สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของข้าราชการ


สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของข้าราชการ

"สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของข้าราชการ"

ข้าราชการส่วนใหญ่จะทราบถึงสิทธิประโยชน์ของตนเอง แต่ในบางครั้งจะไม่ทราบถึงแนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ในเรื่องของสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของข้าราชการอย่างจริงจังนัก...บางท่านจะบอกว่ารู้ไปทำไม...เดี๋ยวก็ถามเจ้าหน้าที่ก็ได้...แต่ผู้เขียนขอบอกว่า..."รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม"...ยิ่งเป็นข้าราชการ...จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านต้องทราบ เพราะ...อย่าลืมว่า!...ถ้าท่านทำผิดนั่นแสดงว่าท่านทำผิดวินัย ระเบียบ กฎเกณฑ์ของทางราชการ...ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการปฏิบัติงานในระบบราชการ จึงนำมาเผยแพร่ให้ข้าราชการทุกท่านได้ทราบค่ะ...จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง...

ในการปฏิบัติราชการ นอกจากข้าราชการจะได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน มีเกียรติเป็นความภาคภูมิใจต่อวงศ์ตระกูลแล้ว ราชการยังให้สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูล ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินหลายประการ แก่ข้าราชการและครอบครัว (บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร) เพื่อเป็นการจูงใจให้อยากเข้ารับราชการ ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติราชการ โดยให้ได้รับสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลตลอดเวลาตั้งแต่เข้ารับราชการ พ้นจากราชการและเสียชีวิต เพื่อตอบแทนการปฏิบัติงาน สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของข้าราชการ แบ่งเป็น ...

สวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงิน

การลา
สิทธิการลาของข้าราชการ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลา กฎหมายอื่นๆ และตามมติคณะรัฐมนตรี แบ่งเป็น 9 ประเภทดังนี้...

การลาป่วย

หลักเกณฑ์

ข้าราชการลาป่วยโดยได้รับเงินเดือน ปีละไม่เกิน 60 วัน ทำการ

ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่อธิบดี/เทียบเท่า อนุญาตอาจต่อไปได้อีกไม่เกิน 60 วันทำการ

แนวทางปฏิบัติ...

ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาก่อนหรือในวันที่ลา

เว้นแต่กรณีจำเป็น ให้ส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติงาน

กรณีป่วยจนไม่สามารถลงชื่อในใบลาได้ จะให้ผู้อื่นลาแทนได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้วให้จัดส่งใบลามาโดยเร็ว

ลาป่วย 30 วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์แนบพร้อม ใบลา

ลาป่วยไม่ถึง 30 วัน ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร จะสั่งให้มีใบรับรองแพทย์ประกอบใบลาหรือไม่มี ก็ได้

การลาคลอดบุตร

หลักเกณฑ์

ลาครั้งละไม่เกิน 90 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์

หากประสงค์จะลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงบุตรต่อให้ลาได้ ไม่เกิน 150 วันทำการ

แนวทางปฏิบัติ...

ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชา

ให้ผู้อื่นลาแทนได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้ให้ส่งใบลาโดยเร็ว

การลาคลอดบุตรที่คาบเกี่ยวกับการลาประเภทใดก็ตาม ซึ่งยังไม่ครบกำหนดวันลาของลาประเภทนั้น ให้ถือว่าการลาประเภทนั้นสิ้นสุดลง และให้นับเป็นวันเริ่มวันลาคลอดบุตร

การลากิจส่วนตัว

หลักเกณฑ์

ลาได้ไม่เกินปีละ 45 วันทำการ

ในปีแรกของการเข้ารับราชการ ลาได้ไม่เกิน 15 วัน ทำการ

กรณีลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตร ลาได้ไม่เกิน 150 วันทำการ แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาต่อเนื่องดังกล่าว

แนวทางปฏิบัติ...

ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชา

ต้องได้รับอนุญาต จึงจะหยุดราชการได้

กรณีเหตุพิเศษ ไม่อาจส่งใบลาได้ให้ส่งใบลาพร้อมเหตุผล ความจำเป็นในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ

ในระหว่างลากิจส่วนตัว หากมีราชการจำเป็น ผู้บังคับบัญชาสามารถเรียกตัวกลับมาปฏิบัติราชการได้

การลาพักผ่อน

หลักเกณฑ์

ลาได้ไม่เกิน 10 วันทำการต่อปี

ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการไม่ถึง 6 เดือน ไม่มีสิทธิลา

สามารถสะสมวันลาได้ไม่เกิน 20 วันทำการ

ผู้ที่รับราชการติดต่อกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิสะสมวันลาพักผ่อนได้ไม่เกิน 30 วันทำการ

ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ

แนวทางปฏิบัติ...

ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชา

หากมีราชการจำเป็น ผู้บังคับบัญชาสามารถเรียกตัวกลับมาปฏิบัติราชการได้

การลาอุปสมบท / ลาไปประกอบพีฮัจย์

หลักเกณฑ์

ไม่เคยลาประเภทนี้มาก่อน

ลาได้ไม่เกิน 120 วันแต่ต้องรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

แนวทางปฏิบัติ...

ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 60 วัน

หากมีเหตุพิเศษไม่อาจเสนอใบลาก่อน 60 วันได้ ให้ชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นประกอบการลา

เมื่อได้รับอนุญาตให้ลาแล้ว ต้องอุปสมบทหรือออกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ภายใน 10 วัน นับแต่วันลา

ต้องกลับมารายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการภายใน 5 วัน

ถ้ามีปัญหาทำไม่สามารถอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจย์ได้ให้ถอนใบลา และถือว่าวันที่ลาหยุดราชการไปนั้นเป็นวันลากิจส่วนตัว

การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล

การเข้ารับการตรวจเลือก คือ การเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับราชการเป็นทหารกองประจำการ การเข้ารับการเตรียมพล คือ การเข้ารับการตรวจสอบเข้ารับการฝึกวิชาทหาร หรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมาย กฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

แนวทางปฏิบัติ...

ข้าราชการที่ได้รับการตรวจเลือก ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาก่อนวันเข้ารับการตรวจเลือกไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง

ข้าราชการที่ได้รับหมายเรียกเข้ารับการเตรียมพล ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลารับหมายเรียก และเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพลตามวันเวลาในหมายเรียกนั้น โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาต

เมื่อพ้นจากการเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการตรวจเตรียมพลแล้วให้รายงานตัวกลับภายใน 7 วัน

กรณีจำเป็น ผู้บังคับบัญชาอาจขยายเวลาให้ได้ แต่รวมแล้วไม่เกิน 15 วัน

การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติงานวิจัย หรือดูงาน

หลักเกณฑ์

ลาได้ไม่เกิน 4 ปี

ผู้มีอำนาจอนุญาต อาจให้ลาได้มากกว่า 4 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี

ต้องกลับมารับราชการชดใช้เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ไป

แนวทางปฏิบัติ...

เสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาอนุญาต

เมื่อได้รับอนุญาต ต้องทำสัญญากับส่วนราชการต้นสังกัด

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการลา ให้รีบรายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการ และรายงานผลของภารกิจต่อผู้บังคับบัญชา

ข้าราชการซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงานหรือปฏิบัติงานวิจัยให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างลาไม่เกิน 4 ปี นับแต่วันไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิจัยจนถึงวันก่อนวันมารายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติราชการ
กรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรให้ข้าราชการลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงานหรือปฏิบัติงานวิจัยเกิน 4 ปี ก็ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ แต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี

การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ

ประเภทที่ 1

ประเทศไทยเป็นสมาชิกในองค์กรระหว่างประเทศ และมีวาระที่จะต้องส่งไปปฏิบัติงาน หรือ ส่งไปปฏิบัติงานเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ประเภทที่ 2

การไปปฏิบัติงานนอกเหนือจากประเภทที่ 1

เงื่อนไข

ประเภทที่ 1 ลาได้ไม่เกิน 4 ปี

ประเภทที่ 2 ลาได้ไม่เกิน 1 ปี ถ้าเกินต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ

ไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ เว้นแต่เงินที่ได้รับจากองค์การฯ ต่ำกว่าเงินเดือนจากทางราชการ

การลาเฉพาะประเภทที่ 2 ให้กลับมาปฏิบัติราชการเป็นระยะเวลา 1 เท่า ของเวลาที่ลาไป หรือ ชดใช้เบี้ยปรับแก่ราชการ

คุณสมบัติ

ปฏิบัติราชการมาแล้วเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ก่อนถึงวันได้รับอนุญาต เว้นแต่ผู้ปฏิบัติงานใน UN กำหนดเวลาให้เป็น 2 ปี

สำหรับผู้ที่เคยไปปฏิบัติงานฯ ประเภทที่ 2 มาแล้ว ต้องมีเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า 2 ปี

สำหรับผู้ที่เคยไปปฏิบัติงานฯ ประเภทที่ 2 ต้องมีอายุไม่เกิน 52 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันได้รับอนุญาต

มีความรู้ ความสามรถ เหมาะสม ไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนว่ากระทำผิดทางวินัย

แนวทางปฏิบัติ...

เสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชา (จนถึงรัฐมนตรีเจ้าสังกัด) เพื่อพิจารณาอนุญาต

เมื่อได้รับอนุญาต ให้ส่งสำเนาคำสั่งต่อกระทรวงการคลัง และองค์การกลางที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำสัญญาผูกมัดต่อไป

ต้องทำสัญญากับส่วนราชการต้นสังกัด

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ให้รายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใน 10 วัน นับแต่วันถัดจากวันเสร็จสิ้นภารกิจ และรายงานผลการไปปฏิบัติงานให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบภายใน 30 วัน นับจากวันที่กลับมาปฏิบัติราชการ

การติดตามคู่สมรส

หลักเกณฑ์

ลาได้ไม่เกิน 2 ปี

ผู้มีอำนาจอนุญาต อาจให้ลาได้อีก 2 ปี แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 4 ปี ถ้าเกินต้องลาออกจากราชการ

ไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างลา

แนวทางปฏิบัติ...

เสนอใบลาต่อผู้บัวคับบัญชา เพื่อพิจารณาอนุญาต

ผู้มีอำนาจอนุญาต จะอนุญาตให้ลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ โดยมิให้เสียหายแก่ทางราชการ และไม่เกินระยะเวลาที่กำหนด

การนับวันลา

ให้นับตามปีงบประมาณ ( 1 ตุลาคม–30 กันยายน ของปีถัดไป)

เพื่อประโยชน์ในการคำนวณวันลา ให้นับต่อเนื่องกันโดยนับวันหยุดราชการที่อยู่ในระหว่างการลาประเภทเดียวกันรวมเป็นวันลาด้วย ยกเว้น การลากิจ ลาป่วย และลาพักผ่อน ให้นับเฉพาะวันทำการ

การลาป่วยหรือลากิจส่วนตัวที่มีระยะเวลาต่อเนื่องกันจะเป็นในปีเดียวกันหรือไม่ก็ตามให้นับเป็นการลาครั้งหนึ่ง

ข้าราชการที่ถูกเรียกตัวกลับมาปฏิบัติราชการระหว่างการลา ให้ถือว่าการลาเป็นวันหมดเขตเพียงก่อนวันเดินทางกลับ และวันราชการเริ่มตั้งแต่วันออกเดินทางกลับเป็นต้นไป

การลาครึ่งวันในตอนเช้า / บ่าย ให้นับเป็นลาครึ่งวัน (ตามประเภทของการลานั้น)

ข้อควรคำนึง...

กฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. 2544 กำหนดเกี่ยวกับการลา ที่จะมีผลต่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนว่า ในแต่ละรอบการประเมิน คือ ครึ่งปีที่แล้วมา (ครึ่งปีแรก 1 ต.ค.–31 มี.ค. หรือครึ่งปีหลัง 1 เม.ย.–30 ก.ย.) จะต้องมีวันลาไม่เกิน 23 วันทำการ เว้นแต่การลาดังต่อไปนี้

ลาอุปสมบท / ลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ได้รับเงินเดือนในระหว่างลา

ลาคลอดบุตรไม่เกิน 90 วัน

ลาป่วยไม่เกิน 60 วัน

ลาพักผ่อน

ลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล

ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ

วันหยุดราชการ

วันหยุดราชการไทย ปัจจุบันแบ่งได้ 4 ประเภท คือ

วันหยุดราชการประจำสัปดาห์ คือ วันเสาร์ และวันอาทิตย์

วันหยุดราชการประจำปี ได้แก่ วันสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

วันหยุดราชการพิเศษ ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้หยุดเป็นคราวๆ เช่น การประชุม APEC

วันหยุดชดเชย

วันหยุดชดเชย

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤษภาคม 2544

วันหยุดราชการประจำปีตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ให้เลื่อนวันหยุดดังกล่าวไปหยุดในวันทำการถัดไป โดยให้หยุดชดเชยไม่เกิน 1 วัน

ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ถือนโยบายที่จะเข้มงวดกับการลาก่อนหรือหลังวันหยุดราชการประจำปี เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องปฏิบัติราชการติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายวัน หากผู้ใช้สิทธิลาโดยไม่มีเหตุอันควร ไม่ให้มีการอนุญาตและให้ถือว่าเป็นผู้ไม่ตั้งใจปฏิบัติราชการ

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547

ให้คงวันหยุดราชการประจำสัปดาห์และวันหยุดราชการประจำปีในปัจจุบัน

วันหยุดชดเชยวันหยุดราชการประจำปี ให้ถือปฏิบัติตามมติ ครม. 1 พ.ค. 2544

การลาของข้าราชการฯ ช่วงก่อนหรือหลังวันหยุด เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสม และจำเป็นที่จะอนุญาตให้ลาได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ให้เสียหายแก่การปฏิบัติราชการ และหากผู้ใดมีพฤติการณ์เป็นการหลีกเลี่ยงหรือไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี

เห็นไหมละค่ะ...หากข้าราชการทุกท่านปฏิบัติได้ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น...ท่านก็จะมีส่วนช่วยลดข้อขัดแย้งและจัดระบบสังคมในด้านการทำงานให้มีบรรยากาศที่ดีและเอื้อต่อกันระหว่างการทำงานเพราะท่านก็ทราบระเบียบ... เจ้าหน้าที่ก็ทราบระเบียบ...สรุปได้ว่า...ทุกท่านที่เป็นข้าราชการต้องทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และระเบียบของทางราชการค่ะ...นี่คือกฎเกณฑ์ กติกาและระเบียบของสังคมที่ทุกคนต้องปฏิบัติร่วมกันค่ะ...

หมายเลขบันทึก: 369193เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2010 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2016 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท