ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พระพุทธศาสนากับแนวทางการปรองดองของสังคมไทย


คำถามมีว่า "มนุษย์อับจนปัญญา" หรืออย่างไร เราจึงไม่สามารถพาตัวเอง หรือสังคมออกไปจาก "กับดักของความรุนแรง และความเห็นต่างได้" คำตอบคือ "ไม่" แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ ปัญญาที่มนุษย์มีนั้น เป็น "ปัญญาแบบโลกิยะ" ที่จะพาตัวเองรอด ซึ่งเราจึงเรียกปัญญาที่เรามีตอนนี้ว่า "ปัญญาที่ขาดเมตตา และกรุณา" เป็นปัญญาที่เอาตัวเองรอดตาม "สัญชาตญาณ" ที่มนุษย์มีอยู่ โดยการแสวงหา หรือพยายามจะหาวิธีการและออกแบบวิธีการเพื่อเอาตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองให้รอดโดยไม่สนใจ หรือใส่ใจว่าคนอื่นจะรอดหรือไม่ อย่างไร

      ตามบันทึกเรื่อง "ความยุติธรรมไม่มา สามัคคีไม่เกิดจริงหรือ" http://gotoknow.org/blog/peaceful-means/362613  ท่านผอ.พรชัยแห่งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จ.ยโสธร ในฐานะกัลยาณมิตรได้ร้องขอให้สรุปประเด็นที่ผู้เขียนได้ไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "พระพุทธศาสนากับแนวทางการปรองดองของสังคมไทย" ของรายการ "ที่นี่ประเทศไทย" โดยมี ดร.ณัฐฏา เป็นพิธีกร ในวันที่ ๒๘ พฤภาษคม ๒๕๕๓ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชานั้น เพื่อสนองตอบต่อแนวทางของกัลยาณมิตรนั้น ผู้เขียนขอสรุปประเด็นดังนี้

 

"พระพุทธศาสนากับแนวทางการสร้างความปรองดองของสังคมไทย"
สัมภาษณ์โดย  ดร.ณัฏฐา โกมวาทิน
ตอบโดย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
++++++++++

      ๑. ในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้มีพระภิกษุจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งทำให้ชาวพุทธจำนวนมากแสดงความไม่สบายใจ และมีคำถามสถานการณ์ดังกล่าวคำถามมีว่า ประเด็นการแสดงออกทางการเมืองของพระบางรูปว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

     คำตอบ

     การแสดงออกในลักษณะดังกล่าว หากวิเคราะห์ตามหลัก "วิภัชชวาท" ในพระพุทธศาสนา เราสามารถตอบได้สองแนวทาง 

     (๑) ในเชิงบวกต่อการเข้าร่วมกิจกรรม จากการให้สัมภาษณ์ของพระสงฆ์บางรูปที่เข้าร่วมกิจกรรมพบคำตอบที่น่าสนใจว่า ญาติโยมบางท่านเป็นชาวต่างจังหวัด หรือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโยมที่เป็น "กัลยาณมิตร" หรือ "อุปัฏฐาก" ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความต้องการทางการเมืองจากรัฐบาล และในบางครั้งญาติโยมเหล่านั้น ต้องการที่พึ่ง ต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการแนวทางที่เหมาะสมต่อการดำเนินการ โดยเฉพาะ "แนวทางพุทธสันติวิธี" จึงได้นิมนต์พระบางรูปไปร่วมกิจกรรม   ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นคือ ในบางสถานการณ์สามารถทำให้เหตุการณ์ที่หนักกลายเป็นเบาได้  ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นความเยือกเย็นมากขึ้นได้  เหล่านี้เป็นผลในเชิงบวกต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของพระบางรูป

     (๒) ในเชิงลบต่อการเข้าร่วมกิจกรรม   เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบางรูปที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียกร้องทางการเมือง  ในแสดงออกในเชิงไม่เหมาะสม การใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม  ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ขัดกับหลัก "สมณสารูป" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เข้าไป "เลือกข้าง"  แทนที่จะทำหน้าที่ในการชี้นำสังคม แต่กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม  สรุปประเด็นนี้คือ ในขณะที่สังคมกำลังต่อสู่กันทางความคิดทางการเมือง พระไม่ได้มีหน้าที่ในการ Take side คือ "เลือกข้างใดข้างหนึ่ง" แต่พระมีหน้าที่ในการ Take to their side คือ "การให้กำลังใจ การนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมกับเหตุ ผล ตน ประมาณ บุคคล เวลา และสถานการณ์"

      ๒. ประเด็นเรื่อง "ความยุติธรรมกับความปรองดอง หรือสามัคคี"

      ตอบ

      ความยุติธรรมเป็นเครื่องมือประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความ “สามัคคี” ให้เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน  หากมองในมิตินี้จะพบว่า สามัคคีคือเป้าหมาย (Goal) ส่วนความยุติธรรมคือเครื่องมือ หรือตัววิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

             อย่างไรก็ดี ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมแบบพหุนิยม (Pluralism) ที่ประกอบด้วยกลุ่มคน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ  และกลุ่มขัดแย้งหลายกลุ่ม ฉะนั้น  การนิยาม หรือให้ความหมายของคำว่า “ยุติธรรม”  ย่อมมีความเห็น มุมมอง และแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน  และย่อมเป็นเรื่องยากที่จะหาบทสรุป หรือหาความหมายร่วมกันในระยะเวลาอันสั้น

             ถึงกระนั้น ประเด็นเรื่องการสร้าง “กติการ่วม” (Ground Rules) นับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่สังคมไทยจะต้องสร้างเวทีเพื่อหาบทสรุปร่วมกันโดยอาศัยความร่วมมือจากองคาพยพต่างๆ ในสังคมบนบาทฐานหลักการต่างๆ เช่น หลักอปริหานิยธรรมตามที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสีนำเสนอ โดยการดึงภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเห็นต่างเข้ามาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวลา และสถานที่ที่เหมาะสม (Inclusive Society) เพื่อให้เกิดกระบวนแบ่งปันข้อมูลที่รอบด้าน โดยไม่พยายามที่จะผลักคนที่เห็นต่างออกไปจากสังคมไทย (Exclusive Society)

             กรณีศึกษาที่สำคัญยิ่งในประเด็นนี้คือ หากมองในเชิงพุทธ สังคมที่พระพุทธเจ้าปรารถนาจะเห็นคือ “สังคมแห่งความพร้อมเพรียง” เพราะว่า “ความพร้อมเพียงแห่งหมู่คณะ นำความสุขมาให้” สังคมแบบพหุนิยมนั้นเป็นสังคมที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ได้ดำรงอยู่อย่าง “มีศักดิ์ศรี” และ “เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน”   และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ “การสร้างกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อทำให้สังคมของพระองค์เพียงพอที่จะรองรับกลุ่มคนต่างๆ ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม เพื่อใช้ความยุติธรรมเป็นเครื่องสร้าง “สามัคคีธรรม” ให้เกิดขึ้น  และพร้อมที่จะรองรับบรรยากาศแห่ง “สันติธรรม” ในลำดับต่อไป

      ๓. ประเด็นเรื่อง "หลักการและแนวทางที่จะใช้เป็นหลักยึดซึ่งเป็นการในการสร้างความปรองดอง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสถานการณ์ปัจจุบัน"

      ตอบ

      สังคมไทย: สังคมแห่งไฟเผาลน

      ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้  สังคมไทยถูกไฟ ๓ กองเผาลนอยู่ กล่าวคือ

      ไฟกองที่ ๑: ไฟคือความอยาก กำหนัด และพึงพอใจอยู่ในโลกธรรม จนถูกโลกธรรมครอบงำ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ  เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา  ประเด็นคือ เรามัวแต่ไปคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะยืนยงคงอยู่กับเราได้อย่างยาวนาน แต่ความจริงคือ สิ่งเหล่านี้ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่มีใครไปบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจของเราได้ ฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจความจริงข้อนี้ เราจะพบว่า ถ้าอยากจะมีความสุข อย่าประยุกต์สิ่งทั้งผองเป็นของฉัน

      ไฟกองที่ ๒: ไฟคือโทสะ  เราอยู่ในสถานการณ์ของความเกลียดชังมาหลายปีแล้ว และในปัจจุบันนี้ความเกลียดชังก็ยังคงอยู่ และนับวันจะฝังรากลึก ร้อนรนอยู่ภายในใจ  จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ พบว่า ความเกลียดชังมีจุดเริ่มจากความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งด้านข้อมูล ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ ค่านิยม และโครงสร้าง  แต่เพราะความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการในวิถีทางที่ไม่เหมาะสม หรือถูกกดทับด้วยอำนาจ หรือสิ่งอื่นๆ เอาไว้ จึงทำให้ความขัดแย้งได้กลายพันธุ์ไปสู่ "ความรุนแรง" ดังที่ปรากฎในสถานการณ์ปัจจุบัน  และแม้ว่าฝ่ายใดจะชนะ หรือแพ้ แต่อุณภูมิของความเกลียดชังยังฝังตัวอยู่ และรอเวลาที่จะปทุอีกครั้งในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์"

      ไฟกองที่ ๓: ไฟคือโมหะ  ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้  บางแง่มุมของเมืองไทยเป็นเมืองแห่ง "โมหะ" หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "สังคมแห่งอวิชชา" หรือ "เป็นเมืองแห่งความไม่รู้" กล่าวคือ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรชั่ว ไม่รู้ว่า อะไรสูง อะไรต่ำ และนำไปสู่สังคมแบบไม่รู้ไม่ชี้

      ทางรอด: น้ำสามขันผันไปสู่ความปรองดอง  

     
 น้ำขันที่ ๑: ถอนความยึดมั่น (ดับไฟคือราคะ)
      ในขณะที่แต่ละคน แต่ละกลุ่มพากันยึดมั่น หรือมุ่งมั่นในคำว่า "การแพ้ หรือชนะ"  ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นว่า "ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์" ผู้ชนะอาจจะลิงโลดใจ และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองได้รับ  ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตามล้าง ตามล่ากลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ และแนวคิดของตัวเอง หรือกลุ่มตัวเอง ซึ่งการแสดงออกแบบนี้ นำไปสู่การก่อเวรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด   ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่คิดว่าตัวเอพ่ายแพ้ต่อการเรียกร้อง ก็ย่อมแสวงหาแนวทาง หรือช่องทางที่จะทำให้ตัวเองประสบกับชนะในอนาคต ซึ่งประเด็นที่ของการหาช่องทาง อาจจะเกิดความคิดขึ้นแบบมาเคียวารีที่ว่า "ขอเพียงประสบกับชัยชนะ อย่าไปสนใจวิธีการ" ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเวรต่อไปเช่นเดียวกัน

      ฉะนั้น การลดทอนความยึดมั่นในชนะ หรือพ่ายแพ้ โดยการเปิดพื้นที่หันมาสร้างกฎกติกาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจร่วมกัน นับเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายควรให้ความใส่ใจ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคำสั่งนายก ๖๖/๒๓  โดยไม่พยายามคนที่ไม่เห็นเห็นด้วยออกไปจากสังคม แต่ดึงคนเหล่านั้น มาร่วมแสวงหาทางเลือก และสร้างกติกาที่ทุกคนย่อมรับได้และปฏิบัติได้ รวมไปถึงความพึงพอใจต่อทางาเลือกดังกล่าว

       น้ำขันที่ ๒: แบ่งปันความรัก (ดับไฟคือโทสะ)

       การแบ่งปันความรักมีผลต่อการทำลายล้าง "อุกศลธรรมตัวโทสะ" ความรัก ความปรารถนาดี และความเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเพื่อนมนุษย์มีความทุกข์" นับเป็น "ภูมิปัญญาไทย" ที่คงอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพียงแต่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้เราหลงลืมคุณค่าของ "ความเมตตากรุณา" ซึ่งเคียงคู่มากับสังคมแบบเกษตรกรรมมาอย่างยาวนานในสังคมไทย  คำถามสำคัญคือ ความเมตตากรุณาใช่ไม่ได้กับสังคมแบบทุนนิยม หรือว่าใช่ได้อยู่ แต่เราไม่ค่อยนำมาใช่อย่างเต็มกำลัง
       ความจริง ความรัก และความเอื้ออาทร เป็นหลักการสำคัญที่จะทำหน้าที่ในการ "เชื่อม" วัตถุ มนุษย์ และธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันอย่าง "ประสานสอดคล้อง" ซึ่งรวมไปถึงการเมืองซึ่งควรเป็นการเมืองแบบเมตตา และเอื้ออาทรแก่เพื่อนมนุษย์ เปิดพื้นให้แก่คนอื่นและสิ่งอื่นเพื่อให้มีที่หยิบ ที่ยืน อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์
       ฉะนั้น เหนือนอกจากการแบ่งปันความรักให้โลก หรือสังคมสดใสแล้ว ยังรวมไปถึง การแบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพด้วย  เพราะในแต่ละวัน มนุษย์กำลังแบ่งปันลมหายใจระหว่างกัน และกัน รวมไปถึงกันหายใจเอาลมหายใจของกันและกันเข้าไปด้วย หากลมหายใจของเราเต็มไปด้วยสันติ เราก็ได้หายใจเอาลมหายใจแห่งสันติเข้าไปด้วย หากเป็นลมหายใจแห่งความเร้าร้อน เราก็ได้รับลมหายใจเช่นนี้เข้าไปด้วย

     น้ำขันที่ ๓: ประจักษ์สรรพสิ่งชัดด้วยปัญญา (ดับไฟคือโมหะ)

      คำถามมีว่า "มนุษย์อับจนปัญญา" หรืออย่างไร เราจึงไม่สามารถพาตัวเอง หรือสังคมออกไปจาก "กับดักของความรุนแรง และความเห็นต่างได้" คำตอบคือ "ไม่" แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ ปัญญาที่มนุษย์มีนั้น เป็น "ปัญญาแบบโลกิยะ" ที่จะพาตัวเองรอดเท่านั้น  เราจึงเรียก ปัญญาที่เรามีตอนนี้เป็น "ปัญญาที่ขาดเมตตา และกรุณา" เป็นปัญญาที่เอาตัวเองรอดตาม "สัญชาตญาณ" ที่พยายามจะหาวิธีการและออกแบบวิธีการเพื่อเอาตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองให้รอด 
      ในขณะเดียวกัน การที่มนุษย์ไม่ประจักษ์สรรพสิ่งตามเนื้อผ้า หรือตามที่ความเป็นจักษ์ เพราะบางคน หรือบางกลุ่ม เลือกที่จะเสพ หรือสื่อในมุมที่ตัวเองมองว่า เกิดประโยชน์สูงสูดต่อตัวเอง หรือกลุ่มตัวเอง  ด้วยเหตุนี้ การพูด การแสดงออก หรือการคิดจึงติดกับ หรือตกหลุมพรางของ "โมหะ" ที่ขาดหลัก "วิภัชชวาท" คือการแยกแยะว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรสูง อะไรต่ำ

     ๔. เราจะอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างไร ในขณะที่มีคู่ขัดแย้งเช่นนี้ในสังคมไทย

     เราต้องอยู่ให้เหนือ "ภาวะแห่งความเป็นคู่ไปให้ได้" มิฉะนั้นแล้ว มนุษย์ก็ต้องมานั่งร้องไห้ เจ็บปวด และทรมานเช่นนี้อย่างไม่หยุดหย่อน  ธรรมะที่เป็นคู่ เช่น ลาพ เสื่อมเลื่อม ยส เสื่อมยส สรรเสริญ นินทา  ชอบ และไม่ชอบ เป็นต้น โดยพยายามที่จะทุกอย่างตามที่มันเป็นตามหลัก "กาลามสูตร" อย่างเพิ่งเชื่อเพียงเพราะสิ่งที่ได้ยินมา หรือเชื่อกันมา หรือเป็นอาจารย์ หรือคนที่เรารักและนับถือ โดยขาดการไตร่ตรองด้วยเหตุ ด้วยผลอย่างประจักษ์ชัด

    มนุษย์ในสังคมปัจจุบัน "ตกหล่มเพราะสิ่งที่เรา หรือคนที่ชอบหรือไม่ชอบ" หากสิ่งใดไม่พึงใจ หรือปรารถนาของเรา  เราก็จะทุกข์หรือทรมานกับสิ่งนั้น  กล่าวคือ เรามักจะนำสิ่งที่ผิดปกติ หรือไม่ปกติของคนอื่นมาทำลายความเป็นปกติของเรา"  การสุข หรือทุกข์ของเรา มักจะต้องพึ่งพิงกับคนอื่นหรือสิ่งอื่นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น การดำรงอยู่ชีวตให้อยู่เหนือภาวะความเป็นคู่ ชอบไม่ชอบ  ดีใจ เสียใจ จะทำให้เรารู้เท่าทันความคิดของเรา และมีความสุขกับการดำเนินชีวิตบนฐานของสังคมที่กำลังขัดแย้งได้อย่างรู้ ตื่น และเบิกบาน บนสายธารแห่งธรรม

 

ดูบทให้สมภาษณ์โดยละเอียดของผู้เขียน และผศ.ดร. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวัฒน์ ในรายการตอบโจทย์ ทีวีไทย วันที่ ๒๘ พฤภาคม ๒๕๕๓

http://www.thaipbs.or.th/s1000_obj/front_page/page/1058.html?content_id=256724&content_detail_id=696764&content_category_id=712

หมายเลขบันทึก: 363744เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (39)

เราต้องอยู่ให้เหนือ "ภาวะแห่งความเป็นคู่ไปให้ได้

จะต้องพยายามค่ะ เพื่อประเทศไทยของเรา

โยมแก้ว

อนุโมทนขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน และโน๊ตย้ำเอาไว้เป็นข้อเตือนใจพวกเรา

นมัสการครับ

หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือน พคที่ผ่านมา ทำให้คนไทยในต่างแดนส่วนใหญ่ฝันร้ายมาตลอดครับ

เพราะนึกไม่ถึงว่าจะเห็นภาพที่น่าสลดใจที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ เมืองที่เรารัก

เพราะจิตใจคนไทยไม่นิ่ง

ยังมีฉันทาคติที่รุนแรง จนสามารถผิดศีลได้

แต่หลังจากผ่านพ้นไป การร่วมใจกันออกไปทำควาามสะอาดของทุกคน ก็ช่วยสร้างกำลังใจให้กลับคืนมาได้บ้างครับ

ผมได้ตามไปชมรายการสัมภาษณ์ของท่านอาจารย์แล้วครับ ก็อยากให้มีรายการแบบนี้ให้มากขึ้น

เพราะเป็นการเตือนสติ ให้แนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็น เหมือนการทำกายภาพบำบัดของคนไข้ที่เพิ่งพักฟื้น

ผมเห็นว่า สติจำเป็นต้องได้รับการนำกลับมา

และเห็นว่า ศีล 5 นั้นเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้สังคมสงบสุข เพียงศีล 5 ถ้าทุกคนตั้งใจยึดถือปฏิบัติ ผนวกกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง รับรองได้ครับว่า ในเวลาไม่นาน สังคมไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างสง่างามอีกครั้ง

นอกจากนั้น ความสำคัญของ "วันพระ" ก็ควรนำมาส่งเสริมอย่างจริงจังครับ

วันพระควรเป็นวันสำคัญของสังคมไทยครับ ถ้าส่งเสริมให้เป็นวันสำคัญระดับชาติ

กล่าวคือ ผู้นำในรัฐบาลต้องนำและทำเป็นตัวอย่าง ไปวัด ทำบุญตักบาตร รักาาศีล ปฏิบัติธรรม ก็น่าจะดีนะครับ

เพราะวันพระคือวัน "หยุด" อย่างน้อยก็หยุดทำผิดศีลและพัฒนาจิต

ถ้าหยุดกันได้ทุกวันพระ จิตใจคนก็จะสงบระงับมากขึ้น

เราเคยทำวันต่างๆ ของเราให้เป็นวันระดับชาติและระดับโลกมาแล้ว เช่นวันงดสูบบุหรี่โลก เป็นต้น

ทำไมจะทำให้วันพระ สำคัญอย่างจริงจังไม่ได้

ทำให้วัดกลับมาเป็นสถานที่สำคัญของชุมชนอีกครั้ง

ทำให้ครอบครัวสนิทสนมกันมากขึ้น

อย่างน้อย แค่วันพระวันเดียวครับ

นมัสการครับ

ท่านทูต

  • วันพระ คือ วันคิด พูด และทำในสิ่งที่ประเสริฐ
  • วัดพระคือ วันหยุด เพื่อให้เราไป คิด พูด และทำในสิ่งที่ประเสริฐ
  • ศรีลังกาหยุดทำงานวันพระ เพื่อให้คนไปคิดพูดทำ ในสิ่งที่ประเสริฐ
  • ถ้าจะให้หยุดงานวันพระดูจะไม่พึงปรารถนาสำหรับการทำงานที่อิงแอบกับตะวันตก
  • แต่ถ้าจะหยุดคิดพูด และทำในสิ่งที่ไม่ดีในวันพระ ก็น่าจะเข้าที
  • เราคงต้องประชาสัมพันธ์ หรือย้ำเตือนให้ึคนตระหนักในประเด็นนี้
  • ถ้าจะให้วันพระใหญ่ที่โยมพูด เราก็เรียกวันพระใหญ่เป็นวัน ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ
  • แต่ถ้าจะให้ใหญ่มากๆ อาจจะมองว่าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วิสาขะ มาฆะ อาสาฬหะ เป็นต้น
  • อนุโมทนาแนวคิดดีๆ จากท่านทูต
  • ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการครับ

ขอสนทนาต่อครับ

ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ซึ่งผมคิดว่าพุทธศาสนิกชนต่างรู้ดีว่า ระยะหลังเราเป็นพุทธแต่ในนาม

นับถือพุทธเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของชีวิต

แต่ไม่เคยถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ....มากไปกว่าการทำบุญ

อะไรที่จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของชาวพุทธให้กลับคืนมา

ผมจึงเห็นว่าศีล 5 เป็นพื้นฐานสำคัญ การจะให้คนรักษาศีลก็ต้องสร้างเครือข่ายที่จะสนับสนุนการกระทำนี้ จึงเห็นว่าทุกวันพระ น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะมากระชับเรื่องนี้

ถ้าเราสร้างเป็นกระแสได้ ก็จะทำให้วัดและครอบครัวกลับมามีกิจกรรมระหว่างกันที่สม่ำเสมอกันอีกและใกล้ชิดกันมากขึ้น

ก็คงไม่ต้องถึงกับหยุดงานครับ แต่คนต้องสร้างนิสัยการไปวัดในวันพระหรืออย่างน้อยใส่บาตร รักษาศีลหรือปฏิบัติธรรม

ซึ่งตรงนี้ บรรดาผู้นำในระดับต่างๆ ต้องเป็นผู้นำกระแสครับ เช่นบรรดานักการเมืองในรัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรี หากได้ปฏิบัติเป็นตัวอย่างก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ครับ

(ในช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมได้นิมนต์พระจากวัดพุทธไปบิณฑบาตรที่ที่ทำงานสัปดาห์ละครับ)

พูดถึงศรีลังกา ไทยเคยนำสิ่งที่ดีไปยังศรีลังกา ในยุคที่ศรีลังกาต้องการ จนพระพุทธศาสนาฟื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่งในประเทศนี้

เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมครับที่ศรีลังการให้วันพระเป็นวันหยุดทำงาน เพื่อคนจะได้ไปวัดและไปทำบุญที่วัด

สำหรับพวกมุสลิม ก็ถือเอาวันศุกร์เป็นวันสำคัญที่จะต้องไปละหมาดที่สุเหร่า ถ้าไม่ติดอะไรที่สำคัญ ก็จะไปกัน

ในยุโรป คนก็จะพากันไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์อย่างเคร่งครัด

น่าชื่นชมในศรัทธาของคนเหล่านี้ครับ

สิ่งที่ผมอยากเห็นในบ้านเราคือการที่วัดกลับมามีความสำคัญในชุมชนอีกครั้ง

นั่นคือมิใช่วัดที่สวยงามเท่านั้นแต่ประตูโบสถ์ต้องเปิดเสมอด้วย

ถ้าเชื่อมั่นว่าคนต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยปีละหลายสิบล้านนั้นมาเพราะประเทสเรามีสิ่งที่น่าสนใจไม่ว่าจะคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส สภาพสิ่งแวดล้อม สถานที่น่าท่องเที่ยว สินค้าราคาถูกแล้ว วัดและความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดีครับ

ในส่วนที่เกี่ยวกับอินเดีย หากนับว่าพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู (คนอินเดียเชื่อเช่นนั้น) ก็จะทำให้ประเทสไทยเป็นเมืองพุทธสำหรับคนอินเดียด้วย ซึ่งคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อมีประมาณ 300 ล้านคน ทีเดียว

น่าคิดนะครับ

นมัสการครับ

ท่านทูต

สิ่งที่ท่านทูตได้นำเสนอในประเด็นศีล ๕ นั้น อาตมามองว่า ตรงประเด็นที่สุด  ถ้าจำไม่ผิด ในจักรวัตติสูตรพูดถึงการที่ธรรมชาติวิปริตผิดเพี้ยนไป เพราะมนุษย์ไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมจรรยาที่ดีงาม  แนวโน้ม และความเป็นไปในสังคมยุคปัจจุบันเป็น"สังคมทุศีล" รังแก เบียดเบียน และฆ่ากัน  ผลที่เกิดขึ้น มนุษย์ในสังคมไทย จึงต้องรับ "กรรม (ไม่ดี) ร่วม" ที่เกิดจากโครงข่ายของอิทัปปัจจยตา กระทบ และต่อเนื่องกันอย่างไม่หยุดหย่อน  การสวดมนต์อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยา แต่ก็อาจจะทำให้เบาใจ และสบายใจได้ชั่วคราว แต่หากมนุษย์ขาดปัญญาแห่งความเมตตา และกรุณาแล้ว แม้พวกเราจะช่วยกันสวดมนต์กันทั้งวันทั้งคืน ความสุขย่อมเกิดได้เฉพาะคนสวด แต่เสียงแห่งมนต์หาได้เข้าไปสู่กระแสจิตแห่งมนุษย์ที่ฉาบทาด้วยกิเลสไม่

วันนี้เป็นวันศีลใหญ่ ดิฉันขอฟังเทศน์กับท่านอาจารย์ตรงนี้เลยนะเจ้าคะ

  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • ติดตามชมรายการที่นี่ประเทศไทยเป็นประจำคะ
  • แต่บังเอิญเมื่อวันวิสาขบูชาไม่ได้ชมเพราะต้องอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบรองผอ.
  • เมื่อได้มาอ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกดีคะ ประเทศจะได้สงบเสียทีอยากให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมเร็วๆด้วยความปรองดอง สามัคคี
  • สาธุคะ..

นมัสการครับ

ขออนุญาติสนทนาต่อครับ

การทำให้วัดกับคนมาใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าจะจำเป็นครับ

สมัยที่ผมเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศสและในยุโรป จำได้ว่าเข้าโบสถ์เป็นประจำ

แม้จะเป็นพุทธที่เคร่งครัด แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะเข้าโบสถ์

ผมมีความรู้สึกว่าโบสถ์ของคริสต์ศาสนานั้นใกล้ชิดกับคนมาก

นอกจากวันอาทิตย์ที่ศริสต์ศาสนิกชนจะต้องไปแล้ว โบสถ์เปิดทุกวันและทั้งวัน

หากสังเกตุดีๆ โบสถ์จำนวนมากตั้งอยู่ริมถนน โดยเฉพาะในเมือง เดินผ่านไป ก็สามารถแวะเข้าไปหาสิ่งดีๆ สำหรับจิตใจได้เสมอ

ในหน้าร้อน โบสถ์เป็นสถานที่เข้าไปแล้วเย็น ในหน้าหนาว เข้าไปแล้วหลบหนาวได้

นอกจากนั้นโบสถ์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับจิตใจ

กลับมาที่วัดในประเทศไทย ส่วนใหญ่อุโบสถจะอยู่ในวัด และวัดก็จะมีรั้วรอบขอบชิด โดยมีอุโบสถอยู่ลึกหรืออยู่ตรงกลางวัด และเท่าที่ผมได้สัมผัสมาหลายวัด อุโบสถมักจะปิด บางวัดปิดอย่างแน่นหนา

และเนื่องจากอากาศบ้านเราร้อนถึงร้อนมาก อุโบสถจำนวนไม่น้อยจึงร้อนเป็นปรกติ (ถึงร้อนเพียงใด ผมก็มักจะเข้าวัด)

วัดไทยมักจะมีศาลาที่เป็นสถานที่พักพิงของผู้มาเยือนที่คลายร้อนได้

ที่ผมพูดถึงเรื่อง"สถานที่" ก็เพราะสถานที่นั้นมีความสำคัญกับจิตใจคนไม่น้อย

นอกจากศีล 5 แล้ว หากได้มีการเปิดกว้างเรื่องสถานที่(วัด-อุโบสถ) โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึง ทำให้ผมคิดถึง "โครงการเปิดประตูวัด เปิดประตูอุโบสถ" ก็น่าจะทำให้วัด พระ คน ใกล้ขิดกันได้มากขึ้น เช่นเรื่องโบสถ์ของคริสต์ในยุโรปที่ผมนำมาเล่า

เป็นข้อมูลที่นำมาเล่าเป็นข้อคิด มิได้มีเจตนาอื่นใด

นมัสการครับ

นมัสการครับ

ขออภัยครับ แสดงความเห็นโดยลืมเข้าระบบครับ

ท่านทูต

คำกล่าวของท่านทูตที่ว่า...

  • ผมมีความรู้สึกว่าโบสถ์ของคริสต์ศาสนานั้นใกล้ชิดกับคนมาก
  • นอกจากวันอาทิตย์ที่ศริสต์ศาสนิกชนจะต้องไปแล้ว โบสถ์เปิดทุกวันและทั้งวัน

นับเป็นแสดงสะท้อนมุมมองที่แหลมคม และมากด้วยประสบการณ์ของแง่คิดที่บ่งบอกถึงแนวทางปฏิบัติในเชิงรูปธรรม  ประเด็นเหล่านี้  จากประสบการณ์ที่อาตมาไปอยู่ที่เมืองอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษมาหนึ่งปีนั้น รับรู้และสัมผัสได้เป็นอย่างดี เพราะมีหลายคราวที่อาตมาก็แวะเข้าไปสังเกต และพักผ่อนเพื่อดูกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนในโบสถ์

ตามมุมต่างๆ จะมีญาติโยมเข้าไปนั่งพัก และเข้าเงียบเป็นการส่วนตัว  ลักษณะเชิงคุณภาพสะท้อนเหมือนกับศาลาริมทางที่ทุกคนสามารถเข้าไปนั่งพัก "ทางกาย" และ "จิตใจ" ในขณะที่เหนื่อยล้าได้

การเปิดวัดในเชิง "กายภาพ" นั้น  เชื่อมั่นว่า วัดต่างๆ ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่เหล่านี้เพื่อชาวพุทธอยู่แล้ว เพื่อให้ชาวพุทธได้เข้าถึงวัดในเชิง "จิตภาพ" ทั้งในแง่ของการทำบุญ การนั่งสมาธิ

แต่การออกแบบคำว่า "โบสถ์" นั้น อาจจะสะท้อนแง่มุมระหว่างคำว่า "โบสถ์คริสต์กับโบสถ์พุทธ" โบสถ์คริสต์อาจจะสะท้อนกิจกรรมต่างๆ แบบสามัญของคนทั่วไปได้ แต่โบสถ์พุทธนั้น สะท้อนกิจกรรมหลักๆ เช่น การบวช การประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์  ถึงกระนั้น บางวัดก็ได้ใช้โบสถ์อย่างคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่สูญเสียไป โดยการใช้สอยประดุจดัง "ศาลาวัด" เช่น วัดมหาธาตุฯ และวัดชนะสงคราม บางลำภู

ฉะนั้น คำว่า "ศาลา" จึงสะท้อนกิจกรรมการใช้งานที่เห็นอย่างเด็นชัดในแง่ของกิจกรรมสามัญทั่วไป ที่เราสามารถเข้าไปสัมผัสได้ เช่น ศาลาริมธาร ศาลาการเปรียญ และศาลาธรรม

โดยสรุป เห็นด้วยกับการ "เปิดวัด" โดยการเปิดโบสถ์ หรือเปิดศาลา เพื่อให้เราได้มีโอกาส "เปิดใจ" รับสายธารแห่งธรรมกับมุมที่สงบเงียบ   ถึงกระนั้น การเปิดเหล่านั้น เปิดการเปิดในเชิงสัญลักษณ์  แต่หากเราได้ถึงคำว่า "วัดใจ" แล้ว อาจจะไม่จำเป็นต้องไปเปิดที่ไหนเลย  เราสามารถเปิดได้ "ที่ใจ" อยู่ตลอดเวลา ทุกนาทีของการหายใจเข้า และหายใจออก

การเปิด "วัดนอก" ย่อมไร้ค่า และไร้ความหมาย  หากพวกเราไม่สามารถ "เปิดวัดใน" เพื่อวัดใจของตัวเองว่า "สุขหรือทุกข์อย่างไรในทุกวินาทีของก้าวย่าง"

ด้วยสาราณียธรรม

 

นมัสการครับ

อนุโมทนาสาธุครับ

เห็นด้วยครับสำหรับวัดนอกและวัดใน

หลังจากผ่านเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา

มีคำว่าเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ....

จึงเห็นว่า อะไรก็ตามที่จะทำให้คนไทยฟิ้นตัวได้และอย่างทันท่วงที

ไม่ว่าวัดนอกวัดใน

ร่วมด้วยช่วยกันครับ

นมัสการครับ

ปล.เพลงวิสาขะ ไพเราะมากครับ

ท่านทูต

เศษแก้ว เศษหิน ทิ่มตำร่างกาย อาจจะมองเห็น และรักษาได้ภายในเร็ววัน แต่เศษอารมณ์แห่งเจ็บปวด เศษความเกลียดชังและเคียดแค้น ยากยิ่งที่จะมองเห็น และยากยิ่งที่จะรักษาให้หายขาดภายในเร็ววัน

ด้วยเหตุนี้ การเยียวยา อาจจะต้องแยกให้ออกชัดเจนระหว่างสิ่งที่มองเห็น และมองไม่เห็น เช่น

  • บางคนต้องการเีียียวยาด้วยวัตถุสิ่งของ
  • บางคนต้องการให้เียียวยาด้วยความยุติธรรม
  • บางคนต้องกายให้เียียวยาด้วยมาตรฐานเดียวกัน (ตามคำเรียกร้องของบางกลุ่ม)
  • บางคนต้องการให้เียียวยาโดยระบอบประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานของความเที่ยงธรรมและเท่าเทียม
อาตมาขอให้กำลังใจทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้ทุกท่านก้าวข้ามวันและเวลาแ่ห่งความทุกข์ เศร้า เหงา ตรมโดยพร้อมเพรียงกัน

นมัสการครับ

สาธุครับ

ขอร่วมให้กำลังใจทุกฝ่ายครับ

ยิ้มสยามจะได้กลับมาเหมือนเดิม

นมัสการครับ

อนุโมทนาท่านทูตเช่นกันแม้จะอยู่ไกล แต่ส่งใจ และความปรารถนาดีมาถึงพวกเราทุกคน

นมัสการพระคุณท่าน ผศ ดร พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส

กระผมติดตามหาอ่านและขอชมรายการย้อนหลังก็ไม่ได้(อาจจะเป็นเพราะขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยี)

จึงร้องขอพระคุณท่านได้นำมาเสนอทางบันทึก เป็นข้อคิดที่จะทำให้คนในสังคมได้หวนกลับมาคิดหาทางออกร่วมกัน

นมัสการด้วยความเคารพ

ความเห็นท่านทูตพลเดช วรฉัตร เรื่องการเปิดอุโบสถให้คนได้เข้าไปฝึกจิตเป็แนวคิดที่พระสงฆ์ไทย

ควรขยายผลสู่การปฏิบัติ โรงเรียนก็อยากนำเด็กเข้าไปเรียนรู้ ฝึกกาย วาจา ใจ เช่นกัน ขอรับ

ท่านผอ. พรชัย

  • ต้องขอบใจบันทึกของท่านผอ.พรชัยที่ได้ช่วยอาราธนาให้อาตมาได้ประมวลหลักการและแนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยปัจจุบัน
  • ต้องขอบใจโยมณัฎฐาเช่นกัน ที่พยายามกระเทาะเอาแง่คิดออกจากอาตมาและอาจารย์ทวีวัฒน์
  • การเปิดวัด โดยการเปิดโบสถ์และศาลาธรรมในชนบทบ้านเราเพื่อให้ชุมชนได้เข้าไป "ศาลาพักใจ" นั้น ล้วนแพร่หลายในอดีต และชุมชนได้รับ "ไออุ่นแห่งธรรม" อยู่มิว่างเว้น
  • วัดยังคงเป็นศูนย์กลางของชุมชนตราบเท่าที่ชุมชนเห็นคุณค่า และตระหนักรู้และหาโอกาสไป "วัดใจ" ของตัวเองทั้งในวัดและนอกวัด

ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการครับ

ขอสนทนาต่อครับ

พูดถึงเรื่องวัดใน วัดนอก ซึ่งโยงถึงเรื่องสถานที่ หรือพื้นที่

ทำให้ผมนึกถึงพื้นที่ในจิตใจคน ว่าจะมีพื้นที่มากเพียงใดที่จะให้กับศาสนา

ในอดีต วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นเสมือนโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือเป็นที่ที่คนจะสามารถหาความรู้ได้มากมาย

นอกจากวัดแล้ว ที่บ้าน ก็จะต้องมีห้องพระ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับให้คนสงบจิตใจได้ แม้ไม่มีห้องพระ ส่วนใหญ่ก็จะมีหิ้งพระในห้องใดห้องหนึ่ง

สังคมสมัยใหม่ ทำให้วิถีของคนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเรื่องจิตใจ พื้นที่เหล่านี้ถูกวิถีชีวิตสมัยใหม่ทำให้ลดน้อยลง

ที่พักอาศัยเล็กลง พื้นที่สำหรับตั้งพระพุทธรูปก็น้อยลง จนอาจจะไม่มีหรืออาจจะไม่ได้เป็นพื้นที่แล้ว แต่เป้นเพียงกล่องเก็บพระ

จิตใจที่มีพื้นที่สำหรัลศาสนาน้อยลงทำให้ พฤติกรรมด้านนี้น้อยลง...หรือไม่ครับ

การขยายพื้นที่สำหรับศาสนาจึงน่าจะมีความหมายต่อคนในสังคม จะเป็นการกระชับพื้นที่เพื่อให้กิเลสที่ยึดครองพื้นที่ในใจคนมานานน้อยลงหรือไม่ ก็น่าสนใจครับ

วิถีคนรุ่นใหม่หรือคนสมัยใหม่จะไปวัดบ่อยเพียงใด อาจจะขึ้นอยู่กับ"พื้นที่"ในจิตใจมีมากน้อยเพียงใดด้วย

ทำอย่างไรจึงจะให้พื้นที่ด้านศาสนา(ที่คนสามารถสงบจิตใจได้) เพิ่มและใกล้ชิดกับคน ทำนองว่าเดินผ่านไปผ่านมา (ก่อนไปทำงานหรือหลังเลิกงาน) ก็สามารถแวะเข้าไปได้ (คล้ายกับการแวะเข้าไปในห้างหรือร้านเซเว่น-ร้านสะดวกซื้อ)

ใครสักคนอาจแวะเข้าไปในโบสถ์ บอกว่า "ขอซื้อความสงบ 1 ชม. ครับ"

ถ้ารัฐจะขยายพื้นที่-กระชับพื้นที่ ก็น่าจะทำในเรื่องจิตใจนี้ได้ครับ

นมัสการครับ

ท่านทูต

อาตมารู้สึกสุขใจอย่างยิ่งที่เราได้มีประเด็นในการสนทนาธรรมกันเพิ่มเติมอยู่เนื่องๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันแง่มุมระหว่างกัน

  • พื้นที่ภายนอก กับพื้นที่ภายใน สัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ
  • เปิดพื้นที่ภายนอกเพื่อให้เราได้มีพื้นที่ภายในเพิ่มขึ้น
  • พื้นที่ภายนอก และภายในล้วนสะท้อนแง่มุมในเชิง "คุณภาพ" ทั้งสิ้น
  • แน่นอนเหลือเกิน การขยายพื้นที่เชิงคุณภาพภายนอก ย่อมมีผลต่อการขยายพื้นที่ในเชิงคุณภาพภายในเช่นกัน  เพราะพื้นที่ภายนอกมีผลโดยตรง และโดยอ้อมต่อการรองรับพื้นที่ภายใน

ประเด็นที่ท่านทูตตั้งข้อสังเกต "วิถีคนรุ่นใหม่หรือคนสมัยใหม่จะไปวัดบ่อยเพียงใด อาจจะขึ้นอยู่กับ"พื้นที่"ในจิตใจมีมากน้อยเพียงใดด้วย"

  • หากหมายถึงการที่วัยรุ่นไป "วัดเชิงกายภาพ" บ่อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ภายใน ก็อาจจะถูกต้อง
  • ข้อสังเกตของอาตมาเพิ่มเติม  การไปวัดบ่อยหรือไม่ อาจจะไม่ขึ้นอยู่กับ "พื้นที่ภายใน" แต่เพียงประการเดียว เพราะบางท่านไปวัด แต่ไม่ได้ใช้ "วัด" มาสร้างคุณค่า เพื่อ "วัดใจภายใน" แบบยั่งยืนอย่างที่ควรจะเป็น จึงเข้าทำนองที่โบราณว่า "ทำบุญกับขอทานได้ขึ้นสวรรค์ ทำบุญกับพระอรหันต์ตกนรก"

ในวินาทีนี้ อาตมาเห็นว่า เราต้องพยายามข้ามพ้นจาก "วัดในภาษาคน" ไปสู่ "วัดในเชิงภาษาธรรม" ให้ได้

  • เราต้องใช้วัดในภาษาคน หรือวัดในเชิงวัตถุไปเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเราให้ก้าวไปสู่ความรู้ ตื่น และเบิกบาน ฉะนั้น วัดในภาษาคน จึงเป็นแหล่งหรือสถานที่รองรับการพัฒนาคุณค่าภายในของมนุษย์ที่โง่ เขลา เบาปัญญาตามหลักไตรสิกขา
  • วัดในภาษาธรรม  เป็นผลพวงจากการใช้วัดในภาษาคนมาเป็นฐาน ซึ่งเป็นผลจากการใช้วัดแบบวัตถุมารองรับการพัฒนาจิตใจ จนก้าวพ้นไปสู่การ "วัดใจ" ของตัวเองอยู่ทุกเวลา และนาที
  • ฉะนั้น วัดในภาษาคนจึงเป็นประดุจ "แพข้ามฝาก" ที่จะพาเราไปสู่ "วัดภายใน" คือ เป้าหมายสูงสุดที่เน้นความสะอาด สงบ และสว่างอย่างแท้จริง

ด้วยสาราณียธรรม

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ครับ

กระผมเข้ามานั่งอ่านการสนทนาธรรมของพระคุณเจ้า นะครับ

...

ความจริง ความรัก และความเอื้ออาทร เป็นหลักการสำคัญที่จะทำหน้าที่ในการ "เชื่อม" วัตถุ มนุษย์ และธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันอย่าง "ประสานสอดคล้อง" ซึ่งรวมไปถึงการเมืองซึ่งควรเป็นการเมืองแบบเมตตา และเอื้ออาทรแก่เพื่อนมนุษย์ เปิดพื้นให้แก่คนอื่นและสิ่งอื่นเพื่อให้มีที่หยิบ ที่ยืน อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์


กราบนมัสการ ครับ

โยมแสงแห่งความดี

การเกิดขึ้นแห่งรัฐในอัคคัญญสูตร ก็เพื่อขจัดปัดเป่าความทุกข์ที่เกิดจากความความขัดแย้งของหมู่ชนในสังคมที่ต้องการให้ใครสักคนเข้ามาทำหน้าที่ในการแบ่งพืชผลทารการเกษตรที่เรียกว่า "ข้าวสาลี"

ด้วยเหตุนี้ หมู่ชนจึงพากันสมมติหัวหน้าเผ่าของตัวเองโดยให้ชื่อว่า "กษัตริย์" เพื่อให้กษัตริย์มาทำหน้าที่ในการแบ่ง "พืชผลทางการเกษตร" ด้วยเหตุนี้ คำว่า "กษัตริย์" จึงแผลงมาจากคำว่า "เกษตร"

ฉะนั้น หน้าที่ของกษัตริย์ในเวลานั้น คือ ทำให้ "ทุกคนพึงพอใจ" ในพืชผลทางการเกษตรที่กษัตริย์ได้แบ่งให้ทุกคนอย่าง "ยุติธรรม" "เท่าเทียม" และ "เที่ยงธรรม" ด้วยเหตุนี้ "กษัตริย์" จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ราชา" เพราะราชาแปลว่า "ทำให้ทุกคนพึงพอใจจากการแบ่งข้าวสาลีซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเที่ยงธรรม"

ในขณะที่สังคมในยุคปัจจุบันได้พัฒนาตัวเองจาก "สังคมแบบเกษตรกรรม" ไปสู่ "สังคมแบบอุตสาหกรรม" รูปแบบของสังคมจึงมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีกลุ่มคนเพิ่มมากขึ้น และในกลุ่มคนก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุที่ "ทรัพยากรในประเทศ และในโลกมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด" การแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการจึงมีรูปแบบและแนวทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในบางครั้งอาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้มาซึ่งทรัพยากรและความต้องการ และบางครั้งอาจจะต้องใช้พละกำลังอย่างมากในการรักษาสิ่งที่มนุษย์ได้มา

จากกรณีศึกษาในอัคคัญญสูตร "การสร้างกฎกติการ่วม" (Ground Rules) มีความจำเป็น และสำคัญในระยะแรกของการสร้างสังคมที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะการพูดถึง "บทบาทและหน้าที่ของกลุ่มคนในสังคม" การเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากร และความต้องการอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม การเปิดพื้นให้ทุกคนได้ "แบ่งกันสุขและทุกข์ร่วมกัน" ไม่มีการกันใครคนใดคนหนึ่งออกจากไปจากพื้นที่ของสังคมให้เป็นคน "ชายขอบ"

ฉะนั้น การอยู่ได้ของใครคนใดคนหนึ่งในสังคม ก็คือ การอยู่ได้ของเราด้วยเช่นกัน พระพุทธเจ้าพยายามย้ำว่า ไม่มีใครหรอกรักคนอื่นมากกว่าตัวเอง และเมื่อมนุษย์เข้าใจสัจธรรมข้อนี้ มนุษย์จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น รังแกคนอื่น เพื่อว่า คนอื่นจะได้ไม่เบียดเรา และรังแกเราเช่นกัน

นมัสการครับ

สาธุครับกับเมตตาธรรมในการสนทนาธรรมข้ามแดนนี้

สาธุกับคุณแสงแห่งความดีด้วยครับ

ชอบมากครับ แพข้ามฝาก ซึ่งจำเป็นมากครับ ในช่วงที่น้ำหลาก เช่นในปัจจุบันนี้

โดยเฉพาะ 2 ย่อหน้าสุดท้าย อ่านแล้วสุขใจครับ

"เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ แบ่งกันสุขและทุกข์ร่วมกัน"

กับ

"การอยู่ได้ของใครคนใดคนหนึ่งในสังคม ก็คือ การอยู่ได้ของเราด้วยเช่นกัน"

นี่คือสิ่งที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใด ภาษาใดต้องไปให้ถึงครับ

คงต้องใช้เวลานะครับ กว่าที่คนจะรู้ถึงผลดีของหลักการดังกล่าว

พูดถึงเรื่อง"พื้นที่" ทำให้ผมนึกถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง ที่เริ่มจากใจตนเอง สร้างความพอดีของ"พื้นที่" ให้กับใจตนเอง รวมทั้งพื้นที่ที่พอดีในการที่จะยืนด้วยขาและลำแข้งของตนเอง

ถือเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง ทรงคุณค่าและสำคัญยิ่งกับสังคมมนุษย์ในยุคนี้และในอนาคตครับ

นมัสการครับ

นมัสการครับ

ท่านทูต

  • เพียง" เรารู้จักคำว่า "พอ" แล้วความ "พอเพียง" จะบังเกิด
  • แต่เพราะ "คน" ไม่รู้จักคำว่า "พอ" ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาย่อมไม่มี" จึงทำให้คนไม่รู้จักคำว่า "พอเพียง"
  • จง "พอเพียง" แต่อย่า "พอในความเพียร"
  • จง "พอเพียงในสิ่งเสพ" แต่ "อย่าพอเพียงในกุศลธรรมความดี"

ขออนุญาติแบ่งปันให้ กัลยาณมิตร @ facebook เจ้าค่ะ

พระมหาสันติ ธีรภทฺโท

ในพระไตรปิฏก กล่าวไว้ดังมีใจความสำคัญอย่างนี้ว่า มนุษย์เกิดมาจากพรหม เมื่อโลกถูกไฟบรรลัยกัลเผา ก็มาอยู่อาศัยบนโลก แรกมนุษย์เหล่านั้นก็มีความสามัคคีปรองดองทำมาหากินกัน แต่เกิดความเกียจคร้าน มีโลภ โกรธ หลง ขึ้นภายในใจ จึงมีการกักเก็บข้าวของเงินทองเป็นของตัวเองไม่มีการแบ่งปัน ทำให้จิตใจทรามลง อายุก็สั้นลง เกิดการเข่นฆ่ากัน ผู้คนที่เบื่อหน่ายก็หนีเข้าป่ารักษาศีลภาวนา จนถึงจุดจุดหนึ่งพวกที่มีการแก่งแย่ง เข่นฆ่า ชิงดีชิงเด่น เห็นผู้คนล้มตายเป็นอันมาก เกิดความสลด เบื่อหน่ายคิดว่าเราเข่นฆ่ากันไปเพื่ออะไรกัน และก็หันมาคิดทบทวนดูผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น เกิดความรัก สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สุดท้ายอายุของคนก็ยืนยาวมากขึ้นตามลำดับ จนถึง แปดหมื่นปี .... ถ้าได้อ่านจริงๆและทำความเข้าใจผมว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้น ในสนามรบ คงไม่มีใครฟังใคร เพราะต่างคนนานาจิตตัง ต้องให้เห็น ให้รู้ ประจักษ์แก่สายตาตัวเองก่อนว่าแก่งแย่ง การเข่นฆ่า ชิงดีชิงเด่นในสังคมมันไม่ให้ประโยชน์แก่ใคร มันมีโทษมากกว่า ดั่งสุภาษิตที่ว่า "ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา" อะไรที่เรายังไม่เห็น มีแต่คนอื่นเล่าว่า ไม่ได้ไม่ดี ก็ไม่ยอมรับฟัง ต้องให้เห็นด้วยตา และ สัมผัสด้วยใจถึงจะได้ผลอย่างแท้จริงครับท่านพระอาจารย์ ด้วยความเคารพ

โยมจุฑาทิยพ์

ด้วยความยินดียิ่ง หากสิ่งที่พวกเราได้สนทนาธรรมกันมีประโยชน์ และควรค่าแก่การแบ่งปันในสถานที่และบริบทต่างๆ

ชวนให้นึกถึงหนังสือ แมวน้อยอยากนิพพาน หนังสือแปลของสำนักพิมพ์มติชนค่ะ

เจริญพร โยมอย่า หยุด ยิ้ม

พลันโยมบอกว่า "ชวนให้นึกถึงหนังสือ แมวน้อยอยากนิพพาน" ทำให้อาตมาต้องรีบไปหาเรื่อง "แมวน้อยอยากนิพพาน" แบบสรุปสั้นๆ จาก "http://www.oknation.net/blog/print.php?id=88509"   มาอ่าน  หลังจากอ่านจบ พลันได้บทเรียนดีๆ จากเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่เจ้าของบล๊อกได้สรุปว่า

"ผู้เขียนพาให้คนอ่านเปรมปรีดิ์ไปกับการมีเมตตาธรรม เพราะก่อนที่ศิลปินจะวาดภาพสัตว์ลงไปแต่ละครั้ง  เขาจะจินตนาการว่าพระพุทธเจ้าทรงเคยเสวยชาติเป็นสัตว์นั้น แล้วสัตว์นั้นเคยยังชีวิตเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสัตว์อื่นและบุคคลอื่นอย่างไรบ้าง

อย่างพญาช้างที่สละชีวิตตนเองให้มนุษย์ได้กินเนื้อ เพื่อที่มนุษย์จะได้รอดตาย พญาเนื้อที่ยอมสละชีวิตตนเองแทนการให้แม่เนื้อที่มีลูกติดอยู่ในท้องต้องตาย พญาลิงที่ช่วยมนุษย์ออกจากหลุมลึก แต่มนุษย์กลับจะเอาหินทุบหัวฆ่าพญาลิงเพื่อจะได้กินเนื้อ พญาลิงรู้เรื่องราวทั้งหมดแต่ก็ยังมีความเมตตาพามนุษย์ผู้นั้นไปยังที่อันปลอดภัย ฯลฯ"

อย่างไรก็ดี ด้วยความด้อยปัญญาก็ยังไม่บรรลุซึ่งถึงคำว่า "แมวน้อยอยากนิพพาน" (The Cat who went to heaven)  อยากให้พวกเราช่วยแบ่งปัน หรือให้โยมหย่า หยุด ยิ้ม ได้กรุณาแวะเวียนมาแบ่งปันกับพวกเราอีก  จะนับว่าเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ขอบคุณอีกครั้งที่ทำให้อาตมาได้อ่านเรื่องราวดีๆ จากหนังสือดีที่พวกเราควรสละเวลาอันมีค่าไปหาซื้อ หรือหามาอ่าน

นมัสการครับ

ตามไปอ่านแล้วเช่นกันครับ

เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ได้รับรางวัล อ่านแล้วสร้างจิตนาการที่ดีครับ

ศึกสงครามของมนุษย์ล้วนเริ่มมากสนามรบในใจครับ

แพ้มาก็มากมาย ชนะมาก็หลายครั้ง

ก็หนีไปไหนไม่ได้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่

ก็ต้องสู้ต่อไป

เมื่อไหร่ แพ้-ชนะ ไม่ต่างกัน ก็ชนะตัวเองแล้วครับ

มีคำพูดว่า "เป็นทหาร ตายในสนามรบดีที่สุด"

เราทุกคนต่างก็เป็นดั่งทหารครับ ทหารของธรรมชาติ ตายในสนามรบทุกขณะอยู่แล้วครับ

จงยินดีกับความตายเถิดครับ

นมัสการครับ

dear yom poldej

many thanks for your. perspective. that is such a good suggestion that I have to read again and again.

metta

dear yom poldej

many thanks for your. perspective. that is such a good suggestion that I have to read again and again.

metta

ถ้ามนุษย์รู้จักคำว่า"ถอย" และการให้อภัยบ้าง สังคมทุกวันนี้คงไม่วุ่นวายค่ะ

นมัสการครับ

สวัสดีครับทุกท่าน

ได้มีโอกาสไปเยี่ยมวัดฮินดูนิกายหนึ่งในเดลี Akshardham

ศาสดาสั่งสอนให้คนยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้า

โดยมีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด ทั้งตนเอง ครอบครัวและสังคม

ผมมีความรู้สึกว่า สังคมไทยขาดสิ่งเหล่านี้

คนไม่ได้เข้าใจแม้ศีล 5 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับคนทั่วไป

ไม่มีแนวปฏิบัติในครอบครัว ที่จะให้สมาชิกเข้าใกล้ศาสนาและใกล้ชิดกันเอง

ไม่มีแนวปฏิบัติที่เคร่งครัด จะส่งเสริมกิจกรรมระหว่างคนกับวัด มากไปกว่าการไปทำบุญ

พระสงฆ์ไม่ได้ออกไปเยี่ยมคนถึงบ้าน แต่เป็นการที่คนไปพบพระในการไปทำบุญที่วัดมากกว่า

ในประการหลังนี้ ต้องขออภัยหากพูดในสิ่งที่ไม่สมควรพูด (ด้วยความเคารพสถาบันสงฆ์อย่างสูง)

แต่สะท้อนจากการที่ไปเยี่ยมวัดฮินดู พบว่าเหล่าสาธุ(พระ) มีหน้าที่สำคัญหนี่งคือออกไปเยี่ยม สวด ให้ธรรมผู้คนถึงที่บ้าน ไม่วาจะยากจนหรือห่างไกลเพียงใด

สำหรับสวามี มหาราช ซึ่งเป็นประมุของค์ปัจจุบัน ตามสถิติ ท่านไปเยี่ยมคนมาแล้วมากกว่า 15000 หมู่บ้านทั่วอินเดีย

ไปโปรดคนในบ้านมากกว่า 2 แสนห้าหมื่นหลังคาเรือน

สวามีได้รับจดหมายและตอบจดหมายมากกว่า 5 แสนฉบับ

รวมทั้งได้ให้คำแนะนำส่วนตัวแก้ปัญหาชีวิตแก่คนมากว่า 6 แสนคน

สร้างวัดมาแล้วกว่า 650 วัดในอินเดียและในต่างประเทศ 5 ทวีป

ท่านเทศน์มาแล้วกว่า 2 หมื่นครั้งและมีสาธุหรือพระสาวกในความดูแล 700 คน ฯลฯ

ผมกำลังศึกษานิกายนี้อยู่ เพื่อที่จะหาสิ่งดีๆ ข้อคิดดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง

นมัสการครับ

นมัสการครับ

มาต่อครับ

ผมเห็นว่าการเชื่อมโยงและความใกล้ชิดระหว่างคน ครอบครัว พระ วัด กับชุมชน จะนำไปสู่การปรองดองของสังคมครับ

"การเปิด" ทั้งภายในและภายนอก หมายความว่าเปิดทั้งประตูบ้าน เปิดทั้งประตูวัด เปิดทั้งประตูใจของคน เป็นสิ่งที่ต้องรีบทำครับ

นมัสการครับ

ท่านทูต

อาตมากำลังหามุมแลกเปลี่ยนกับท่านอยู่  เพียงแต่ว่า เกิดแรงปีติขึ้นมาจึงต้องรีบเขียนมาขอบคุณท่านก่อน  หลังจากนี้ อาตมาจะรีบแลกเปลี่ยนกับท่าน ซึ่งนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีประเด็นแหลมคมอีกมากที่จะต้องแลกเปลี่ยน

ด้วยสาราณียธรรม

นม้สการพระคุณเจ้าค่ะ

ท่านพลเดชชวนเชิญมาเรียนรู้ค่ะ ช่วงไม่นานมานี้มีหลัก บวร บ้าน วัด โรงเรียน ที่จะเป็นสามเสาหลัก เพื่อปลูกฝังเยาวชน กับผู้คนในชุมชนค่ะ

อ่านความเห็น ๓๔ ของท่านเอกฯ แล้วนึกถึงการเยี่ยมเยือนผู้ป่วยตามบ้าน ของอาสาสมัครในโครงการค่ะ ลักษณะจะคล้ายๆ กันคือไปเยี่ยมพบปะ พูดคุย สอบถามอาการ หรือให้ข้อคำแนะนำด้านสุขภาพ พร้อมยังช่วยสานสัมพันธภาพระหว่างกันค่ะ

ยังเชื่อมั่นว่า หากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เปิดใจ อย่างจริงใจ และผู้นำของแต่ละภาคส่วนได้เริ่มต้นจริงจังแล้ว ทั้งเรื่องของการปรับค่านิยม ทัศนคติ มุมมองของชีวิต ต่อตนเอง และผู้อื้น ให้ได้อยู่บนพื้นฐานของความดีงาม ถูกต้อง เรายังมีความหวังอยู่นะคะ ?

ขอบพระคุณท่านพลเดช และนมัสการมาด้วยความเคารพค่ะ ไว้จะมาเรียนรู้ และติดตามอีกนะคะ

P
poo
ขอบคุณคุณ Poo ครับที่มาร่วมสนทนาธรรมกัน
นี่ละครับที่ผมเรียกว่าเว็บบล๊อคสีขาว
เราสนทนากันและมีความปีติ ร่าเริงกันครับ
นมัสการขอบพระคุณท่านอาจารย์ธรรมหรรษาด้วยครับ

โยมปู

มองกลับมาหาพวกเรา ตอนนี้พวกเราก็สวมวิญญาณ "เพื่อนเยี่ยมเพื่อน" อยู่ตลอดเวลา ด้วยระยะเวลาที่แสนสั้นและรวดเร็ว อันเป็นการเยี่ยมตาม Blog ต่างๆ โดยการไปให้กำลังใจ แบ่งปันความรัก และความรู้ ตามแนวทางที่อาตมาชอบพูดว่า "แบ่งปันความรักให้โลกสดใส แบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ"

ในขณะเดียวกัน ชีวิตของพวกเราโชคดีที่ได้มีโอกาศหยิบยื่น ความรัก ความฝัน และแรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนร่วมโลก ผู้เกิดแก่ เจ็บตายร่วมกัน โลกนี้จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น หากมีคนที่คิดในเชิงบวกแบบโยมและท่านทูต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท