โรงเรียนไทยต้องมาตรฐานสากล?


วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 20:30:01 น.  มติชนออนไลน์



โรงเรียนไทยต้องมาตรฐานสากล?

โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ

กระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกโรงเรียนทั่วประเทศ 500 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 381 โรงเรียน ระดับประถมศึกษา 119 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) โดยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล ระยะดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ.2553-2555


โรงเรียนมาตรฐานสากลมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก (World Citizen) เป็นเลิศทางวิชาการ สื่อสาร 2 ภาษา ล้ำหน้าทางความคิด ผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก ยกระดับการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล ด้วยการกำหนดรายวิชาเพิ่มเติมที่มีความเป็นสากล ได้แก่ ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge : TOK) การเขียนความเรียงชั้นสูง (Extended-Essey) กิจกรรมโครงงานเพื่อสาธารณประโยชน์ (CAS : Creativity, Actions, Service) และวิชาโลกศึกษา (Global Education)


นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยการใช้ภาษาอังกฤษภายในปี 2555 และจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอีกภาษาหนึ่งเป็นภาษาที่สอง


ในบรรดาโรงเรียนมาตรฐานสากลนอกจากโรงเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯแล้ว โรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ตามต่างจังหวัด ทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่ามีความพร้อมในการจัดการศึกษา


โรงเรียนมาตรฐานสากลเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการสมัยรัฐมนตรีคนที่ผ่านมา ที่มองเห็นว่าโรงเรียนในประเทศไทยไม่ได้มาตราฐานสากล จึงต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้มีความเป็นสากล ด้วยความพยายามจะจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การกำหนดวิชาเพิ่มเติมที่จะเรียน การเรียนภาษาต่างประเทศที่สอง และการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษ!!


การเปลี่ยนระบบการเรียนแบบโน่นนี่ทำให้เกิดความสงสัยว่า เราต้องการให้เด็กไทยเรียนแบบสากลไปถึงไหน แล้วหากเรียนแบบไทยๆ จะเป็นอย่างไร? แล้วพอประกาศนโยบายปั๊บก็เริ่มกันเลยหรืออย่างไร อย่างมากก็ให้บุคลากรของแต่ละโรงเรียนไม่กี่คนไปประชุมสักสองครั้งสามครั้ง แล้วก็มาถ่ายทอดอะไรนิดหน่อย พร้อมทั้งประกาศว่าโรงเรียนมาตรฐานสากลกันแล้ว


นับแต่นั้นโรงเรียน 500 โรงเรียนก็เป็นมาตรฐานสากลกันเลย?


วิชาเพิ่มเติมที่จะเรียนวิชาแรกคือ ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) หรือวิชา TOK เห็นแค่ชื่อวิชาทั้งคนเรียนคนสอนงงไปตามๆ กัน


ซึ่ง ดร.เฉลิม ฟักอ่อน ได้อธิบายพอจับประเด็นได้ว่าวิชา TOK คือ วิชาการเกิดความรู้ของแต่ละบุคคล โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนศึกษาวิธีการหาความรู้ การอธิบายความรู้ของแต่ละบุคคล การศึกษาปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรู้ และการตรวจสอบความรู้ เช่น การตั้งคำถามกับวิชาประวัติศาสตร์ว่าเพราะเหตุใดเราจึงต้องมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ นำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร และต้องให้เหตุผลได้ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีการตรวจสอบองค์ความรู้ที่ตนเองมีอย่างมีหลักเกณฑ์ เป็นไปได้หรือไม่ มีตรรกะ (Logic) หรือเป็นการรับรู้ด้วยความรู้สึก ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นต้น


วิชา TOK ไม่ใช่แค่วิชาที่ฝึกให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์คิดวิจารณญาณต่อเรื่องราวใดๆ ปรากฏการณ์ใดๆ ที่เป็นกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างในชีวิตประจำแบบธรรมดาสามัญหรือพื้นๆ เท่านั้น


แต่วิชา TOK เป็นวิชาขั้นเทพเลยทีเดียว เพราะนอกจากผู้เรียนจะศึกษาค้นคว้าจนสามารถสรุปองค์ความรู้เรื่องราวใดๆ ได้แล้ว ผู้เรียนยังต้องรู้ที่มาที่ไปของความคิดของตนเองด้วยว่าองค์ความรู้ที่ตนเองได้มานั้นเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากความเชื่อความศรัทธา การจดจำ การหยั่งรู้ หรืออื่นๆ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบความจริงความถูกต้องของความรู้ที่ได้รับ


ในการประเมินผลวิชา TOK ผู้เรียนต้องนำเสนอผลงานการศึกษา ที่มีการวางแผนการทำงาน และทำงานตามเป้าหมายที่กำหนด


ส่วนหัวข้อเรื่องที่จะศึกษาต้องสัมพันธ์กับชีวิตจริงที่ผู้เรียนสนใจ โดยมีการประเมินสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง ประเมินผลงานการเขียนหรือรายงานการศึกษา ที่เนื้อหาสาระต้องถูก ต้องมีเหตุผล มีหลักการทฤษฎีรองรับ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีการนำเสนอที่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นได้


นอกจากนี้ในการนำเสนอผลงาน ผู้เรียนต้องแสดงให้เห็นว่าเรื่องที่ตนศึกษามีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับความรู้ต่างๆ อย่างไร ในการนำเสนอให้นำเสนอได้หลายแบบ แต่ห้ามอ่านเอกสารให้ฟัง


แค่วิชา TOK วิชาเดียวกว่าเด็กจะคิดประเด็นหรือเรื่องที่จะศึกษาได้ ไปจนถึงขั้นนำเสนอผลงานที่ห้ามอ่านให้เพื่อนและครูฟัง แล้วยังต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย


ปัญหาคือ แค่การคิดวิเคราะห์ธรรมดาให้บรรลุเป้าหมายกันอย่างถ้วนหน้าก็ดีถามไปแล้ว เพราะไม่รู้ว่าครูเองจะ TOK กันได้แค่ไหน การเตรียมการฝึกฝนครูก็ยังไม่ได้ทำเลย ระดับรัฐมนตรีอภิปรายตอบในสภา ความคิดยังไม่แล่น เห็นยืนอ่านโพยกันอยู่เลย


แล้วจะให้เด็กประถม มัธยม เรียนวิชา TOK ได้แบบมาตรฐานสากล!!


วิชาต่อมาการเขียนความเรียงชั้นสูง (Extended-Essey) ชื่อก็บอกแล้วว่าขั้นสูง ดังนั้น จึงไม่ใช่วิชาเขียนเรียงความ ประมาณว่าคล้ายการเขียนรายงาน 5 บท สอนกันตั้งแต่การเขียนชื่อเรื่อง การเขียนบทคัดย่อ การเขียนกิตติกรรมประกาศ การเขียนสารบัญ การกำหนดประเด็นปัญหา การเขียนข้อมูลสารสนเทศ การนำเสนอข้อมูลเป็นลำดับขั้นตอน น่าเชื่อถือ การเขียนแผนที่ แผนภูมิ ภาพประกอบ วิธีการอ้างอิงถ้อยคำ ความคิดเห็น การเขียนบทสรุป และการอ้างอิงบรรณานุกรม


ดูๆ แล้วน้องๆ การเขียนงานวิจัย 5 บทเลยทีเดียว


นี่โรงเรียนมาตรฐานสากล ผู้เรียนต้องทำได้ถึงขั้นนี้เชียวหรือ ขนาดครูที่ทำผลงานทางวิชาการแล้วต้องเขียนรายงาน 5 บท ขณะที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อนยังแทบแย่ แล้วจะให้ถึงขั้นสอนให้ผู้เรียนต้องเขียนได้


นี่ถ้าไม่บอกว่าเป็นเด็กประถม มัธยม นึกว่าเรียนมหาวิทยาลัยหรือกำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่นะนี่!!


วิชาที่สาม วิชาโลกศึกษา (Global Education) เรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โลก เรียนรู้เกี่ยวกับความคิด (Concept) และเนื้อหาของทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับโลก โดยมีเรื่องที่ต้องจัดการเรียนการสอน เช่น การเป็นพลโลก การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชน ความหลากหลาย เป็นต้น


วิชาโลกศึกษานี่จะสอนกันยังไง? การแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลักสูตรบอกว่าให้เห็นความสำคัญของการเจรจาประนีประนอม การเคารพและเอื้ออาทร เรื่องต่อมา ความเป็นธรรมทางสังคม ให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของความเป็นธรรมทางสังคม ว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน... รู้จักผลกระทบของอำนาจที่ไม่เสมอภาค และเห็นคุณค่าของการมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน


อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักและเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และตระหนักในสิทธิมนุษยชน


แล้วเรื่องนี้จะสอนกันอย่างไรดี เพราะเห็นๆ กันจะจะว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศนี้โดยมิอาจปฏิเสธได้


อีกทั้งหากจะต้องสอนเรื่ององค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็สอนลำบาก เพราะจะบอกผู้เรียนว่าประเทศนี้ไม่มีองค์กรนี้ก็ไม่ใช่ คงบอกได้แต่เพียงว่ามี แต่บทบาทยังสับสนมั้ง!!


เรื่องสุดท้ายที่จะยกตัวอย่าง เรื่องความหลากหลาย เน้นให้ผู้เรียนยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ในบริบทสิทธิมนุษยชน ในขณะที่สังคมไทยเห็นคนที่มีความคิดต่างเป็นศัตรู ด้อยค่ากว่าตน หรือมีการใช้คำเรียกผู้อื่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่า ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ที่เห็นเกลื่อนกลาดตามอินเตอร์เน็ต เหมือนไม่มีใครอบรมสั่งสอน ในเมื่อสังคมไม่เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วจะให้สอนเรื่องนี้กันอย่างไร?


โดยภาพรวมแล้ววิชาโลกศึกษา เป็นวิชาที่ฝึกกระบวนการคิดให้กับผู้เรียน ให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน รู้จักการแก้ไขความขัดแย้งด้วยความเข้าใจ ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม วิชานี้หากเรียนกันอย่างจริงจังน่าจะเป็นวิชาที่สนุก สามารถนำความรู้รอบตัวข้อมูลข่าวสารมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความคิดอย่างหลากหลายได้


แต่ที่น่ากังวลใจคือ ผู้ใหญ่ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง และกรุณาสร้างสรรค์บริบททางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยแบบสากลนิยมหน่อย เพื่อให้สื่อการสอนจากชีวิตจริงมีคุณค่าเหมาะแก่การเรียนรู้ของผู้เรียน


เป้าหมายของโรงเรียนมาตรฐานสากลอีกประการหนึ่งคือ การจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ แม้จะมีโครงการที่จะจัดครูวิทยาศาสตร์ไปอบรมภาษาอังกฤษโรงเรียนละ 6 คน ครูคณิตศาสตร์โรงเรียนละ 3 คนก็ตามที


แต่ปัญหาคือ ครูที่สอนทั้งสองวิชานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นการส่งไปอบรมแค่ไม่กี่วัน อีกทั้งศัพท์ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็เป็นศัพท์เฉพาะ แล้วจะให้สอนเป็นภาษาอังกฤษได้เลยนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะหากครูเหล่านี้เก่งภาษาคงไม่มาเรียนวิชาที่ยากเช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์


ในขณะเดียวกันหากถามผู้เรียนว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับสองวิชานี้ นักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นวิชาที่ยาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ผู้เรียนที่เรียนได้ดีต้องมีความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมองซีกซ้ายซีกขวาที่ทำให้ผู้เรียนมีความถนัดต่างกัน


ความยากของวิชาพิจารณาได้จากผลการสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2552 คะแนนสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ป.6 ที่ขณะนี้เป็นนักเรียนชั้น ม.1 มีคะแนนเฉลี่ยทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไม่ถึง 40 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนระดับชั้น ม.3 ซึ่งขณะนี้เป็นนักเรียนชั้น ม.4 มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสองวิชาไม่ถึง 30 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แสดงให้เห็นว่าวิชาทั้งสองยากจริง


หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษที่จะเป็นพื้นฐานไปสู่การเรียนในโรงเรียนมาตรฐานสากลแล้ว พบว่าคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษคะแนนยิ่งต่ำเข้าไปใหญ่ ชั้น ป.6 นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยวิชานี้ 31.75 ชั้น ม.3 นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย 22.54 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งถือว่าคะแนนต่ำมาก แสดงว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานวิชาภาษาอังกฤษอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงกันทีเดียว


หากเป็นดังนี้เมื่อยังไม่ได้ปรับปรุงความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน จนมีผลน่าพึงพอใจแล้ว ครั้นจะให้นักเรียนต้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ผลคะแนนของสองวิชานี้น่าจะต่ำไปยิ่งกว่าเดิม


ลำพังครูสอนด้วยภาษาไทยที่พยายามสอนให้เข้าใจง่าย ผู้เรียนยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง หากต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งครูทั้งเด็กคงมีผลสัมฤทธิ์การเรียนการสอนต่ำไปตามๆ กัน


นอกจากนักเรียนจะรู้สึกว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ยากแล้ว นักเรียนอีกส่วนหนึ่งยังเรียนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยความเครียด วิตกกังวล ซึ่งผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Experimental Psychology: General โดย Mark H. Ashcraft และ Eliazbeth P Kirk แห่ง Cleveland (Ohio) State University พบว่าความวิตกกังวล ตลอดจนความประหวั่นพรั่นพรึงต่อวิชาคณิตศาสตร์ จะไปรบกวนสมาธิและการทำงานของสมอง ทำให้เรียนคณิตศาสตร์ได้ไม่ดี


เมื่อความเครียดมีผลทำให้เรียนวิชาคณิตสตร์ได้ไม่ดีแล้ว การให้ผู้เรียนวิชานี้เป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่พื้นฐานความรู้ด้านภาษาอังกฤษก็ต่ำ จะยิ่งทำให้นักเรียนเกิดความเครียดมากขึ้น ผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์จะไม่ต่ำไปกว่าเดิมอีก?


โรงเรียนมาตรฐานสากลหากไม่นับเฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพฯแล้ว โรงเรียนหลายร้อยโรงเรียนอยู่ในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนระดับอำเภอ ระดับชั้นหนึ่งๆ มีนักเรียนประมาณ 500-600 คน ที่มาจากทั้งหลายพื้นฐานโรงเรียน ครอบครัว การเรียนเก่งอ่อนต่างกัน มีนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับดีไม่น่าเกิน 20% ที่เหลือเป็นปานกลาง และอ่อน


ซึ่งหากพิจารณาพื้นฐานวิชาภาษาอังกฤษอยู่ในระดับที่ไม่ดีเป็นส่วนใหญ่


อีกทั้งหากพิจารณาตามความเป็นจริงของชีวิต เด็กๆ เหล่านี้ต้องถึงขั้นเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษเชียวหรือ ความจำเป็นในการนำไปใช้ในการเรียนระดับสูงมีมากน้อยเพียงใด


หากครูสอนวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นจริง?


แล้วเรียนด้วยวิธีแบบนี้จะเป็นการแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนตกต่ำได้จริง?


การเรียนภาษาต่างประเทศให้เก่งเป็นความจำเป็น และช่วยเสริมความก้าวหน้าด้านการเรียนเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น แทนที่จะเน้นสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้เป็นภาษาอังกฤษ กระทรวงศึกษาธิการน่าจะส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะให้เด็กเก่งก่อน ให้ผลการเรียนการสอบระดับชาติได้คะแนนสูงขึ้น จนถึงขั้นมาตรฐานก่อน แล้วจึงค่อยมาขยายผลต่อการเรียนวิชาอื่นๆ ด้วยภาษาอังกฤษ


กี่สิบปีมาแล้วที่ระบบการศึกษาของไทยวิ่งตามประเทศนั้นประเทศนี้ ระบบประเทศนี้ดีก็ตามเขาไป ใช้ไม่ได้ผลก็เปลี่ยนใหม่ การศึกษาของไทยจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลาว่าไม่ประสบความสำเร็จเพราะการลองผิดลองถูกอยู่ร่ำไป


การศึกษาของไทยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามคนอื่น แค่เน้นสอนให้เด็กมีความเข้าใจ คิดวิเคราะห์เป็น เน้นความมีคุณธรรมจริยธรรมในเรื่องความมีเมตตา มีน้ำใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่าตน มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันแล้ว แค่นี้ก็ต้องถือว่าการศึกษาไทยมีมาตรฐานแล้ว


ไม่ต้องถึงขั้นสู่มาตรฐานสากลเพียงแค่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ขาดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์!!

หมายเลขบันทึก: 366634เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ท่านอาจารย์สายพิณ ที่เคารพครับ

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดท่านหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องโรงเรียนไทยต้องได้มาตรฐานสากล รัฐมักจะมองไปข้างหน้า ไม่ค่อยมองปัญหาพื้นฐาน และเอกลักษณ์ของคนไทย และวัฒนธรรมไทย การคิดจึงไม่มุ่งหน้าที่จะเอาชาติอื่นมาเป็นแนวทาง และล่าสุด ผมอ่านทางมติชน เรื่อง e-Training :ครูเครียดทั้งระบบ ผมเห็นด้วยมากๆเลย ผมว่า ศธ. หรือ สพฐ.คิดเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง น่าจะยกเลิกได้แล้ว ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่จะต้องพัฒนาครู ควรดึงจิตวิญญาณ ความมุ่งมั่น ในการพัฒนาตนเองกลับมาจะได้ประโยชน์กว่า ขอสนับสนุนบทความ และนำเสนอบ่อยๆนะครับ ผมจะตัดไว้ และนำไปใช้ประโยชน์ในการสอน และเป็นวิทยากรต่อไป ขอคุณครับ

Dr.Pet K

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ที่แสดงความคิดเห็น ทำให้มีกำลังใจในการเขียนบทความมากขึ้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท