คนตานี
saifuddeen Abu Ni-nasreen (سيف ألدين) ibn ni-umar ibn ni-kejik An-nuree

อะมีรุ้ลหัจญ์


อะมีรุ้ลหัจญ์

อะมีรุ้ลหัจญ์

คุณสมบัติและพันธกิจตามทัศนคติของอิหม่ามอัลมาวัรดีย์ อัชชาฟิอีย์ (ต.450 ฮ.ศ.)([*])

อะมีรุ้ลหัจญ์

อะ มี รุ้ลฮัจญ์ คือ ผู้นำสูงสุดของประเทศ หรือผู้ที่ถูกแต่งตั้งเป็นอะมีรุ้ลฮัจญ์แทนผู้นำสูงสุด เพื่อเป็นหัวหน้าคณะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทั้งหมดของประเทศ เพราะเดิมที อะมีรุ้ลฮัจญ์เป็นหน้าที่ของผู้นำสูงสุดของประเทศ แต่ในกรณีที่อิหม่ามหรือผู้นำสูงสุดไม่ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ด้วยตนเอง อุละมาอ์ส่วนใหญ่มีทัศนะว่า ส่งเสริมให้ผู้นำสูงสุดแต่งตั้งอะมีรุ้ลฮัจญ์เพื่อทำหน้าที่แทนตน เพราะ ((ท่าน นบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ส่งอะตาบ บิน อุสัยด์ เป็นอะมีรุ้ลฮัจญ์แทนท่านในปีที่แปดแห่งฮิจเราะฮฺศักราช และส่งอบู บะกัร เป็นอะมีรุ้ลฮัจญ์แทนท่านในปีที่เก้า และท่านเป็นอะมีรุลหัจญ์เองในปีที่สิบแห่งฮิจเราะฮฺศักราช)) (ดูเพิ่มติมใน หาชิยะฮฺอิบนุอาบิดีน 2/172 ฟัตหุลเกาะดีร 2/367-368 อัสนา อัลมะฏอลิบ 1/585 นิฮายะตุลมุหฺตาจญ์ 3/294-295 หาชิยะฮฺอุมัยเราะฮฺ อะลา อัลก็อลยูบีย์ 2/112 อัสนา อัลมะฏอลิบ 1/485)

 

คุณสมบัติของอะมีรุ้ลฮัจญ์

ผู้ที่จะเป็นอะมีรุ้ลฮัจญ์ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญดังต่อไปนี้

1. มีความรอบรู้เกี่ยวกับฮัจญ์

2. มีความภักดี และยำเกรง

3. มีวิสัยทัศน์และความคิดอ่านที่เฉียบแหลม

4. มีความกล้าหาญ

5. มีบุคลิกที่น่าเกรงขาม

6. และสามารถชี้นำทาง

 

หน้าที่รับผิดชอบหลักของอะมีรุ้ลฮัจญ์

อะมีรุ้ลฮัจญ์มีภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบหลักอยู่สองประการ

1. หน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลความเรียบร้อยในการเดินทางของหุจญาจญ์ ซึ่งเป็นการดูแลปกครองด้านการบริหาร การเป็นผู้นำ และการควบคุมดูแล

2. หน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลกิจการหัจญ์

หน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลความเรียบร้อย

 

อะมีรุ้ลฮัจญ์มีภารกิจหรือหน้าที่ต้องรับผิดชอบด้านการดูแลความเรียบร้อยของบรรดาหุจญาจญ์ 10 ปราการ คือ

1. รวม บรรดาหุจญาจญ์ให้เป็นกลุ่มทั้งในยามที่เดินทางและหยุดพัก เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาต้องพลัดพรากกัน อยู่อย่างโดดเดี่ยว และถูกหลอกลวง

2. จัดระเบียบการเดินทางและการหยุดพักให้กับหุจญาจญ์ จัด แบ่งพวกเขาให้เป็นกลุ่มๆ และแต่งตั้งผู้นำกลุ่มไว้คอยดูแล เพื่อที่ทุกคนจะได้เดินทางอย่างเป็นกลุ่ม และคุ้นเคยกันยามที่หยุดพัก ทำให้พวกเขาไม่ขัดแย้งกัน และไม่พลัดพรากหลงทางจากกัน

3. ออก เดินทางไปพร้อมกับหุจญาจญ์ เพื่อผู้ที่อ่อนแอจะได้ขอความช่วยเหลือจากท่าน และผู้ที่หลงทางหรือพลัดหลงจะได้ไม่ถูกทอดทิ้งและตัดขาดจากกลุ่ม

 4. พาหุจญาจญ์เดินทางไปตามเส้นทางที่ชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุด และหลีกห่างจากเส้นทางที่กันดาร ขรุขระ และยากลำบาก

 5. คอยเสาะหาน้ำให้แก่หุจญาจญ์ยามที่ขาดแคลนน้ำ และอาหารยามที่ร่อยหรอ

 6. คอย ดูแลและรักษาความปลอดภัยให้แก่หุจญาจญ์ยามที่หยุดพัก และคอยห้อมล้อมพวกเขายามที่ออกเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาถูกลักพาตัว หรือถูกฉกชิงวิ่งราวจากผู้ที่เสเพล และไม่ให้ตกอยู่ในเป้าสายตาของผู้ที่คิดจะลักขโมย

 7. คอยปกป้องและขัดขวางผู้ที่จะสกัดกั้นการเดินทางไปทำหัจญ์ของหุจญาจญ์

 8. คอยไกล่เกลี่ยระหว่างหุจญาจญ์ที่ทะเลาะเบาะแว้งให้กลับคืนดีกัน และคอยเป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้ที่ขัดแย้ง

 9. คอย ชี้แนะและนำทางผู้ที่เบี่ยงเบนให้กลับคืนสู่แนวทางที่เที่ยงตรง และให้การอบรมสั่งสอนผู้ที่ฉ้อฉลและคดโกง และไม่ทำการลงโทษจนเกินเหตุ

 10. ให้คำนึงถึงความกว้างของเวลา จนกระทั่งมั่นใจว่าหุจญาจญ์ไม่พลาดจากการทำหัจญ์ และอย่านำเอาความคับแคบของเวลามาเร่งเร้าให้พวกเขารีบเร่งเดินทาง เมื่อหุจญาจญ์เดินทางไปถึงมีกอตควรเปิดโอกาสให้พวกเขาครองอิหฺรอมและทำธุระ สิ่งที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ หากมีเวลาพอก็ให้เดินทางเข้ามักกะฮฺก่อนพร้อมๆกับพวกเขา เพื่อที่จะได้เดินทางไปสู่มะวากิฟ (สถานที่หยุดพัก) พร้อมๆกับผู้ที่พำนักอยู่ที่นั่น และหากเวลากระชั้นชิดก็ให้เดินทางมุ่งสู่มีนาและอะเราะฟะฮฺทันที เมื่อประชาชนเสร็จสิ้นจากอิบาดะฮฺหัจญ์แล้ว ก็ควรจะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวสักระยะหนึ่ง และจงอย่าทำให้พวกเขาต้องตรากตรำด้วยการรีบเร่งเดินทางออกจากมักกะฮฺ ในการเดินทางกลับก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเดินทางที่ผ่านมา จนกระทั่งพวกเขาไปถึงยังมาตุภูมิอย่างปลอดภัย ถึงตอนนั้น หน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลความเรียบร้อยในฐานะอะมีรุลหัจญ์ของเขาจึงจบ สิ้นลง

 

หน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลกิจการฮัจญ์

 อะ มีรุ้ลฮัจญ์ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลกิจการฮัจญ์เปรียบเสมือนอิหม่ามนำละหมาด ซึ่งจำเป็นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติและเงื่อนไขของอิหม่ามนำละหมาดทุกอย่าง และต้องมีความรอบรู้อย่างแตกฉานเกี่ยวกับปัญหาและหุกมต่างๆของอิบาดะฮฺหัจญ์ และรอบรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ (มีกอต) และวันเวลาของการประกอบอิบาดะฮฺฮัจญ์

 

ระยะเวลาของการดูแลกิจการหัจญ์

 อะ มีรุ้ลฮัจญ์ต้องทำหน้าที่ดูแลกิจการฮัจญ์เป็นเวลา 7 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่ละหมาดซุฮฺริของวันที่ 7 ซุลหิจญะฮฺ และสิ้นสุดหลังจากหุจญาจญ์เดินทางออกจากทุ่งมีนาในวันนะฟัรที่สองในวันที่ 13 ซุลหิจญะฮฺ (ดูเพิ่มเติมใน ฟัตหุลเกาะดีร 2/367-368 นิฮายะตุลมุหฺตาจญ์ 3/294-295 อัสนา อัลมะฏอลิบ 1/485)

 

หน้าที่รับผิดชอบของผู้ดูแลกิจการฮัจญ์

 ผู้ดูแลกิจการหัจญ์ หรืออะมีรุ้ลหัจญ์จะมีหน้าที่รับผิดชอบด้านภารกิจหลักของกิจการหัจญ์ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

 1. ประกาศให้บรรดาหุจญาจญ์ทราบเกี่ยวกับกำหนดเวลาของการครองอิหฺรอม และเวลาที่จะออกเดินทางสู่สถานที่ต่างๆสำหรับประกอบอิบาดะฮฺหัจญ์

 2. ออกเดินทางพร้อมกับหุจญาจญ์ไปยังสถานที่ประกอบพิธีกรรมหัจญ์

 3. จัด ลำดับก่อนหลังในการปฏิบัติอิบาดะฮฺหัจญ์ให้แก่หุจญาจญ์ตามที่บัญญัติอิสลาม ได้กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงสิ่งที่ควรกระทำ หรือเป็นเพียงสิ่งที่มุสตะหับ (ส่งเสริม) ก็ตาม

 4. กำหนดเวลาและสถานที่หยุดพัก และเวลาเดินทาง เสมือนกับที่มีการกำหนดเวลาละหมาดสำหรับมะมูมด้วยการละหมาดของอิหม่าม

5. เป็น อิหม่ามนำละหมาดและอ่านคุฏบะฮฺหัจญ์ -สำหรับอะมีรุลหัจญ์ส่วนกลาง- ในวันที่มีการรวมตัวกันของหุจญาจญ์ ซึ่งมีทั้งหมด 4 คุฏบะฮฺ ดังนี้

5.1 คุฏบะ ฮฺแรกในวันที่ 7 ซุลหิจญะฮฺ โดยให้อะมีรุลหัจย์ละหมาดซุฮฺริที่มักกะฮฺพร้อมๆกับพวกเขา หลังจากนั้นให้อ่านคุฏบะฮฺ ด้วยการชี้แจงให้พวกเขาทราบว่า วันรุ่งขึ้น (วันที่ 8 ซุลหิจญะฮฺ) พวกเขาจะต้องเดินทางออกไปยังมีนา และนอนพักค้างคืนที่นั่น และพอตะวันขึ้นของเช้าวันต่อมา (วันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ) ก็ต้องออกเดินทางจากมีนามุ่งสู่อะเราะฟะฮฺ เป็นต้น

5.2 คุฏบะ ฮฺที่ 2 ในวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ หรือวันอะเราะฟะฮฺ โดยให้อะมีรุลหัจญ์อ่านคุฏบะฮฺหัจญ์ก่อนละหมาดซุฮฺริ เหมือนกับการอ่านคุฏบะฮฺวันศุกร์ ด้วยการกล่าวตักเตือนหุจญาจญ์เกี่ยวกับรุกนและอิบาดะฮฺหัจญ์ต่างๆที่พวกเขา จำเป็นต้องปฏิบัติ และการปฏิบัติต่างๆที่ต้องห้ามและจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง หลังจากนั้นให้ละหมาดรวมและย่อซุฮฺริและอัศริในเวลาแรกพร้อมๆกับพวกเขา เสร็จแล้วก็ไปวุกูฟ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺจนกระทั่งอาทิตย์ลับขอบฟ้า และพาขบวนหัจญ์เดินทางออกจากอะเราะฟะฮฺมุ่งสู่มุซดะลิฟะฮฺต่อไป

5.3 คุฏบะ ฮฺที่ 3 ในวันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺ หรือวันนะหัร โดยหลังจากที่อะมีรุลหัจญ์เดินทางกลับไปยังมีนา หลังจากเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺที่มักกะฮฺเรียบร้อยแล้ว ให้อะมีรุลหัจญ์ละหมาดซุฮฺริพร้อมกับหุจญาจญ์ เสร็จแล้วให้อ่านคุฏบะฮฺหลังละหมาด ด้วยการกล่าวตักเตือนหุจญาจญ์เกี่ยวกับภารกิจที่ยังเหลืออยู่ และหุกมการออกจากอิบาดะฮฺหัจญ์ในเวลาแรกหรือนะฟัรเอาวัล (เย็นวันที่ 12 ซุลหิจญะฮฺ) และเวลาที่สองหรือนะฟัรษานีย์ (บ่ายวันที่ 13 ซุลหิจญะฮฺ) พร้อมกับชี้แจงว่าสิ่งใดบ้างที่เป็นที่อนุมัติสำหรับหุจญาจญ์หลังจากตะหัลลุ ลแรกแล้ว

5.4 คุฏบะ ฮฺที่ 4 ในวันที่ 12 ซุลหิจญะฮฺ หรือวันนะฟัรเอาวัล โดยให้อ่านคุฏบะฮฺหลังละหมาดซุหฺริ ซึ่งเป็นคุฏบะฮฺสุดท้ายที่ส่งเสริมให้อ่านในอิบาดะฮฺหัจญ์ ด้วยการชี้แจงให้หุจญาจญ์ทราบว่าอัลลอฮฺได้เปิดโอกาสให้พวกเขาเลือกที่จะออก จากอิบาดะฮฺหัจญ์ในสองเวลา โดยผู้ใดเดินทางออกจากมีนาหลังจากขว้างเสาหินทั้งสามต้นในวันที่ 12 ซุลหิจญะฮฺ ก่อนตะวันลับขอบฟ้า เขาก็ไม่จำเป็นต้องนอนพักที่มีนาอีกในคืนวันที่ 13 ซุลหิจญะฮฺ และขว้างเสาหินในวันรุ่งขึ้น และผู้ใดที่ยังพำนักอยู่ที่มีนาจนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า เขาจำเป็นต้องนอนพักที่มีนาในคืนที่ 13 ซุลหิจญะฮฺอีกหนึ่งคืน และต้องขว้างเสาหินทั้งสามต้นในวันรุ่งขึ้น ส่วนอะมีรุลหัจย์ไม่ควรเดินทางออกจากมีนาในเวลาแรก (วันที่ 12 ซุลหิจญะฮฺ) แต่ควรออกจากอิบาดะฮฺหัจญ์ในเวลาที่สอง เพราะเขาเป็นผู้นำบรรดาหุจญาจญ์ ดังนั้นเขาจึงไม่ควรจะออกจากมีนาก่อนที่อิบาดะฮิหัจญ์จะแล้วเสร็จอย่าง สมบูรณ์ หลังจากนั้น หน้าที่ของอะมีรุลหัจญ์ที่เกี่ยวกับอิบาดะฮฺหัจญ์ก็จะสิ้นสุดลง

 

การตัดสินชี้ขาดระหว่างหุจญาจญ์

1. ในกรณีที่หุจญาจญ์คนใดคนหนึ่งกระทำผิดถึงขนาดต้องมีการลงโทษ ถ้าหากว่าความผิดดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิบาดะฮฺหัจญ์ อะมีรุลหัจญ์ในฐานะผู้ดูแลกิจการฮัจญ์ไม่มีสิทธิ์ที่จะลงโทษผู้ใด แต่ถ้าเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับอิบาดะฮฺหัจญ์ ก็อนุญาตให้อะมีรุลหัจญ์กล่าวตักเตือนและสั่งสอน ส่วนการสำเร็จโทษ อุลมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งเป็นสองทัศนะ คือ ทัศนะแรกเห็นว่า อนุญาตให้อะมีรุลหัจญ์ลงโทษเขาทันที เพราะเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับอิบาดะฮฺหัจญ์ ส่วนทัศนะที่สองเห็นว่าไม่ควรลงโทษ เพราะเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากการดูแลภารกิจหัจญ์2. ไม่อนุญาตให้อะมีรุลหัจญ์ตัดสินความระหว่างหุจญาจญ์ในความขัดแย้งที่ไม่ เกี่ยวข้องกับอิบาดะฮฺหัจญ์ ส่วนความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับอิบาดะฮฺหัจญ์ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างสองสามีภรรยาในเรื่องของการจ่ายค่าชดเชย (กัฟฟาเราะฮฺ) เนื่องจากการร่วมหลับนอนกันว่าใครต้องเป็นคนจ่าย เป็นต้น อุลมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งเป็นสองทัศนะเช่นเดียวกัน ทัศนะแรกเห็นว่าควรจะให้คำชี้ขาดแก่พวกเขา ส่วนทัศนะที่สองเห็นว่าไม่ควร3. ในกรณีที่หุจญาจญ์คนใดคนหนึ่งกระทำผิดที่จำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮฺ อะมีรุลหัจญ์มีสิทธิ์ที่จะบังคับให้เขาจ่ายฟิดยะฮฺ และอนุญาตให้อะมีรุลหัจญ์ให้คำฟัตวาในสิ่งที่ถูกถาม ถ้าหากว่าเขาเป็นคนที่มีความรู้ และอะมีรุลหัจญ์ไม่มีสิทธิ์ที่จะชักจูง หรือหว่านล้อมหุจญาจญ์ให้ปฏิบัติอิบาดะฮฺหัจญ์ตามทัศนะหรือมัซฮับของตน

 

จัดทำโดย ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา

 อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลาม ยะลา

 อังคาร ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551

 ________________________________________ ([*])

 บทความนี้คัดย่อมาจาก: อบู อัลหะสัน อัลมาวัรดีย์ (ต. 450 ฮ.ศ.), “อัลอะหฺกาม อัสสุลฏอนิยะฮฺ วัลวิลายาต อัดดีนิยะฮฺ”, ดร. อะหมัด มุบารัก อัลบัฆดาดีย์, หน้า 139-144, พิมพ์ครั้งที่ 1, ปี 1989, คูเวต : สำนักพิมพ์ ดารฺอิบนุกุตัยบะฮฺ

 

 

 

http://islam.in.th/amir-hajj

คำสำคัญ (Tags): #อะมีรุ้ลหัจญ์
หมายเลขบันทึก: 361560เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท