พระราชพิธีเคณฑะ


พิธีการของพราหมณ์ที่ทิ้งข่างเสี่ยงทายตามตำรับไตรเพท เป็นพิธีให้อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายห้ามการประทุษร้าย ไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยเสี่ยงทายเห็นว่า พระบารมีพระเจ้าแผ่นดินยังมากอยู่

๑.              แนวคิดและจุดมุ่งหมายของพระราชพิธี 

๑.๑       แนวคิด 

พระราชพิธีเคณฑะมีพื้นฐานแนวคิดของพราหมณ์ที่เสี่ยงตามตำราไตรเพท ได้แก่ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า และอิงคติพระพุทธศาสนาตลอดจนความเชื่อพื้นเมืองในเรื่องบุญญาบารมีของบุคคล โดยปฏิบัติสืบมาแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ยังมีการประกอบพระราชพิธีทิ้งข่างเสี่ยงทาย ซึ่งเป็นการดูศักดานุภาพของพระมหากษัตริย์และชะตาบ้านเมืองตามคติพราหมณ์ด้วย

 

๑.๒      จุดมุ่งหมาย

พระราชพิธีเคณฑะมีจุดมุ่งหมาย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่อาณาประชาราษฎร์อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายห้ามการประทุษร้าย ไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยทิ้งข่างเสี่ยงทายเห็นว่า พระมหากษัตริย์ หรือ พระเจ้าแผ่นดินยังมีพระบารมีอยู่มากในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข

 

๒.              ลักษณะเฉพาะและความน่าสนใจของพระราชพิธี

๒.๑       ลักษณะเฉพาะ

พระราชพิธีเคณฑะ หรือ ทิ้งข่างนี้ เป็นพิธีพราหมณ์ ไม่เกี่ยวข้องในการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าแผ่นดิน การทิ้งข่างเสี่ยงทายตามแบบพิธีพราหมณ์นั้นจะใช้ข่างทำด้วยทองนวโลหะขนาดเท่าผลแตงโม และใช้ชายสามคนในการชักสายทิ้งข่างให้หมุน โดยข่างนั้นเป็นสิ่งสมมติแทนพระอิศวร ช่วงของพิธีสั้น การพิธีเป็นการกระทำของพราหมณ์ฝ่ายเดียว คำทำนายจะออกมาดีหรือไม่ดีจะขึ้นอยู่กับความชำนาญของพนักงานทิ้งข่าง ซึ่งตามปกติจะซักซ้อมมาอย่างดี

 

๒.๒       ความน่าสนใจ

ความน่าสนใจของพระราชพิธีเคณฑะ หรือ ทิ้งข่างนี้ คือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่มีมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี อยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์ว่า พระราชพิธี นี้เป็นการจืด ไม่อัศจรรย์ ไม่เกี่ยวข้องในการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้ยกเลิกไป  ทำให้พระราชพิธีนี้จึงไม่มีการประกอบให้ได้เห็นแล้วในปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 374050เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท