อนงค์นาถ
นาง อนงค์นาถ อนงค์นาถ ศูนย์ศร

ความรู้สึกผิดที่อยากขอโทษ


เมื่อครั้งทำงานเป็น “คุณหมอ” ของชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล

สถานีอนามัยบ้านคำยาง ต.ดงเหนือ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร

เป็นสถานีอนามัยที่ห่างไกลจากจังหวัดมากที่สุด ห่างจากตัวอำเภอเกือบ 30 กิโลเมตร สถานที่ทำงานแห่งแรก...  เป็น “หมออนามัย”  ข้าราชการเล็ก ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ภาษาของคนสมัยใหม่น่าจะเรียกว่า “ระดับรากหญ้า”   

แต่หน้าที่รับผิดชอบนั้นแสนยิ่งใหญ่ ต้องรับผิดชอบกว่า 10 หมู่บ้าน ประชากรหลายพันคน... ทางลูกรัง ไม่มีไฟฟ้าใช้  ต้องปั่นจักรยานไปเยี่ยมผู้ป่วยตามหมู่บ้าน  หลังเลิกงานต้องไปตักน้ำ หาบน้ำมาจากบ่อเอง  ใช้ชีวิตแบบพื้นบ้านเหมือนที่ผ่านมาในวัยเด็ก... แม้อยู่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ  แต่ก็ทำงานด้วยความสุข  แม้จะไม่ใช่หมอแต่ชาวบ้านก็ให้เกียรติ ให้ความนับถือ ให้ความเป็นกันเอง ดูแลเหมือนลูกหลาน  บรรยากาศความรู้สึกที่อบอุ่นเหล่านั้นยังอยู่ในความทรงจำเสมอ... ฝากคำขอบคุณผ่านบันทึกนี้ไปยังมวลเพื่อน พี่ ป้า น้า อา เหล่านั้นด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากถามบุคคลคนหนึ่ง ที่ถูกมีดบาดนิ้วมือและได้รับการเย็บแผลโดยหมออนามัยเมื่อ 25 – 26 ปีที่ผ่านมา  เราไม่รู้ผู้ปกครองบอกกับท่านเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นอย่างไร...วันนั้น ผู้ปกครองพาเด็กที่ถูกมีดบาดนิ้วมาหาที่สถานีอนามัย ถูกมีดบาดระดับใต้โคนเล็บเกือบถึงข้อนิ้วข้อที่ 1 ส่วนปลายนิ้วสีเขียวคล้ำเหลือหนังบาง ๆ ยึดอยู่เล็กน้อยจวนจะขาดออกจากกันเต็มที่แล้ว...  เราแนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาไปเย็บแผลที่โรงพยาบาล แต่ผู้ปกครองไม่มีรถที่จะพาไปและได้ขอร้องให้เย็บแผลให้  แม้จะไม่อยากทำแต่ก็ต้องยอม ตามคำขอร้องของผู้ปกครอง... แม้จะฉีดยาชาแล้วแต่เด็กน้อยก็ยังร้องให้และดิ้นสุดฤทธิ์ ผู้ปกครองก็ช่วยกันจับสุดแรงเช่นกัน  การเย็บแผลเป็นไปด้วยความยากลำบาก  วันรุ่งขึ้น วันที่ 2 วันที่ 3 ที่เรารอคอยการกลับมาล้างแผลของเด็กน้อยตามที่นัดกับผู้ปกครองไว้ แต่ว่างเปล่า... หลังจากนั้นอีกนานนับปี  ผู้ปกครองคนหนึ่งที่มารับบริการที่สถานีอนามัยพูดกับลูกอย่างอารมณ์ดีว่า “หนูมานี่ลูก มาสวัสดีคุณหมอหน่อย ไหนเอานิ้วมาให้คุณหมอดูหน่อยสิ” เรารู้สึกผิดมากกับภาพที่ได้เห็น...  แผลหายนิ้วติดกันเรียบดี แต่เล็บกลับหมุนไปอยู่ด้ายฝ่ามือ...  เรารู้ว่ามีส่วนทำให้ท่านเสียภาพลักษณ์.. เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น... บอกกับตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาว่า ถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือจะไม่บังคับ ไม่ฝืนอีกต่อไป... ที่ตัดสินใจในครั้งนั้น เป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความน้อยประสบการณ์ของเราเอง คิดแต่เพียงว่าถ้าไม่เย็บแผลโอกาสที่จะนิ้วกุดเป็นไปได้สูง เด็กผู้หญิงถ้านิ้วกุดคงรู้สึกเสียภาพลักษณ์ไม่น้อย จึงยอมที่จะเสี่ยงดีกว่าที่จะปล่อยไว้โดยธรรมชาติแบบนั้น   แต่นึกไม่ถึงว่าการที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือจะทำให้ผลงานออกมาไม่ดี และถ้าผิดรูป เสียภาพลักษณ์แล้วมันจะเป็นตราบาปในใจมากกว่า...

ณ เวลานี้เราอยากถามท่านว่า ระหว่างนิ้วที่เป็นอยู่แบบนี้ กับนิ้วกุดสั้นไปเกือบ  1 ข้อมือท่านพอใจอันไหนมากกว่ากัน.... หากท่านพอใจกับนิ้วที่เป็นอยู่ปัจจุบันเราดีใจด้วย  แต่ถ้าท่านเลือกที่จะมีนิ้วกุดดีกว่า เราก็ขอโทษ และอยากให้รับรู้เหตุผล (คำแก้ตัว)จากเราบ้างดังกล่าวข้างต้นด้วย  

หมายเลขบันทึก: 374145เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะพี่นาถ

เห็นบรรยากาศฉุกละหุกตอนเย็บแผล ก็มีโอกาสผิดพลาดได้ค่ะ

สวัสดีจ๊ะ อุ้ม

รูปใหม่ สีพูหวานแหว๋ว.. สวยมากจ้า ความผิดพลาดจากการทำงานบางครั้ง ถึงแม้ว่าผู้รับบริการจะไม่ติดใจ อาจเพราะความไม่รู้ หรือไม่อยากเรื่องมาก แต่มันก็เป็นตราบาปในใจเรา ที่ลบให้หายไปไม่ได้... คงเหมือนกับเด็กน้อยคนนั้น เห็นนิ้วตัวเองเมื่อไร เขาก็คงนึกถึงคนเย็บแผลเขาเมื่อนั้น

แม้ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้ แต่เมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่ทำแล้วจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เราไม่ควรลงมือทำสิ่งนั้นเลยใช่ไหม .... กรณีนี้ถ้าเราทำแผลปิดแผลแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปคงสบายใจกว่า เพราะการไม่ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามที่แนะนำคือสิ่งที่เขาเลือกเอง

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็นจ๊ะ

คิดถึงอุ้มเสมอ

  • มอบดอกราชาวดีสีเหลือง
  • แทนคำขอบคุณที่เข้าไปทักทายผมที่อาศรมก้ามกุ้งครับ
  • หวังว่าอาศรมของผมคงได้ต้อนรับคุณอีก...ตลอดไปนะครับ

  • มาขอบคุณครับคุณอนงค์นาถ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท