มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
Mrs. Maleephan มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช Pooma

หลักธรรมในศาสนาอิสลาม


ความสุขเกิดจากการรักสงบและสันติ

                             หลักธรรมสำคัญของศาสนาอิสลาม

หลักศรัทธา 6

หลักศรัทธาหรือหลักความเชื่อ

      คือหลักคำสอนที่มุสลิมทุกคนจะต้องเชื่อว่าเป็นความจริงแท้และต้องยึดถืออย่างมั่นคงแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยผัสสะทั้ง 5 ก็ตาม   หลักศรัทธามี 6 ประการคือ

1.  ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ

     คือ ต้องเชื่อมั่นว่าพระเจ้ามีจริง  พระนามของพระเจ้าในภาษาอาหรับคือ อัลลอฮฺ  ในภาษาอื่นอาจเรียกอย่างอื่นแต่ก็เป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน  มุสลิมต้องศรัทธาในอัลลอฮฺว่าเป็นพระเจ้าองค์เดียวและเป็นผู้ทรงคุณลักษณะดังนี้

     -   ทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพ

     -   ทรงเป็นผู้มีอยู่ตลอดกาล  ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ

     -   ทรงดำรงอยู่เอง  ไม่มีใครสร้างพระองค์

     -   ทรงสรรพเดช  สัพพัญญู

     -  ทรงความยุติธรรม  ทรงพระเมตตา

     -  ทรงเป็นผู้พิพากษาในการตัดสอนชีวิตมนุษย์ในวันสุดท้ายที่เรียกว่าวันพิพากษา

      ศรัทธาที่แท้จริงของมุสลิมต่ออัลลอฮฺนั้นหมายถึงการถวายทั้งกายและใจให้แก่พระองค์การปฏิบัติ ผิดไปจากนี้ เช่น การยอมรับนับถือพระเจ้าองค์อื่นด้วย  หรือการนับถือสิ่งอื่นใดเทียบเท่าพระองค์ถือว่าเป็นบาปมหันต์ที่มิอาจยกโทษให้ได้  มุสลิมที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงจะทำให้เขาละเว้นจาการทำชั่ว  ทำแต่ความดี  มีพลังใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆไม่ว่าจะดีหรือร้สย  การศรัทธาต่ออัลลอฮฺจึงเป็นหัวใจของการเป็นมุสลิม

2.  ศรัทธาต่อบรรดามลาอิกะห์หรือเทวทูต 

      มลาอิกะห์มีจำนวนมากมายสุดจะประมาณได้  ทำหน้าที่สนองพระราชบัญชาอัลลอฮฺแตกต่างกัน  คุณลักษณะของมลาอิกะห์มีดังนี้

       -    เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ต่างๆตามที่พระองค์กำหนด

       -    ไม่ต้องการหลับนอน

       -    จำแลงเป็นรูปต่างๆได้

       -    ไม่มีบิดามารดา บุตร ภรรยา

       -     ปฏิบัติแต่คุณธรรมล้วนๆ

       -    ไม่ละเมิดฝ่าฝืนบัญชาของอัลลอฮฺเลย

       -     ไม่กิน ดื่ม ขับถ่าย  ไม่มีกิเลสตัณหา

           ผู้ที่จะเป็นมุสลิมอย่างสมบูรณ์ได้ต้องศรัทธาว่าเทวทูตเหล่านี้มีจริง  อันจะเป็นผลดีแก่ผู้ศรัทธาเอง  คือจะทำให้เขาทำแต่ความดี  ละเว้นความชั่ว  เพราะแต่ละคนมีเทวทูตคอยบันทึกความดีความชั่วอยู่ตลอดเวลา

1.3  ศรัทธาต่อบรรดาพระคัมภีร์

          คัมภีร์ที่ว่านี้หมายถึงคัมภีร์จำนวน  104  เล่มที่อัลลอฮฺได้ประทานแก่เหล่าศาสนทูตของพระองค์  เพื่อนำมาประกาศเผยแพร่แก่ปวงประชาชาติให้หันห่างออกจากความมืดมนไปสู่ทางอันสว่างไสวและเที่ยงตรง  คัมภีร์ที่สำคัญมีอยู่ 4 คัมภีร์คือ

        1.3.1.  คัมภีร์โตราห์หรือเตารอต(Torah)ประทานแก่นบีมูซาหรือโมเสส(Moses)เป็นภาษาฮีบรู

        1.3.2  คัมภีร์ซะบูร์(Zaboor)ประทานแก่นบีดาวูดหรือดาวิด(David)เป็นภาษาอียิปต์โบราณ

       1.3.3  คัมภีร์อินญีล(Injeel or Gospel)ประทานแก่นบีอีซาหรือเยซู(Jesus)เป็นภาษาซีเรียโบราณ

       1.3.4  คัมภีร์อัล-กุรอาน(Al-Quran)ประทานแก่นบีมุฮำมัด(Muhammad) เป็นภาษาอาหรับ  อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ฉบับสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุดและมุสลิมเชื่อว่าท่านนบีมฮำมัดเป็นนบีคนสุดท้าย             

 คัมภีร์ต่างๆทั้งหมดนี้สรุปคำสอนได้เป็น 2 ประการคือ

                1.  สอนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า

                2.  สอนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน

1.4  ศรัทธาต่อบรรดารอซู้ลหรือศาสนทูต

                มุสลิมจะต้องศรัทธาว่าพระเจ้าทรงเลือกบุคคลในหมู่มนุษยชาติให้เป็นผู้สื่อสาร  นำบทบัญญัติของพระองค์มาสั่งสอนแก่มวลมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย  ศาสนทูตเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีเหนือกว่ามนุษย์ทั้งหลาย  ศาสนทูตที่คัมภีร์อัล-กุรอานได้กล่าวไว้มี 25 ท่าน

คุณสมบัติของศาสนทูต 4 ประการคือ

          1.4.1  ศิดกุน       คือ     วาจาสัตย์  ไม่พูดเท็จ

          1.4.2  อะมานะฮ์  คือ     ไว้วางใจได้  ซื่อสัตย์สุจริต  ไม่กระทำความชั่วฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ

         1.4.3  ตับลิค       คือ   นำศาสนามาเผยแพร่แก่มนุษย์โดยทั่วถึงไม่ปิดบังแม้แต่น้อย

        1.4.4  ฟะตอนะฮ์  คือ   เฉลียวฉลาด

1.5  ศรัทธาต่อวันสิ้นโลก

          มุสลิมต้องศรัทธาว่าโลกนี้เป็นโลกที่ไม่จีรังยั่งยืน  จะต้องมีวันแตกสลาย  เมื่อถึงวันนั้นมนุษย์ทั้งหมดจะต้องไปรวม ณ ที่ของอัลลอฮฺเพื่อการสอบสวนและการตอบแทนวันสิ้นโลกหรือวันอวสาน  เป็นวันที่โลกพินาศ  เป็นวันที่อึกทึกครึกโครมที่สุด  วันแห่งความปั่นป่วนจลาจล  สับสนอลหม่าน  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งสร้างของอัลลออฺจะต้องสูญสลายสิ้น  ก่อนจะถึงวันนั้นจะมีนิมิตร้ายต่างๆเกิดขึ้นก่อนเป็นการเตือน เช่น  คนจะละทิ้งศาสนา  เกิดสงครามใหญ่  ดินฟ้าอากาศวิปริต ฯลฯ  เมื่อโลกจะพินาศ  อิสรอฟิลจะส่งศัพท์สัญญาณมหาวิบัติโดยการแผดเสียงกัมปนาท  ซึ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างพินาศหมดสิ้น  ครั้นเมื่อฮิสรอฟิลประกาศศัพท์สัญญาณมหาอุบัติอีกวาระหนึ่ง  ทุกชีวิตที่ตายลงแล้วในแต่ละยุคตั้งแต่บรรพกาลจนถึงขณะนั้น  จะถูกบรรจุชีพให้ฟื้นขึ้นมาอีก  แล้วไปรวม ณ ที่แห่งหนึ่งเพื่อรอการพิพากษาจากพระผู้เป็นเจ้า  ซึ่จะพิพากษาตามกรรมชั่วที่ทำไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในโลก  จะได้รับผลตอบแทนในปรภพ  คือ  ผู้ทำดีจะได้เข้าสวรรค์  ผู้ทำชั่วจะเข้าสู่นรก  สำหรับปรโลกเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีอยู่ตลอดไป  มนุษย์และสรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้วจะคงอยู่ตลอดไปชั่วนิจนิรันดร์

1.6  ศรัทธาต่อกฎกำหนดสภาวการณ์

        กฎกำหนดสภาวการณ์  เป็นกฎที่ควบคุมเอกภพหรือธรรมชาติทั้งหมด  ทั้งนี้เพราะเมื่อพระเจ้าได้สร้างสิ่งต่างๆขึ้นแล้วก็ทรงสร้งกฎที่จะควบคุมการทำงานของสิ่งเหล่านั้นให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบจนกว่าพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่น

        มุสลิมต้องศรัทธาในความเป็นจริงของกฎกำหนดสภาวการณ์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้แก่โลกและสรรพสิ่งทั้งปวง  กฎดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

     1.6.1  กฎที่ตายตัวหรือกฎธรรมชาติ

         คือ สภาวะที่ไม่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ที่จะเลือกได้ เช่น การถือกำหนดชาติพันธุ์  การโคจรของดวงดาว  การแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ

     1.6.2  กฎที่ไม่ตายตัว

         คือ สภาวะที่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ที่จะเลือกได้   กล่าวคือ  เมื่อพระเจ้าชี้ทางดีทางชั่วแก่มนุษย์แล้ว  บางคนอาจเชื่อฟัง  บางคนอาจฝ่าฝืน  แต่ทุกคนจะต้องรับผลสนองตามที่ตนประพฤติปฏิบัตินั้นๆ  ตามเกณฑ์ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้  เช่น  ทรงใช้ให้มนุษย์บริจาคทานแต่บางคนก็ไม่ยอมบริจาค  หรือทรงห้ามมิให้นินทาใส่ร้าย  ด่าว่ากันแต่คนส่วนมากก็ไม่เชื่อฟัง  เป็นต้น  

หลักปฏิบัติ 5

     ผู้เป็นมุสลิมมีหลักปฏิบัติ 5 ประการ

1.  การปฏิญาณตน

       หัวใจของการเป็นมุสลิมคือการกล่าวปฏิญาณว่า” ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ  และมุฮำมัดคือศาสนทูตแห่งพระองค์ “(Lewis M.Hopfe 1983 : 446)

        การกล่าวคำปฏิญาณนี้มีสอดแทรกอยู่เป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวในการละหมาด  โดยทั่วๆไป  การปฏิญาณต้องออกจากใจจริง  และการปฏิญาณเช่นนี้จะนำไปสู่การยอมรับปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้  และละเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม  การยอมรับในพระเจ้าองค์เดียวนี้  มุสลิมจึงไม่มีสัญลักษณ์ใดๆที่จะต้องสักการะบูชา  ไม่มีการกราบไหว้สิ่งใดๆในโลกนี้

2.  การละหมาด

       การละหมาดหรือการนมัสการพระเจ้า  คือการแสดงความเคารพต่อพระเจ้า  เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า  การสำรวมจิตระลึกถึงพระเจ้า  การละหมาดเป็นการขัดเกลาจิตให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา  นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพลังให้เข้มแข็ง  การสำรวมจิตหรือการทำสมาธิเพื่อมิให้จิตวอกแวกไปในเรื่องต่างๆเป็นภาวะที่จิตได้เข้าไปสัมผัสกับความเป็นเอกภาพกับพระเจ้า  ทำให้จิตใจสงบ  ตั้งมั่น  อดทน  ผู้ที่มีความทุกข์และประสบปัญหาชีวิตในด้านต่างๆ  การละหมาดจะเป็นเครื่องช่วยที่ดีที่สุด  ทั้งยังฝึกตนเองให้ตรงต่อเวลา  มีความรับผิดชอบในหน้าที่  ให้อยู่ในระเบียบวินัย  รักษาความสะอาด  และยังเป็นการบริหารร่างกายอย่างดียิ่ง  หากเป็นการละหมาดรวม  ยังเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง  ความเสมอภาค  และภราดรภาพอีกด้วย    ผู้เป็นมุสลิมจะต้องละหมาดวันละ 5  เวลาคือ

      เวลาย่ำรุ่ง         เรียกว่า ละหมาด  ซุบหฺ    ปฏิบัติ    2     รอกาอัต

      เวลากลางวัน    เรียกว่า ละหมาด   ดุฮฺริอฺ   ปฏิบัติ    4     รอกาอัต

      เวลาเย็น          เรียกว่า ละหมาด  อะซัร    ปฏิบัติ    4    รอกาอัต

      เวลาพลบค่ำ     เรียกว่า ละหมาด  มักริบ    ปฏิบัติ    3    รอกาอัต

      เวลากลางคืน    เรียกว่า ละหมาด อิชา      ปฏิบัติ    4    รอกาอัต

       เมื่อได้เวลาละหมาด  มุสลิมจะละหมาดที่ใดก็ได้  ไม่จำเป็นต้องเป็นที่มัสยิดหรือสุเหร่า  อาจเป็นที่บ้าน  ที่ทำงาน  บนยานพาหนะ  ฯลฯ  แต่ขอให้เป็นที่สะอาด  ในเวลาละหมาดมุสลิมทั่วโลกจะต้องหันหน้าไปสู่ทิศทางเดียวกันคือ  ที่ตั้งของกะบะฮฺซึ่งเรียกว่ากิบลัต  สำหรับประเทศไทยกิบลัตของมุสลิมคือทิศตะวันตก  การผินหน้าไปสู่กิบลัต  มิได้หมายความว่ากะบะฮฺคือสัญลักษณ์ในการเคารพบูชา  เพราะในขณะละหมาด  สิ่งที่มุสลิมระลึกถึงคือพระเจ้า  แต่ที่หันไปสู่กิบลัตก็เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น

      บุคคลที่ต้องละหมาดได้แก่บุคคลที่บรรลุนิติภาวะทางร่างกายแล้ว  คือหญิงตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน  ชายตั้งแต่เริ่มเป็นหนุ่ม  คืออายุครบ 15  หรือเมื่อฝันว่าได้ร่วมประเวณี  มุสลิมทุกคนต้องละหมาดทุกวัน  นับตั้งแต่บรรลุนิติภาวะทางร่างกายจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต  จะมียกเว้นเพียงบางกรณีเท่านั้น  เช่น  หญิงมีประจำเดือน  หรือมีเลือดออกหลังคลอด

     ก่อนละหมาด  ทั้งชายและหญิงต้องทำร่างกายให้สะอาดเสียก่อน  การทำความสะอาดก่อนละหมาดเรียกว่าการอาบน้ำละหมาด  วิธีอาบน้ำละหมาดทำดังนี้

    *   ล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อมือ

   *   เอาน้ำบ้วนปากพร้อมกับล้างรูจมูก  3  ครั้ง

   *  ล้างหน้า 3 ครั้งให้ทั่วบริเวณหน้า

   *  ล้างแขนทั้งสองข้าง  3  ครั้งตั้งแต่ปลายนิ้วมือถึงข้อศอกโดยล้างข้างขวาก่อน

      ข้างซ้าย

   *  เอามือขวาชุบน้ำลูบศรีษะ 3 ครั้งตั้งแต่ด้านหน้าถึงด้านหลัง

   *  เอามือทั้งสองชุบน้ำเช็ดใบหูทั้งสองข้าง 3 ครั้ง  ให้เปียกทั่วทั้งภายนอกภายใน 

      โดยเช็ดพร้อมกันทั้งสองข้าง

   *  ล้างเท้าทั้งสองข้าง  3  ครั้งให้ทั่วจากปลายเท้าถึงเลยตาตุ่ม  โดยล้างขวาก่อนเท้าซ้าย

      เมื่ออาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว  ให้ยืนหันหน้าไปทางกิบลัต  แล้วยกมืออ่านดุอา(ขอพร)ดังนี้ “  ฉันขอปฏิญาณว่า  ไม่มีพระเจ้าที่ได้รับการเคารพภักดีอันแท้จริง  เว้นแต่อัลลออฺองค์เดียวเท่านั้น  และฉันขอปฏิญาณว่าแท้จริงท่านนบีมุฮำหมัดเป็นบ่าวของอัลลออฺ  และเป็นรอซู้ลของพระองค์  โอ้อัลลอฮฺ  ขอพระองค์ได้โปรดให้ฉันเป็นผู้ที่สะอาดผู้หนึ่งเถิด  โอ้อัลลอฮฺ  การสดุดีและการสรรเสริญพึงถวายแด่พระองค์  ฉันขอปฏิญาณว่า  ไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่พระองค์  ฉันขออภัยโทษและขอกลับตัวต่อพระองค์  และขออัลลอฮฺได้โปรดประทานความสันติสุขแด่ท่านนบีมุฮำหมัดและวงศ์ญาติของท่านและสาวกของท่าน”

3.  การถือศีลอด

        หมายถึง  การละเว้นจากการกิน  การดื่ม  และเพศสัมพันธ์ตลอดถึงการรักษาอวัยวะทุกส่วนให้พ้นจากการทำความชั่ว  ทั้งในด้านกาย  วาจา  และใจ  ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก  ในเดือนรอมฎอน(เดือนที่ 9 ของฮิจเราะห์ศักราช)เป็นเวลา 1 เดือน

       จุดมุ่งหมายของการถือศีลอด  เพื่อฝึกฝนทางด้านร่างกายและด้านจิตใจ  ให้มีความหนักแน่นอดทน  ให้ทุกคนได้รู้จักรสชาติของความหิวโหย  จะได้เห็นอกเห็นใจคนจน  และช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักซะกาต มุสลิมที่บรรลุนิติภาวะทางร่างกายดังที่กล่าวไว้ในเรื่องละหมาดแล้ว  ทุกคนจะต้องถือศีลอด  ยกเว้นสำหรับบุคคลบางประเภทต่อไปนี้

                *   คนชรา

                *   คนป่วยหรือสุขภาพไม่ดี

                *   หญิงมีครรภ์ที่เกรงว่าจะเป็นอัตรายแก่บุตร

                *   บุคคลที่ทำงานหนัก เช่น กรรมกรแบกหาม

                *   บุคคลที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง

                *   หญิงขณะมีรอบเดือนและหลังคลอด

4.  การบริจาคซะกาต

       หมายถึง  การจ่ายทานบังคับจากผู้มีทรัพย์สินครบรอบหนึ่งปีแก่คนที่มีสสิทธิ์รับบริจาคตามอัตรากำหนดซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สิน  ถ้าเป็นเงินสดหรือสินค้าจะต้องจ่านจากจำนวนที่เหลือเก็บร้อยละ 205ของมูลค่าทรัพย์สินนั้น

      ความมุ่งหมายของการบริจาคซะกาต  เพื่อให้ทรัพย์สินที่หามาได้และที่มีอยู่เป็นทรัพย์สินที่บริสุทธิ์ตามหลักการของอิสลาม  และเป็นการขัดเกลาจิตใจผู้บริจาคให้สะอาดบริสุทธิ์  ลดความตระหนี่เหนียวแน่นความเห็นแก่ตัว  ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  เป็นการเตือนการสอนให้มนุษย์ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ  ไม่เกิดความละโมบ  และให้มนุษย์มีความตระหนักว่า  บรรดาทรัพย์สินต่างๆที่เขาได้มานั้นเป็นของฝากจากอัลลอฮฺ  มนุษย์เป็นเพียงผู้รักษาและใช้จ่ายในทางที่พระองค์ทรงกำหนด  เช่น  ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย  และจะต้องจ่ายส่วนหนึ่งแก่ผู้ที่ยากจน  เพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมซึ่งเป็นการเสริมสร้างหลัดประกันของสังคมให้มั่นคงขึ้น  สิ่งที่จะต้องจ่ายออกเป็นซะกาตได้แก่  ทองคำ  เงินแท่ง  และเงิน  ปศุสัตว์  พืชผล  รายได้จากธุรกิจการค้า  ขุมทรัพย์

       นอกจากนี้ที่ที่จะบริจาคออกไปจะต้องเป็นสิ่งที่ดี  การเลือกสิ่งที่ไม่ใช้  สิ่งที่ไม่ดีบริจาคออกไป  ไม่เรียกว่าการบริจาคซะกาต  การบริจาคต้องทำด้วยใจบริสุทธิ์  มิใช่ทำเวยความเสียดายหรือทำเพื่อโอ้อวด  ผู้ที่มีสิทธิ์รับซะกาตมี  8  ประเภทคือ

       1.  คนยากจนขัดสน  คือผู้ที่หาได้ไม่ค่อยพอใช้ เช่น กรรมกรที่หาเช้ากินค่ำ  หรือแม่หม้ายที่สามีตาย  ต้องเลี้ยงลูกกำพร้าตามลำพังโดยไม่มีสมบัติ

       2. คนอนาถา คือผู้ที่อยู่อย่างแร้นแค้น

       3. ผู้ที่มีจิตโน้มเอียงเข้ารับอิสลาม

       4. ใช้ในการไถ่ทาส

       5.  ผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งไม่ได้เกิดจากอบายมุขหรือความฟุ่มเฟือย

       6.  ใช้ในวิถีทางของพระเจ้า เช่น สนับสนุนการศึกษา กสนสงเคราะห์ผู้ประสบภัยพิบัติ  และในกิจการสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น

       7. คนเดินทางที่ขาดปัจจัยในการเดินทาง

       8.  เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมซะกาต

5.  การประกอบพิธีฮัจญ์

       คือ  การเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ เมืองเมกกะ  ประเทศซาอุดิอาระเบีย  คำว่า ฮัจญ์  หมายถึง  ”การเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายเฉพาะอันหนึ่งในแง่กฎหมายของอิสลาม  คำนี้หมายความว่าออกเดินทางไปกะบะห์หรือบัยดุลลอฮ์และประกอบพิธีฮัจญ์”

       พิธีฮัจญ์เป็นศาสนกิจข้อที่ 5 ของมุสลิมเป็นข้อเดียวในหลักปฏิบัติ 5 ประการที่ให้ปฏิบัติเฉพาะบุคคลที่มีความสามารถเท่านั้น  บุคคลที่มีความสามารถในการไปประกอบพิธีฮัจญ์  หมายถึง  มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ  และเส้นทางที่จะเดินทางไปจะต้องปลอดภัย  นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบศาสนกิจข้ออื่นๆ เช่น การละหมาด  การถือศีลอด  การบริจาคซะกาตสมบูรณ์เสียก่อน  การไปประกอบพิธีฮัจญ์ไม่ใช่ไปเพื่อการโอ้อวดหรือเพื่อแสดงความมั่งคงของตน  แต่เป็นการไปเพื่อทดสอบความศรัทธาและความเข้มแข็งอดทน

       ในปีหนึ่งๆมุสลิมจากทั่วโลกจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์พร้อมกันที่เมืองมักกะฮ์  ประเทศซาอุดิอาระเบีย  ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวในโลกที่ใช้ประกอบพิธี  พิธีจะทำในเดือนซุ้ล(เดือนที่  12  ของฮิจเราะห์ศักราช)โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

 ที่มา : ศาสนาเปรียบเทียบ    รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา  อ่อนค้อม   

ขอขอบคุณ อ.จริยา พรจำเริญ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ที่ได้ให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเรียนกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้     

หมายเลขบันทึก: 365610เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท