมื่อไทยประกันชีวิตออกแบบประกันสุขภาพตัวใหม่มา โดยค่าห้อง 500 บาทของไทยประกันชีวิตเบี้ยประกันจะอยู่ที่ 1250 บาท เท่านั้น นายวีจึงยกเลิกประกันสุขภาพกับบริษัทดีแล้วไปทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมกับไทยประกันชีวิตแทน เพราะคุ้มค่ากว่า

 

ข้อที่สี่ ลูกค้ามีแนวโน้มจะแยกซื้อประกันสุขภาพต่างบริษัทมากกว่าจะซื้อกับบริษัทเดียว

เนื่องจากหากซื้อประกันสุขภาพค่าห้องพร้อมกับทีเดียวกับบริษัทแห่งเดียว จะต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงกว่า

แต่ถ้าแยกซื้อค่าห้องบางส่วนกับบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วเอาส่วนต่างค่าห้องมาซื้อกับไทยประกันชีวิต จะจ่ายเบี้ยประกันถูกกว่า แต่ได้ความคุ้มครองแทบไม่ต่างจากเดิม

ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าต้องการซื้อประกันสุขภาพค่าห้อง 3000 บาท หากซื้อจากบริษัทเอ บริษัทเดียวจะต้องจ่ายเบี้ยประกันถึง 15000 บาท

แต่ถ้าลูกค้าแยกค่าห้องบางส่วนซื้อทประกันกับบริษัทเอ  2500 บาท จะจ่ายเบี้ยประกัน 12500 บาท ค่าห้องส่วนที่เหลืออีก 500 บาทซื้อกับไทยประกันชีวิตเพียง 1250 บาท

รวมต้องจายเบี้ยทั้งหมดแค่ 13750 บาท ซึ่งสามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันได้ถึง 1250 บาทเลยทีเดียว

 

นับเป็นความฉลาดของไทยประกันชีวิตที่ออกผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมา เพราะเรียกได้ว่ายิงปืนทีเดียวได้นกสองตัว ซึ่งแน่นอนว่าไทยประกันชีวิตจะกอบโกยเบี้ยประกันสุขภาพจากกลุ่มลูกค้าที่มีความคุ้มครองสุขภาพอยู่แล้วและกำลังต้องการซื้อประกันสุขภาพเพิ่ม ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย ทั้งกลุ่มข้าราชการ พนักงานบริษัท ลูกค้าที่ทำประกันสุขภาพไว้กับบริษัทอื่นแต่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาล

นอกจากนี้สินไหมส่วนเกินของลูกค้าจากบริษัทอื่นยังเหลือมาให้ไทยประกันชีวิตจ่ายให้ลูกค้าน้อยกว่า

งานนี้ไทยประกันชีวิตฟันกำไรเห็นๆ ส่วนบริษัทอื่นหากไม่มีแบบประกันที่คล้ายกันมาแข่งแล้วล่ะก็เตรียมจ่ายสินไหมเป็นที่แรกไว้ได้เลย

 

1 ข่าวจาก http://thaihomeonline.com/investment-news.php?id=002134

หมายเลขบันทึก: 374375เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านได้ความรู้ดีจังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท