การปลูกป่าชุมชนกับปัญหาการลดลงของป่าไม้ (1)


บันทึกแสดงสถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันอันเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน คุณค่าของป่าไม้ การแก้ไขสถานการณ์ในส่วนของภาครัฐ และเสนอโครงการปลูกป่าชุมชนด้วยความร่วมมือจากประชาชน

บทนำ

มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลายได้ในเวลาเดียวกัน มนุษย์เคยคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติโดยการพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกินพอดีสำหรับความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต เพื่อให้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย จึงเกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเกินความจำเป็น ความโลภในการสะสมทรัพยากร ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้และครอบครองทรัพยากร อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อมนุษย์โดยรวม

และผลแห่งความโลภนั้น กำลังย้อนมาทำลายมวลมนุษย์เอง ด้วยธรรมชาติอาจเสียสมดุลจนไม่สามารถรองรับของเสียที่มนุษย์สร้างและสะสมบนโลกได้อีกนานนัก มนุษย์จึงเริ่มเผชิญวิกฤติการณ์ต่างๆจากการเสียสมดุลของธรรมชาตินี้ ดังเช่นภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงขึ้น การลุกล้ำผืนดินโดยผืนน้ำอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลซึ่งเป็นผลมาจากการละลายของภูเขาน้ำแข็งอันส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งต้องสูญเสียที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและการหาเลี้ยงชีวิต โรคความจำเสื่อมอันเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนขึ้น และปัญหาอื่นๆอีกมาก

ภาวะโลกร้อนนั้นเป็นปัญหาในระดับโลกที่ปัจเจกชนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ แต่อย่างไรก็ดี หากปัจเจกชนมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ทรัพยากร มีการกระทำทั้งทางกาย วาจา ใจ เช่น มีความเห็นว่าทรัพยากรนั้นสามารถหมดสิ้นไปได้ มีการใช้สอยทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่แสวงหา หรือครอบครองทรัพยากรจนเกินความต้องการในการใช้งานของตนมากเกินไป ชักชวนผู้อื่นให้มีทัศคติในการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียงในการใช้ทรัพยากรเช่นเดียวกัน ก็อาจช่วยชะลอผลร้ายอันเกิดจากวิกฤติภาวะโลกร้อนนี้ออกไปได้

อีกวิธีการหนึ่งที่ปัจเจกชนสามารถทำได้ และสามารถชะลอวิกฤติการนี้ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสมดุลตามธรรมชาติได้ด้วย คือการปลูกและรักษาป่า เพราะพืชยืนต้นจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกไว้ในลำต้น ปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนอันจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์และสัตว์ และยังประโยชน์ต่อทุกชีวิตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และทั้งต่อผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงและต่อมวลมนุษยชาติ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือการชี้ให้เห็นคุณและโทษของป่าไม้ ผลที่ได้จากการปลูกป่าทั้งในแง่พุทธศาสนาและในแง่ประโยชน์โดยตรงที่มนุษย์พึงได้รับจากป่าหรือประชากรสีเขียว และวิธีการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างเป็นรูปธรรม

และมีวัตถุประสงค์รองคือ เพื่อเผยแพร่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา อันเป็นหลักธรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา สามารถนำมาใช้ หรือประยุกต์ใช้ให้เกิดผลดีได้ยุคสมัย

คุณค่าของป่าไม้

ป่าไม้ให้คุณค่าหลายประการ พอจะแยกแสดงได้คือ

1 คุณค่าที่เกิดจากการใช้สอยโดยตรง คือคุณประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่า เช่น ที่ดิน พืช และสัตว์ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งกางกายภาพและทางจิตใจ เช่น เศษไม้สำหรับการนำไปทำเป็นฟืน เห็ดป่าสำหรับนำไปประกอบเป็นอาหาร ความงดงามตามธรรมชาติสำหรับการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทรัพยากรในพื้นที่ป่าสำหรับการศึกษาวิจัย เป็นต้น

2 คุณค่าจากการใช้สอยโดยอ้อม เช่น ป่าไม้เป็นแหล่งของต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่กำบังลมพายุ เป็นแหล่งบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่างของป่า เป็นแหล่งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

3 คุณค่าเพื่อจะใช้ประโยชน์ในอนาคต เพื่อมนุษย์จะสามารถใช้ประโยชน์จากป่าทั้งโดยตรง และโดยอ้อมได้ในอนาคต

4 คุณค่าสำหรับการเป็นมรดกให้ลูกหลาน เพื่อให้มนุษย์ในอนาคตได้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากป่า เฉกเช่นที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันใช้ต่อไป

5 คุณค่าที่เกิดจากการดำรงอยู่ของป่า ทั้งในแง่ความพอใจของคนในสังคมที่รับรู้ว่าป่ายังดำรงอยู่อันก่อให้เกิดความอุ่นใจ หรือพึงพอใจในระดับหนึ่ง และในแง่คุณประโยชน์ของการดำรงอยู่เพื่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ การรักษาพืชพรรณ หรือสัตว์หายาก การดำรงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ

สาเหตุการลดลงของพื้นที่ป่าไม้

สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นอาจเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเพราะการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง จนอาจไม่สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ไว้ได้

ในปี พ.ศ. 2504 อันเป็นปีที่เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 171 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 53.33% ของพื้นที่ประเทศ ต่อมาพื้นที่ป่าได้ลดลงเรื่อยๆจนกระทั่งในปีพ.ศ. 2541 เหลือพื้นที่ป่าเพียงประมาณ 82 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณ 25.62% ของพื้นที่ประเทศ

การลดลงของพื้นที่ป่าสืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น

1 การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในปีพ..ศ. 2439 รัฐบาลดำเนินนโยบายในเรื่องการจัดการป่าไม้ตามแนวคิดตะวันตกที่ว่า "ป่าไม้เป็นของรัฐและป่าไม้เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐด้วย" ทำให้มีการให้สัมปทานป่าไม้แก่บริษัทเอกชนต่างๆเพื่อนำรายได้เข้ารัฐ ต้นไม้จึงถูกตัดในปริมาณมาก

2 ความโลภของมนุษย์ เมื่อมีการตัดต้นไม้ทั้งโดยความถูกต้องที่ได้รับจากสัมปทานและโดยการตัดอย่างลักลอบเป็นจำนวนมาก หากการปลูกป่าทดแทนตามสัมปทานไม่สมดุลกับปริมาณไม้ที่ถูกตัด พื้นที่ป่าจึงลดลงโดยปริยาย

แม้ต่อมารัฐบาลจะยกเลิกการให้สัมปทานป่าไม้ในปีพ.ศ.2532 แต่พื้นที่ป่าก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะการลักลอบตัดไม้ด้วยความโลภยังคงมีอยู่นั่นเอง

3 การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ความต้องการในการใช้ไม้จึงสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ความต้องการใช้ไม้เพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เพื่อประกอบเป็นเครื่องเรือน เป็นต้น

4 การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้ต้องการพื้นที่สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย การเพาะปลูกเพิ่มขึ้น และการใช้พื้นที่สำหรับการคมนาคม

5 การปลูกเรือนไม้ทดแทนเรือนเก่า ทำให้มีการใช้ไม่เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันรัฐบาลพยายามโน้มน้าวไม่ให้มีการขายเรือนเก่า เพราะเมื่อมีการรื้อไม้เก่าไปทำประโยชน์แล้ว เจ้าของเรือนมักหาซื้อไม้ใหม่มาปลูกทดแทนเรือนเก่านั่นเอง)

ผลกระทบอันเกิดจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้

การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ส่งผลต่อทุกชีวิตบนโลกโดยเฉพาะมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังพอจะแสดงผลกระทบได้ดังนี้

1 การขาดการดูดซับและเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเพียงพอ ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะโลกร้อนเกิดเพราะการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยของมนุษย์ การปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคการเกษตร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม การกำจัดของเสีย การลดลงของป่าไม้ ฯลฯ

แม้จะมีพยายามแก้ไขปัญหาจากนาๆชาติ หากความโลภ ทำให้ต่างฝ่ายต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนจนดูเหมือนแทบจะไม่มีทางออก ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

ป่าไม้ ดูเหมือนจะเป็นทางรอดที่โดดเด่นในการช่วยชะลอผลร้ายจากภาวะนี้ออกไปเพราะต้นไม้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเก็บกักไว้ภายในลำต้นในรูปเนื้อไม้ได้ เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บรรยากาศ และช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ แต่หากป่าไม้ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางรอดนี้ก็อาจกลับกลายเป็นหนทางที่เลือนราง

อติโลโภ หิ ปาปโก

ความโลภมากเกินไปนั้นเลวแท้ๆ

2 การขาดความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิตใดๆไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว มนุษย์ก็เช่นกัน เราต้องพึ่งพาจุลชีพ พืช สัตว์นาๆชนิดเพื่อนำมาผลิตสิ่งของ เครื่องใช้ ยารักษาโรค ความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ป่าไม้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพนี้ไว้ได้ ทั้งในแง่การรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ อันเอื้อต่อการดำรงชีวิตของทุกชีวิตบนโลก และในแง่การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ผืนป่าเอง

3 การขาดพื้นที่ศึกษาวิจัย และพักผ่อนหย่อนใจ

4 ภัยธรรมชาติ เช่นแผ่นดินถล่ม น้ำท่วม พายุที่มีกำลังแรง

5 ขาดมรดกทางธรรมชาติสำหรับชนรุ่นหลังอันยังประโยชน์ต่างๆตามคุณค่าของป่าไม้ตามที่ได้กล่าวมา

(ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 364609เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 05:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

  • ขออนุญาตนำบทความนี้ไปเป็นสื่อสอนนักเรียนนะคะ
  • กำลังชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญของเรื่อง ป่าชายเลน ค่ะ
  • เพราะป่าชายเลน เป็นเหมือนแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ
  • ขอบพระคุณข้อมูลดี ๆ เช่นนี้ค่ะ
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท