ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๑๖. ถนนคนไม่เดิน


ถนนที่คนเดินอยู่เป็นกิจวัตรเป็นถนนแห่งมายา เป็นเส้นทางแห่งกรอบวิธีคิดหรือถนนที่นำสังคมไปสู่ความเสื่อมโดยเราไม่รู้ตัว ไม่มีใครจงใจให้สังคมเดินไปทางนั้น แต่เราก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ตระหนัก ว่าเรากำลังเดินไปสู่ความเสื่อม เพราะเราขาดเวลาสำหรับไตร่ตรองภาพใหญ่ ภาพระยะยาว ว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหนแน่ ทางแห่งความสุขหรือทางแห่งความเสื่อม
          ถนนที่คนเดินอยู่เป็นกิจวัตรเป็นถนนแห่งมายา   เป็นเส้นทางแห่งกรอบวิธีคิดหรือถนนที่นำสังคมไปสู่ความเสื่อมโดยเราไม่รู้ตัว   ไม่มีใครจงใจให้สังคมเดินไปทางนั้น   แต่เราก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ตระหนัก ว่าเรากำลังเดินไปสู่ความเสื่อม   เพราะเราขาดเวลาสำหรับไตร่ตรองภาพใหญ่ ภาพระยะยาว   ว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหนแน่   ทางแห่งความสุขหรือทางแห่งความเสื่อม


          แนวคิดนี้ น่าจะใช้ได้ ต่อทั้งภาพใหญ่ คือทั้งโลกหรือทั้งประเทศ   และใช้ได้ต่อภาพเล็ก คือชีวิตของคนแต่ละคน 


          คนเราทุกคนควรมีเวลาไตร่ตรอง ว่าชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่นั้น จะนำเราไปสู่เป้าหมายระยะยาว ตามที่เราอยากให้เป็น หรือไม่


          เมื่อราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือ ๒๕๓๘ ผมได้มีโอกาสชี้ประเด็นนี้ต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ


          เป็นเวทีประชุมที่บรรยากาศไม่เหมาะสมเลยที่จะพูดเรื่องนี้กัน   เพราะเป็นบรรยากาศที่ทุกคนในที่ประชุมอยู่ในสภาพ “จิตไม่ว่าง”   แต่ผมจำเป็นต้องทำ เพราะความจวนตัว    ทำแบบสุนัขจนตรอก


          สภาพบรรยากาศของที่ประชุมชี้แจงงบประมาณต่อกรรมาธิการ เป็นบรรยากาศของกลุ่มผู้มีอำนาจไล่บี้หรือไล่ต้อนหัวหน้าหน่วยงานที่ไปชี้แจง   เป็นบรรยากาศของการช่วยเหลือพวกพ้องให้งบประมาณผ่าน   เป็นบรรยากาศของการจ้องหาผลประโยชน์ตนหรือพวกพ้องจากเงินงบประมาณ


          เมื่อผมเข้าไปชี้แจง ก็ถูกกล่าวหา ว่างบประมาณวิจัยของประเทศถูกนำไปใช้แบบไม่ก่อประโยชน์   และถามว่า สกว. จะเอาเงินไปทำวิจัยเรื่องอะไรบ้าง   ขอให้ระบุให้ชัดเจน เพื่อจะได้พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติงบประมาณในเรื่องนั้นๆ ได้


          ผมปิ๊งแว้บขึ้นมาว่า หากผมตอบคำถามนั้น   ก็เท่ากับผมเดินตามถนนที่กรรมาธิการท่านนั้นกำหนดให้เดิน   เป็นถนนที่เขารู้จักและคิดว่ามีเส้นเดียว   ซึ่งเป็นถนนที่ผมเชื่อว่านำไปสู่หายนะ   ผมต้อง “ตัดถนนใหม่” เพื่อใช้ในการตอบคำถามแบบไม่ตอบของผม


          ผมได้เรียนต่อที่ประชุมว่า ด้วยความเคารพต่อท่านผู้ถามและต่อคณะกรรมาธิการ ผมขอเรียนว่า สกว. ไม่ได้ใช้วิธีทำงานตามแนวที่ท่านถาม   เพราะถ้าทำเช่นนั้น ประเทศไทยก็ไม่ต้องมีหน่วยงานนี้ ที่ชื่อว่า สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)   ที่ต้องตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ทำหน้าที่จัดการ/สนับสนุน การวิจัยในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดผลดีต่อบ้านเมืองคุ้มค่าเงินลงทุนจากภาษีอากรของราษฎร    ดังนั้นเราจึงศึกษา คิด และทดลองแนวทางใหม่ๆ   ซึ่งในขณะนี้แนวทางของเราคือ ..... แล้วผมก็ร่ายยาววิธีการให้ทุนที่ไม่ใช่มีการกำหนดหัวข้อไว้ล่วงหน้า   แต่จะมีการปรึกษาหารือกับ “ผู้ใช้” และกับนักวิจัยที่มีความสามารถสูง สายตากว้างไกล   เพื่อร่วมกันกำหนดโจทย์ภาพใหญ่ และนำไปสู่ “ชุดโครงการวิจัย”   ตามที่ผมเขียนไว้แล้วในหนังสือ การบริหารงานวิจัย : แนวคิดจากประสบการณ์  


          “ถนนคนเดิน” หลายสายเป็น “ถนนแห่งมายา”   ชีวิตคนเรา ต้องมีสติ รู้ว่าตนกำลังเดินบนถนนเส้นไหน   และปลายทางของถนนเส้นนั้นคืออะไร   เป็นวัฒนะหรือหายนะ


          คำถามนี้ ใช้ได้กับองค์กร ประเทศ และโลก  


          การได้มีชีวิตศึกษาเรียนรู้ และร่วมลงมือปฏิบัติเพื่อ “ตัดถนน”   เป็นความสุขและสนุกอย่างยิ่ง


 
วิจารณ์ พานิช
๓๑ พ.ค. ๕๓
โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ แกลเลอเรีย มานิลา
              
        
หมายเลขบันทึก: 367099เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบเรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ กูรู ที่นับถือ 

  • เคยไปชี้แจงกรรมาธิการ
  • ท่านประธานชัย ท่านเรียกว่า "สนทนา ธรรม" ครับ ทั้งอบรม สั่งสอน บี้ บีบ หัวใจ คณาจารย์ที่ไปชี้แจง
  • จำได้ว่า ท่านอาจารย์หมอจรัส วันนั้นอึ้งไปเลย เพราะ กรรมาธิการ ให้รายงานว่า รร สาธิต มี อาจารย์ ชื่ออะไรบ้าง ครับ

สวัสดีท่านอาจารย์ครับ

ขอบพระคุณสำหรับบทเรียนครับ...

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

   ทุกวันนี้ถนนแห่งมายา มากมายเหลือคณานับ หลายอย่างก้ควรใช้วิจารญาณในการคิดในการเชื่อให้ดี สังคมแห่งโลกาภิวัฒน์ ดังดาบสองคม กระผมอ่านงานวิจัยชิ้นนี้ ก็ยิ่งทำให้คิดว่า เราต้องรับข่าวสารด้วยวิจาณญาณที่สูงมาก อย่างเช่นตัวอย่างงานวิจัยชิ้นนี้ มีความซับซ้อนอยู่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพนิเวศน์ของการศึกษาที่เกิดขึ้น วิธีการศึกษา บริบทรอบๆ เช่น ระดับความเสื่อมโทรม ระดับเศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อม และในเชิงสัมพันธ์กับเวลาในอดีตด้วย การพิจารณาต้องมองหลายแง่มุม หลายมุม การใช้ชีวิตในโลกโลกาภิวัฒน์ ต้องใช้หลักกาลามสูตรและตรวจสอบกับความจริงด้วยเสมอ ทุกวันนี้โลกเราซับซ้อนขึ้นทุกวัน การใช้วิจารณญาณก็ต้องมีมากขึ้น งานวิจัยแบบนี้ต้องถกกันนานในความคิดกระผม ลองลิงค์อ่านดูข้างล่างครับผม

ด้วยความเคารพครับผม

 นิสิต

http://news.stanford.edu/news/2010/june/agriculture-global-warming-061410.html

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000083195

นี่คือข้อถกเล็กๆน้อยที่ผมคิดได้คือ Green Revolution กับภาพจริงของสังคมในความเห็นส่วนตัว เพราะการปฏิวัติเขียว น่าจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลงต่างๆ ตลอดจนสารเคมีมากมาย จากการที่เกษตรกรพึ่งตนเองไม่ได้ และนำสังคมชาวบ้านเป็นไปเป็นการค้า มุ่งหาเงินมากขึ้น  เพราะชาวบ้านไม่เงินลงทุน ถ้าไม่กู้มา ก็หันไปทำลายทรัพยากรที่มีอยู่ จึงไปตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น สิ่งนี้น่าจะเป็นจริงมากกว่า ที่จะบอกว่า มันจะชะลอการตัดไม้ทำลายป่า ยกเว้นในกรณีที่หมดป่าแล้ว จึงไม่มีที่ทำลาย เพราะไม่รู้จะไปตัดอะไร แค่ประเด็นนี้ก็ถกกันยาวแล้ว ยังมีอีกเยอะ ต้องถกแต่ละประเด็นแต่ละเงื่อนไข เพื่อเข้าใจภาพรวม นี่หละคือความซับซ้อนของโลกาภิวัฒน์

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท