aor
นางสาวสุภาพร โคตรวิทย์

คิดแบบบูรณาการ


แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา

แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา

 

1.ลักษณะเด่น

          การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา มีลักษณะเด่นดังนี้

          1. ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากการศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบที่สอดสัมพันธ์กับพหุปัญญา

          2. ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้รับมาเชื่อมโยงและทำความเข้าใจ เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้ตนเอง ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย

          3. ผู้เรียนสามารถนำเอาสิ่งที่เรียนรู้มาวางแผนเพื่อปฏิบัติจริงได้

          4. ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล

          5. ผู้เรียนได้เรียนรู้ตรงกับความต้องการ ความสนใจ และความถนัดของตนเอง

          6.ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะด้านเชาว์อารมณ์ (E.Q.) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

2.แนวคิดสำคัญ

แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ

การดำเนินชีวิตที่มีการแข่งขันสูงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว บุคคลต้องเรียนรู้พัฒนาตนเองและต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา การดำเนินชีวิตและการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยง ประยุกต์ใช้ความรู้ที่หลากหลายสัมพันธ์กันเข้าด้วยกัน ทำให้การเรียนรู้แบบแยกส่วนที่แยกเนื้อหาแต่ละวิชาออกจากกันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการดำเนินชีวิต การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมีลักษณะเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทั้งภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้และสัมพันธ์กับชีวิตจริงทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย เข้าใจและเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ให้สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต ความรู้ ประสบการณ์และคุณลักษณะที่เกิดจากการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ในชีวิตจริง ธีรชัย ปูรณโชติ(2546) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการพอสรุปได้ดังนี้ คือ

1. สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่ได้จำกัดว่าจะเกี่ยวข้องกับวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยเฉพาะในการดำเนินชีวิตเพื่อแก้ปัญหาต่างๆจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะจากหลายสาขาวิชาร่วมกัน การเรียนรู้เนื้อหาวิชาต่างๆในลักษณะบูรณาการ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิชา และความสัมพันธ์ของวิชาต่างๆ กับชีวิตจริง

2.การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการช่วยให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างความคิดรวบยอดในศาสตร์ต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย เนื้อหาและกระบวนการที่เรียนในวิชาหนึ่ง อาจช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อีกวิชาหนึ่งได้

3.การสอนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงความคิดรวบยอดจากหลายๆ สาขาวิชาเข้าด้วยกัน ช่วยให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ (transfer of learning) ช่วยเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับชีวิตจริง สามารถเชื่อมโยงชีวิตจริงภายนอกห้องเรียนกับสิ่งที่เรียนได้ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเรียนมีประโยชน์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

4.หลักสูตรและการเรียนการสอนแบบบูรณาการ มีประโยชน์ในการลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาต่างๆ ความรู้และข้อมูลต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน ผู้เรียนต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน การเรียนรู้แบบบูรณาการจึงมีความเหมาะสมมากกว่าที่แต่ละวิชาจะเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในวิชาของตน

5.การเรียนรู้แบบบูรณาการสามารถตอบสนองความสามารถของผู้เรียนซึ่งมีหลายด้าน เช่น ความสามารถทางภาษา คณิตศาสตร์ ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว ดนตรี สังคม ความรู้ ความเข้าใจตนเอง การสนองตอบต่อความสามารถที่จะแสดงออก และการตอบสนองทางอารมณ์ รวมทั้งทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการจัดการความรู้ เป็นต้น

6.กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสอดคล้องกับทฤษฎีการสร้างความรู้โดยผู้เรียน (constructivism) กระบวนการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ และสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกของการเรียนรู้ยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนการสอนแบบบูรณาการ มี 2 ลักษณะคือ การบูรณาการภายในวิชาและการบูรณาการระหว่างวิชา

การบูรณาการภายในวิชาเป็นการเชื่อมโยงการสอนระหว่างเนื้อหาวิชาในกลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชาเดียวกันเข้าด้วยกัน ซึ่งโดยปกติครูในวิชาต่างๆ จะปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนการบูรณาการระหว่างวิชาจะมี 4 รูปแบบ คือ

1. การสอนบูรณาการแบบสอดแทรก (Infusion) เป็นการสอนในลักษณะที่ครูในวิชาหนึ่งสอดแทรกเนื้อหาวิชาอื่นๆ ในการสอนของตน

 2. การสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน (Parallel Instruction) เป็นการสอนโดยครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมวางแผนการสอนร่วมกันโดยมุ่งสอนหัวเรื่อง หรือความคิดรวบยอด หรือปัญหาเดียวกันแต่สอนต่างวิชากัน และต่างคนต่างสอน

3. การสอนบูรณาการแบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary Instruction) เป็นการสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน แต่มีการมอบหมายงานหรือโครงการร่วมกัน

4. การสอนบูรณาการแบบข้ามวิชา หรือสอนเป็นคณะ (Trandisciplinary  Instruction) เป็นการสอนที่ครูวิชาต่างๆ ร่วมกันสอนเป็นคณะหรือเป็นทีม มีการวางแผนปรึกษาหารือร่วมกันโดยกำหนดหัวเรื่องความคิดรวบยอดหรือปัญหาร่วมกันแล้ว

 

คำสำคัญ (Tags): #คิดแบบบูรณาการ
หมายเลขบันทึก: 363468เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2010 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะคุณครู aor

แวะมาเยี่ยมค่ะ ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆที่นำมาแบ่งปันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท