Community-Based Monitoring System on Environmental Quality and Health in the Pong River
การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำพองจากมลพิษทางน้ำและเพื่อทดลองให้ชุมชนสร้างระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เพื่อคุ้มครองสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม พื้นที่ศึกษาเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำพองในเขตจังหวัดขอนแก่น ที่มีปัญหามลพิษทางน้ำบ่อยครั้งจำนวน 9 หมู่บ้าน โดยเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เขตโรงงานและบริเวณใกล้เคียง วิธีการศึกษาประกอบด้วยการสุ่มสัมภาษณ์หลังคาเรือนและองค์กรชุมชน โดยวิเคราะห์ผลกระทบมลพิษทางน้ำต่อการดำรงชีวิตของชุมชน โรคและอาการที่สัมพันธ์กับอุบัติการณ์มลพิษ และความคาดหวังของชุมชน การทดลองให้ชุมชนสร้างระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการประเมินระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นที่ชุมชนสร้างขึ้น การวิจัยนี้ดำเนินการระหว่าง เดือนมกราคม – ธันวาคม พ.ศ. 2542
ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำพองใกล้เขตโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำอย่างเด่นชัด จากการไหลซึมของน้ำเสียโรงงานผ่านชั้นดินเข้าสู่บ่อน้ำตื้นครัวเรือน ทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้น้ำบ่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้ น้ำฝนที่ชุมชนเคยใช้ดื่มปนเปื้อนด้วยมลพิษอากาศ ไม่สามารถใช้ดื่มได้ ต้องซื้อน้ำดื่มแทน น้ำในลำห้วยเขตชลประทานมีค่าความนำไฟฟ้าเกินมาตรฐานน้ำการชลประทานเพื่อการเพาะปลูก น้ำเสียอุตสาหกรรมบางส่วนหลซึมเข้านาข้าว มีส่วนทำให้ผลผลิตข้าวลดลง สถิติการเกิดโรคและอาการทางผิวหนังของชุมชน มีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์การเน่าเสียของน้ำในแม่น้ำพอง
ผลการวิเคราะห์ความต้องการชุมชนพบว่า ชุมชนใกล้เขตโรงงานอุตสาหกรรมต้องการดำเนินงานเฝ้าระวังมลพิษสิ่งแวดล้อมเอง โดยต้องการให้องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนชุมชน ชุมชนที่อยู่ห่างเขตอุตสาหกรรมออกไป ต้องการให้ อบต.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการและให้ชุมชนร่วมสนับสนุน เมื่อทดลองให้ชุมชนสร้างระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมเอง พบว่าชุมชนทั้งใกล้และที่อยู่ห่างเขตอุตสาหกรรมได้ร่วมกันกำหนดกิจกรรมการเฝ้าระวังท้องถิ่น โดยต้องการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำเอง ระบบเฝ้าระวังของชุมชนมีทั้งการตรวจสอบคุณภาพน้ำในภาวะปกติและฉุกเฉิน ตัวแปรคุณภาพน้ำที่ชุมชนคัดเลือก คือ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ กรด-ด่าง ความขุ่น และตัวแปรชีวภาพ ชุมชนเก็บรวบรวมข้อมูลคุณภาพน้ำพอง และส่งสำเนาข้อมูลให้ อบต.วิเคราะห์และรวบรวม จากการประเมินผลระบบเฝ้าระวังชุมชนพบว่าชุมชนสามารถดำเนินการได้เองตามที่ชุมชนตั้งเป้าประสงค์ไว้ อบต.มีข้อจำกัดในการสนับสนุนชุมชนด้านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ส่งมาจากชุมชน ตลอดจนบางแห่งขาดงบประมาณสนับสนุนชุมชน ชุมชนมีปัญหาเรื่องการแตำชำรุดง่ายของวัสดุอุปกรณ์เครื่องแก้วที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และชุมชนนิยมตัวแปรคุณภาพน้ำชีวภาพ โดยให้เหตุผลว่าเป็นสิ่งมีชีวิต สามารถสื่อความหมายและเข้าใจได้ง่ายเมื่อเชื่อมโยงกับภาวะมลพิษที่เกิดขึ้น ชุมชนต้องการใช้ข้อมูลของชุมชนเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น
ผลการวิจัยนี้ชี้ประเด็นการศึกษาเพิ่มเติม เรื่อง ศักยภาพของ อบต.ในกรสนับสนุนชุมชนด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม การศึกษาคัดเลือกเทคนิคการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่น การศึกษาเกี่ยวกับการผนวกข้อมูลของชุมชนท้องถิ่นกับระบบข้อมูลของภาครัฐ และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการพัฒนาลุ่มน้ำร่วมกับหน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะการอาศัยฐานข้อมูลของชุมชนและภาครัฐร่วมกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน คณะผู้วิจัยขอขอบคุณอย่างสูงต่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้กรุณาให้ทุนสนับสนุนการวิจัยนี้
คณะผู้วิจัย – ยรรยงค์ อินทร์ม่วง นฤมล แสงประดับ และ บัญชร แก้วส่อง
ไม่มีความเห็น