KRUJOY (ครูจ่อย)
นาย ทรงศักดิ์ เสือ ภูเก้าแก้ว

11-13 มิ.ย.นี้ ครูจ่อย จะเดินทางไปเยี่ยมระลึกถึง ครูจูหลิง ถึงถิ่นบ้านเกิด จังหวัดเชียงราย


เธอทำผิดอะไร จึงฆ่าเธอ

 

       วันศุกร์นี้ตอนเย็นๆเวลาประมาณ 18.00  น. ครูจ่อยและครอบครัวจะออกเดินทางไปเยี่ยมญาติ ที่บ้านป่าลัน  ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย  ซึ่งญาติท่านนี้ มีฐานะเป็นหลานเขยครูจ่อย (นายไชยันต์   หลวงแก้ว)  ผอ.โรงเรียนอนุบาลดอยหลวง  ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย  ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านครูจูหลิงนั้นเอง ส่วนรายละเอียดครูจ่อยจะนำเสนอต่อไปตามลำดับ...

 

 

               ย้อนเรื่องราวในอดีต

 

     ไม่มีใครคาดคิดว่าการใช้ศาลเตี้ยจับครูสาวชาวไทยพุทธ 2 คน เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้รัฐปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยฆ่านาวิกโยธินเสียชีวิตจะบานปลายถึงขั้นลงมือทุบตีครูจนได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างไม่มีเมตตาธรรม แม้จะร้องขอชีวิตจากกลุ่มชาวบ้านนับร้อยคนที่กำลังละหมาดอยู่ในมัสยิดกลับไม่มีใครสนใจทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“ฉันคุยกับครูจูหลิง ว่าพวกเราผิดที่เกิดมาเป็นครูไทยพุทธ ถึงถูกทำร้ายเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ผู้ชายมุสลิมนับร้อยคนที่ละหมาดยังไม่มีน้ำใจจะช่วยผู้หญิงที่ถูกรังแกอย่างหมดทางสู้”

    ไม่มีใครคาดคิดว่ายุทธการปิดล้อมของกองกำลังสามฝ่ายคือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ที่เข้าปฏิบัติการปิดล้อมหมู่บ้านกูจิงลือปะ หมู่ 4 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 19 พฤษภาคม เพื่อจับผู้ต้องหาฆ่า 2 นาวิกโยธิน จะส่งผลทำให้ครูสาวไทยพุทธ 2 คน ตกเป็นผู้รับเคราะห์แทน ด้วยฝีมือการเปิดม็อบของนางการีมะ มะสาและ ภรรยาผู้ต้องหาเพื่อต่อรองให้ปล่อยสามี

     น.ส.ศิรินาถ ถาวรสุข ครูอัตราจ้างโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ เล่านาทีระทึกว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณเที่ยงเธอและเพื่อนครูคนอื่นๆ นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อไปรับประทานอาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยวไม่มีชื่อหน้าโรงเรียน ขณะกำลังรับประทานอาหารก็สังเกตเห็นว่ามีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงแทบทั้งหมด รวมประมาณ 50 คน ออกมารวมตัวกัน ห่างจากกลุ่มครูไปประมาณ 40 เมตร

     ในขณะนั้นไม่มีใครสนใจอะไร เพราะเข้าใจว่าชาวบ้านคงมารวมตัวเพื่อละหมาดตามปกติวันศุกร์ และมาทราบที่หลังว่าการรวมตัวของชาวบ้านเกิดจากทหารเข้าไปจับชาวบ้านผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง

กระทั่งกินก๋วยเตี๋ยวใกล้หมดชาม เพื่อนครูที่มาด้วยกัน บอกว่า ชาวบ้านพูดเป็นภาษามลายูผ่านเสียงตามสายของมัสยิดว่าให้มาร่วมตัวกันและจะจับครูไทยพุทธเป็นตัวประกันเพื่อแลกกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัว ระหว่างนั้นเพื่อนครูได้นำผ้าคลุมศีรษะมาให้สวมเพื่อพรางตัว แต่ก็ไม่ทันเพราะเป็นจังหวะเดียวกันกับกลุ่มชาวบ้านหญิงเดินเข้ามาที่ร้าน พร้อมทั้งกระชากผ้าคลุมศีรษะออก และได้จับแขนลากออกไปนอกร้านทันที

     น.ส.ศิรินาถ บอกอีกว่า ระหว่างที่ถูกลากตัวไปนั้นบังเอิญเธอสะดุดล้มเพื่อนครูมุสลิมที่นั่งด้วยกันได้ออกมาช่วยขอร้องกลุ่มชาวบ้านผู้หญิงว่า อย่าทำรุนแรงค่อยพูดค่อยจากันก็ได้ ทำให้กลุ่มชาวบ้านไม่พอใจผลักเพื่อนครูมุสลิมจนล้มไปอีกคน
ในขณะที่ตัวเธอถูกลากและตบตีด้วยมือจากผู้หญิงจำนวนมากเพื่อนำตัวขึ้นไปบนอาคารเรียนชั้น 2 เมื่อพบกับ น.ส.จูหลิง ปงกันมูล ผู้ช่วยครูซึ่งกำลังป่วยเป็นโรคกระเพาะ แต่กลุ่มชาวบ้านผู้หญิงก็ไม่สนใจยังลากครูจูหลิง ลงมาชั้นล่างพร้อมกับเธอ

     น.ส.ศิรินาถ เล่าเหตุการณ์อีกว่า ขณะที่ถูกลากตัวไปนั้นชาวบ้านก็ลงมือทุบตีเราทั้งคู่ตลอดระยะทางไปมัสยิดประจำหมู่บ้าน ที่มีชาวบ้านกว่า 100 คนกำลังละหมาดอยู่ เราได้ร้องขอความช่วยเหลือ แต่ชาวบ้านก็ยังคงก้มหน้าก้มตาละหมาดต่อไปตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    หลังจากนั้นก็นำตัวเธอและครูจูหลิง มากักขังไว้ที่ห้องเก็บของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 400 เมตร ในเวลาเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาล็อกกุญแจขังเธอและครูจูหลิงเอาไว้

   สภาพจิตใจตอนนั้นย่ำแย่เพราะกลัวมาก ภายในห้องมืดมากไม่เห็นอะไรเลย ทำได้อย่างเดียวคือการปลอบใจซึ่งกัน

    เธอเล่าต่ออีกว่า เมื่อถูกขังประมาณ 5 นาที มีเพื่อนครูมุสลิมเข้ามางัดหน้าต่างดู แต่ชาวบ้านผู้หญิงที่คุมอยู่บอกว่าให้คุยกันได้แค่ 2 นาที เพื่อนครูคนหนึ่งถามเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง เราตอบแต่เพียงว่าให้ช่วยชีวิตด้วย

     เวลาผ่านไป 5 นาที ก็มีชายวัยรุ่นประมาณ 10 คนงัดประตูเข้ามาในห้องโดยไม่พูดพร่ำทำเพลง ทั้งหมดใช้ไม้ที่ถือมาด้วยกระหน่ำตีเราทั้งคู่จนสะบักสะบอม ด้วยความเจ็บปวดครูจูหลิงจึงขัดขืนต่อสู้ จนถูกตีเข้าที่ศีรษะและตามลำตัวอย่างไม่ยั้งมือจนแขนหัก ที่ศีรษะมีเลือดอาบโชกไปหมด นอนหมดสติ ส่วนเธอเองถูกชายคนหนึ่งกระทืบจนล้มลงนอนงอตัวกองกับพื้น ด้วยความกลัวจึงคลานเข้าไปใต้เตียงเก่าภายในห้อง แต่ก็ถูกกลุ่มชายวัยรุ่นลากตัวออกมาตีซ้ำอีก

     ขณะที่ครูจูหลิงนอนสลบอยู่นั้น วัยรุ่นคนหนึ่งในกลุ่มพูดขึ้นว่า ต้องการจะจับครูเป็นตัวประกันเพื่อให้ปล่อยตัวชาวบ้านที่เจ้าหน้าที่จับกุมไปก่อนหน้านี้ เธอเองก็บอกว่าจะช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่ให้ แต่กลุ่มวัยรุ่นก็ไม่ฟังเสียง ยังคงรุมตีพวกเธอต่อ ก่อนจะแยกย้ายกันวิ่งออกไปจากห้อง

"ฉันจับมือครูจูหลิงเพื่อปลอบ เห็นมือครูจูหลิงแสดงอาการตอบรับในขณะที่ศีรษะนั้นมีเลือดไหลออกมาเป็นลิ่มๆ ฉันจึงเอาศีรษะของครูจูหลิงมาแนบกับอกพร้อมกับพูดว่า หากผ่านวันนี้ไปอย่าลืมเหตุการณ์นี้ จงทำใจดีๆ ไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงพรุ่งนี้หรือเปล่า" น.ส.ศิรินาถ เล่าด้วยนำเสียงสั่นเครือ

    นายมะดารี บาเยาะกาเซะ อายุ 47 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ บอกว่า หลังทราบเรื่องได้แจ้งไปทางนายอำเภอและปลัดจังหวัด แต่ไม่มีใครมา มอบหมายให้ตนและนายอารงค์ ยูโซะ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ช่วยเจรจาแทน แต่ตนก็ได้เจรจานานถึง 2 ชั่วโมง ขณะที่เจรจายังไม่รู้ว่าครูถูกทำร้ายจนกระทั่งได้ยินเสียงครูร้องขอความช่วยเหลือจึงได้นำกำลังชุด ชรบ.เข้าไปช่วยเหลือ

  เขาบอกอีกว่า ขณะเข้าไปเห็นคนร้ายประมาณ 5 คนสวมไหมพรมคลุมหน้าตาวิ่งสวนออกมา จึงได้รีบเข้าไปช่วยและนำครูทั้งสองคนส่งโรงพยาบาลทันที จนกระทั่งทหารและตำรวจเข้ามาในพื้นที่ชาวบ้านจึงสลายตัวไป ส่วนคนร้ายตนไม่มั่นใจว่าเป็นคนในหมู่บ้านหรือไม่

  ขอบคุณ
    คม ชัด ลึก

550000000271701.jpg 

  ...เกิด   มีนาคม พ.ศ. 2522     บ้านปงน้อย  ต. ปงน้อย  อ. กิ่งอำเภอดอยหลวง    จังหวัดเชียงราย

  ...เสียชีวิต     8 มกราคม พ.ศ. 2550

     นางสาว จูหลิง ปงกันมูล หรือ "ครูจุ้ย"  ครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ผู้ถูกจับเป็นตัวประกันไปคุมขังไว้ในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิดประจำหมู่บ้าน และถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เจ้าหน้าที่สามารถช่วยครูจูหลิงได้และนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันต่อมา เนื่องจากเธอถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงรับครูจูหลิงเป็นคนไข้ในพระราชินูปถัมภ์โดยตลอดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

 

   " จูหลิง เป็นบุตรสาวคนเดียวของ คุณสูน-คุณคำมี ปงกันมูล เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 คุณพ่อเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "จุ้ยหลิน" ตามชื่อนางเอกหนังจีนกำลังภายใน แต่เจ้าหน้าที่จดทะเบียนเป็น "จูหลิง" และมีชื่อเล่นว่า "จุ้ย" เป็นชาวตำบลบ้านปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย จบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2545"

 

     จูหลิงเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถพิเศษในการวาดภาพ เมื่อ พ.ศ. 2545 จูหลิงเป็นหนึ่งในสิบจิตรกรที่ร่วมวาดภาพในหนังสือชุด "ทศชาติแห่งพระบารมี" นำเสนอเรื่องราวของมหาชาดกทศบารมี ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมี 10 ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ก่อนที่จะประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุ 4 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2546

     พ.ศ. 2546 เธอเป็นจิตรกรร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถวัดคงคาวดี หรือวัดปากบางภูมี ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญ ของวัดเดียวกัน

    จูหลิงมีปณิธานที่จะรับใช้สังคมและชาติด้วยอาชีพครู เธอจึงเรียนต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตเพิ่มอีก 1 ปี สมัครสอบบรรจุครูได้เป็นอันดับหนึ่งและเลือกจะเป็นครูในภาคใต้ โดยให้เหตุผลว่า "อยากช่วยเด็กๆ ที่ใต้เพราะทุกวันนี้พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้หาครูได้ยากเต็มที" และได้บรรจุเป็นครูสอนวิชาศิลปะของโรงเรียนกูจิงรือปะ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548

    นางคำมี ปงกันมูล มารดาของจูหลิง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแม่ดีเด่นประจำปี 2549 ประเภทแม่ของผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ นางคำมี ได้รับประทานพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานและเกียรติบัตร จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในพิธีเปิดงานวันแม่แห่งชาติ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ในวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2549

     ครูจูหลิงได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550 ด้วยสาเหตุอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ 8 เดือน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพวงมาลาหน้าศพแก่ ครูจูหลิง ปงกันมูล และทรงรับงานศพของครูจูหลิงที่จะตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดใน จ.เชียงราย ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย

        เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูจูหลิง ปงกันมูล ณ ฌาปนสถานบ้านปงน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยทั้งสองพระองค์พระราชทานวโรกาสให้ นายสูน นางคำมี ปงกันมูล บิดาและมารดาครูจูหลิง เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด และยังมีบุคลสำคัญร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพครูจูหลิง จำนวนนับหมื่นคน

   

ไฟล์:จูหลิง.jpg

   จูหลิง (คนขวา) ถ่ายกับแม่และหลานสาว ด้านหลังเป็นภาพเขียนฝาผนังวัด ฝีมือวาดของเธอเอง

 

 

ภาพบรรยากาศรดน้ำศพ "ครูจูหลิง"

 

 

 

การขนย้ายศพครูจูหลิง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงราย

 

ไฟล์:Img Kru Juling.JPG

                      

          

 

              หอศิลป์ครูจูหลิง

 

 

เกียรติยศ“หอศิลป์ครูจูหลิง ปงกันมูล” จากวีรกรรมครูผู้เสียสละสู่การสืบสานการศึกษาทักษะศิลปกรรมไทย

 

ชื่อของครูจูหลิง ปงกันมูล ข้าราชการครูสาววัย 28 ปี ร.ร.บ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นที่รู้จักของคนไทยตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2549 อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้             


 สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชื่อของครูจูหลิง ปงกันมูล  “ครูต้นแบบแห่งความเพียร” โด่งดังเป็นพลุแตก นอกเหนือจากความเสียสละอดทน การเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู อุทิศตนเพื่อเด็กนักเรียนด้อยโอกาสในชายแดนภาคใต้แล้ว  ความเป็นครูที่มีทั้ง “พรสวรรค์” และ “พรแสวง” ในงานศิลปะทั้งการวาดภาพจิตรกรรม ภาพสีน้ำ สีน้ำมัน ภาพลายเส้น ภาพการ์ตูน ภาพเหมือน แบบหาตัวจับยากคนหนึ่งในแวดวงครูศิลปะของวงการศึกษาไทยและวงการศิลปินนักวาดภาพของประเทศไทย

 

 

 ซึ่งความเป็นศิลปินนักวาดภาพของครูจูหลิงนั้นฉายแววมาตั้งแต่ครูจูหลิงยังเป็นละอ่อนเด็กหญิงตัวน้อยๆในหมู่บ้านปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย  ที่นายสุน ปงกันมูล ผู้เป็นบิดาได้บันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพครูจูหลิง ปงกันมูล เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ว่า  “น้องจะชอบขีดเขียน ชอบวาดรูป ตอนเด็กๆกลับจากโรงเรียน เสื้อผ้าชุดนักเรียนจะเปื้อนสีทุกวัน” 


   นายไชยันต์ หลวงแก้ว  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลดอยหลวง นายกสมาคมครูดอยหลวงกล่าวว่า “หอศิลป์ครูจูหลิง ปงกันมูล จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมผลงานด้านศิลปะของครูจูหลิง ปงกันมูล โดยก่อสร้างขึ้นเป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องฉายวิดิทัศน์นำเสนออัตตชีวประวัติ  ชีวิตในวัยเยาว์จนถึงวัยทำงาน การศึกษา ผลงานด้านศิลปกรรม รำลึกถึงเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับครูจูหลิง บันทึกประมวลข่าวที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งถึงวันสิ้นลมหายใจ และพิธีพระราชทานเพลิงศพ

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

คำสำคัญ (Tags): #โหดร้ายจริงๆ
หมายเลขบันทึก: 365743เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2010 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มาร่วมรำลึก ครูจูหลิง ด้วยคนค่ะครูพี่จ่อย ... อยากให้ชายแดนใต้สงบ เหมือนเดิมจัุงค่ะ ลุ้นๆ มาเกือบสิบปีแล้วค่ะเนี่ย ;( ยังมีหวัง?

เป็นภาพความทรงจำที่สะท้อนครูดีของแผ่นดินครับ

  • ขอบคุณครับน้องpoo ที่วะมาเยี่ยม มาทักทาย
  • เย็นนี้...ไปเยี่ยมระลึกถึงครูจูหลิงด้วยกันมั้ยครับ

 

  • ขอบคุณท่าน ผอ. หล้าย หลายๆเด้อ
  • ไปเล่นบ้านครูจูหลิง นำกันอีกบ่
  • บ่ไกลหลายดอกครูจ่อยไปเล่นหลายเทื่อแล้ว
  • หลานเขยครูจ่อยเขาเป็นผอ.อยู่ โรงเรียนบ้านครูจูหลิงหลายปีแล้ว

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้ว  ไม่อยากบอกความรู้สึกนะคะ  ขอให้เดินทางปลอดภัย  จะรออ่านเรื่องเล่าค่ะ

  • ขอบคุณครับพี่คิม
  • รักคิดถึงพี่เสมอ

อยากสอบถามนิดนึงครับครูจ่อย ตอนนี้ครูไก่ (ศิรินาถ ถาวรสุข)ที่อยู่ในเหตุการณ์กับครูจูหลิงอยู่ที่ไหนครับ แล้วอาการดีขึ้นรึยังครับ ไม่แน่ใจว่ามีใครให้การดูแลเธอบ้างเปล่าครับ อยากเป็นกำลังใจให้กับคนที่ยังอยู่ด้วยอะครับ

  • ขอบคุณครับ คุณโจ ที่แวะมาเยี่ยม มาทักทายร่วมระลึกถึงน้องจุ้ย
  • สำหรับครูไก่ทางการให้ความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่น้องจุ้ยรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว
  • โชคดีมีสุขนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท