พระราชกรณียกิจที่สำคัญและพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒


สมัยของพระองค์นับว่าเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี

๑.              พระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาลที่ ๒

                        ด้านการปกครอง

                        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการปกครองโดยยังคงรูปแบบการปกครองแบบเดิม  แต่มีการตั้งเจ้านายที่เป็นเชื้อพระวงศ์เข้าดูแลบริหารงานราชการตามหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพระคลัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้กำกับดูแล เป็นต้น ส่วนด้านการออกและปรับปรุงกฎหมายในการปกครองประเทศที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น ได้แก่ พระราชกำหนดสักเลก โดยพระองค์โปรดให้ดำเนินการสักเลกหมู่ใหม่ เปลี่ยนเป็นปีละ 3 เดือน ทำให้ไพร่สามารถประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายว่าด้วยสัญญาที่ดินรวมถึงพินัยกรรมว่าต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่สำคัญที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขึ้น คือ กฎหมายห้ามซื้อขายสูบฝิ่น

                        ด้านเศรษฐกิจ

                     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือการรวบรวมรายได้จาการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งในสมัยนี้ได้มีการเรียกเก็บภาษีอากรแบบใหม่คือ การเดินสวนและการเดินนา การเดินสวนเป็นการแต่งตั้งเจ้าพนักงานไปสำรวจพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร เพื่อคิดอัตราเสียภาษีอากรที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความยุติธรรมแก่เจ้าของสวน  ส่วนการเดินนาคล้ายกับการเดินสวน แต่ให้เก็บหางข้าวแทนแทนการเก็บภาษีอากร

                        ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ญวน เขมร มลายู จีน และประเทศในทวีปยุโป เช่น โปรตุเกส อังกฤษ โดยมีความสัมพัน์ในทางการเมืองและการค้า

                        ด้านสังคมและวัฒนธรรม

                        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนามาก ในรัชสมัยของพระองค์มีการส่งคณะสงฆ์ไปยังศรีลังกา  และพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ได้แก่ วัดแจ้ง และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดประจำรัชกาล และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดอีก คือ วัดท้ายตลาด และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพุทไธสวรรค์  รวมทั้งทรงจำหลักบานประตูพระวิหารศรีศาสกยมุนีที่วัดสุทัศน์ฯ อีกทั้งยังทรงปฏิสังขรณ์วัดหงส์รัตนาราม วัดหนัง วัดบวรมงคล วัดราชาธิวาส วัดราชบูรณะ และวัดโมลีโลกยาราม  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธธรณิศราชโลกนาถดิลก พระประธานในวัดอรุณฯ และทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระปฏิมา พระประธานในวัดราชสิทธาราม  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการแก้ไขปรับปรุงการสอนพระปริยัติธรรม  และโปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย รวมถึงซ่อมแซมพระไตรปิฎกฉบับที่ขาดหายไป

                        นอกจากนี้แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นพระราชต่างๆ ได้แก่ พระราชพิธีวิสาขบูชา ที่เคยทำในสมัยสุโขทัยให้กลับมามีความสำคัญอีก พระราชพิธีลงสรงและพระราชพิธีอาพาธพินาศ เมื่อเกิดอหิวาตกโลกระบาด

                        ด้านศิลปกรรมวรรณคดี

                        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสนพระทัยและทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกแขนง ได้แก่

 ด้านการช่าง  งานปั้นพระประธาน งานแกะสลับานประตู การสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง

ด้านการละคร ทรงฟื้นฟูการละคร โดยทรงให้มีการซ้อมท่ารำแบบแผนประกอบการแต่งบทพระราชนิพนธ์  การละครมีมาตรฐานในการรำ เพลง และบท เป็นแบบอย่างของละครสืบมา 

ด้านดนตรี ทรงมีความชำนาญในเครื่อดนตรี คือ ซอสามสาย และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง บุหลันลอยเลื่อน หรือบุหลันลอยฟ้า  ซึ่งเป็นเพลงที่มีความไพเราะมาก  นอกจากนี้ทรงริเริ่มให้มีการขับเสภาประกอบปี่พาทย์

ด้านวรรณคดี ทรงเป็นกวีที่มีพระปรีชาสามารถและทรงสนับสนุนกวี ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง นับว่าสมัยของพระองค์นี้เป็นยุคทองแห่งวรรณคดี

 

๒.              พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีลักษณะคำประพันธ์ทั้งที่เป็นกลอนบทละคร กาพย์ และกลอนสุภาพ โดยสามารถแยกตามประเภทของคำประพันธ์ได้ดังนี้

คำประพันธ์ที่เป็นกลอนบทละคร มีดังนี้คือ

๑)            บทละครเรื่องอิเหนา

๒)            บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระราชนิพนธ์ตอนหนุมานถวายแหวนถึงตอนทศกัณฐ์ล้ม และตอนบุตรลบ

๓)            บทละครนอกเรื่องไกรทอง ตั้งแต่ไกรทองอยู่ในถ้ำชาละวันจนกลับตามนางวิมาลาลงไปในถ้ำ

๔)            บทละครนอกเรื่องคาวี ตั้งแต่ท้าวสันนุราชได้ผอบผมถึงคาวีฆ่าไวยทัต

๕)            บทละครนอกเรื่องไชยเชษฐ์ ตั้งแต่ไชยเชษฐ์กลับมาจากไปตามช้านถึงพระไชยเชษฐ์กับนางสุวิญชาคืนดีกัน

๖)            บทละครนอกเรื่องมณีพิชัย ตั้งแต่งูขบนางจันทรถึงพระมณีพิชัยออกไปอยู่กับพราหมณ์ ที่ศาลาในป่า

๗)            บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตั้งแต่กำเนิดพระสังข์ถึงท้าวยศวิมลกับพระสังข์กลับจากเมืองสามนต์

๘)            บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ตั้งแต่พระสังข์ศิลป์ชัยตกเหวถึงท้าวเสนากุฎเข้าเมือง

ส่วนบทละครเรื่องอุณรุทนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำมาดัดแปลงแก้ไขเพื่อหัดหุ่นละครเล็ก

 

คำประพันธ์ที่เป็นกาพย์ มีดังนี้คือ

๑)               บทพากย์รามเกียรติ์ ทรงพระราชนิพนธ์ 5ตอน คือ  นางลอย นาคบาศ พรหมาสตร์ เอราวัณ และบทพากย์เบ็ดเตล็ดชมรถและม้า

๒)               รามเกียรติ์ตอนพระพิราพ

๓)              กาพย์เห่เรือ

 

คำประพันธ์ที่เป็นกลอนสุภาพ คือ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ ๔ ตอน ได้แก่   

                               ตอนที่ ๔ พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม

                                ตอนที่ ๑๓ นางวันทองหึงนางลาวทอง

                                ตอนที่ ๑๗ ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างได้นางแก้วกิริยา

                                ตอนที่ ๑๘ ขุนแผนพานางวันทองหนี

 

อ้างอิง

สิริวรรณ วงษ์ทัต.(มปป.) พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า

                      นภาลัย. ชลบุรี : มหาวิทยาลัยบูรพา.

หมายเลขบันทึก: 374047เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท