สุนทรภู่....บุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม


งานประพันธ์ของสุนทรภู่เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นตามจำนวนเท่าที่ค้นพบก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่า สุนทรภู่เป็น "นักเลงกลอน" ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก

 สุนทรภู่....บุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม

              คงจะไม่สายเกินไปที่จะนำรายละเอียดเพิ่มเติมอันเกี่ยวกับท่านสุนทรภู่   หลังจากที่ท่านได้อ่านบางส่วนแล้วในบล็อก ที่ผมได้ส่งมาให้กันก่อน วันที่ 26  มิถุนายน  อันเป็นวันสำคัญของท่าน   ซึ่งมวลสมาชิกก็คงจะได้ผ่านสายตามาแล้ว   วันนี้ก็เลยนำประวัติช่วงสุดท้ายของท่านมาให้อ่านเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

              ท่านสุนทรภู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนสิ้นชีวิต   เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
       รายชื่อผลงาน
       
           
หลักฐานงานประพันธ์ของสุนทรภู่เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และมีสูญหายไปอีกเป็นจำนวนหนึ่งแต่หลักฐานไม่ชัดเจนว่าชิ้นใดบ้างที่หายไป   ถึงกระนั้นก็ตามจำนวนเท่าที่ค้นพบก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่า สุนทรภู่เป็น "นักเลงกลอน" ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก ผลงานของสุนทรภู่เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้ 
       
       ประเภทนิราศ
       

       นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349)  แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
       
       นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350)  แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
       นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371)  แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
       นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
       นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375)  แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
       นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
       รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385)  แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
       นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
       นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388)  แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร
      ประเภทนิทาน
       
โคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่ เป็นเรื่องราวของ "โคบุตร" ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์
        พระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่งๆ หยุดๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน
        พระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385
       
        ลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักรๆ วงศ์ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง
       
        สิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่นๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว
       
       ประเภทสุภาษิต
       

        สวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
       
        เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
       
       สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่
       
       ประเภทบทละคร
       

       มีการประพันธ์ไว้เพียงเรื่องเดียวคือ อภัยนุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
       
       ประเภทบทเสภา
       

       ขุนช้างขุนแผน (ตอน กำเนิดพลายงาม)
       เสภาพระราชพงศาวดาร
       เห่เรื่องพระอภัยมณี
       เห่เรื่องโคบุตร
       เห่เรื่องจับระบำ
       เห่เรื่องกากี
บุคคลสำคัญของโลก    ด้านวรรณกรรม
       
       นับเป็นเกียรติอย่าวสูงยิ่งเพราะในปี พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบวันเกิด 200 ปีของสุนทรภู่ องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 และเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ในปีนั้น สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี" และมีการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

        หลายท่านอาจจะจำกันได้ว่าผลงานต่าง ๆ ที่ปรากฏดังนี้หลายผลงานได้มีการจัดทำเป็นภาพยนตร์  ละครโทรทัศน์  นำออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง  และนับย้อนหลังกลับไปประมาณ 20 กว่าปี การเรียนการสอนหลายระดับได้มีการบรรจุผลงานของสุนทร ให้มีในหลักสูตรการเรียนการสอน  แต่พอมาหลังจากนั้นนักวิชาการก็นำไปเป็นวิชาเสริมหรือไม่ก็นำ กลอนบางบทบางตอน สั้น ๆ  มาให้อ่านกัน  ก็เลยทำให้งานของสุนทรภู่รวมทั้งวรรณคดีที่ดี ๆอีกหลายเรื่องมีความสำคัดลดน้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย 

        เพื่อเป็นการร่วมแสดงความเป็นไทยถ้าท่านมีความเกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ไม่ว่าระดับใดก็ขอฝากให้เผยแพร่งานด้านวรรณกรรมของสุนทรภู่ให้ขยายกว้างเพิ่มขึ้นโดยการจัดกิจกรรมตามแนวคิดของท่านเองว่าจะจัดกิจกรรมอะไรถึงจะส่งผลไปสู่การเผยแพร่ได้จะเป็นการดีที่สุด

............................................................................................................

            แหล่งอ้างอิงที่มา....ผู้จัดการออนไลน์    2  กรกฎาคม   2553

หมายเลขบันทึก: 371567เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมเลยค่ะ นำไปใส่ในห้องสมุดของครูอ้อยแล้วนะคะ  ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท