วันนี้ (เอ๊ะ ต้องเป็นเมื่อวานนี้สิ) ได้ร่วมขบวนไปกับท่าน CKO-อ.หมอปารมี, พี่เม่ยและคุณ mitoฯ ไปเป็นวิทยากรเรื่องการจัดการความรู้ ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต นอกจากจะได้มีโอกาสถ่ายทอดความคิดและสิ่งที่พวกเราทำที่ภาควิชาฯให้กับเจ้าหน้าที่แล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการพัฒนาบุคลากรกับทีมงานของทางโรงพยาบาลโดยผ่านทางการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างก่อนการประชุมและระหว่างรับประทานอาหาร รู้สึกประทับใจกับหลายๆเรื่องที่ทางทีมงานทำกันอยู่
แต่สิ่งที่ติดใจมากและอยากจะเอามาเล่าเก็บไว้ตรงนี้เป็นเรื่องจากการได้พูดคุยกับคุณหมอก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผ.อ.ร.พ.ซึ่งท่านเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ศิษย์เก่าม.อ.ที่ดูท่าทางว่าเลือดรักม.อ.ไม่ได้จางลงเลยแม้แต่น้อย นับจากวันที่ท่านจากม.อ.ไป ท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มของทีมดูแลผู้ป่วยจากเหตุสลดคลื่นยักษ์สึนามิ และได้สั่งให้มีการเพาะเชื้อจากแผลของผู้ป่วยแล้วพบว่าเป็นเชื้อในกลุ่ม gram negative bacteria แทนที่จะเป็นเชื้อ gram positive bacteria ซึ่งปกติจะพบในบาดแผลติดเชื้อ การสั่งให้เก็บเพาะเชื้อและการค้นพบว่าแผลในลักษณะนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้ ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาต่างกันโดยสิ้นเชิง และหากให้ยาผิดกลุ่มก็จะมีผลเสียหายเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย
ท่านได้รับการเชิญให้ไปพูดเรื่องนี้ที่ต่างประเทศมาแล้ว เป็นที่สนใจในหลักฐานชิ้นใหม่ทางการแพทย์นี้ และทราบว่าบทความได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ต่างประเทศด้วย ในขณะที่พวกเราชาวไทยไม่ได้รับทราบถึงเรื่องนี้กันเลย ตัวเองฟังแล้วขนลุกว่า การตัดสินใจที่ถูกต้องในเวลาอันเหมาะสมอย่างที่คุณหมอก้องเกียรติได้ทำไปณ เวลานั้น ทำให้เกิดผลต่อเนื่องที่มีคุณค่ามหาศาลจริงๆ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาถูกต้อง ไม่เกิดการติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตจำนวนมากซึ่งคงไม่มีโอกาสได้รับทราบว่าเป็นเพราะผลจากการตัดสินใจครั้งนี้ เป็นเรื่องน่าประทับใจมาก
ถือเป็นผลพลอยได้จากการไปเป็นวิทยากรยังต่างถิ่นที่มีคุณค่าจริงๆ นอกเหนือไปจากความประทับใจในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับภาระกิจหลักของการเดินทาง
เมื่อคืนยังเล่าไม่หมดด้วยค่ะว่า ปรากฏว่าจากการตรวจ sensitivity พบ E.coli ที่ดื้อต่อยา Augmantin เรียกว่าเป็นเรื่องเลยทีเดียว เพราะขนาดยาครอบจักรวาล ฆ่าได้ทั้งเชื้อ gram positive และ gram negative ก็ยังเอาไม่อยู่
รู้สึกเราจะคุยกันกระโดดไปมาหลายเรื่อง เลยจับไม่ค่อยติดว่าคุณหมอแก้ไขอย่างไรต่อ แต่จะเห็นได้ว่าเป็น critical decision จริงๆที่ทำลงไปแล้วเกิดผลดีมหาศาล
ตัวเองได้บอกน้องตุ๊กตาซึ่งเป็นหัวหน้าห้องแล็บว่าน่าจะเก็บ sensitivity pattern ของเชื้อที่เพาะได้จากแผลคนไข้ช่วงนั้นมารายงานไว้ด้วย น่าจะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ เป็นข้อมูลที่ unique มาก เราไม่น่าจะหาได้ที่ไหนอีกแล้ว