อุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศวิทยา ซึ่งมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพอันงดงาม น้ำตก ถ้ำ และภูเขา หรือดอกไม้ และสัตว์นานาชนิด ที่มีความสำคัญยิ่ง
อุทยานแห่งชาติของประเทศไทยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายมากมาย สำหรับแก่นักท่องเที่ยว นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ที่มีคุณค่าในเชิงวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และเชิงนิเวศวิทยา อุทยานแห่งชาติของไทยส่วนใหญ่ถือเป็นแหล่งที่มีความสำคัญ ทั้งทางความสวยงามทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ความสวยงามทางธรรมชาติ ภูมิประเทศ หรือภูมิศาสตร์ของอุทยานแห่งชาตินี้ เป็นที่ประจักษ์ต่อทั้งผู้มาเยือนจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของนักท่องเที่ยวทั้งหลายนี้ เป็นคำอธิบายในตัวเองได้เป็นอย่างดียิ่ง
หากพิจารณาอุทยานแห่งชาติในแง่ของการเป็นพื้นที่อนุรักษ์แล้ว ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการรักษาเสถียรภาพเชิงนิเวศวิทยา และการอนุรักษ์ในความหลากหลายด้านชีววิทยา พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ ยังเป็นสถานที่ที่พิเศษสุดสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งความรู้ทางการศึกษาอีกด้วย ถึงปัจจุบันนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติไปแล้วทั้งสิ้น 103 แห่ง พื้นที่ประมาณ 32.93 ล้านไร่ และเตรียมการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมอีก 45 แห่ง พื้นที่ประมาณ 12.97 ล้านไร่ รวมเป็น 148 แห่ง พื้นที่ประมาณ 45.90 ล้านไร่
เนื่องจากความจำเป็นในการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากร ที่มีความหลากหลายทั้งในด้านชีวภาพ และระบบนิเวศ ที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีความสำคัญอย่างมากนี้เอง จึงทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติของไทยถูกประกาศให้ครอบคลุมพื้นที่กระจายอยู่ทุกภาค ทั้งจากยอดเขาที่สูงสุดของประเทศอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ไล่ระดับความสูงมาถึงที่ต่ำลงไปถึงปากแม่น้ำ เช่น อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ต่อไปถึงชายทะเลและจนถึงกลางทะเล เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
สำหรับความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์และพันธุกรรม จริงอยู่ที่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับพันธุ์พืชและสัตว์ของไทยเรายังมีอยู่จำกัดมาก จนบางครั้งเป็นผลให้การจัดการธรรมชาติและทรัพยากรนั้น ๆ บกพร่องไป อย่างไรก็ตาม จากการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของชนิดพันธุ์ และพันธุกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นไว้ ในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืชจึงได้สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกหลานของไทยว่า ชนิดพันธุ์ป่าต่าง ๆ ของไทย ได้รับความคุ้มครองไว้ระดับหนึ่งแล้วพร้อมกันนั้น ก็ได้ทำการส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยค้นคว้าทางวิชาการควบคู่กันไป ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่งประเทศไทย ของเราจะได้มีความพร้อม และสามารถนำธรรมชาติและทรัพยากรชีวภาพที่เรามีอย่างหลากหลายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ธรรมชาติและทรัพยากรที่มีค่าในเขตอุทยานแห่งชาติของไทยอีกประเภทหนึ่ง คือ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ มีความโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวของโลก หรือที่เรียกว่า ธรรมชาติและทรัพยากรที่มีเอกลักษณ์ทางธรณีสัณฐาน เช่น สุสานหอย 75 ล้านปี ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี เขาตะปู ณ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ถ้ำหินงอกหินย้อย ที่วิจิตรตระการตา ณ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ หาดหินงาม ณ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ลานหินปุ่ม ลานหินแตก ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หินผา ณ ผาหล่มสัก ความเหมาะเจาะของต้นสนสามใบ บนหน้าผา ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
ความโดดเด่นของธรรมชาติและทรัพยากรเหล่านี้ หากถูกทำลายเงินมากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถสร้างได้อีก ความภาคภูมิใจของชาวไทยที่มีธรรมชาติและทรัพยากรมีค่าเหล่านี้ ต้องสูญหายไปด้วย ธรรมชาติและทรัพยากรล้ำค่าอีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจมีไม่มากนักในเขตอุทยานแห่งชาติของไทย คือ ธรรมชาติและทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชน เช่น ชาวเล ณ อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาเงาะป่าซาไก ณ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน หรือชุมชนชาวเขา ซึ่งวัฒนธรรมการดำรงชีพอย่างดั้งเดิมของชุมชนเหล่านี ้นับวันจะลดน้อยถอยลงไปทุกที ในส่วนที่เหลืออยู่จึงมีคุณค่าในตัวเองอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
และท้ายสุด คือ ธรรมชาติและทรัพยากรทางประวัติศาสตร์นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาพเขียนสี ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม หรือร่องรอยและซากไดโนเสาร์ ณ อุทยานแห่งชาติภูเวียง มาจนถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญของชาติ ก็ปรากฏอยู่ในอุทยานแห่งชาติเป็นจำนวนมาก เช่น พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเจดีย์พระนางเรือล่ม ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ทัณฑสถานนักโทษการเมือง ณ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ดังนั้น ธรรมชาติและทรัพยากรต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติของไทย ซึ่งเราได้คุ้มครองรักษาไว้ให้แก่ลูกหลานไทย จึงยากที่จะประเมินคุณค่าออกมาเป็นเงินได้
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ....................
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2504
เป็นปีที่ 16 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วย อุทยานแห่งชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้ง กับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
(1) "ที่ดิน" หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไป และให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วยหนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะและที่ชายทะเลด้วย
(2) "อุทยานแห่งชาติ" หมายความว่าที่ดินที่ได้กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้
(3) "ไม้" หมายความรวมถึงพันธุ์ไม้ทุกชนิดทั้งที่เป็นต้น เป็นกอ เป็นเถา ตลอดจนส่วนต่างๆ ของไม้
(4) "สัตว์" หมายความรวมถึงสัตว์ทุกชนิด ตลอดจนส่วนต่างๆ ของสัตว์ สิ่งที่เกิดจากสัตว์และสิ่งที่สัตว์ทำขึ้น
(5) "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(6) "อธิบดี" หมายความว่าอธิบดีกรมป่าไม้
(7) "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
การกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
มาตรา 6 เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดที่มีสภาพธรรมชาติ เป็นที่น่าสนใจให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำได้ โดยประกาศพระราชกฤษฎีกาและให้มี แผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า "อุทยานแห่งชาติ" ที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครอง โดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด ซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง
มาตรา 7 การขยายหรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่มิใช่เป็นการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทั้งหมด ให้มีแผนที่แสดงเขตที่เปลี่ยนแปลงไป แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย
มาตรา 8 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีหลักเขตและป้าย หรือเครื่องหมายแสดงเขตอุทยานแหงชาติไว้ตามสมควร เพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
มาตรา 9 ให้มีกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ" ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยผู้แทนกรมที่ดิน และกรรมการอื่นไม่เกิน 11 คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
มาตรา 10 กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา 11 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ตามมาตรา 10 กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(4) เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้ กรรมการผู้ได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งตามวาระเท่าที่ผู้ที่ตนแทน
มาตรา 12 การประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้คณะกรรมการเลือก กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเอาเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพื่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 13 การประชุมทุกคราว ต้องมีกรรมการประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา 14 คณะกรรมการจะตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
มาตรา 15 คณะกรรมการมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีในเรื่องต่อไปนี้
(1) การกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และการขยายหรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ
(2) การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ
(3) เรื่องที่รัฐมนตรีปรึกษา
การคุ้มครองและดูและรักษาอุทยานแห่งชาติ
มาตรา 16 ภายในเขตอุทยานแหงชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด
(1) ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า
(2) เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งยางไม้ น้ำมันยาง น้ำมันสน แร่ หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น
(3) นำสัตว์ออกไป หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์
(4) ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย
(5) เปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย บึง ท่วมท้นหรือเหือดแห้ง
(6) ปิดหรือทำให้กีดขวางแก่ทางน้ำหรือทางบก
(7) เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งกล้วยไม้ น้ำผึ้ง ครั่ง ถ่านไม้ เปลือกไม้ หรือมูลค้างคาว
(8) เก็บหรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่ดอกไม้ ใบไม้ หรือผลไม้
(9) นำยานพาหนะเข้าออก หรือขับขี่ยานพาหนะในทางที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(10) นำอากาศยานขึ้นลงในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(11) นำหรือปล่อยปศุสัตว์เข้าไป
(12) นำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไป เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี
(13) เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(14) ปิดประกาศ โฆษณา หรือขีดเขียนในที่ต่างๆ
(15) นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตนั้นกำหนดไว้
(16) ยิงปืน ทำให้เกิดระเบิดซึ่งวัตถุระเบิด หรือจุดดอกไม้เพลิง
(17) ส่งเสียงอื้อฉาวหรือกระทำการอื่นอันเป็นการรบกวน หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่คนหรือสัตว์
(18) ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสิ่งต่างๆ ในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น
(19) ทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงซึ่งอาจทำให้เกิดเพลิง
มาตรา 17 ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำให้หลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีตามพระราชบัญญัตินี้ เคลื่อนที่ ลบเลือน เสียหาย หรือไร้ประโยชน์
มาตรา 18 บุคคลซึ่งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบ ที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติของรัฐมนตรี
มาตรา 19 บทบัญญัติในมาตรา 16 และมาตรา 17 มิให้ใช้บังคับแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการไปเพื่อประโยชน์ใน การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ หรือการศึกษา หรือวิจัยทางวิชาการ หรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการทัศนาจรหรือการพักอาศัย หรือเพื่ออำนวยความปลอดภัยหรือให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติของรัฐมนตรี
มาตรา 20 การจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 21 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 16 ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ
มาตรา 22 ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติ ผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณีถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่ จะกระทำดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น
เบ็ดเตล็ด
มาตรา 23 ถ้าเห็นเป็นการสมควรให้ประชาชนชำระเงินเนื่องในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้บริการให้ความสะดวกต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติ หรือให้บุคคลใดเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทน สำหรับการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการหรือพักอาศัยอยู่ ในอุทยานแห่งชาติอธิบดีมีอำนาจกำหนดอัตราและวางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนดังกล่าวได้ ทั้งนี้ โดยอนุมัติของรัฐมนตรี เงินที่เก็บได้ตามวรรคก่อน เงินที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงอุทยานแห่งชาติเงินค่าปรับที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบตามมาตรา 28 และเงินรายได้อื่นๆ ให้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีอากรใดๆ และเก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี
บทกำหนดโทษ
มาตรา 24 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 25 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (6) (7) (9) (10) (11) มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 26 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (2) (3) (4) หรือ (7) ถ้าปรากฎว่าสัตว์หรือทรัพย์สินที่เก็บหาหรือนำออกมีราคาเพียงเล็กน้อย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียงเล็กน้อย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (8) (12) (13) (14) (15) (16) (17) (18) หรือ (19) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา 28 บรรดาความผิดตามมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบได้
มาตรา 29 บรรดาอาวุธเครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 16 (1) ฐานแผ้วถางหรือเผาป่า หรือมาตรา 16 (2) ฐานทำให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ หรือตามมาตรา 16 (3) ฐานทำให้เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือตามมาตรา 16 (4) ฐานทำให้เป็นอันตรายหรือเสือมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่
มาตรา 30 สัมปทานและใบอนุญาตทำไม้หรือเก็บหาของป่า ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ใบอนุญาตให้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ ในที่ป่าคุ้มครองหรือป่าสงวนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและสงวนป่า อาชญาบัตร ประทานบัตรและใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย การทำเหมืองแร่และสัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งได้ออกให้แก่บุคคลใดไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามมาตรา 6 ใช้บังคับให้คงใช้ได้ต่อไป เพียงเท่ากำหนดอายุของสัมปทาน อาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้น
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
คัดลอกจาก (ราชกิจจานุกเบกษาเล่ม 78 ตอนที่ 80 วันที่ 3 ตุลาคม 2504)
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อคุ้มครองรักษาทรัยากรธรรมชาติที่มีอยู่เช่น พันธุ์ไม้ และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขาให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมแก่รัฐและประชาชน
ต่อมามีการปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ให้เหมาะสมกับสภานการณ์ปัจจุบัน
โดยการตรากฎหมายเป็นพระราชกำหนดในปี พ.ศ. 2532
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2532
ไม่มีความเห็น