องค์ประกอบด้านคุณภาพของผู้เรียนในโรงเรียนที่มีชีวิต


คุณภาพของผู้เรียนตามตัวบ่งชี้ดังกล่าว โดยทั่ว ๆ ไป จะมีมาตรฐานคุณภาพในแต่ละด้านเป็นตัวเทียบเคียงอยู่แล้ว แต่โรงเรียนที่มีชีวิตน่าจะมีตัวบ่งชี้และเกณฑ์ในบางด้านที่มีความเป็นชีวิตกว่าโรงเรียนทั่ว ๆ ไป

       องค์ประกอบด้านคุณภาพของผู้เรียนในโรงเรียนที่มีชีวิต ตามทรรศนะของผมคือ

         เรื่องคุณภาพของผู้เรียนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี การบริหารจัดการที่ดี และการจัดการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพของโรงเรียน ซึ่งมีตัวบ่งชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน    ความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียนสื่อความ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ สุนทรียภาพด้านดนตรี ศิลปะและกีฬา  พัฒนาการด้านสมรรถภาพทางกาย  ตลอดจนการแสดงออกทางหน้าตาท่าทางถึงความสุขในการเรียนของผู้เรียน

    คุณภาพของผู้เรียนตามตัวบ่งชี้ดังกล่าว โดยทั่ว ๆ ไป จะมีมาตรฐานคุณภาพในแต่ละด้านเป็นตัวเทียบเคียงอยู่แล้ว แต่โรงเรียนที่มีชีวิตน่าจะมีตัวบ่งชี้และเกณฑ์ในบางด้านที่มีความเป็นชีวิตกว่าโรงเรียนทั่ว ๆ ไป เช่น

    1. ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ น่าจะมีเกณฑ์บ่งบอกคุณภาพผู้เรียนที่เกิดจากการร่วมคิด ร่วมคาดหวัง ร่วมวางแผน ระหว่างผู้เรียนกับพ่อแม่ผู้ปกครอง และครู ก่อนเรียนเช่น ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนควรจะได้มีการพูดคุย วางแผนร่วมกันก่อนว่า ที่ผ่านมาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระนี้ของนักเรียนเป็นอย่างไร  และครั้งต่อไปนักเรียนคิดว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาให้สูงขึ้นได้สักเท่าไร โดยผู้ปกครองและครูจะไม่บีบคั้นนักเรียน  แต่จะร่วมวางแผนร่วมเสนอแนะ ให้กำลังใจคอยดูแลช่วยเหลือ แล้วดูผลความก้าวหน้าและช่วยเหลือกันต่อไป

   2. ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น ถ้าเป็นคุณลักษณะในเรื่อง “การตรงต่อเวลา” นักเรียนกับครูและผู้ปกครองอาจร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า “อยากให้ตรงต่อเวลาในเรื่องใดบ้าง” คำตอบอาจจะออกมา เช่น

            - มาโรงเรียนทันเวลา

            - เข้าห้องเรียนทันเวลาตามตารางเรียน

            - ทำแบบฝึกหัดหรือส่งงานครูตามกำหนดเวลา

            - ส่งหนังสือที่ยืมจากห้องสมุดตามกำหนดเวลา

            - เข้าสอบทันเวลาตามตารางสอบ

            - เข้าร่วมกิจกรรมตามที่เพื่อนหรือครูนัดไว้

                        ฯลฯ

แล้วให้นักเรียนสำรวจว่าพฤติกรรมใดที่ตนเองคิดว่ายังบกพร่อง โดยครูกับผู้ปกครองช่วยกันซักถามพูดคุยจน นักเรียนยืนยันและเกิดความกระจ่างในค่านิยมนี้ด้วยตนเอง จากนั้นก็สนับสนุนให้นักเรียนวางแผนการปฏิบัติงาน เรื่อง “การตรงต่อเวลา” ในพฤติกรรมที่ตนเองคิดว่ายังบกพร่องแล้วบันทึกพฤติกรรมตามช่วงเวลาที่กำหนด โดยมีครูและผู้ปกครองคอยเสริมแรง จนกระทั่งนักเรียนสามารถแก้ไขพฤติกรรมที่ยังบกพร่องนั้นได้ เป็นต้น

           ส่วนคุณภาพของผู้เรียนด้านอื่น ๆ โรงเรียนอาจกำหนดมาตรฐานอย่างยืดหยุ่น โดยดูจากมาตรฐานกลาง และสภาพพื้นฐานของนักเรียนเป็นรายบุคคล  ตามความเป็นจริงอย่างเหมาะสม  ให้นักเรียนยอมรับได้เพื่อให้เกิดความพยายามในการพัฒนาตนเองให้บรรลุตามมาตรฐานนั้น

          การแสดงข้อมูลคุณภาพของผู้เรียนทุกเรื่อง อาจแสดงให้เห็นเป็นเส้นพัฒนา หรือแสดงมูลค่าเพิ่มให้ปรากฏชัดเจน ถ้าเรื่องใดยังไม่สามารถบรรลุผลได้ก็จะต้องมีข้อมูลนำไปสู่การวิเคราะห์สาเหตุปัญหาเพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหา/พัฒนาต่อไป
                  อย่างไรก็ตามผมอยากให้ โรงเรียนที่มีชีวิตได้รำลึกถึง ลายพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 6 เรื่องการศึกษาของชาติ เล่มที่7 ตอนที่ 1 ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ  ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ ความตอนหนึ่งว่า
    
    "...สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่ห่วงการปั้นนักเรียน
ชั้นมัธยมให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคนได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็งและสะอาดทั้งร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆซึ่งจะมีมาในอนาคต
       ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนชั้นเกียรตินิยมทุกๆครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้  ข้าอยากได้ยุวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ
ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี
       ข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย  ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร 
        ข้าไม่อยากได้ยินคนฉลาดบ่นอีกว่า ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด  สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษา
เป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นยุวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี  ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมดโดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆลงไป
        ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงามจนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ
       ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน  ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง แล้วสร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม..."
      

 

หมายเลขบันทึก: 363086เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2010 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อัจฉรา แสงสิริโรจน์

ท่านอาจารย์:

ครูกำลังหาข้อมูลเรื่องคุณภาพเยาวชนซึ่งมีฐานข้อมูลด้านสุขภาพ ที่ควรได้รับการดูแล เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดี พร้อมที่จะรับภาระ ต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต

ได้ศึกษาบทความที่ท่านเขียน ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นยิ่งขึ้น หากต่อไปมีความรู้ที่ชัดแจ้งครูก็จะพยายามเขียนมาให้อาจารย์กรุณาชี้แนะ

อัจฉรา แสงสิริโรจน์

อยากให้ติดตามอ่านบทความเรื่อง "ฝันถึงโรงเรียนที่มีชีวิตในบ้านเรา" ที่ผมเขียนตีพิมพ์ในวารสารวิทยาจารย์ 4-5 ฉบับติดต่อกัน ในหลายเดือนมาแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท