อย่างไรถึงเรียกว่า “ประมาท”


การกระทำโดยประมาท ได้แก่การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนาแต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

          คำว่า “ประมาท” มีใช้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา โดยในคดีอาญา ป.อ.มาตรา 59วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้แจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”  แสดงให้เห็นว่าในคดีอาญาแม้ผู้กระทำไม่ได้มีเจตนาก็อาจต้องรับผิดได้หากกระทำโดยประมาทและกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าหากกระทำโดยประมาทก็ต้องรับผิด เช่นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ,ความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท

            ส่วนในคดีแพ่งเรื่องละเมิดนั้น ในบททั่วไปคือ ป.พ.พ. มาตรา 420 ได้วางหลักไว้เช่นเดียวกับ ป.อ.คือแม้กระทำโดยไม่ได้จงใจ แต่ว่ากระทำโดยประมาท ก็อาจต้องรับผิดในผลของการละเมิดได้ หลักดังกล่าวนี้ใช้ได้กับกรณีที่แพทย์ทำการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยคือแม้แพทย์มีเจตนาดีไม่ได้จงใจกระทำให้ผู้ป่วยเสียหาย แต่หากได้กระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อแพทย์ก็อาจต้องรับผิด จึงเกิดคำถามว่าแล้วศาลใช้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสินว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อตอบคำถามดังกล่าวดังต่อไปนี้ 

หลักเกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำโดยประมาท

            ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าการกระทำโดยประมาทมีใช้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาโดยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ประมาท”ไว้ ดังนั้นจึงต้องถือเอาความหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งได้อธิบายความหมายไว้ตาม มาตรา 59วรรค4 ดังนี้ การกระทำโดยประมาท  ได้แก่การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนาแต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”    ซึ่งขอจำแนกดังนี้

            1) ต้องไม่ใช่การกระทำโดยเจตนา( ถ้าเป็นคดีแพ่งจะใช้คำว่า ไม่ได้จงใจ)

            2) ต้องเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคล ในภาวะเช่นนั้นต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  จะเห็นได้ว่าในข้อนี้มีปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา 4 ข้อคือ

                  2.1 บุคคล  หมายความว่า ความระมัดระวังของบุคคลที่แตกต่างกันย่อมมีไม่เท่ากัน เช่นจะเอาความระมัดระวังของเด็กไปเปรียบเทียบกับความระมัดระวังของผู้ใหญ่ไม่ได้  หรือ ศัลยแพทย์ก็ควรต้องมีความระมัดระวังในการผ่าตัดมากกว่าแพทย์ทั่วไป  สรุปก็คือว่าการที่จะวัดความระมัดระวังของผู้กระทำจะต้องคำนึงถึง เพศ  อายุ  อาชีพ  ฐานะ ให้เป็นอย่างเดียวกับผู้กระทำด้วย

                  2.2 ในภาวะเช่นนั้น หมายถึง ขณะทำการนั้น เช่นขณะขับรถควรมีความระมัดระวังเพียงใด

                  2.3  วิสัย หมายถึงสภาพภายในตัวผู้กระทำ เช่น วิสัยของเด็ก(ที่ต้องซุกซน) , วิสัยของแพทย์

ซึ่งต้องมีการพิจารณาถึง อายุ เพศ การศึกษาอบรม ความจัดเจนแห่งชีวิต ประกอบด้วย

                  2.4 พฤติการณ์  หมายถึงสภาพภายนอกของตัวผู้กระทำ เช่นสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ขับรถขณะมืดสนิทก็ย่อมมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่ากับขับรถในเวลากลางวันดังนั้นผู้ขับรถในทางที่มืดสนิทย่อมใช้ความระมัดระวังได้ไม่เท่ากับผู้ที่ขับรถในเวลากลางวันหรือกรณีที่ผู้ป่วยป่วยหนักกลางป่าต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉิน  (เช่น ทหารได้รับบาดเจ็บจากการรบ)แพทย์ก็ย่อมไม่สามารถใช้ความระมัดระวังได้เท่ากับการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่อยู่ในเมือง

การสมมุติบุคคลขึ้นเปรียบเทียบ

            จากหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวไปข้างต้นเป็นพื้นฐานให้เราได้ทราบหลักที่ใช้ในการตัดสินว่าการกระทำนั้นเป็น ประมาทหรือไม่  แต่ในทางปฏิบัติจะต้องมีการสมมุติบุคคลขึ้นเพื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่ถูกกล่าวหา(จำเลย)โดยบุคคลที่ถูกสมมุติขึ้นมานี้ต้องมีทุกอย่างเช่นเดียวกับจำเลยกล่าวคือ ต้องมีอายุ, ความรู้ความสามารถ,ฐานะรวมทั้งมีวิสัยและอยู่ในภาวะและพฤติการณ์เช่นเดียวกับจำเลยแล้วศาลจะดูว่าบุคคลที่สมมุติขึ้นนี้โดยปกติ ( ถือความระมัดระวังในระดับมาตรฐาน ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า reasonable  man ) เขาจะมีความระมัดระวังได้มากกว่าจำเลยหรือไม่ถ้าบุคคลที่สมมุติขึ้นไม่สามารถใช้ความระมัดระวังได้ดีกว่าจำเลย ศาลก็จะวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ประมาทแต่ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลที่สมมุติขึ้นปกติแล้วควรมีความระมัดระวังมากกว่าจำเลย ศาลก็จะวินิจฉัยว่าจำเลยประมาท เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นขอยกตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกาดังนี้

ฎีกาที่ 769/2510  “จำเลยเป็นหญิงอายุ 28 ปี ขับรถมาคนเดียว ขณะรอสัญญาณไฟเมื่อเวลา 21 นาฬิกา ได้มีคนร้ายเปิดประตูรถเข้าไปนั่งคู่และใช้ระเบิดมือขู่ให้ขับรถไป  จำเลยตกใจขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟออกไปชนรถที่แล่นสวนมาโดยไม่ได้เจตนา  ตามพฤติการณ์เช่นนี้ จะว่าการชนเกิดเพราะความประมาทของจำเลยไม่ได้ เพราะบุคคลที่อยู่ในภาวะตกตะลึงกลัวจะให้มีความระมัดระวังเช่นบุคคลปกติหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่รถชนกันเช่นนั้น”

คำพิพากษานี้เป็นตัวอย่างในการวินิจฉัยทั้ง 4 คำ คือ บุคคล ซึ่งในที่นี้เป็นผู้หญิงดังนั้นการตกใจก็ต้องมีมากกว่าผู้ชาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนร้ายเข้ามานั่งคู่แล้วมีระเบิดด้วย  ในภาวะเช่นนั้นคือเมื่อถูกขู่ด้วยระเบิดก็ต้องตกใจกลัวเป็นธรรมดา วิสัย ของผู้หญิงที่เจอคนร้ายเข้าไปในรถก็ต้องกลัว  พฤติการณ์ คือเป็นเวลากลางคืนและคนร้ายถือระเบิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องตกใจกลัว จากการพิจารณาปัจจัยทั้งสี่แล้วหากสมมุติบุคคลขึ้นมาเปรียบเทียบกับจำเลยโดยต้องเป็นผู้หญิงและตกอยู่ในสภาพและสถานการณ์เช่นเดียวกับจำเลย ซึ่งคงไม่สามารถใช้ความระมัดระวังได้ดีไปกว่าจำเลย ศาลจึงเห็นได้ว่าการขับรถของจำเลยที่ฝ่าไฟแดงไปชนรถของโจทก์เสียหายไม่ใช่การประมาทเลินเล่อ

ในคดีที่มีการกล่าวหาว่าแพทย์กระทำโดยประมาท ก็ใช้หลักการเดียวกับที่ได้กล่าวข้างต้นในการวินิจฉัยโดยจะมีการสมมุติแพทย์ขึ้นมาอีกคนให้มีวิสัยและอยู่ในภาวะรวมถึงพฤติการณ์เช่นเดียวกับแพทย์ที่ตกเป็นจำเลย แล้วดูว่าแพทย์ที่สมมุติขึ้นสามารถใช้ความระมัดระวังได้มากหรือน้อยกว่าจำเลย

ตัวอย่างเช่น นาย ก เป็นศัลยแพทย์ที่อยู่เวร ในโรงพยาบาล 60 เตียง ได้ทำการตรวจ นาย อ่วม ที่ถูกรถยนต์ชน ซึ่งมีอาการช็อค นาย ก วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีเลือดออกในช่องท้องอย่างมากจำเป็นต้องทำการผ่าตัดให้เร็วที่สุด โดยนาย ก ไม่สามารถ refer ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่ดีกว่าได้เพราะอยู่ห่างกัน ประมาณ 100 กม. ขณะทำการผ่าตัดผู้ป่วยตายเพราะเสียเลือดมาก ภรรยาของนายอ่วมจึงฟ้องนาย ก. เป็นคดีอาญาในข้อหา กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อึ่นเสียชีวิต  ดังนั้นในการวินิจฉัยว่า นาย ก. กระทำการโดยประมาทหรือไม่ ต้องมีการสมมุติคนๆหนึ่งขึ้นมาโดยให้เป็นศัลยแพทย์ที่อยู่ในสภาพเช่นเดียวกับนาย ก. (คือต้องอยู่ในรพ.ที่มีข้อจำกัดด้านศักยภาพเช่นเดียวกัน)แล้วดูว่าคนที่ถูกสมมุติขึ้นนี้สามารถใช้ความระมัดระวัง(ระดับปกติ)ได้มากหรือน้อยกว่า นาย ก. หากเห็นว่าไม่สามารถใช้ความระมัดระวังได้ดีไปกว่านาย ก. ก็ถือว่านาย ก.ไม่ได้ประมาท   

             ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับคดีฟ้องแพทย์ดังนี้

ฎีกาที่7452/2541 จำเลยเป็นแพทย์แจ้งโจทก์ว่ามีเด็กตายในท้อง โจทก์จึงยินยอมให้ขูดมดลูกและทำแท้งแต่เครื่องมือแพทย์ที่เข้าไปขูดมดลูกได้เกี่ยวเอาลำไส้และดึงออกมา จำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังตามปกติวิสัยของแพทย์ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย ซึ่งต่อมาโจทก์ต้องถูกตัดลำไส้ที่ทะลักออกมาทิ้งไป จำเลยต้องรับผิด

หมายเหตุ  กรณีที่จำเลยประมาท  แม้ว่าตัวผู้เสียหายเองจะมีส่วนประมาทด้วยก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดในความประมาทของจำเลย

สรุป

            จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า ในการวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาใช้หลักเกณฑ์เดียวกันโดยจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทต่อเมื่อกระทำโดยไม่ได้มีเจตนา(คดีแพ่งใช้คำว่าไม่ได้จงใจ) แต่ทำโดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังที่ดีพอโดยต้องพิจารณาเรื่องวิสัย ภาวะ พฤติการณ์ ประกอบด้วย โดยจะมีการสมมุติตัวบุคคลขึ้นมาให้อยู่ในภาวะ,วิสัย,และพฤติการณ์เช่นเดียวกับจำเลยแล้วดูว่าบุคคลที่สมมุติขึ้นมาโดยปกติแล้วเขาใช้ความระมัดระวังได้ดีกว่าจำเลยหรือไม่ หากสามารถใช้ความระมัดระวังได้ดีกว่า ก็ถือว่าจำเลยประมาท  / ไพโรจน์

หมายเลขบันทึก: 363471เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2010 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้เรียนรู้ความหมายของ วิสัย ซะที ได้ยินมานานว่าเป็นภาษากฎหมาย แต่ยังไม่เคยรู้ความหมายแท้จริง

ขอบคุณ ที่นำเรื่องสำคัญแต่เข้าใจยากมาให้เรียนรู้

วิสัย หมายถึงสภาพภายในตัวผู้กระทำ เช่น วิสัยของเด็ก(ที่ต้องซุกซน) , วิสัยของแพทย์

ซึ่งต้องมีการพิจารณาถึง อายุ เพศ การศึกษาอบรม ความจัดเจนแห่งชีวิต ประกอบด้วย

ไม่เหนื่อยหรอกค่ะ Boss อ่านแค่นี้ น้องเขาสรุปมาแล้ว ของจริงเยอะกว่านี้อีกจรรย์ว่า

กระจกส่องที่ติดตั้งภายในห้องพักของโรงแรม หล่นมาโดนเท้าผู้พักอาศัยบาดเจ็บสาหัส ใครหรือผู้บริหารโรงแรมมีความผิดทางอาญาฐานกระทำหรืองดเว้นการกระทำ โดยประมาทหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท