ภควัทคีตา : บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า


แก่นปรัชญาในคัมภีร์มหาภารตยุทธ

 

       ศรีมัทภควัทคีตา  : บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า

                        เรียบเรียงจากงานของ 

           ศาสตราจารย์  ร.ต.ท. แสง  มนวิทูร  และ 

      ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์  ทองประเสริฐ  ราชบัณฑิต

บทเกริ่นนำ

            ภควัทคีตาเป็นบทที่กล่าวถึงแก่นปรัชญาของฮินดู  ซึ่งแทรกอยู่ในคัมภีร์มหากาพย์ มหาภารตยุทธ  เป็นวรรณกรรมที่บรรยายถึงสงครามครั้งประวัติศาสตร์ของภารตประเทศ(อินเดีย)  เป็นสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะซึ่งนำโดยพระกฤษณะและอรชุนแห่งราชวงศ์ปาณฑป  และฝ่ายอธรรมที่นำโดยทุรโยชน์แห่งราชวงศ์ธฤตราษร์  ท่ามกลางสมรภูมิรบแห่งทุ่งกุรุเกษตร  ความน่าสนใจที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดแก่นปรัชญาสำคัญของฮินดูก็คือ  ทั้งสองราชวงค์ต่างเป็นญาติพี่น้องกันแต่ต้องต่อสู้เพื่อชิงความเป็นใหญ่ในภารตประเทศ  ฝ่ายหนึ่ง(ทุรโยชน์)รบเพื่อต้องการความเป็นใหญ่  แต่อีกฝ่าย(กฤษณะและอรชุน)รบเพื่อปกป้องประเทศของตนเอง   ความหนักใจเกิดขึ้นแก่อรชุนที่ต้องฆ่าฟันญาติพี่น้องของตนเอง        แต่พระกฤษณะได้กล่าวหลักปรัชญาที่เรียกว่า “นิสกามกรรม”  หรือ การกระทำที่ปราศจากความปราถนา  เพื่อปลุกใจให้อรชุนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อผดุงความเป็นธรรมและความดีงาม

 

ท้าวอรชุนตรัสว่า

            กฤษณะ  เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นญาติอันเตรียมพร้อมและกระหายรบ  แขนขาข้าพเจ้าอ่อน  ปากแห้ง ตัวสั่น ขนก็ลุกชัน  ธนูหลุดจากมือ  ผิวหนังร้อนผ่าว  ไม่อาจยืนอยู่ได้  ทั้งใจก็หมุนเวียนไปหมด

            โอ้ ท่านเกศวะ ข้าพเจ้าได้เห็นลางอันวิปริต  ทั้งมองไม่เห็นทางดีเสียเลย  ในการที่จะประหารญาติพี่น้อง พวกพ้องในศึกนี้  กฤษณะเอ๋ย  ข้าพเจ้าไม่หวังความชนะ ไม่ประสงค์ราชสมบัติและความสุข 

            อาจารย์ บิดา  บุตร  ตลอดจนปู่ ลุง พ่อตา หลาน น้องเขยและญาติอื่น ๆ  เหล่านี้ข้าพเจ้าไม่ปราถนาจะฆ่า  แม้ข้าพเจ้าจะถูกฆ่ามธุสูทนเอ๋ย  แม้เพื่อจะได้เสวยราชย์  ทั้งสามโลก  ก็ดังนั้นเราจะทำเพื่อโลกทำไม

            การฆ่าพวกวงศ์ ธฤตราษฏร์เหล่านี้แล้วความอิ่มใจอะไรจะมีต่อมีเราหนา  บาปเป็นแน่ต้องเกาะข้าพเจ้า  แม้จะฆ่าผู้ต่อสู้ที่หวังเอาชีวิตข้าพเจ้า  ฉะนั้น ไม่เป็นการเหมาะสมเลยที่จะฆ่าวงศ์วานของธฤตราษฏร์ ญาติของเรา  เพราะว่าเมื่อเราฆ่าญาติของเราแล้วจะเป็นคนมีความสุขอย่างไรหนาท่านมาธพ  ถึงแม้ว่าพวกเหล่านี้มีใจอันความโลภครอบงำจนไม่เห็นโทษในการทำลายตระกูล และทำการอันโหดร้ายต่อเพื่อน

            โธ่! โธ่! นี่เรากำลังจะทำบาปอันใหญ่หลวง  เจตนาจะฆ่าญาติของเรา  ด้วยละโมภที่จะเสวยราชสมบัติและราชัยสุขของคนทั้งหลาย  เขาทั้งหลายเหล่านั้นอยู่ต่อหน้าแล้ว  หากบุตรธฤตราษฏร์มีอาวุธในมือ  บังอาจฆ่าข้าพเจ้าผู้จะไม่ขัดขวางไม่มีอาวุธเสียในสงครามนี้  ก็จะยังให้ข้าพเจ้าเป็นสุขกว่า

 

   เมื่อได้ตรัส ณ สนามรบดังนั้นแล้ว  ท้าวอรชุนก็ทิ้งพระกายบนรถที่นั่ง  ปัดธนูและศรออกไป  หัวใจของท้าวเธอท้วมท้นด้วยความโศก 

 

   เพื่อให้อรชุน ผู้มีความสงสารซาบซึ้ง เนตรเปี่ยมด้วยอัสสุชล  และท้อถอยเช่นนั้นได้มีกำลังใจ  พระกฤษณะได้ตรัสท้วงขึ้นว่า

 

            ไฉนจึงอ่อนแอไปดังนี้อรชุน!  ซึ่งมันเป็นลักษณะของผู้โฉดเขลา  มันตัดทางสวรรค์ของท่าน และทำให้ท่านเสียชื่อเสียงมิใช่หรือ  อย่าไปหาความไม่ใช่ลูกผู้ชายสิ  มันไม่สมกับท่าน จงปัดความอ่อนแออันเลวทรามของหัวใจเสียแล้วยืนขึ้นเถิดอรชุน

 

อรชุนตรัสตอบว่า

            ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลยว่า อะไรจะมาปัดเป่าความโศก  อันทำให้อินทรีย์เหือดแห้งนี้ได้  แม้จะได้ปกครองแผ่นดินอันกว้าง  ราชอาณาจักร อันไม่มีใครเปรียบ

 

พระกฤษณะได้ตรัสแก่ท้าวเธอผู้ซึ่งระทมโศกในท่ามกลางระหว่างกองทัพทั้งสองด้วยถ้อยคำเหล่านี้

            พระองค์กำลังโศกถึงผู้ที่ไม่ควรโศกถึง  และยังตรัสถ้อยคำอันหลักแหลม  แต่ก็ไม่ได้ทราบความหมายอันลึกซึ้งแห่งถ้อยคำนั้น  บัณฑิตย่อมไม่เสียใจถึงสิ่งที่มีชีวิตอยู่และสิ่งที่ตายไปแล้ว

             แน่ะท่านบุรุษผู้เลิศ  ธีรชนผู้ไม่มีความหวั่นไหวในอารมณ์  มีความสม่ำเสมอในสุขและทุกข์นั้น  ย่อมเหมาะแก่ความเป็นอมฤต 

            สภาวะจิตที่อยู่ในร่างกาย  เป็นสภาพเที่ยงแท้ ไม่พินาศ อยู่เหนือการพิสูจน์  อาศัยอยู่ในร่างกายซึ่งเป็นสิ่งมีที่สุด  ฉะนั้นใครนึกเอาว่า  ตัวเรานี้เป็นผู้ฆ่า  และคิดเอาว่าตัวเรานี้เป็นผู้ถูกฆ่า  คนนั้นเป็นคนที่ไม่รู้ความจริง  ตัวเรานี้ไม่ได้ฆ่าใคร  และไม่ถูกใครฆ่า 

            บุคคลที่รู้จักสิ่งนี้อันไม่เกิด ไม่สูญ ไม่อาจถูกทำลาย  และเที่ยงแท้  จะถูกฆ่าหรือถูกใครฆ่าได้อย่างไร   เหมือนคนถอดเครื่องนุ่งห่มอันเก่าเสีย  สวมชุดอื่นซึ่งเป็นชุดใหม่ฉันใด  สภาวะจิตที่อาศัยร่างกายก็ฉันนั้น  ทิ้งร่างเก่าเสียแล้วเข้าสู่ร่างอื่นอันเป็นร่างใหม่

            พิจารณาหน้าที่โดยตรงของท่านสิ  ท่านไม่ควรจะหวั่นไหว  เพราะในนามกษัตริย์ไม่มีอะไรจะดีกว่าสงครามที่เป็นธรรม  กษัตริย์ผู้เป็นสุข  ย่อมได้สงครามที่บังเอิญมาถึงอย่างนี้  และนับได้ว่าเป็นการเปิดประตูสวรรค์  หากว่าท่านจักไม่ทำสงครามอันเป็นธรรมเช่นนี้ไซร้  ท่านก็จะละหน้าที่โดยตรงของท่าน  และเกียรติยศของท่านก็จะเสื่อมเสีย  และมหาชนก็จะป่าวประกาศความเสียชื่อเสียงของท่านอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และความเสื่อมเสียชื่อเสียงจะร้ายยิ่งกว่าความตายสำหรับผู้มีกำเนิดสูงเช่นท่าน

            จงทำสงครามเถิด  หากท่านถูกฆ่าท่านก็จะได้เสวยสวรรค์  ถ้าชนะก็จะได้ครองแผ่นดินโลก  ฉะนั้นจงลุกขึ้นตั้งใจที่จะรบเถิด  จงทำใจให้สม่ำเสมอในสุขและทุกข์  ลาภและเสื่อมลาภ  ความชนะและความพ่ายแพ้  ฉะนั้นจงเตรียมพร้อมทำศึก  แล้วท่านจะไม่เป็นบาป

 

จากนั้นพระกษณะได้แสดงแก่นปรัชญาว่าด้วยกรรมที่เรียกว่า “นิสกามกรรม” แปลว่า การกระทำที่ปราศจากความปราถนา  หรือการทำกรรมโดยไม่หวังผล

 

            แต่ไหนแต่ไรมาแล้วไม่มีใครเลยที่จะอยู่ได้แม้แต่ชั่วขณะโดยไม่กระทำอะไร  เพราะทุก ๆ คนย่อมถูกคุณอันเกิดจากประกฤติบังคับให้กระทำกรรม

           อรชุน ผู้ใดข่มประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ด้วยใจปรารภหลักปฏิบัติ  โดยไม่ประสงค์ผล  ผู้นั้นจัดเป็นคนชั้นพิเศษ

            ท่านจงซัดกรรมทั้งปวงลงในธรรมด้วยสมาธิจิต  เป็นผู้ปราศจากความหวัง  ไม่มีมมังการ  ไม่มีความเศร้าโศก แล้วจงรบเถิด

            ควันบังไฟ  ฝ้าบังแว่นส่อง รกหุ้มทารกในครรภ์ฉันใด  กามและโกรธนั้นมันย่อมปกปิดญาณคือความรู้ไว้ฉันนั้น

            ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า  อินทรีย์ทั้งหลายเป็นสิ่งประเสริฐ  ใจประเสริฐกว่าอินทรีย์  แต่ปัญญายังประเสริฐกว่าใจ  ส่วนที่ประเสริฐกว่าปัญญานั้นคือ โมกษะ

            ผู้ใดเห็นอกรรมในกรรมและเห็นกรรมในอกรรม  ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีปัญญาในหมู่มนุษย์ด้วยกัน  เป็นผู้มีสมาธิ  และได้กระทำกรรมทั่วถ้วนแล้ว

            ผู้ใดปรารภกรรมทั้งปวงแต่เว้นความประสงค์ในกาม  เขาเป็นผู้เผากรรมเสียด้วยไฟ คือ ญาณ  ผู้รู้เรียกเขาว่า บัณฑิต

            ผู้มีศรัทธา  ผู้มุ่งเฉพาะคุณธรรม  มีอินทรีย์อันสำรวมแล้วย่อมได้รับญาณ  เมื่อได้รับญาณแล้ว  ย่อมเที่ยงที่จะถึงศานติอันประเสริฐในไม่ช้า

            อรชุน  ผู้ที่สลัดกรรมด้วยโยคะ  ผู้ที่ตัดความสงสัยด้วยญาณ และผู้ที่ดำรงมั่นอยู่ในธรรม  วิบากกรรมทั้งหลายย่อมไม่เกาะเกี่ยวได้เลย

            เพราะฉะนั้น  ท่านจงบำเพ็ญโยคะ (ประกอบกรรมดี)  ตัดความสงสัยประจำจิตที่เกิดจากอัญญาณนี้เสียด้วยดาบคือญาณของตน จงตื่น ลุกขึ้นเถิด ภารต!

 

หมายเลขบันทึก: 374231เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นอมตะนิยายที่มีอายุยืนยาว และแฝงคำสอนได้อย่างน่าอัศจรรย์ อนุโมทนาโยมบรรพต ที่แบ่งปันมา

เรียน พระอาจารย์

มหากาพย์ มหาภารตยุทธ ไม่ใช่นวนิยายหรือเรื่องเล่าธรรมดา แต่เป็นพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ของการก่อกำเนิดประเทศอินเดียในสมัยโบราณ ชาวอินเดียจะเรียกประเทศตัวเองว่า ภารตประเทศ เรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ต่อมาถูกดัดแปลงและแต่งเติมโดยกวีและนักปราญ์ในยุคหลังทำให้มีความพิสดารและอลังการแทบกลายเป็นเทพนิยายไป

อย่างที่ผมเกริ่นเอาไว้ แก่นของเรื่องอยู่ที่บรรพที่ชื่อว่า ภควัทคีตา ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างพระกฤษณะและอรชุน เป็นหลักคำสอนว่าด้วยเรื่องญาณ ภักติ และโยคะ(กรรม) ของศาสนาฮินดู

อาจารย์ ดร.ภิญโญ ครับ นี้เป็นภูมิปัญญาตะวันออกอย่างแท้จริง ซึ่งในอดีตเคยเป็นกระแสหลักทางความคิดของสังคมไทย แต่ปัจจุบันเราถูกยึดพื้นที่โดยแนวความคิดตะวันตก แต่ผมก้ยังมองว่าภูมิปัญญาตะวันออกมีประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนา ยิ่งเรื่องกฏแห่งกรรมแล้วพุทธปรัชญาสุดยอดกว่านี้อีกครับ

อย่างไรก็ตามการนำเสนอปรัชญาและหลักคำสอนของศาสนาอื่น ๆ ก็เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ของพวกเราชาวพุทธ หรืออาจจะเป็นการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ ไม่ใช่เพื่ออวดว่าของใครดีกว่ากัน แต่เพื่อแสวงหาสิ่งดี ๆ ในทัศนะของศาสนาต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน และเพื่อปรับมาประยุกต์ใช้ในสิ่งที่เราเห็นว่าดีงาม และน่าสนใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท