Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คนซาไกหรือมานิในประเทศไทย : ปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายและแนวคิดในการจัดการ


งานเขียนเพื่อเสนอเป็นรายงานการศึกษาเพื่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ตามคำสั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ ๔๖/๒๕๕๒ และกรมการปกครอง ในการประชุมสัมมนาการแก้ไขปัญหาสถานะละสิทธิของบุคคลให้แก่ชนเผ่าซาไก ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๗ – ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม.

เค้าโครงของงานเขียน

งานเขียนฉบับนี้มุ่งเพื่อเสนอเป็นรายงานการศึกษาเพื่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ตามคำสั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ ๔๖/๒๕๕๒  และกรมการปกครอง ทั้งนี้ด้วยอธิบดีกรมการปกครองได้มีหนังสือที่ มท.๐๓๐๙.๑/๑๓๐๗๐ เพื่อขอให้ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นวิทยากรการบรรยายในการประชุมสัมมนาการแก้ไขปัญหาสถานะละสิทธิของบุคคลให้แก่ชนเผ่าซาไก ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๗ – ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม.  การสัมมนานี้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมืองเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓

งานเขียนฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) ทบทวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนซาไกหรือมานิในประเทศไทย (๒) ทบทวนข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการสถานะบุคคลของคนดั้งเดิมบนแผ่นดินไทย (๓) ทบทวนข้อนโยบายเกี่ยวกับการจัดการสถานะบุคคลของคนดั้งเดิมบนแผ่นดินไทย และ (๔) เสนอแนะแนวคิดในการจัดการปัญหาความไร้สถานะทางกฎหมายของคนซาไก/มานิในประเทศไทย  โดยมีเค้าโครงในการเขียนเป็นหัวข้อตามวัตถุประสงค์ของงานเขียนที่กล่าวมาข้างต้น

(๑) ทบทวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนซาไก/มานิในประเทศไทย

โดยการศึกษาจากการอ่านเอกสารและหารือผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาในประเทศไทยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกอบเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในประเทศไทย[1] ผู้เขียนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับคนซาไก/มานิในประเทศไทยดังต่อไปนี้

ในประการแรก คนซาไก/มานิในประเทศไทยเป็นมนุษย์ที่สืบเชื้อสายมาจากบุคคลที่อาศัยอยู่ในสุวรรณภูมิในยุคก่อนที่จะมีการสถาปนารัฐสมัยใหม่บนแผ่นดินอันเป็นประเทศไทยและมาเลเซีย   ดังนั้น มนุษย์กลุ่มนี้ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงมีสถานะทางนิติศาสตร์โดยข้อเท็จจริง (Legal Science of Fact) เป็น “คนดั้งเดิมของแผ่นดินไทย” หรือ “คนที่เกาะติดแผ่นดินไทย” หรือ “ชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” ในภาษาวิชาการด้านมานุษยวิทยา คนดังกล่าวซึ่งอาศัยในประเทศไทยมีชื่อว่า “มานิ (Maniq)” แต่ด้วยงานเขียนของในหลวงหลายรัชกาล[2] ทรงเรียกมหาดเล็กซึ่งเป็นคนจากเผ่าพันธุ์นี้ว่า “เงาะป่าซาไก” คนในประเทศไทยจึงเรียกคนมานิว่า “ซาไก” ทั้งที่คำนี้ในทางวิชาการ เป็นคำที่ใช้เรียกคนเผ่าพันธุ์นี้ซึ่งอาศัยในมาเลเซีย ดังนั้น เพื่อให้งานเขียนนี้มีความหมายที่ชัดเจนถึงคนชาติพันธุ์นี้ซึ่งอาศัยเกาะติดแผ่นดินไทยมาแต่ดั้งเดิม และเพื่อให้คนโดยทั่วไปเข้าใจตรงกัน จึงขอเรียกคนมานิในประเทศไทยว่า “คนซาไก/มานิในประเทศไทย” เพื่อให้ชัดเจนว่า งานเขียนฉบับนี้ไม่ได้หมายถึงคนซาไก/มานิในประเทศมาเลเซีย และหมายถึงมนุษย์ที่สังคมไทยรู้จักอย่างดีมาตั้งแต่อย่างน้อยในยุครัชกาลที่ ๒ 

ในประการที่สอง ด้วยเหตุที่คนซาไก/มานิในประเทศไทยไม่มีลักษณะทางภาษา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมอื่นๆ ในลักษณะเดียวกับชนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย มนุษย์กลุ่มดังกล่าวจึงถูกจัดเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลกลุ่มนี้มิได้ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ซึ่งกรมการปกครองจัดทำสำหรับชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งในประเทศไทย ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๙ – ๒๕๓๔

ในประการที่สาม คนซาไก/มานิในประเทศไทยจึงตกเป็นบุคคลที่ไร้รัฐ เพราะไม่ได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก แม้โดยแนวคิดของกรมการปกครองของรัฐไทยเสมอมา จะยอมรับความเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดของคนซาไก/มานิอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง แต่พวกเขาก็ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลเพื่อแสดงสิทธิในสัญชาติไทย

ในประการที่สี่ คนซาไก/มานิในประเทศไทยมีลักษณะทางชาติพันธ์วรรณาและภาษาที่แตกต่างในสาระสำคัญจากมนุษย์ชาติพันธ์อื่นที่พบบนโลก กล่าวคือ มีลักษณะเด่นจนไม่อาจสงสัย กล่าวคือ (๑) ผมหยิกเหมือนลูกเงาะจนถูกเรียกในงานเขียนของในหลวงรัชกาลที่ ๖ ว่า “เงาะป่า” (๒) มีผิวดำแดงอย่างชัดเจน (๓) มีริมฝีปากหนาเจ่ออย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น การสวมตัวบุคคลเป็นคนซาไก/มานิโดยคนชาติพันธุ์อื่นจึงทำได้ยาก และการปะปนกับคนซาไกในประเทศมาเลเซียก็เป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริง เราพบว่า คนซาไก/มานิในประเทศไทยจะเป็นฝ่ายเดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซีย มากกว่าที่คนจากประเทศมาเลเซียจะเข้ามาในประเทศไทย ด้วยเหตุที่ป่าในเขตมาเลเซียในปัจจุบันจะมีลักษณะที่เอื้อต่อการอาศัยของคนป่าดังคนซาไก/มานิ ซึ่งไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมแบบเมือง

ในประการที่ห้า คนซาไก/มานิ แม้ในรุ่นเด็กหรือหนุ่มสาวก็ยังไม่อาจมีความกลมกลืนกับสังคมแบบเมือง ยังมีการเคลื่อนย้ายเหมือนคนป่าอยู่ได้อีก ยังอาศัยอยู่ในเขตป่า ซึ่งเรามักพบใน ๕ จังหวัดทางใต้สุดของประเทศไทย อันได้แก่ (๑) พัทลุง (๒) ตรัง (๓) สตูล (๔) ยะลา และ (๕) นราธิวาส ดังนั้น จึงยังมีความยากลำบากที่จะเข้าถึงสิทธิในคุณภาพชีวิตในลักษณะเดียวกับคนเมือง ยังมีปัญหาสาธารณสุขมูลฐาน ยังมีปัญหาการจัดการการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนที่ยังใช้ภาษาไทยได้ไม่คล่องนัก

ในประการที่หก ภาษาซาไก/มานิจัดเป็นภาษามนุษย์ดั้งเดิมที่เสี่ยงต่อการสูญหายไปจากประวัติภาษาของมวลมนุษยชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพื่อบันทึกและพัฒนาให้เป็นภาษาที่ยังคงมีชีวิตต่อไป

ในประการที่เจ็ด วัฒนธรรมซาไก/มานิเป็นวัฒนธรรมที่งดงาม ดั้งเดิม และแปลกไปจากวัฒนธรรมของมนุษย์กลุ่มอื่นทำให้นักธุรกิจการท่องเที่ยวสนใจที่จะใช้คนซาไก/มานิเป็น “จุดขาย” สำหรับการท่องเที่ยวอย่างไม่สร้างสรรค์ และอาจนำมาซึ่งการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนชาติพันธ์นี้ ดังที่เกิดกับกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวหรือมอแกนในทะเลอันดามัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการระดมแรงของประชาสังคมเพื่อดูแลคนชาติพันธุ์นี้อย่างเหมาะสม 

ในประการที่แปด เนื่องจากคนซาไก/มานิยังเร่ร่อน จนอาจไปปลูกกระท่อมพักในที่ดินของบุคคลอื่น และนำมาซึ่งข้อขัดแย้งกับคนเมือง เคยมีข่าวของการที่คนเมืองเข้าไปเผากระท่อมของคนซาไก/มานิในเขตอำเภอหนึ่ง จะเห็นว่า ข้อพิพาทดังกล่าวอาจเกิดได้และอาจนำไปสู่ความเสียหายทางใจและวัตถุอย่างมาก จึงควรที่จะได้รับความสนใจจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นกัน

(๒) ทบทวนข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการสถานะบุคคลของคนดั้งเดิมบนแผ่นดินไทย

เมื่อคนซาไก/มานิในประเทศไทยเป็นประชากรที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างชัดเจน เพราะเกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแต่ดั้งเดิมไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี อย่างแน่นอน  ดังนั้น โดยมุมมองด้านนิติศาสตร์ คนซาไก/มานิในประเทศไทยจึงได้รับการจัดการประชากรแล้วโดยระบบกฎหมายซึ่งรัฐไทยสมัยใหม่ใช้ในการจัดการประชากรตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๔๕๒ เป็นต้นมาอย่างแน่นอน เพียงแต่พวกเขาไม่ตระหนักในสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่พวกเขามีอยู่ เราอาจสรุปข้อกฎหมายไทยเกี่ยวกับคนซาไก/มานิกในประเทศไทยได้ดังนี้

๒.๑.  คนซาไก/มานิในประเทศไทยในปัจจุบันย่อมต้องข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต

เราอาจอธิบายบ่อเกิดแห่งสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตของคนซาไก/มานิได้ดังต่อไปนี้

ในประการแรก คนซาไก/มานิในประเทศไทยในรุ่นก่อนการเกิดขึ้นของกฎหมายลายลักษณ์อักษรว่าด้วยสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ย่อมไม่อาจได้รับการยอมรับในสถานะคนสัญชาติไทย เพราะพวกเขาไม่มีเชื่อสายที่ยอมรับกันว่า  เป็นคนเชื้อสายไทย อันได้รับการยอมรับว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยกฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกว่า “มูลนิติธรรมประเพณี” แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง เนื่องจากเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และมีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยในประเทศไทยในลักษณะถาวรโดยผลของมูลนิติธรรมประเพณีว่าด้วยคนเข้าเมือง[3]

ในประการที่สอง คนซาไก/มานิในประเทศไทยในรุ่นที่เกิดในระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นมาจากคนที่เกิดก่อนวันที่ดังกล่าว ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด และไม่อาจเสียสัญชาติไทยนี้โดยกฎหมายใดๆ ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ หรือโดยผลของมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ก็ตาม ทั้งนี้ เพราะบุพการีเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยและไม่อาจถูกถือเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมายคนเข้าเมืองได้เลย

ในประการที่สาม คนซาไก/มานิในประเทศไทยในรุ่นที่เกิดเป็นรุ่นที่สามจากรุ่นที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นมาจากคนที่เกิดก่อนวันที่ดังกล่าว ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตโดยการเกิด และไม่อาจเสียสัญชาติไทยนี้โดยกฎหมายใดๆ ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยนี้โดยคำสั่งของศาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากความเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตภายใต้กฎหมายไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าด้วยสัญชาติไทยไม่ได้กำหนดให้ใช้ชาติพันธุ์ไทยเป็นตัวกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต หากแต่ใช้สัญชาติไทยของบุพการีเป็นตัวกำหนดแทน

ขอให้ตระหนักว่า ความเป็นคนสัญชาติไทยของคนซาไก/มานิในประเทศไทยย่อมเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับคนกระเหรี่ยงซึ่งเป็นชาวเขาดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมากกว่า ๒๐๐ ปีขึ้นไป หรือกับคนอีก้อ/อาข่านั้น ซึ่งก็ปรากฏหลักฐานว่า อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว ดังนั้น ทางราชการจึงเรียกคนดังคนซาไก/มานิหรือคนกะเหรี่ยงหรือคนอีก้อ/อาข่าว่า เป็น “คนดั้งเดิม” หรือ "คนติดแผ่นดิน"

๒.๒.  สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของคนซาไก/มานิในประเทศไทย

รัฐไทยสมัยใหม่เริ่มต้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ และการจัดทำทะเบียนราษฎรสำหรับประชากรไทยก็เริ่มต้นในเมืองหลวงในราว พ.ศ.๒๔๕๒ และประกาศใช้กฎหมายเพื่อจัดทำสำหรับทั้งประเทศในราว พ.ศ.๒๔๙๙  นอกจากนั้น รัฐไทยก็ได้ประกาศยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งข้อ ๖ บัญญัติให้รัฐไทยรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ทุกคน

ดังนั้น จึงพบว่า รัฐไทยยอมรับที่จะบันทึกรายการสถานะบุคคลของมนุษย์ในทะเบียนราษฎร ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีสัญชาติหรือไม่ ? จะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ? จะเข้ามืองถูกกฎหมายหรือไม่ ? จะอาศัยถูกกฎหมายหรือไม่ ? สถานะตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายคนเข้าเมือง

ในส่วนที่เกี่ยวกับคนซาไก/มานิในประเทศไทย พวกเขาย่อมทรงสิทธิที่จะถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต กล่าวชัดเจนได้ด้วยว่า นายทะเบียนราษฎรซึ่งรักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ  พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ มีหน้าที่ตามมาตรา ๓๖ ที่จะต้องบันทึกรายการสถานะบุคคลของคนซาไก/มานิที่พบในประเทศไทยใน “ทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔)” ในสถานะ “คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต”

๒.๓.  ปัญหาความเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติของคนซาไก/มานิในประเทศไทยเกิดจากได้อย่างไร ?

เมื่อคนซาไก/มานิกในประเทศไทย “ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร” พวกเขาจึงประสบความไร้รัฐ กล่าวคือ ไม่ถูกรับรองตัวบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก และอันส่งผลให้ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ และประสบปัญหาความไร้สัญชาติ ด้วยไม่อาจพิสูจน์ทราบความเป็นคนสัญชาติไทย และนำไปสู่ผลกระทบด้านสิทธิในสวัสดิการสังคม กล่าวคือ ไม่อาจเข้าสู่สิทธิในสวัสดิการสังคมซึ่งกฎหมายสวงนให้แก่คนมีรัฐหรือคนที่รัฐรับรองว่ามี สถานะเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น

ขอให้ตระหนักว่า สภาวะความไร้สัญชาติของคนซาไก/มานิกในประเทศไทยเป็นสภาวะความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง มิใช่ข้อกฎหมาย เมื่อความปรากฏว่า พวกเขามีเชื้อสายซาไก/มานิ พวกเขาก็ย่อมได้รับการสันนิษฐานทางกฎหมายว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต

ในระหว่างที่รอการพิสูจน์ตัวบุคคลว่า บุคคลมีลักษณะของคนซาไก/มานิหรือไม่ นายทะเบียนราษฎรซึ่งรักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ  พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ มีหน้าที่ตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ ที่จะต้องบันทึกรายการสถานะบุคคลของคนซาไก/มานิที่พบในประเทศไทยใน “ทะเบียนประวัติประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๓๘ ก)” ในสถานะ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” ซึ่งแนวคิดและวิธีการจัดการในรายละเอียดปรากฏตามยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งสถานะความเป็นราษฎรไทยใน ท.ร.๓๘ ก ย่อมบรรเทาผลเสียจากการเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

๒.๔.  ปัญหาความผิดกฎหมายคนเข้าเมืองของคนซาไก/มานิในประเทศไทยเกิดจากได้อย่างไร ?

เมื่อคนซาไก/มานิกในประเทศไทยไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ พวกเขาจึงตกอยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายคนเข้าเมืองว่า มีสถานะเป็นคนต่างด้าว[4] และเมื่อไม่ปรากฏมีเอกสารแสดงการอนุญาตให้เข้าเมืองและอาศัยอยู่ พวกเขาจึงตกอยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายคนเข้าเมืองว่า มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย[5] ดังนั้น พวกเขาจึงเสี่ยงที่จะถูกลงโทษที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒[6] และย่อมตกอยู่ในการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนในประเทศไทย และเข้าออกประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบด้านลบจากความไร้รัฐของคนซาไก/มานิจึงต้องมีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองอีกด้วย

(๓.) ทบทวนข้อนโยบายเกี่ยวกับการจัดการสถานะบุคคลของคนดั้งเดิมบนแผ่นดินไทย

เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้แก่คนดั้งเดิมบนแผ่นดินไทย  เราพบปกติประเพณีทางปกครองของรัฐไทยใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ 

๓.๑.   การใช้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕

ในราว พ.ศ.๒๕๓๒ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ได้ใช้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นระเบียนที่ใช้กับบุคคลโดยทั่วไปเพื่อเพิ่มชื่อคนซาไก/มานิในพื้นที่ในสถานะคนสัญชาติไทย ซึ่งจ้งการเกิดเกินกำหนด

เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ อธิบดีกรมการปกครองมีหนังสือที่ มท.๐๓๐๙.๑/๘๘๒๙ เรื่องหารือแนวทางปฏิบัติในการขึ้นทะเบียนและออกบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับสถานะบุคคลของคนซาไก/มานิว่า "จึงถือได้ว่า ชาวเลในประเทศไทยเป็นคนไทยเช่นเดียวกับเผ่าซาไก ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยเป็นเวลานานเช่นเดียวกัน การจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย ๑๔ กลุ่ม ใน ๓๙ จังหวัดที่กรมการปกครองจัดทำ จึงไม่มีชื่อกลุ่มชาวเลเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย กรมการปกครองจึงให้จังหวัดแจ้งอำเภอคุระบุรี ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ให้แก่กลุ่มชาวเลดังกล่าว ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๙๗ โดยให้พิจารณาจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยกลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ตามเกาะหรือเรือที่อยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ..."

๓.๒.   การใช้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓

ระเบียบนี้เกิดขึ้นโดยผลของการศึกษาของคณะอนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อขจัดปัญหาความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริงให้แก่ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมที่อาศัยในเขตภูเขาของประเทศไทย ซึ่งข้อ ๓ ของระเบียบนี้เรียกรวมๆ ว่า “บุคคลบนพื้นที่สูง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นชาวไทยภูเขา คนไทย หรือกลุ่มชนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายดูแลดำเนินการเป็นการเฉพาะ และให้หมายความรวมถึง บุคคลบนพื้นที่สูงที่อพยพลงมาอาศัยอยู่บนพื้นราบด้วย

โดยข้อ ๔  แห่งระเบียบนี้ พื้นที่ที่อาจนำระเบียบนี้มาใช้ได้ ก็คือ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะในเขตท้องที่จังหวัดดังต่อไปนี้ คือ (๑) กาญจนบุรี (๒) กำแพงเพชร (๓) เชียงราย (๔) เชียงใหม่ (๕) ตาก (๖) น่าน (๗) ประจวบคีรีขันธ์ (๘) พะเยา (๙) พิษณุโลก (๑๐) เพชรบุรี (๑๑) เพชรบูรณ์ (๑๒) แพร่ (๑๓) แม่ฮ่องสอน (๑๔) ราชบุรี (๑๕) เลย (๑๖) ลำปาง (๑๗) ลำพูน (๑๘) สุโขทัย (๑๙) สุพรรณบุรี (๒๐) อุทัยธานี และจังหวัดที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเพิ่มเติมภายหลัง

ระเบียบนี้มีผลแตกต่างไปจากระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ที่สำคัญ ๓ ประการ ก็คือ

ในประการแรก ระเบียบนี้กำหนดข้อสันนิษฐานทางกฎหมายไว้อย่างชัดเจนในข้อ ๑๑ วรรค ๓ ว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ จนถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น” ดังนั้น การพิสูจน์สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนสำหรับคนดั้งเดิมนั้น หากใช้ระเบียบ ๒๕๓๕ จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึง ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) บุคคลเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕  (๒) บิดาเกิดในประเทศไทย และมารดาเกิดในประเทศไทย แต่หากเป็นระเบียบ ๒๕๔๓ นั้น การพิสูจน์พยานหลักฐานเหลือเพียงประการเดียว กล่าวคือ บุคคลเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ 

ในประการที่สอง ระเบียบนี้ยืนยันกฎหมายวิธีพิจารณาความพยานอย่างชัดเจนให้นำพยานหลักฐานที่มิใช่เอกสารที่ออกโดยส่วนราชการ และอาจจะเป็นพยานวิชาการ หรือเป็นพยานแวดล้อมกรณี ดังที่กำหนดในข้อ ๑๑ วรรค ๔ ซึ่งบัญญัติว่า “ความในวรรคสองให้สันนิษฐานจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ออกโดยส่วนราชการ หรือ พยานหลักฐานแวดล้อมกรณีโดยอาศัยการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือชาติพันธุ์วรรณนา เป็นต้น”

ในประการที่สาม  ระเบียบนี้ยกตัวอย่างพบานหลักฐานที่มักโต้แย้งความมีผลระหว่างส่วนราชการและเจ้าของปัญหาว่าใช้ได้หรือไม่ เอาไว้ เพื่อลดข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ดังปรากฏในข้อ ๑๒, ๑๓ และ ๑๔ ซึ่งบัญญัติดังต่อไปนี้

--------

ข้อ ๑๒

--------

ผู้ยื่นคำร้อง อาจอ้างเอกสารดังต่อไปนี้เป็นพยานเพื่อใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงอันทำ

(๑)

เอกสารที่ได้จากการจัดทำทะเบียนประวัติต่าง ๆ   ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เช่น

 

(๑.๑.)

เอกสารที่ได้รับจากการสำรวจ ตรวจสอบ และการจดทะเบียนราษฎรชาวเขา (แบบ ท.ร. ช.ข. ๑) เมื่อระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๓ หรือ

 

(๑.๒.)

เอกสารที่ได้รับจากการจัดทำทะเบียนราษฎรตามโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชนที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๕ หรือ

 

(๑.๓.)

เอกสารที่ได้รับจากการการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาตามโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๗ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๘ - ๒๕๓๑ (ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน) ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์และหน่วยงานในสังกัดให้การรับรอง หรือ

 

(๑.๔.)

เอกสารที่ได้รับจากการการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง ตามโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓  ระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ หรือ

 

(๑.๕.)

เอกสารที่ได้รับจากการจัดทำทะเบียนบุคคลตามโครงการจัดทำทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือ

 

(๑.๖.)

เอกสารที่ได้รับจากการจัดทำทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓)   สำหรับคนที่ เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว หรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นต้น

(๒)

เอกสารต่าง ๆ ที่ทางราชการออกให้เพื่อรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย เช่น ใบรับแจ้งการเกิด , ใบรับรองการเกิด , สูติบัตร เป็นต้น

(๓)

เอกสารอื่น ๆ ที่มีรายละเอียดสามารถเป็นข้อมูลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันทำให้ได้รับสัญชาติไทยได้

-------

ข้อ ๑๓

---------

บุคคลผู้ยื่นคำร้อง อาจอ้างบุคคลเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันทำให้ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติได้  เช่น

(๑) ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรืออดีตผู้ใหญ่บ้าน กำนัน    ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างที่บุคคลผู้ยื่นคำร้องมีข้อเท็จจริงให้ได้รับสัญชาติไทย

(๒) ผู้นำชุมชน ผู้นำเครือข่ายชุมชน หรือ อดีตคณะกรรมการหมู่บ้าน  หรือชุมชน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างที่บุคคลผู้ยื่นคำร้องมีข้อเท็จจริงให้ได้รับสัญชาติไทย

(๓) เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ในระหว่างที่บุคคลผู้ยื่นคำร้องเกิด

(๔) เจ้าหน้าที่ซึ่งทำการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยชาวเขา หรือหน่วยงานที่มีผลงานทางวิชาการเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือชาติพันธุ์วรรณนา เป็นต้น   โดยรับรองเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของบุคคลผู้ยื่นคำร้อง

(๕) การรับรองขององค์กรพัฒนาเอกชนที่มีประวัติ และผลงานการทำงานที่บันทึกไว้ชัดเจน ซึ่งทำงานในเขตชุมชนบนพื้นที่สูง

---------

ข้อ ๑๔ 

---------

บุคคลผู้ยื่นคำร้อง อาจอ้างวัตถุใด ๆ เป็นพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันทำให้ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติได้

(๔.) ข้อเสนอแนะ

๔.๑.  เห็นควรสร้างความชัดเจนในการบันทึกคนซาไก/มานิในประเทศไทยในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยตามสิทธิของบุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวมีอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม

๔.๑.๑.   ความชัดเจนอาจทำในรูปของหนังสือสั่งการที่มีความละเอียดเชิงตำราดังที่ทำในกรณีของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ โดยยังคงใช้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕

๔.๑.๒.        หากอำเภอหรือจังหวัดมีความไม่มั่นใจในเรื่องพยานหลักฐานซึ่งอาจมีได้ไม่เท่าบุคคลในเมือง และมีความลำบากใจที่จะใช้ดุลพินิจด้วยตนเอง ก็อาจจะขยาย ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓ ไปใช้แทนระเบียบทั่วไป หรือยกร่างระเบียบใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

๔.๒.  เห็นควรมีการทำงานเพื่อ "เสริมประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายของคนซาไก/มานิในประเทศไทย"

๔.๓.  เห็นควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และนักวิชาการในการสำรวจและพิสูจน์สถานะบุคคลให้แก่คนซาไก/มานิในประเทศไทย

๔.๔. เห็นควรสำรวจปัญหาคุณภาพชีวิตของคนซาไก/มานิในขณะที่ยังประสบความไร้รัฐ และประสานงานให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือ

๔.๕. เห็นควรเพิ่มชื่อใน ท.ร.๓๘ ก. หากประเมินว่า การเพิ่มชื่อใน ท.ร.๑๔ จะใช้เวลานานเกิน ๖ เดือน

อ่านฉบับสมบูรณ์ใน 

http://gotoknow.org/file/archanwell/sagai-manig-in-Thailand.pdf

https://docs.google.com/file/d/0B7ummaGfFLZSR3RyeGViQ2h5ZW8/edit?usp=sharing


หมายเลขบันทึก: 369994เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2010 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท