รายงานการศึกษางานวิจัย/วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต II


การวิจัย

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

              การดำเนินการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action  Research)  โดยมีขั้นตอนการดำเนินการวิจัย  ดังนี้

              1. ขั้นพัฒนาและนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กไปใช้ 

                  1.1  ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในขั้นตอนนี้  คือ

                    1) ผู้บริหารโรงเรียนและครูประจำชั้น รร.อนุบาลบ้านฝันดีจำนวนคน

                   2) เด็กปฐมวัยที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาล  ภาคต้น ปีการศึกษา 2550  จำนวน  26  คน

                  1.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ในตอนนี้ประกอบด้วยเครื่องมือ 2 ชนิด  คือ

                  1) แบบสัมภาษณ์ความต้องการของผู้บริหารโรงเรียนในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  โดยการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการในประเด็น  ดังนี้คือ  ความต้องการ  วิสัยทัศน์ในการพัฒนาหลักสูตร  สภาพการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนดำเนินการก่อนที่จะร่วมพัฒนาหลักสูตรกับผู้วิจัย  ตลอดจนข้อมูลทางกายภาพและความพร้อมของโรงเรียนในการพัฒนาหลักสูตร

                   2)  หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก  ประกอบด้วย จุดมุ่งหมายหลักสูตร  โครงสร้างหลักสูตร  คำอธิบายมวลประสบการณ์ชั้นอนุบาล  1-3  ประมวลการสอน  หน่วยการเรียนรู้  และมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของโรงเรียนอนุบาลบ้านฝันดี

             1.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล   ในขั้นพัฒนาและนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กไปใช้  ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูล  แบ่งออกเป็น  3  ขั้นตอน  ดังนี้

                   1.3.1 ขั้นเตรียมการพัฒนาหลักสูตร ผู้วิจัยได้ดำเนินการดังนี้  คือ

                    1)  ขั้นศึกษา วิเคราะห์  สังเคราะห์แนวคิด  ทฤษฎี  งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยของชาติตะวันตก  รูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยของชาติตะวันออก  หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของประเทศไทย  รูปแบบการจัดการศึกษาที่นำแนวคิดทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้  แนวคิดการพัฒนามนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของ Paiget  ทฤษฎีวัฒนธรรมเชิงสังคมของ  Vygotsky  และทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคมของ  Bandura  ผู้วิจัยได้แนวคิด  ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตร

                     2) ขั้นศึกษาสภาพของโรงเรียนอนุบาลบ้านฝันดีและความต้องการในการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน ผู้วิจัยเลือกโรงเรียนโดยวิธีแบบเจาะจง  คือ  โรงเรียนอนุบาลบ้านฝันดี  กรุงเทพมหานคร  โดยวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริหารโรงเรียนในการพัฒนาหลักสูตร ในประเด็นต่าง ๆ คือ ข้อมูลทั่วไปและลักษณ์ทางกายภาพของโรงเรียนความต้องการและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาหลักสูตร  สภาพการจัดการเรียนการสอน  การจัดกิจกรรมประจำวัน  สื่อ  อุปกรณ์การเรียน และการประเมินผลของโรงเรียนก่อนการพัฒนาหลักสูตร  และความพร้อมของโรงเรียนในการพัฒนาหลักสูตร  ซึ่งจาการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียน  ผู้วิจัย พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนมีความต้องการในการพัฒนาหลักสูตร  เนื่องจากเป็นโรงเรียนเปิดใหม่  มีแผนงานที่จะเปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล ปีที่  1-3  ในภาคปลาย  ปีการศึกษา  2549  แต่ยังไม่มีหลักสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  อีกทั้งผู้บริหารโรงเรียนมีแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสามารถพัฒนาเด็กให้มีทักษะการคิด  มีคุณธรรม  จริยธรรมและมีปัญญารู้เท่าทันการเปลี่ยนของสังคม  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของผู้วิจัย  และโรงเรียนมีความพร้อมและมีความยินดีจะให้ผู้วิจัยเข้าไปพัฒนาหลักสูตรให้แก่โรงเรียน  และจากการศึกษาข้อมูลทางกายภาพ  พบว่า  โรงเรียนอนุบาลบ้านฝันดีเป็นโรงเรียนอนุบาลขนาดเล็ก  มีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้าน  จัดการเรียนการสอนแบบคละอายุ  บริเวณที่โรงเรียนอยู่ในเขตชุมชนที่มีความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่ดี  ซึ่งสภาพแวดล้อมของโรงเรียนมีความสอดคล้องกับแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรของผู้วิจัย  

                  3)  ขั้นแนะนำตัวและสร้างความสัมพันธ์  ผู้วิจัยแนะนำตัว  ชี้แจงเกี่ยวกับการทำวิจัยต่อสถานศึกษา  และสร้างความคุ้นเคยกับผู้บริหาร  คณะครู  นักเรียนและผู้ปกครอง  โดยการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน  เช่น  กิจกรรมทัศนศึกษา  Family trip  การเข้าร่วมประชุมครูและผู้ปกครอง

                  1.3.2  ขั้นพัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก    ผู้วิจัย  ผู้บริหารโรงเรียน  และครูได้ดำเนินการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก  ในภาคปลาย  ปีการศึกษา  2549  โดยมีขั้นตอน  ดังนี้

                    1)  จัดประชุมผู้บริหารโรงเรียน  และครูระดับชั้นอนุบาลศึกษา  เพื่อนำเสนอแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐฒวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้

                    2)  จัดประชุมระดัมสมองเพื่อจัดทำมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของโรงเรียนอนุบาลบ้านฝันดี

                   3)  จัดประชุมระดมสมองผู้บริหาร  และครูระดับชั้นอนุบาลศึกษา เพื่อร่วมศึกษ  แสดงความคิดเห็น  วางแผน  พัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก  โดยจัดทำโครงสร้างหลักสูตร  คำอธิบายมวลประสบการณ์  ประมวลการสอน  หน่วยการเรียนรู้  ตลอดจนแบบประเมินผลในแต่ละหน่วยการเรียนรู้

                     4)  ให้กรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์  และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน  3  ท่าน  คือ  ผศ.ดร.ชลาธิป  สมาหิโต  นางสาวศิริพร  สัติเมทนีดล  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาปฐมวัย  และ ดร.นพเก้า    พัทลุง  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตรและการสอน ตรวจสอบดูความสอดคล้องตามแบบประเมินการออกแบบโครงสร้างหลักสูตร  รายวิชา  หน่วยการเรียนรู้  กิจกรรมการเรียนรู้  หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  นำข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง  3  ท่านมาหาค่า  IOC  (Index of Item Objective Congruence)  ได้ค่าความสอดคล้องทุกข้อเท่ากับ  1.00  ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง  3  ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม  ซึ่งผู้วิจัยได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไข  และจัดทำออกมาเป็นหลักสูตรเพื่อนำไปใช้

                  1.3.3  ขั้นนำหลักสูตรไปใช้  ผู้วิจัยได้ดำเนินการ  ดังนี้  คือ

                         1) ขั้นเตรียมการก่อนนำหลักสูตรไปใช้  ผู้วิจัย  ผู้บริหารโรงเรียน  และครูได้มีการเตรียมการก่อนนำหลักหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กไปทดลองใช้ในภาคต้น  ปีการศึกษา  2550  โดยการจัดประชุมและปฐมนเทศผู้ปกครอง  จัดประชุมผู้บริหารโรงเรียนและครู  จัดเตรียมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้  ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของครูและเด็ก  และการจัดตารางกิจกรรมประจำวัน

                           2) ขั้นนำหลักสูตรไปใช้  ผู้วิจัย  ผู้บริหารโรงเรียน  และครูได้นำหลักสูตรไปใช้ในภาคต้น  ปีการศึกษา  2550  นี้  จำนวน  1  ห้องเรียน  ในระดับเตรียมอนุบาล อนุบาล  3  จำนวนเด็กทั้งสิ้น  26  คน  มีอายุระหว่าง  2.8 – 5.8 ปี  (นับถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2550) โดยนำหลักสูตรไปใช้  2  ส่วน คือ  การนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหน่วยการเรียน  และการนำหลักสูตรไปใช้ในกิจวัตรประจำวัน

                      2.  ขั้นศึกษาผลของการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

                       2.1  ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในขั้นตอนนี้  คือ

                            1) ผู้บริหารโรงเรียนและครูประจำชั้น รร.อนุบาลบ้านฝันดี จำนวน  4  คน

                           2) เด็กปฐมวัยที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาล  ภาคต้น ปีการศึกษา 2550  จำนวน  26  คน

                     2.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ในขั้นตอนนี้มีเครื่องมือวิจัย  คือ    

                          แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน  ครูผู้สอน  และผู้ปกครองที่มีต่อหลักสูตรในประเด็นต่าง ๆ   หลังจากการนำหลักสูตรไปใช้  มีทั้งสิ้น  3  ฉบับ   โดยการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ

                   2.3  การเก็บรวบรวมข้อมูล  ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น  2  ประเด็น ดังนี้

                  1) พัฒนาการของเด็กตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์  12  ข้อ  ของโรงเรียนอนุบาลบ้านฝันดี  และการคิดโยนโสมนสิการที่เกิดขั้นในเด็ก  โดยพิจารณาจากผลที่ได้จากการประเมินในแบบประเมินหน่วยการเรียนรู้ทั้ง  9  หน่วยการเรียนรู้ตลอดภาคต้น  ปีการศึกษา  2550  แบบสังเกตพฤติกรรมการคิดโยนโสมนสิการในแต่ละหน่วยการเรียนรู้  แบบประเมินผลการทำงาน  และผลงานของเด็ก  และแบบบันทึกกิจวัตรประจำวัน/พฤติกรรมการเรียนการสอน                           

              2) ความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน  ครู   ผู้ปกครองที่มีต่อหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดทางพุทธศาสนาและทฤษฎีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

             ผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียน  ครู  และผู้ปกครองเด็กในระดับชั้นเตรียมอนุบาลอนุบาล  3  โดยใช้การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ  หลังจากเสร็จสิ้นการนำหลักสูตรไปใช้ในภาคต้น ปีการศึกษา  2550 

               ทั้งนี้ผู้วิจัยได้มีการติดตามผลการใช้หลักสูตร หลังจากสิ้นสุดการนำหลักสูตรไปใช้ในภาคต้น ปีการศึกษา 2550  ผู้วิจัยติดตามผลการใช้หลักสูตรใน ประเด็น  คือ  การบริหารจัดการของโรงเรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู  โดยเข้าไปสังเกตการณ์สัปดาห์ละ  1  ครั้ง  ตลอดภาคปลาย  ปีการศึกษา  2550

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 372894เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2010 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท