ตั้งวงสนทนากับ KC ที่แบงค์ชาติ (ธปท.)


...ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ก็คือ เรามักจะคุ้นชินเฉพาะส่วนที่เป็น Explicit Knowledge และไม่ค่อยได้สนใจไยดีที่จะจัดการ "Tacit Knowledge" เท่าใดนัก . . . ทำไมนะหรือ? คงเป็นเพราะว่า Tacit Knowledge นั้นฝังลึกอยู่ในตัวคน จึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะ "จัดการ" หากแต่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ "ภาวะผู้นำ"...

        เมื่อว้นศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2549 ผมได้เข้าไปร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การสร้างชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs)" ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวันนั้น เป็นกลุ่มที่ทาง ธปท.เรียกว่า "Knowledge Champion (KC)" ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บความรู้ หรือ "Capture Knowledge" เข้าสู่ระบบ "Lessons Learned" ของธปท.

        ช่วงแรกทาง ธปท. ขอให้ผมเล่าหลักการของ สคส. ในการสร้าง CoPs ให้ฟัง ซึ่งผมก็เริ่มที่เรื่องความแตกต่างระหว่างความรู้ที่เป็น "Explicit" และ "Tacit" ก่อนเป็นลำดับแรก เพราะเห็นว่าเป็นรากฐาน (Basic) ที่สำคัญ หากเข้าใจความหมายของความรู้สองประเภทนี้คลาดเคลื่อนไป การจัดการที่จะนำมาใช้ก็จะพลอยผิดทางไปด้วย

        ผมเน้นย้ำให้เห็นว่าถึงความสำคัญของความรู้ทั้งสองประเภท และจำเป็นที่เราจะต้อง "จัดการ" ความรู้ทั้งคู่ แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ก็คือ เรามักจะคุ้นชินเฉพาะส่วนที่เป็น Explicit Knowledge และไม่ค่อยได้สนใจไยดีที่จะจัดการ "Tacit Knowledge" เท่าใดนัก . . . ทำไมนะหรือ? คงเป็นเพราะว่า Tacit Knowledge นั้นฝังลึกอยู่ในตัวคน จึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะ "จัดการ" หากแต่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ "ภาวะผู้นำ" ไม่ใช่การ "จัดการ" หรือถ้าจะเรียกว่า "การจัดการ" ก็ต้องเป็นการ "จัดการแบบไม่จัดการ" (ตรงนี้ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ท่านงงนะครับ . . . ถ้ามีเวลาเมื่อไรจะกลับมาคุยเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป)

        ผมได้กล่าวถึง "โมเดลปลาทู" ว่าเป็นกุศโลบายของ สคส. ที่จะจัดการกับความรู้ที่เป็น Tacit จะเห็นได้ว่าส่วน "ตัวปลา" นั้นเน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้เรื่องเล่า (Storytelling) เป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจาก Tacit Knowledge นั้น มักจะเกาะติดอยู่กับบริบทจนแทบจะแยกไม่ออก เรียกได้ว่าเป็น ความรู้ที่เป็น Context-Specific การเล่าเรื่องทำให้เราไม่ทิ้งบริบท ดังนั้นการจดบันทึก เพื่อที่จะเอาความรู้เหล่านั้นไปใส่ไว้ในคลังความรู้ (ส่วน "หางปลา") ก็ต้องไม่ทิ้งบริบทด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่บันทึกได้อาจจะกลายเป็น Explicit ไปหมด ผมชอบเปรียบเทียบ Tacit ว่าเป็นความรู้ "สดๆ" ในขณะที่ Explicit เป็นความรู้ที่ถูก "ตั้งไฟ" ไปแล้ว ถึงความรู้สองแบบนี้จะสำคัญด้วยกันทั้งคู่ แต่ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปใน "คลังความรู้" มักจะเป็นความรู้ที่ถูกทำให้ "สุก" แล้วเป็นส่วนใหญ่ครับ

        ในโมเดลปลาทู ส่วนที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงคือส่วน "หัวปลา" (Knowledge Vision) ซึ่งต้องถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญด้วยเช่นกัน เพราะถ้าไม่ระวังให้ดี สิ่งที่ได้ทุ่มเทลงมือลงแรงทำไปทั้งหมดนั้น ไม่ว่าจะเป็น "ตัวปลา" หรือ "หางปลา"  หากหัวปลาไม่ชัดเจน หรือไม่สอดคล้องกับ ทิศทาง เป้าหมาย ขององค์กร ปลาตัวนี้ก็อาจจะว่ายไปผิดทางได้

        ในวันนั้นผมได้ทำหน้าที่เป็น Facilitator ชวน KC ผู้ที่มาก่อน (รุ่น 1 และ 2) เล่าให้ KC รุ่นน้อง (รุ่น 3) ฟัง ถึงความภาคภูมิใจในการทำงานในบทบาทนี้ อีกทั้งขอให้ท่านช่วยแบ่งปัน "เทคนิค" ดีๆ เพื่อที่ผู้มาใหม่จะได้เกิดความเข้าใจ นอกจากนั้นเรื่องเล่าดีๆ ยังสามารถ "เติมไฟ" ให้กับ KC "มือใหม่" ได้อีกด้วย นี่คือพลังของการแชร์ Tacit Knowledge ครับ เพราะในเรื่องราวต่างๆ นั้น มันมักจะสะท้อนถึงอารมณ ์ความรู้สึก และมีแรงบันดาลใจอยู่ในนั้นด้วย

        ในตอนท้ายผมได้สรุปว่า KC ทั้งสามรุ่นนี้น่าจะรวมกันเป็น CoP เพื่อจะได้เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คล้ายๆ ที่ทำกันอยู่นี้ โดยอาจจะเปิดเป็นเวทีเสมือนผ่านระบบอินทราเน็ทของ ธปท. ก็ได้ หากทำได้เช่นนี้ จะได้มี CoP ต้นแบบเกิดขึ้นใน ธปท. จะได้เป็นตัวอย่างให้กับ CoPs ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต สิ่งที่ผมเสนอนี้จะเป็นไปได้ หาก KC ทั้งหลายเพิ่มเติมบทบาท หันมาทำหน้าที่เป็น facilitator ไปด้วย (คล้ายๆ กับที่ผมทำให้ดูนี้) เรียกได้ว่าต้องเป็นทั้ง KC และ KF (Knowledge Facilitator) ไปพร้อมๆ กัน หรือจะเรียกสองบทบาทที่มารวมกันนี้ว่าเป็นบทบาทของ "KFC" ก็น่าจะได้

คำสำคัญ (Tags): #knowledge#management#km#สคส#cops
หมายเลขบันทึก: 36496เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2006 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ประพนธ์

  • อ่านแล้วเข้าใจข้อแตกต่างระหว่าง Explicit-Tacid knowledge ชัดเจน...
  • ขอขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่ง

เข้าใจkmมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณอาจารย์หมอทั้งสองท่านครับ ที่ขยันอ่านและยัง Comment เป็นการทักทายกันด้วย ทำให้รู้สึกอบอุ่นมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท