ทางรับ ทางลัด ทางร่วม ทางเริ่ม ทางเลือก (การศึกษา)


                 ทางรับ ทางลัด ทางร่วม ทางเริ่ม ทางเลือก(การศึกษา)

         ผมเพิ่งกลับมาจากการไปอภิปรายเกี่ยวกับ "การศึกษาทางเลือก"ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ประสานมิตร ร่วมกับผู้รู้ทางการศึกษาอีกหลายท่าน
         ผมพูดไม่ยาว แต่สรุปให้เขาเห็นเป็นภาพสั้นๆ ทีละฉาก โดยขอนำมาขยายซ้ำให้เห็นอีกครั้งในที่นี้ คือ 
         1.เด็กไทยทุกคนมี "ทางรับ"การศึกษายาวนานถึง 15 ปี ฟรีบางส่วน แต่มีเด็กจำนวนมากเหมือนกันที่ "ทางรับ"ถูกปิดด้วยเหตุยากจน ย้ายถิ่นหรือหลักฐานไม่มี 
        2.เด็กไทยจำนวนมากขวนขวายทางการศึกษาด้วยการอาศัย "ทางลัด"ของการศึกษานอกระบบ (กศน.) เข้าต่อเติมโอกาสให้แก่ตน ทางนี้ช่วยลดปริมาณผู้ไม่ได้รับการศึกษาลงไปได้มาก
        3.เมื่อการศึกษาถูกวิจารณ์มากว่าขาดคุณภาพ สอนแต่เรื่องไกลตัว การศึกษาจึงถูกปรับเปลี่ยนด้วยการเปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้ามาเป็น "ทางร่วม"เพิ่มขึ้น ด้วยการอาศัยกรรมการร่วมครู-ชุมชน  ภูมิปัญญาชาวบ้าน ห้องเรียนนอกห้องเรียน ฯลฯ จนแนวทางการศึกษาเริ่มใกล้ชิดชาวบ้าน ชุมชนและสอดคล้องความจริงมากขึ้น
        4.แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย ที่พบว่าการศึกษาไม่ใช่คำตอบ การแสวงหาแนวคิดทางการศึกษาใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากต่างประเทศหรือที่พยายามคิดค้นขึ้นเองจึงเกิดขึ้น กระทั่งได้กลายเป็น "ทางเริ่ม"ที่เกิดขึ้นทีละจุดๆ จนกลายเป็นรูปแบบที่พูดติดปากว่า เป็นการศึกษา"ทางเลือก"ให้แก่เด็กๆจำนวนไม่น้อย 
        ใครจะสนใจแนวไหน ศึกษาเพิ่มเติมกันตามเอกสารที่มีอยู่มากมายได้ครับ ผมเองสนใจทั้ง 4 ลักษณะเพราะพบว่าเอื้อและเกื้อกูลให้เด็กๆ ได้ดีไปตามแต่ละลักษณะที่จัดขึ้น
        อ่านแล้ว ต่อเติมเสริมต่อกันได้นะครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 366446เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เรียนครูหยุย ที่เคารพ

ผมขออนุญาตแสดงความเห็นครับ

ความจำเป็นของการศึกษา คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ไม่อาจสนองตอบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง (เป้าหมายเปลี่ยนไป) กลับไปเน้นเรื่องของ การแย่งชิงความได้เปรียบในสังคม ใครมีโอกาสน้อยกว่า ถือว่าบุคคลนั้นพัฒนาไม่ทันคนอื่น การศึกษาที่แท้จริงควรตอบสนองต่อ ต่อคนทุกกลุ่มในสังคมเพื่อลดช่องว่างของคนลง แต่ระบบการศึกษาของไทย กลับพยายามขยายช่องว่างโอกาสทางการศึกษา อันส่งผลต่อการขยายความแตกต่างในการพัฒนาคน คำว่าจัดการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นเพียงข้ออ้าง ไม่เช่นนั้น สถาบันอุดมศึกษาจะไม่พยายามที่จะออกนอกระบบ ข้ออ้างที่บอกว่า ออกนอกระบบเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีขึ้น ผมถามว่าใครได้ประโยชน์ ผู้เรียน หรือผู้บริหารการศึกษา คนด้อยโอกาส คนเรียนดีแต่ยากจน จะมีโอกาสสักกี่ เปอร์เซนต์ ไปดูในสถาบันการศึกษาของรัฐในระดับอุดมศึกษา คนยากจนที่มีโอกาสได้เรียน มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ระบบเงินกู้เพื่อการศึกษา อาจช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ ตอบโจทย์นี้ไม่ได้ เพราะโอกาสทางการศึกษายังคงเป็นภาพมายาอยู่ดี

ผมว่า ยึ่งทำให้ปัญหาทางการศึกษาเลวร้ายลงไปอีก คนมาเผาบ้านเผาเมืองเพราะอะไร ใครเดือดร้อน ใครทุกข์ยาก เป็นภาพสะท้อนของระบบการศึกษาของประเทศไทย (หรือว่าไม่ใช่)

ทางออกเรื่องนี้

๑. รัฐต้องให้โอกาสคนยากจน ที่ตั้งใจเรียน (อาจเรียนไม่ดีเลิศ แต่มีความขยัน มีตัวชี้วัดที่สามารถพิสูจน์ได้) ให้เรียนฟรีไปเลย

ขออ้างว่าไม่มีงบ เป็นเรื่องตลก ซื้อเครื่องบิน ซื้อเรือรบ ซื้อ GT2000 มีให้ไม่จำกัด

๒.คนที่มีโอกาสเสียเงินค่าเรียนได้ ไม่ควรเรียนฟรี คนที่พ่อแม่มีฐานะ (แต่กลับมาแย่งโอกาสคนยากจนอีก) เมื่อมีเงินก็ต้องจ่าย

๓.รัฐต้องทำสัญญากับผู้เรียน ต้องเรียนตามเกณฑ์ คนที่ทำตามเกณฑ์ จะได้เรียนตลอด คนที่เกเร ไม่สนใจเรียน ก่อความวุ่นวาย ต้องไปอยู่อีกระบบ เช่น ค่ายวิวัฒพลเมือง ค่ายดัดนิสัย แล้วแต่จะตั้งขึ้นมา

๔.คนที่เรียนจบ มีโอกาสทำงาน เขาก็จะสามารถตอบแทน คืนให้กับสังคมได้ ในรูปของภาษ๊เงินได้ คิดดูเถิดภาษีทีได้ ได้มากกว่าที่รัฐให้โอกาสทางการศึกษาอีก ไม่ต้องมานั่งฟื้นฟูประเทศ ไม่ต้องเอาเงินมาแจก ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ให้ขอทานให้ยังไงก็ไม่เลิกขอ ให้โอกาสทำมาหากิน ไม่ต้องให้อีก ทีเดียวจบ

๕.รัฐต้องให้ความสำคัญกับระบบรัฐสวัสดิการ เลิกอุ้มนายทุนเสียที (เพราะเขาช่วยตัวเองได้) ถ้าคนหาเช้ากินค่ำ เขาเลี้ยงตัวได้ คนยากจน มีช่องทางทำมาหากิน ไม่อดอยาก เขายังคิดจะมาเผาบ้านเผาเมืองอีก หรือ คนเกเรในสังคมทุกวันนี้ นอกจากด้อยโอกาสทางการศึกษา ถูกกันให้ตกขอบของสังคม ถูกมองเป็นพวกเลวร้าย เคยคิดจะนำคนเหล่านี้มาจัดการให้คิดเป็นหรือไม่ ทำตัวไม่ดี ไล่ออกจากสถาบันการศึกษา ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ นอกโรงเรียนต่อ มีระบบส่งต่อหรือไม่ เรียนที่นี่ไม่ได้ ก็ต้องจัดที่ๆ เหมาะสมให้ ดีกว่าทิ้งให้เป็นปัญหาของสังคมต่อไป

มันอาจจะเป็นการเพ้อฝัน แต่ก็เป็นความเพ้อฝันที่มีความหวัง ฝันอยากเห็นผู้คนในสังคมมีความสุข ฝันอยากเห็นคนไทยไม่อดอยาก

ถ้าผมตายไป (ถ้าได้เกิดใหม่) ผมก็จะฝันต่อ ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เคยเข้าใจความหมายของเพลง ความฝันอันสูงสุด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าเจ้าอยู่หัว หรือไม่ ถ้าเข้าใจ และปฏิบัติตามปรัชญาของเพลงนี้ ประเทศไทยคงไม่เป็นเช่นทุกวันนี้

นอกจากร้องไม่ได้ ไม่เข้าใจ ไม่ปฏิบัติตาม ของขวัญล้ำค่า ที่พระองค์ท่านมอบให้คนไทยแล้ว ยังโกหก หลอกลวง และทำร้ายแผ่นดินอีก น่าเศร้าใจจัง ระบบการศึกษาไทย จึง เอวังแต่ประการละฉะนี้ สาธุ

ด้วยความปรารถนาดีในหลักธรรมเพื่อสังคม

คนจะดีได้ด้วยการฝึก ชาติจะดีได้ด้วยการศึกษา (ไม่ใช่การมอมเมาประชาชนไปวันๆ อย่างทุกวันนี้)

นายรักษ์ ปริกทอง

คุณรักษ์ครับ วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยได้ชัดเจนมากครับ สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้นน่าสนใจมากครับ หากมีโอกาสจะนำเสนอไปสู่งานด้านการศึกษานะครับ

อย่างครูหยุยว่านั่นแหละค่ะ   ดีทั้ง  4  ลักษณะ  เพราะถ้านำมาบูรณาการเข้าด้วยกันมันก็คือเอื้อและเกื้อกูลต่อทั้งเด็กและผู้สอนด้วย

เพราะใช้ทั้ง  4  ลักษณะแล้วเราก็จะได้ทั้ง 4  ลักษณะตามความต้องการ

เชียร์บอลอยู่ค่ะ 

ขอบคุณครับ krugui ที่เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ทั้ง 4 ลักษณะ ส่วนบอลนั้น ผมไม่ได้ดูต่อครับ เพราะคู่นี้ญี่ปุ่นและแคมารูน ไม่สนุกเลย

สวัสดีค่ะ

มาขอบคุณและมาให้กำลังใจคนทำงานเพื่อสังคมค่ะ

ขอให้สุขภาพแข็งแรง และมีความสุขมากมากนะคะ

ขอบคุณค่ะ

เรียนครูหยุนครับ

ผมเห็นคุณครูทุ่มเทการสอนให้กับนักเรียน ด้วยความตั้งใจ ทำให้ผมคิดว่า การตอบแทนความเหนื่อยของครูที่ดีที่สุด คือการดำรงตนเป็นคนดีของสังคม ต้องไม่ให้ครูเหนื่อยฟรีๆ อยากให้เด็กไทยคิดอย่างนี้ จะได้ตั้งหน้าตั้งตาเรียน เด็กไทยส่วนมากก็ตั้งใจเรียน ขยัน ทุ่มเท และมีความคิด ดีกว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอีกมากนัก สอดคล้องกับ สภาเด็ก ที่ครูเคยกล่าวถึง ถ้าเด็กมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ผู้ใหญ่ที่ไม่ดีก็คงจะละอายเด็ก และทำสิ่งไม่ดีน้อยลง ผมขอเป็นกำลังใจให้ครู และจะคอยช่วยขยาย ความดีของครูให้แผ่กว้างมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ ทุกวันนี้ ผมพยายามนำเรื่องของกลุ่มบุคคล ที่ทำงานเพื่อเด็ก ไปคุยในวงสนทนาอยู่บ่อยๆ หลายคนให้ความสนใจมากขึ้น และอยากที่จะทำเพื่อเด็ก (ด้อยโอกาส) ผมว่าทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจ ระบบการศึกษาในอุดมคติ คงอยู่ไม่ไกล

เมื่อมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ดี ต้องรีบไข่วคว้า เพราะอายุคนเราสั้นนัก ความคิดนี้ต้องช่วยกันขยายออกไป

ด้วยความเคารพที่มีต่อครูครับ

นายรักษ์ ปริกทอง

ขอบคุณคุณ Natcha ครับ ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียนและคำอวยพรนะครับ รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

คุณรักษ์ครับ ขอบคุณแทนคนทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสและบรรดาครูที่ทุ่มเททั้งหลายด้วยนะครับ บทบาทครูที่ดีนั้นต้องพยายามนำมาขยายความต่อไปครับ เพื่อยกความศรัทธากลับคืนมาสู่วิชาชีพครูนะครับ

อ่านความเห็นของ "นายรักษ์ ปริกทอง" เสร็จแล้ว ได้แต่ถอดถอนใจ ...

  • ทำไมทุกคนมองแต่การศึกษาที่โรงเรียน หรือการศึกษาที่รัฐจัดให้ หรือคนอื่นจัดให้
  • คิดว่าถ้าทุกคนเริ่มจากคนใกล้ตัวที่สุดก่อน ปัญหาของชาติ น่าจะลดลงมากนะ
  • รัฐน่าจะเก็บภาษีเพิ่ม สำหรับครอบครัวที่มีลูกแล้วไม่สามารถเลี้ยงลูกให้ดีได้ เอาไปสนับสนุนครอบครัวที่มีคุณภาพมากกว่า .... เรียกว่าคิดก่อนทำ ... ไม่ใช่ทำโดยไม่คิดแบบที่มีกันเต็มบ้านครูหยุย  (รัฐ...อย่าลืมทำตัวชี้วัดให้ได้คุณภาพก่อนนะ เดี๋ยวโดนว่าไม่รู้ด้วยนะ) ...อยากให้ทำจริงๆ นะข้อนี้ .....

คุณใยไหมครับ เมื่อรัฐทำสิ่งใด สิ่งนั้นจะเป็นกระแสหลัก เพราะรัฐเป็นฝ่ายจัดการและใช้งบประมาณได้มากและต่อเนื่อง เมื่อประเทศก้าวหน้า ประชาชนมีความเข้าใจ มีส่วนร่วม การกระจายอำนาจออกจากรัฐก็จะเกิดตามมาด้วย การศึกษาก็จะมาสู่การจัดการของภาคประชาชนเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องภาษีพูดยากครับ เก็บภาษีเพิ่มจากคนเลี้ยงลูกไม่ดี (ลูกไม่ดี ตีความจากอะไร กี่ปีจะถือเป็นเกณฑ์ได้) ยกตัวอย่างเราบอกคนนี้เลี้ยงลูกดี ต่อไปเมื่อเด็กโตขึ้นไปทำผิดรุนแรง จะเอาเงินคืนไหม (เช่นกรณีหมอที่ภาพลักษณ์ดีมากๆ ก่อคดีอาชญากรรมฆ่าภรรยา เป็นต้น) ดรรชนีชี้ไปไกลถึงอนาคต วางเกณฑ์ยากมากครับ

เรียน ครูหยุย และพี่ๆ ที่แสดงความเห็น

ความจริงเรื่องการจัดระบบการศึกษาให้เท่าเทียมกัน ไม่ได้ยากอย่างที่เป็นอยู่ หากเลิกพิจารณาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

แล้วหันมาให้ความสำคัญกับประโยชน์เพื่อสาธารณะเป็นอันดับแรกก่อน ทุกอย่างแก้ไขได้ ถ้าเป้าหมายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ การจัดการศึกษาล้วนอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนบุคคลและพวกพ้องทั้งสิ้น

อยากให้ไปดูการจัดระบบรัฐสวัสดิการของ ประเทศออสเตเรีย ไม่ใช่ว่าประเทศของเขาร่ำรวยแล้วทำได้ ประเทศไทยหากพิจารณาดีๆ รวยกว่าหลายๆ ประเทศในแถบยุโรปเสียอีก ทั้งทรัพยากรที่มีไม่จำกัด ความอุดมสมบูรณ์ที่มากมายมหาศาล แต่เราขาดการจัดการที่ดี ขาดความซื่อตรงในการบริหารบ้านเมือง ทรัพย์สินเงินทอง หายไปกับการโกงกิน คอรัปชั่นทุกรูปแบบ ขออ้างที่ว่าไม่มีเงิน เลิกพูดเสียที่ แล้วหันมากำจัดการโกงทุกรูปแบบก่อน สร้างจิตสำนึกสาธารณะ รับรองว่าดีขึ้นแน่นอน หากประเทศไทยปราศจาก คอรัปชั่น (จริงๆ) ประเทศญี่ปุ่นก็สู้ไทยไม่ได้ เพราะประเทศญี่ปุ่น มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่คนของเขามีคุณภาพ อุปสรรคของเขากลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องการปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ อย่าโยนภาระนี้ให้ เพียงนักการศึกษาเป็นผู้แก้ไขเลย หากคนในชาติยังให้ความสำคัญของการศึกษาน้อยอย่างนี้ หากไม่รู้จักที่จะออกมาเรียกร้องความถูกต้อง ไม่มีวันที่จะแก้ไขอะไรได้ ก็ต้องทนสภาพแบบนี้ต่อไป

ด้วยความปรารถนาดีจาก นายรักษ์ ปริกทอง ชมรมคลังปัญญา

คุณรักษ์ครับ ตรงประเด็นครับ ปัญหาบ้านเมืองไทยอยู่ที่เรื่องคอรัปชั่นครับ แก้ได้ ทุกอย่างไปได้สวยครับ

เรียน ครูหยุยที่เคารพ

ขออนุญาตแสดงความเห็นนิดหนึ่งค่ะ

ดิฉันเป็นผู้สอนคนหนึ่งในสถานศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียนที่ถือว่า ห่างไกลจากชุมชนเมือง ดังนั้นจึงมองในมิติของการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาควรเป็นการศึกษาเพื่อชุมชน เพราะนักเรียนในชุมชนเมื่อเรียนจบก็ยังอยู่ในชุมชน นักเรียนส่วนใหญ่ ยังมองเห็นว่าการศึกษาเป็นการเรียนเพื่อจบ ๆ ไปตามหลักสูตรที่เขาให้เรียน โดยไม่ได้มองว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไรในชีวิตจริง ไม่ได้เกิดการแข่งขันทางการเรียน ไม่เหมือนในชุมชนเมือง ดังนั้นจึงทำให้มองไปถึงเรี่องการสอบวัดผลระดับชาติ ที่ใช้ข้อสอบเดียวกัน ดูแล้วไม่น่าจะเป็นมาตรฐานที่วัดได้ทุกกลุ่ม

ในส่วนของคณะกรรมการสถานศึกษา ที่ได้รับการแต่งตั้งเสร็จ ถ้าเป็นโรงเรียนในชุมชนเมือง คณะกรรมการชุดนี้ก็สามารถทำตามบทบาทและหน้าที่ของตนได้ แต่ถ้าเป็นชุมชนที่ห่างไกล คณะกรรมการยังมีการศึกษาน้อย คนในชุมชนยังไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา คณะกรรมการก็ยังคงมีส่วนร่วมแค่เข้ารับฟังการประชุม และเห็นด้วยตามที่โรงเรียนได้เสนอเท่านั้น ยังไม่ค่อยมีส่วนร่วมมากนัก

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณคุณดรุณีที่มาเยี่ยมเยียนนะครับ ข้อมูลที่คุณดรุณีบอกมานั้นเป็นความจริงที่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามผมก็มีความเชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท