ตัวแปรกับการวิจัย


ตัวแปรกับการวิจัย

      ตัวแปร : ความจริงที่การวิจัยค้นหา

                จากความหมายของการวิจัย ที่ว่า  การวิจัย คือ การหาความจริงเกี่ยวกับสรรพสิ่งหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ปรากฏการณ์ที่กล่าวถึงก็จะมีความแตกต่างหลากหลายหรือแปรเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับลักษณะและบริบทของปรากฏการณ์นั้นๆ  และปรากฏการณ์หรือสรรพสิ่งต่างๆที่มีความแตกต่างกันหรือแปรเปลี่ยนไปนี้เอง  ที่เราตั้งชื่อเรียกกันว่า “ตัวแปร”(Variable)  ดังนั้นจึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่เรามักจะอ่านเจอในหนังสือหรือตำราว่า  “ตัวแปร” หมายถึง  สิ่งที่แปรค่าได้  หรือสัญลักษณ์ที่ได้รับการกำหนดค่าหรือตัวเลข  ตัวแปรจะมีลักษณะเป็นมโนทัศน์ (Concept)  หรือโครงสร้าง (Construct)  ที่ใช้แทนข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะเป็นนามธรรมที่สูงกว่าข้อเท็จจริง ซึ่งมีค่าต่างๆ กัน หรือค่าแปรเปลี่ยนได้

                ดังนั้นจากการที่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แปรค่าได้จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในทำนองเดียวกันหากสรรพสิ่งไม่แปรเปลี่ยนก็ย่อมทำให้หมดความสงสัยในสิ่งนั้น   ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ตราบใดที่สรรพสิ่งแปรเปลี่ยนค่าได้หรือยังมีสภาพเป็นตัวแปรนั้น  เราก็ยังสงสัยในตัวแปรหรือสิ่งที่แปรค่าอยู่ร่ำไป จึงกล่าวได้ว่า  การวิจัย ก็คือ การค้นหาความจริงเกี่ยวกับตัวแปร

                จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า  ตัวแปร หมายถึง คุณลักษณะหรือสิ่งที่เราต้องการศึกษา ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการศึกษา  เช่นถ้าเป็นบุคคล ตัวแปรก็คือคุณลักษณะที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละบุคคล ได้แก่ ความสูง, รายได้, การนับถือศาสนา, อายุ เป็นต้น

       ประเภทของตัวแปร

                ตัวแปรในการวิจัยมีอย่างหลากหลาย บางตัวแปรมีหลายชื่อเรียกแม้จะเป็นสิ่งเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทหรือสถานการณ์การวิจัยว่าเป็นการวิจัยประเภทใด  ตัวแปรในการวิจัยประกอบด้วย

                1. Active variable (ตัวแปรกระทำ)  เป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยสามารถกำหนดให้กับผู้รับการทดลองได้เช่น วิธีสอน การจัดสอนซ่อมเสริม การจัดสภาพห้องเรียนและอื่น ๆ เป็นต้น มักใช้ในการวิจัยเชิงทดลอง

                2. Treatment variable (ตัวแปรเงื่อนไขกระทำ) เป็นสิ่งเดียวกับตัวแปรจัดกระทำและตัวแปรกระทำ ซึ่งเป็นชื่อเรียกในงานวิจัยเชิงทดลองโดยเฉพาะ  ตัวแปรนี้ก็คือ เงื่อนไขของการทดลองที่นักวิจัยสร้างขึ้นนั่นเอง

                3. Manipulate variable (ตัวแปรจัดกระทำ) หมายถึง ตัวแปรที่เป็นเงื่อนไขที่ผู้วิจัยจงใจตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการทดลอง และเพื่อสังเกตผลจากการใช้เงื่อนไขดังกล่าว  ดังนั้นตัวแปรจัดกระทำก็คือ ตัวแปรต้น หรือตัวแปรกระทำ หรือตัวแปรทดลอง นั่นเอง

                4. Experimental variable (ตัวแปรทดลอง) หมายถึง  สิ่งที่ผู้วิจัยจงใจสร้างเป็นเงื่อนไขการทดลองให้กับสิ่งที่จะได้รับการทดลอง เพื่อพิจารณาว่าการให้เงื่อนไขดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง ตัวแปรทดลองนี้ใช้เรียกเฉพาะในงานวิจัยเชิงทดลองเท่านั้น

                5. Cause variable (ตัวแปรสาเหตุ) หมายถึง  ตัวแปรที่ผู้วิจัยคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอีกตัวแปรหนึ่ง  ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) ตัวแปรสาเหตุก็คือ เงื่อนไขที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  หากเป็นงานวิจัยที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เส้นทาง (Path analysis) ตัวแปรสาเหตุก็คือตัวแปรที่อยู่ตรงโคนลูกศรนั่นเอง

                6. Effect variable (ตัวแปรผล)  หมายถึง  ตัวแปรที่เปลี่ยนค่าไปตามตัวแปรสาเหตุ มักใช้เรียกในงานวิจัยเชิงทดลองแต่ถ้าเป็นงานวิจัยที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เส้นทาง ตัวแปรผลก็คือ ตัวแปรที่อยู่ปลายลูกศรนั่นเอง

                7. Independent variable (ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ)  ตัวแปรที่ทำให้ตัวแปรอื่น (ตัวแปรตาม) มีค่าเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลอง ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระก็คือตัวแปรทดลองหรือตัวแปรกระทำและเปรียบได้กับตัวแปรสาเหตุในงานวิจัยที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เส้นทางนั่นเอง

                8. Dependent variable (ตัวแปรตาม)  หมายถึง  ตัวแปรที่มีค่าแปรผันเนื่องจากอิทธิพลของตัวแปรอื่นๆ  เป็นตัวแปรที่จะมีความหมายก็ต่อเมื่อนำไปเข้าคู่สัมพันธ์กับตัวแปรอื่นๆ เช่น อาชีพกับรายได้  จะเห็นว่า  รายได้จะแปรผันมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับอาชีพนั้นๆ  ดังนั้น รายได้จึงถือเป็นตัวแปรตาม

                9. Stimulus variable (ตัวแปรสิ่งเร้า) หมายถึง  สิ่งที่เป็นเงื่อนไขใช้ในการกระตุ้นให้มนุษย์และสัตว์แสดงอาการตอบสนอง เพื่อให้นักวิจัยทำการสังเกตพฤติกรรม  โดยมากนิยมใช้กันในการวิจัยทางจิตวิทยา  ซึ่งก็คือสิ่งเดียวกับตัวแปรทดลองหรือตัวแปรสาเหตุในการวิจัยเชิงทดลองนั่นเอง

                10. Response variable (ตัวแปรตอบสนอง)  หมายถึง  พฤติกรรมที่แสดงออกมาเนื่องจากการได้รับการกระตุ้นโดยสิ่งเร้า (Stimulus) มักนิยมใช้เรียกแทนคำว่าตัวแปรตามหรือตัวแปรผลนั่นเอง ส่วนมากใช้ในงานวิจัยทางจิตวิทยา

                11. Categorical variable (ตัวแปรจัดกลุ่ม)  ตัวแปรที่มีค่าระดับการวัดอยู่ในระดับนามบัญญัติ (Nominal scale)  ซึ่งจะช่วยจัดหน่วยหรือสิ่งที่วิจัยออกเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะของสิ่งนั้น  บางครั้งเราเรียก ตัวแปรคุณภาพ (Qualitative variable)  เช่น  เพศ  อาชีพ เชื้อชาติ  ศาสนาที่นับถือ  เป็นต้น

                12. Nominal variable (ตัวแปรนามบัญญัติ)  หมายถึง  ตัวแปรจัดประเภทหรือตัวแปรจัดกลุ่ม (Categorical variable)  เป็นตัวแปรที่แบ่งตามชื่อหรือกลุ่มหรือประเภทของสิ่งของนั้นๆ  เช่น  กลุ่มเพศ แปรเป็น เพศชายและเพศหญิง  กลุ่มศาสนา  แปรเป็น  พุทธ  คริสต์  อิสลาม เป็นต้น

                13. Ordinal variable (ตัวแปรอันดับ)  เป็นตัวแปรที่แบ่งตามระดับของตัวแปรที่สามารถจัดลำดับได้  หรือทราบได้ชัดเจนว่าอะไรมากกว่า หรืออะไรเกิดก่อน  เช่น  ลำดับการเกิด (บุตรคนที่)  ระดับของข้าราชการ (ซี 1 ,2,3 ) เป็นต้น

                14. Interval variable (ตัวแปรอันตรภาคชั้น)  เป็นตัวแปรที่เกิดจากการวัดแบบอันตรภาคชั้น คือ การวัดที่เริ่มจากศูนย์สมมุติ (Arbitrary zero) เช่น  การวัดอุณหภูมิ  ศูนย์สมมุติก็คือระดับที่สสารยังมีปริมาณความร้อนอยู่แต่ถูกสมมุติให้เป็นศูนย์องศา   หรือ คะแนนสอบ  ถ้านักเรียนสอบได้ศูนย์คะแนน มิได้หมายความว่านักเรียนคนนั้นไม่มีความรู้ แต่ถูกสมมุติว่าถ้าสอบไม่ได้เลยให้ถือเป็นระดับศูนย์

                15. Dichotomous variable  (ตัวแปรแบ่งสอง/ตัวแปรทวิ)  เป็นตัวแปรจัดกลุ่มหรือตัวแปรขาดช่วงที่มีการแปรค่าได้เพียงสองค่า  เช่น  เพศ (ชาย,หญิง)  ผลการสอบ (ผ่าน,ไม่ผ่าน) เป็นต้น

                16. Polychotomous variable  (ตัวแปรพหุ)  เป็นตัวแปรที่สามารถแปรค่าได้หลายระดับ  เช่น  ศาสนา (พุทธ, คริสต์, อิสลาม, อื่นๆ)  อาชีพ (รับราชการ, รับจ้าง, หมอ, พยาบาล,...) เป็นต้น

                17. Discrete variable  (ตัวแปรขาดช่วง/ตัวแปรไม่ต่อเนื่อง)  เป็นตัวแปรเชิงปริมาณที่มีค่าเฉพาะตัวของมัน แยกออกจากกันเด็ดขาด  วัดค่าเป็นจำนวนเต็ม  เช่น  จำนวนคน  ลำดับการเกิด  จำนวนหนังสือ  เป็นต้น 

                18. Continuous variable  (ตัวแปรต่อเนื่อง) คือ ตัวแปรที่มีค่าต่อเนื่องกันตลอด เช่น ความสูง  รายได้  คะแนนสอบ  ส่วนสูง  น้ำหนัก  ค่าของตัวแปรเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเลขเต็มหน่วยพอดีอาจเป็นทศนิยมหรือเป็นเศษส่วนได้ 

                19. Component variable  (ตัวแปรประกอบ)  หมายถึง  ตัวแปรใหญ่ที่เป็นตัวแทนตัวแปรย่อยทั้งหลาย  เช่น  ฐานะทางสังคม เป็นตัวแปรประกอบ โดยมีตัวแปรย่อยต่างๆ ประกอบกัน คือ รายได้ ระดับการศึกษา อาชีพ เป็นต้น

                20. Construct variable (Non – observable or latent variable)  (ตัวแปรโครงสร้าง/ตัวแปรภาวะสันนิษฐาน/ตัวแปรที่สังเกตไม่ได้)  เป็นตัวแปรที่สร้างขึ้นจากทฤษฎีหรือสมมุติฐานทางจิตวิทยา มักเป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางสมองของมนุษย์  เช่น  สติปัญญา  ความเป็นครู  ความคิดสร้างสรรค์  เป็นต้น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการนิยามศัพท์ให้ชัดเจนเพื่อสื่อถึงสิ่งที่สามารถจะวัดและสังเกตได้

                21. Latent variable  (ตัวแปรแฝง)  คือ ตัวแปรที่อยู่ในตัวของมนุษย์ที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง  บางครั้งเรียกว่า ตัวแปรโครงสร้าง  เมื่อจะทำการศึกษาต้องอาศัยการสร้างนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ (Operational definition) เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน  เช่น  สติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์  ความคิดสร้างสรรค์  แรงจูงใจ  เป็นต้น

                22. Observable variable  (ตัวแปรสังเกต)  คือ  ตัวแปรที่เราสามารถสังเกตได้โดยตรง หรือเป็นพฤติกรรมที่สังเกตหรือสิ่งที่ปรากฏภายนอก  เช่น ความตื่นเต้น ความเหนื่อยล้า  เป็นต้น

                23. Predictor variable (ตัวแปรทำนาย)  เป็นตัวแปรต้นในงานวิจัยที่ใช้เทคนิควิธีการทางสถิติวิเคราะห์ข้อมูลแบบการวิเคราะห์การถดถอย (Regression analysis) เช่น  ในการวิจัยผู้วิจัยต้องการศึกษาว่าตัวแปรใดบ้างที่จะทำนายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษได้  โดยนักวิจัยคัดเลือกตัวแปรกลุ่มหนึ่งประกอบด้วย ระดับการศึกษาของพ่อแม่  การเลี้ยงดูของครอบครัว  แรงจูงใจในการเรียน  และรายได้ครอบครัว  ซึ่งตัวแปรกลุ่มนี้ เรียกว่า เป็นตัวแปรทำนาย  และเรียก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ว่าเป็นตัวแปรถูกทำนาย

                24. Criterion variable (ตัวแปรเกณฑ์)  คือ  ตัวแปรหลักที่งานวิจัยนั้นสนใจที่จะทำ เช่น กระบวนการ 

                25. Distorter variable (ตัวแปรดัน/ตัวแปรบิดเบือน)  หมายถึง ตัวแปรที่ส่งผลร่วมต่อตัวแปรที่ศึกษาให้มีค่าความสัมพันธ์สูงกว่าที่เป็นจริง

                26. Suppressor variable (ตัวแปรกด)  เป็นตัวแปรแทรกซ้อนที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับตัวแปรดัน กล่าวคือ  ตัวแปรกดจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตามที่เราต้องการศึกษานั้นไม่ปรากฏหรือไม่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งๆ ที่จริงแล้วตัวแปรทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน

                27. Extraneous variable  (ตัวแปรแทรกซ้อน)  หมายถึง  ตัวแปรที่ส่งผลรวมต่อตัวแปรที่เราศึกษา   โดยที่เราไม่ได้ควบคุมหรือขจัดออกจนทำให้มีผลต่อตัวแปรที่เราศึกษา  ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็สามารถจัดกระทำหรือควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนนี้ไม่ให้มีผลต่อตัวแปรที่เราศึกษาก็ได้ ยกตัวอย่าง สมมุติเราต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษากับรายได้ ผลพบว่า มีความสัมพันธ์กัน (ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่มีความสัมพันธ์กัน) แต่ภายหลังเราควบคุมแหล่งที่อยู่ (ในเมืองกับชนบท) จากนั้นแยกพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในแหล่งเดียวกัน พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษากับรายได้  ลักษณะเช่นนี้ แหล่งที่อยู่จัดเป็นตัวแปรแทรกซ้อน

                28. Intervening variable  (ตัวแปรสอดแทรก)  เป็นตัวแปรที่ร่วมกับตัวแปรต้นที่ส่งผลให้ตัวแปรตามที่ศึกษามีค่าเปลี่ยนแปลงผิดไป  เป็นตัวแปรที่ไม่สามารถรู้ได้ จัดกระทำ  วัดและสังเกตไม่ได้ เช่น  ความเครียด วิตกกังวล เป็นต้น

                29. Moderator variable  (ตัวแปรกลาง)  เป็นตัวแปรแทรกซ้อนที่ผู้วิจัยสามารถควบคุมไม่ให้ส่งผลร่วมกับตัวแปรต้นที่มีต่อตัวแปรตามได้ หรืออาจจะนำเข้าเป็นมาเป็นตัวแปรต้นอีกตัวหนึ่งแล้วทำการศึกษาตัวแปรนี้  เช่น  การทดลองใช้ยารักษาโรค  ผู้ทดลองแบ่งกลุ่มผู้รับยาตามกลุ่มกรุ๊ปเลือด  พร้อมทั้งสังเกตผลการใช้ยา  กรณีนี้  ยาเป็นตัวแปรจัดกระทำ (ตัวแปรทดลอง) ผลของการใช้ยา เป็นตัวแปรผล (ตัวแปรตาม)  ส่วนกรุ๊ปเลือดนั้นเป็นตัวแปรกลาง

                30. Nuisance variable  (ตัวแปรรบกวน)  เป็นชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของตัวแปรสอดแทรกนั่นเอง

                31. Organismic variable  (ตัวแปรอินทรีย์)  เป็นชื่อเรียกตัวแปรที่เป็นสิ่งเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลที่มีติดตัวได้มาตั้งแต่กำเนิดและเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวบุคคล  เช่น  เพศ  สีผิว กรุ๊ปเลือด แรงจูงใจ  ความวิตกกังวล  เป็นต้น

                32. Antecedent variable  (ตัวแปรนำ)  เป็นตัวแปรที่เกิดขึ้นก่อนตัวแปรที่ผู้วิจัยศึกษา (ตัวแปรต้นและตัวแปรตาม)  โดยที่ถ้าผู้วิจัยไม่ได้ควบคุมตัวแปรนี้ก็อาจทำให้การตีความผลการวิจัยผิดพลาดได้  เช่น  ผู้วิจัยต้องการใช้วิธีสอนเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  แต่นักเรียนมีพื้นฐานแรงจูงใจในรายวิชานั้นแตกต่างกัน  ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนออกมาแตกต่างกัน  ซึ่งถือว่าพื้นฐานแรงจูงใจในการเรียนเป็นตัวแปรนำที่มีต่อบทบาทวิธีสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

                33. Dummy variable  (ตัวแปรหุ่น)  เป็นตัวแปรที่นักวิจัยสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ  โดยกำหนดตัวเลขให้กับตัวแปรจัดกลุ่มหรือตัวแปรขาดช่วง  เช่น  ตัวแปรเพศ ถ้าเป็นเพศชายให้ 0  และเพศหญิงให้ 1  ซึ่ง 0  และ 1  ในที่นี้เป็นตัวเลขที่มีคุณสมบัติเป็นเพียงระดับการวัดนามบัญญัติเท่านั้น

                34. Ratio variable (ตัวแปรอัตราส่วน)  เป็นตัวแปรที่เกิดจากระดับการวัดที่มีศูนย์แท้ (Absolute zero) และ 1  หน่วยใดๆ มีค่าเท่ากันหมด เช่น  ความสูง  ความเร็วรถ  เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #การวิจัย#ตัวแปร
หมายเลขบันทึก: 374368เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

จริง ๆ แล้วคนที่เรียนและทำวิจัยส่วนใจ ก็รู้และตระหนักถึงความสำคัญของตัวแปรในการทำวิจัย แต่พอได้เรียนและอ่านจากบล็อกความรู้นี้แล้วก็ทำให้ทราบว่ามีตัวแปรในการทำวิจัยเยอะมาก ๆ และเข้าใจเรื่องตัวแปรกับการวิจัยมากขึ้น

จริง ๆ แล้วคนที่เรียนและทำวิจัยส่วนใจ ก็รู้และตระหนักถึงความสำคัญของตัวแปรในการทำวิจัย แต่พอได้เรียนและอ่านจากบล็อกความรู้นี้แล้วก็ทำให้ทราบว่ามีตัวแปรในการทำวิจัยเยอะมาก ๆ และเข้าใจเรื่องตัวแปรกับการวิจัยมากขึ้น

ในการวิจัยมีตัวแปรมากมาย พออ่านบล็อกความรู้นี้แล้ว ทำให้รู้สึกว่า ผู้เขียนสามารถสรุปความรู้เกี่ยวกับตัวแปรที่เราใช้ในการวิจัยได้ชัดเจน มีตัวอย่างประกอบ ทำให้เข้าใจมากขึ้น ขอบคุณมากสำหรับการแบ่งปันความรู้ครับ

เยอะมากเลย แต่ก็เข้าใจแล้วครับเมื่อนอ่าน แล้วถ้าเราจัดหมวดหมู่ใหม่จะแบ่งตัวแปรเป็นกี่ประเภทคครับ

อ่านแล้วเข้าใจตัวแปรในการวิจัยมากขึ้น บางทีเจอคำศัพท์เกี่ยวกับตัวแปรการวิจัย แต่ไม่รู้ว่าเป็นตัวแปรอะไร อธิบายตัวแปรได้ชัดเจนยิ่งมีตัวอย่างประกอบ เข้าใจจริงๆ ค่ะ ขอบคุณมากนะค่ะ

แนแล้วทำให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้นเลยครับพี่

*อ่านแล้วทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเลยครับพี่

(รีบพิมพ์ไปหน่อยผิดเลย)

ดีมากที่เสนอตัวอย่าง ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

อรุณี

เยอะมากๆเลย หลังจากเราแยกชนิดของตัวแปรได้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจะเชื่อมโยงยังไงในการสรุปผลอ่ะครับ ในทางปฎิบัติต้องนำไปใช้ย่างไรตรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท