มาตรฐานเภสัชกรในระบบคุณภาพ HA /เปิดใจเภสัชกรเพื่อเตรียมตัวสู่ HA


การเตรียมตัวสู่ HA โดย ภญ. กนกนพร เมืองชนะ

เสียงจากภญ.กนกพร  เมืองชนะค่ะ 

มาตรฐานเภสัชกรรมในระบบคุณภาพ HA/เปิดใจเภสัชกรเพื่อเตรียมตัวสู่ HA

 

     หน่วยงานเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะต้องได้รับการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพเพื่อรองรับการเข้าสู่มาตรฐานในระบบ HA ทั้งในเรื่องความคาดหวังต่อบทบาทของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วย  การจัดระบบยาในสถาบัน การติดตามความคลาดเคลื่อนในการใช้ยาและการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เป็นต้น  ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่ง HA  ก็คือ การทำงานเป็นทีมทั้งในกลุ่มเภสัชกรด้วยกันเองรวมทั้งการทำงานเป็นสหสาขาวิชาชีพจากที่เคยรู้จักกับเพื่อนร่วมสถาบันแต่ทางโทรศัพท์เวลาปรึกษาหารือ  ก็เป็นการประชุมร่วมกัน  จากเดิมที่เคยต่อว่าต่อขาน ห้องยาจ่ายยาผิดอีกแล้ว ประจำเลย.ไม่เคยเช็คเลยเหรอ..ทำงานกันยังไง  ทำให้เภสัชกรรู้สึกตั้งมั่นว่าต้องทำงานเชิงรุกหา evidence base ที่มิใช่การค้นหาโดยใช้อารมณ์ ความรู้สึกและประสบการณ์เก่าๆในอดีต

     การเก็บข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญการทำงานในแต่ละวันปริมาณงานมากมายแต่ไม่มีข้อมูลเพื่อนำเสนอเสมือนทำงานไปวันๆ การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทำให้ทราบขนาดของปัญหา  ความรุนแรง ค้นหาสาเหตุ นำมาทบทวนและหาแนวทางแก้ไข  โดยขอความร่วมมือ ประสานงานไปยังคณะกรรมการหรือคณะทำงานต่างๆที่มีอยู่  รวมทั้งการจัดทำคู่มือต่างๆแก่ผู้ปฏิบัติ  งานต่างๆจึงได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยน ดังนี้ 

1.การรายงานและติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา

     1.1 พัฒนาระบบการตรวจกรองปัญหาปฏิกิริยาต่อกันของยาโดยประชุมร่วมกับแพทย์ทุกสาขาเพื่อค้นหาคู่ยาที่มีอันตรายต่อตัวผู้ป่วยอาจทำให้เสียชีวิต และนำคู่ยาที่ตกลงเฝ้าระวังเข้าสู่ฐานข้อมูลของสถาบันให้แสดงผลทันทีเมื่อมีการสั่งจ่ายคู่ยาเหล่านี้

     1.2 พัฒนาระบบการติดตามรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโดยจัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการรายงานเน้นการมีส่วนร่วมแบบสหวิชาชีพ จัดทำบัตรเตือนการแพ้ยาและเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลเวชระเบียนของสถาบันเพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ 

2.งานบริการจ่ายยาผู้ป่วยนอก           

      2.1 การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงให้มีระบบบอร์ดคิวเพื่อให้ผู้ป่วยรับทราบลำดับก่อนหลัง  ลดการสอบถามถึงลำดับคิวซึ่งจะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ชะงักงันกว่าจะบอกได้ว่าจะรับยาได้หรือยัง   ลดการร้องเรียนเรื่องการแซงคิว รวมทั้งทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นระบบและถูกต้องมากขึ้น  ปรับปรุงกระบวนการทำงานในห้องยาเพื่อมุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วลดระยะเวลารอยาของผู้ป่วยและไม่ต้องลุกมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง             

     2.2 การให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยา  จ่ายยาและส่งมอบยาโดยเภสัชกรตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประกันคุณภาพของงานในทุกช่วงเวลา           

     2.3 มาตรฐานการเก็บรักษายาในห้องจ่ายยาและคุณภาพยาที่ส่งถึงมือผู้ป่วยโดยมีระบบการจ่ายยาพร้อมซองป้องกันแสงหรือขวดทึบแสงซึ่งเจ้าหน้าที่จะทราบได้จากข้อความที่สติกเกอร์ยาว่า(ชา)ที่ป้อนข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลของระบบยาเพื่อลดความผิดพลาดในการจัดยา           

     2.4 การส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำการเก็บรักษายาระหว่างการเดินทางและที่บ้าน เช่น ยาบางประเภทมีปัญหาเรื่องความคงตัวจึงต้องจัดเตรียมน้ำแข็งหรือกล่องโฟมเพื่อการประกันคุณภาพของยาที่ผู้ป่วยได้รับ            

     2.5 การจัดการเคมีบำบัด  โดยมีการแยกเก็บของทุกหน่วยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน  จัดภาชนะ  ถุงที่มีข้อความหรือคำเตือนเคมีบำบัดให้ระวังระหว่างมีการนำส่งแพทย์/พยาบาล-มีการใช้spill kitพร้อมแนวทางการปฏิบัติเมื่อมีเคมีบำบัดตกแตก

3. การลดความคลาดเคลื่อนทางยา (medication error)           

     3.1 ลดความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยา (prescribing error) มีการปรับปรุงใบสั่งยาที่มีการสั่งจ่ายบ่อยได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์  ยาวัณโรคโดยสั่งพิมพ์ให้เป็นรูปแบบและลงรายการยา วิธีใช้แบบสำเร็จรูป   ขอความร่วมมือไปยังแพทย์เพื่อเขียนการวินิฉัยโรค (diagnosis) บนใบสั่งยา  กำหนดรายการยาที่ต้องระบุขนาดและคำย่อที่ไม่ควรใช้ หรือคำย่อใดที่ใช้ได้เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน  บทบาทของพยาบาลที่ควรมีการทบทวนใบสั่งยาก่อนยื่นแก่ผู้ป่วย  บทบาทเภสัชกรโดยจัดทำระบบ pop up ข้อมูลการแพ้ยาและ drug interaction  และมีระบบตรวจสอบกลับโดยทันทีระหว่างแพทย์ เภสัชกรและพยาบาล           

     3.2  ลดความคลาดเคลื่อนในการจัดและจ่ายยา (predispensing error/dispensing error) โดยมีการจัดทำและเผยแพร่ รายการยาที่มีชื่อคล้ายกันหรือมีลักษณะยาที่คล้ายกัน (look alike, sound alike) โดยมีการติดสติกเกอร์หรือป้ายเตือนที่ห้องยาและจัดทำตัวอย่างเม็ดยาแก่เจ้าหน้าที่ตึกเพื่อการสังเกตและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ  จัดบอร์ดแจ้งเตือนยาที่จัดผิดบ่อยมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจ่ายยาของกลุ่มงานเภสัชกรและมีการสอบวัดประเมินผลเป็นประจำทุก 3 เดือนมีรางวัลและการชมเชยสำหรับผู้ทำคะแนนได้สูงสุดเพื่อเป็นแรงกระตุ้นทางหนึ่งระบบตรวจสอบซ้ำของเภสัชกร 2 คน (double check)ก่อนส่งมอบยาให้ผู้ป่วยพร้อมทั้งมีประกาศประชาสัมพันธ์แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจสอบยาที่ได้รับทันทีหลังได้รับมอบยา           

     3.3  ลดความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกยา (transcribing error) ลดขั้นตอนการคัดลอกชื่อยา โดยยกเลิกใบสั่งยาผู้ป่วยในใช้ Doctor order sheet และแบบบันทึกการเบิกยา(drug profile) เพื่อให้เภสัชกรได้เห็นลายมือแพทย์และลายมือพยาบาลที่มีการคัดลอก  มีโครงการนำร่องการใช้โปรแกรมการจ่ายยาผู้ป่วยในเพื่อให้เภสัชกรทำ drug profileและลดการคัดลอก           

     3.4 ลดความคลาดเคลื่อนในการให้ยา (administration error) แนะนำให้มีระบบการสอบทวนระบุตัวผู้ป่วย ระบบตรวจสอบซ้ำก่อนการให้ยาผู้ป่วย  จัดทำคู่มือการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง มีระบบเภสัชกรพี่เลี้ยงประจำตึก  ทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานในเรื่องของการรายงานความคลาดเคลื่อน 

4. ระบบการจัดการคลังยา           

     ร่วมกันจัดทำคู่มือการเก็บรักษายา  ปรับปรุงการเก็บรักษายาตู้เย็นตามแนวทางที่กำหนดซึ่งครอบคลุมทั้งหน่วยจ่ายยาและหอผู้ป่วย  นอกจากนี้ยังมีการบันทึกอุณหภูมิตู้เย็นทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นเพื่อเป็นการประกันคุณภาพยาสำหรับผู้ป่วย

     พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการควบคุมสต๊อก ตรวจสอบยาที่มีการใช้น้อยเพื่อนำมาหมุนเวียนระหว่างหน่วยงานรวมทั้งการแลกเปลี่ยนกับบริษัทยาเพื่อลดการสูญเสียงบประมาณ  

     การประกันคุณภาพของยาระหว่างขนส่งจากคลังยาจนถึงห้องจ่ายยาโดยการขนส่งในกล่องโฟม   มีระบบการเฝ้าระวังยาที่ใกล้หมดอายุโดยใช้สติกเกอร์สีแดงติดไว้ที่ภาชนะบรรจุหากเป็นยาที่จะหมดอายุภายใน 1 ปี  จัดระบบการเก็บแบบ first in first out หรือ first expiry first out( FIFO-FEFO) เพื่อเป็นการตรวจสอบการส่งยาที่บางครั้งบริษัทยาอาจจะนำยาใกล้หมดอายุจัดส่งมาให้ก่อน 

5.งานเภสัชกรรมการผลิต           

     จัดทำคู่มือระเบียบการปฏิบัติงาน master document ของยาเตรียมที่ผลิตและการเตรียมยา small dose   

     จัดทำแฟ้มบัญชีรายชื่อเครื่องมืออุปกรณ์และซ่อมบำรุง           

     จัดให้มีการบันทึกและตรวจสอบการปรุงยา/เตรียมยาทุกขั้นตอนจัดให้มีการชั่งตวงยาและปรับปริมาตรโดยเภสัชกร  มีระบบการบันทึกตรวจสอบในทุกขั้นตอนในworking formular รวมทั้งการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการคำนวณและจัดพิมพ์ working formular และฉลากยา           

     พัฒนามาตรฐานอุปกรณ์ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรวมทั้งมีการประกันคุณภาพยาที่เตรียมโดยสุ่มตัวอย่างส่งตรวจความปราศจากเชื้อ                       

6.ระบบการเฝ้าระวังยาที่มีความเสี่ยงสูง( High alert drugs)           

     กำหนดรายการยาและจัดทำคู่มือยา High alert drugs ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติ   ชี้แจงและประชาสัมพันธ์เจ้าหน้าที่ทุกระดับเพื่อให้ทราบความสำคัญและข้อควรระวังของยากลุ่มนี้นับตั้งแต่การจัดซื้อจัดหา การตรวจรับ การขนส่ง การเบิกจ่ายจากคลังยาจนถึงผู้ป่วย   พร้อมทั้งวางแนวทางปฏิบัติสำหรับแพทย์  พยาบาลและเภสัชกรในการใช้ยากลุ่มนี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย

ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ทำงานเป็นทีมทุกระดับตั้งแต่ระดับปฏิบัติ

จนถึงระดับหัวหน้า รวมใจเป็นหนึ่ง  ให้เห็นความสำคัญของ HA

การได้มาซึ่ง HA นั้นยากยิ่งแต่การรักษาคุณภาพให้คงอยู่นั้นยากยิ่งกว่า

โดย ภญ. กนกพร เมืองชนะ

คำสำคัญ (Tags): #ระบบยา
หมายเลขบันทึก: 36286เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2006 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท